กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
ความรวดเร็วเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของโลกธุรกิจในอนาคต
 
     
 
เสริมสร้างศักยภาพชุมชนชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร
ผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพและชีวภาพในทิศทางที่ดีขึ้น
 

การนำข้อค้นพบจากการวิจัย ไปสู่การบริการสังคม

เรื่อง “เสริมสร้างศักภาพชุมชนชาฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชาฝั่ง”

รศ.ดร.ดุสิต เวชกิจ

อ.สุธิดา มณีอเนกคุณ

อ.สุกัญญา สุขวุฒิ

หลักการและเหตุผล

งานวิจัยเรื่อง “ประเมินผลสัมฤทธิ์การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยวิธีการปักไม้ไผ่” เป็นงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ดำเนินการศึกษาในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของ 4 จังหวัด คือ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีวัตถุประสงค์ในการวิจัย เพื่อ 1) ศึกษาผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการปักไม้ไผ่ที่ดำเนินการโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบริเวณพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน โดยมุ่งเน้นความสำคัญใน 3ประเด็น คือ การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ และทางชีวภาพภายหลังการดำเนินการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยวิธีการปักไม้ไผ่ การมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยวิธีการปักไม้ไผ่ และความพึงพอใจของชุมชนต่อการบริหารจัดการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยวิธีการปักไม้ไผ่  2) ศึกษารูปแบบที่เหมาะสมในการบริหารจัดการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยวิธีการปักไม้ไผ่ ของหน่วยงานและชุมชนที่เกี่ยวข้อง 3) ศึกษาความต้องการของชุมชนในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยวิธีการปักไม้ไผ่โดยการขยายแนวและพื้นที่เพิ่มเติม 4) จัดทำมาตรการและแนวทางในการจัดการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยการปักไม้ไผ่สาหรับชุมชน และ 5) ส่งเสริมชุมชนในการเรียนรู้ด้านการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยการปักไม้ไผ่

ผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพและชีวภาพในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น พบการสะสมตัวของตะกอนเลนหลังแนวไม้ไผ่ พบการงอกและตั้งตัวของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนหลังแนวไม้ไผ่ในบางพื้นที่ พบการปรากฏของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำ สัตว์หน้าดิน สัตว์เลื้อยคลาน และนกในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น  ชาวบ้านในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผลการศึกษายังสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบและวิธีการในการจัดการ ดูแลรักษาและซ่อมแซมแนวไม้ไผ่ที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ โดยพบว่าบางชุมชนชาวบ้านจะร่วมกันดูแลรักษาและซ่อมแซมแนวไม้ไผ่ ในขณะที่บางชุมชนใช้วิธีบริหารจัดการในรูปของคณะกรรมการหมู่บ้าน และบางชุมชนใช้วิธีการมอบหมายให้ผู้ประกอบอาชีพใกล้แนวไม้ไผ่เป็นผู้รับผิดชอบดูแล สำหรับภาพรวมของความพึงพอใจต่อกระบวนการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง พบว่าชาวบ้านมีความพึงพอใจในระดับปานกลาง และพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับปัญหา สาเหตุและผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และการทำแนวป้องกันการกัดเซาะโดยวิธีการปักไม้ไผ่ในระดับปานกลาง ในขณะที่มีความรู้ในเรื่องการประเมินผลการดำเนินงาน และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานเป็นกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งยังอยู่ในระดับค่อนข้างน้อย ซึ่งคณะผู้ทำการวิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการเรียนรู้ของชุมชนท้องถิ่นในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งไว้ว่าควรจัดให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีการเรียนรู้ในประเด็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ ปัญหา ผลกระทบ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รูปแบบและวิธีการในการแก้ไขปัญหา การบริหารจัดการกลุ่ม องค์กร เครือข่าย และกรณีตัวอย่างชุมชนต้นแบบ ทั้งนี้เนื่องจากชาวบ้านชุมชนชายฝั่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ดังนั้นหากได้นำความรู้และข้อค้นพบดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบริหารกลุ่มและเครือข่ายชุมชนไปให้บริการแก่ชุมชนดังกล่าวย่อมจะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนและผู้
ที่เกี่ยวข้องในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้เป็นอย่างดี จึงได้จัดให้มีการจัดฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการให้แก่ตัวแทนชุมชนชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร ตลอดจนตัวแทนองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ และตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพ และเกิดความยั่งยืนตลอดไป

ผลการดำเนินโครงการ

การนำข้อค้นพบจากการวิจัยไปสู่การเสริมสร้างศักยภาพชุมชนชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) เพื่อนำองค์ความรู้ในด้านการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่ได้รับจากงานวิจัยไปเผยแพร่และถ่ายทอดให้แก่ตัวแทนชุมชน องค์กรเครือข่าย และหน่วยงานราชการต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง 2) เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ของชุมชนท้องถิ่นในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และ 3) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างนักวิจัย ตัวแทนชุมชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในด้านการกัดเซาะชายฝั่ง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย เป็นตัวแทนชุมชนชายฝั่ง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ตัวแทนองค์กรเครือข่าย และตัวแทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) หน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวม 30  คน โดยได้จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการขึ้นในระหว่างวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2557 ณ ห้องประชุม 201 อาคารศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร (ภาพที่ 1 ) และจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ และศึกษาดูงาน ณ ต. แหลมใหญ่ อ. เมือง จ. สมุทสงคราม (ภาพที่ 2)

 

 

 

 

 

สำหรับกิจกรรมในการฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการ สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้

1. การบรรยายเรื่อง “สถานการณ์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย และรูปแบบ วิธีการในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง” ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ทราบถึงวิธีการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยสรุปได้ดังนี้

                1.1 การสร้างเสถียรภาพทางชายฝั่งโดยมาตรการแบบแข็ง (Hard Solution) ประกอบด้วยการสร้าง กำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด พนังป้องกันที่ดินริมชายฝั่ง เขื่อนหินทิ้งหรือหินเรียงริมชายหาด เขื่อนป้องกันคลื่นนอกชายฝั่ง การวางไส้กรอกทราย รอดักทราย มีหลายรูปแบบ ทั้งแบบตัวไอ ตัววาย และตัวที เขื่อนกันทรายและคลื่น หัวแหลมหรือหัวหาด กล่องกระชุหินหรือกล่องเกเบียน และเสาคอนกรีตหรือเสาเข็ม

1.2 การสร้างเสถียรภาพทางชายฝั่งโดยมาตรการแบบอ่อน (Soft Solution) ประกอบด้วย การเสริมชายหาด การปลูกป่าชายเลน การสร้างแนวปะการังเทียม แนวกันลมตามธรรมชาติ การวางกระสอบทรายหรือถุงใยสังเคราะห์ และการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น

1.3 การกันเขตถอยร่นและปลูกป่าเพื่อเป็นแนวกันชน (Setback Zone)

1.4 การไม่ดำเนินการป้องกันและแก้ไข (Do Nothing)

นอกจากนี้ยังได้นำเสนอผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ของสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม (2555) ซึ่งสรุปได้ว่าจากการประเมินการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชายฝั่งของจังหวัดสมุทรสาคร รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 66 กิโลเมตร พบว่ามีพื้นที่ชายฝั่งที่มีการกัดเซาะระยะทางรวมทั้งสิ้น 35,979 เมตร หรือร้อยละ 53.76 ของระยะทางตามแนวชายฝั่งที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด คิดเป็นพื้นที่ 581 ไร่ พื้นที่ชายฝั่งสะสมตัวระยะทางรวมทั้งสิ้น 12,625 เมตร หรือร้อยละ 19.02 ของระยะทางตามแนวชายฝั่งที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด คิดเป็นพื้นที่ 148 ไร่ ชายฝั่งคงสภาพระยะทางรวมทั้งสิ้น 18,069 เมตร หรือร้อยละ 27.22 ของระยะทางตามแนวชายฝั่งที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด

2. การบรรยายเรื่อง “ผลการดำเนินงานโครงการศึกษาและประเมินผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยวิธีการปักไม้ไผ่” ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ทราบถึงวัตถุประสงค์ วิธีการ และผลการดำเนินการวิจัยโครงการประเมินผลสัมฤทธิ์การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง (ภาพที่ 3) สรุปได้ว่าภายหลังจากการดำเนินการปักไม้ไผ่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพเกิดขึ้นโดยพบว่าปริมาณของตะกอนดินในแนวไม้ไผ่ ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงในระดับมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการปักไม้ไผ่ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งมีการทับถมของตะกอนเลนเพิ่มขึ้น จึงเป็นการชะลอการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ และยังเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำ ส่งผลให้สัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพพบว่ามีพรรณไม้ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นหลังแนวปักไม้ไผ่ที่ตำบลบางหญ้าแพรก จังหวัดสมุทรสาคร ชนิดของสัตว์น้ำ ปริมาณสัตว์น้ำ การเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ ความหลากหลายของชนิดสัตว์หน้าดินและสัตว์เลื้อยคลาน ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้ และความหลากหลายของนกมีการเปลี่ยนแปลงในระดับปานกลางทั้งก่อนและหลังการปักไม้ไผ่ และเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านชีวภาพนั้นมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ด้าน แต่การดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยวิธีการปักไม้ไผ่ เกิดผลด้านลบต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านชีวภาพโดยที่ไม้ไผ่ผุพังและขาดคอดิน เมื่อถูกกระแสน้ำพัดเข้าสู่ฝั่งอาจทำให้กล้าไม้ในป่าชายเลนได้รับความเสียหาย สำหรับผลทางด้านเศรษฐกิจชุมชนพบว่ามีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ และชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการย้ายที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ชุมชนบางส่วนเกิดรายได้ จากการรับจ้างปักไม้ไผ่ ด้านสังคมทำให้ชาวบ้านมีการพูดคุย ปรึกษาหารือ ทำความเข้าใจกันเรื่องการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะ การปักแนวไม้ไผ่การบำรุงรักษาและเกิดเครือข่ายชุมชน มีเครือข่ายชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน นอกจากนี้ชาวบ้านมีรายได้จากการมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ไม่ต้องออกไปทำงานต่างถิ่น

 

 

 

 

 

 

 

 

3. การบรรยาย เรื่อง “แนวคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งกลุ่มและเครือข่ายชุมชน และจดทะเบียนเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน” ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯได้ทราบเกี่ยวถึงลักษณะของเครือข่าย ประโยชน์และความจำเป็นในการจัดตั้งเครือข่ายชุมชน ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับการสมัครเข้าร่วมเป็นเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ดังแสดงในภาพที่ 4

4. การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตัวแทนชุมชนชายฝั่ง ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ในประเด็นของการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยวิธีการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น และ จุดเด่นจุดด้อยและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งนี้ตัวแทนชุมชนชายฝั่งทั้ง 8 ตำบล ได้แก่ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ ตำบลโคกขาม ตำบลบางหญ้าแพรก ตำบลบางกระเจ้า ตำบลบ้านบ่อ ตำบลบางโทรัด ตำบลกาหลง และตำบลนาโคก และตัวแทนหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้าร่วม ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว ดังแสดงในภาพที่ 5

 

 

5. การศึกษาดูงาน และการจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น ณ ต. แหลมใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม

ในการศึกษาดูงานที่ ต.แหลมใหญ่ อ.เมือง จ. สมุทรสงครามนั้น ได้จัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นระหว่างตัวแทนชุมชนชายฝั่ง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นผู้เข้ารับการฝึกอบรม กับตัวแทนชุมชนแหลมใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม  และตัวแทนชุมชนชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรี (ภาพที่ 6)  ซึ่งการพูดคุยแลกเปลี่ยนผ่านเวทีดังกล่าวทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับทราบถึงความเป็นมาของการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งของชุมชนแหลมใหญ่ และเรียนรู้ว่าในอดีตตำบลแหลมใหญ่มีป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยมีต้นแสมจำนวนมากที่อยู่แนวนอกชายฝั่งช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งซึ่งในขณะนั้นมีน้อย สัตว์น้ำจำพวก กุ้ง หอย ปู ปลามีความอุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านบางคนจับปูม้าได้ถึง 300 - 400 กิโลกรัมต่อวัน หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนไปทำนากุ้ง จึงเกิดปัญหาการกัดเซาะอย่างมากส่งผลกระทบให้บ้านเรือนของชาวบ้านต้องร่นถอยเข้าไปในบริเวณพื้นที่ด้านในมากขึ้น นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบถึงการประกอบอาชีพประมงชายฝั่งของชาวบ้าน เนื่องจากพื้นที่ชายฝั่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำขนาดเล็กถูกทำลายไป ส่งผลให้ผลผลิตทางการประมงลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดการรวมกลุ่มชาวบ้านในตำบลแหลมใหญ่เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเริ่มจากการริเริ่มของผู้นำชุมชนที่ต้องการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นและจัดการปัญหาร่วมกัน โดยให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะผู้ได้รับผลกระทบ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2552 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เข้ามาให้การสนับสนุนการทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งชาวบ้านได้เล็งเห็นถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นในชุมชน จึงได้เลือกทำการวิจัยในเรื่องของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาที่ชุมชนต้องการจะศึกษาและหาทางป้องกันแก้ไข โดยมีการจัดเวทีสร้างความเข้าใจในแต่ละหมู่บ้าน พร้อมกับการเรียนรู้สถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งเพื่อสร้างความตระหนักในปัญหา และให้เสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและการป้องกันการกัดเซาะ ซึ่งชาวบ้านในชุมชนบ้านแหลมใหญ่มีความเห็นร่วมกันว่าการป้องกันการกัดเซาะโดยใช้โครงสร้างแข็ง(ไม่เหมาะ) เนื่องจากส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงจากการเปลี่ยนทิศทางของน้ำและพื้นที่ถูกกัดเซาะมากขึ้น จึงลงมติเลือกวิธีการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในรูปแบบของการปักไม้ไผ่ เพราะจะทำให้เกิดตะกอนดินหลังแนวไม้ที่ปัก และยังไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากไม้ไผ่ที่ปักนั้นชำรุดเสียหาย

การดำเนินงานปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นในช่วงแรกเกิดขึ้นจากงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว. ) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช. ) องค์การมหาชน มาดำเนินการ พบว่า เกิดตะกอนเลนด้านหลังแนวไม้ไผ่ที่ปัก มีปริมาณสัตว์น้ำที่เพิ่มขึ้น และทำให้ชุมชนเห็นความสำคัญในการดูแลรักษาชายฝั่งผ่านการกระตุ้นให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการทำวิจัยและปักไม้ไผ่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 ตำบลบางแก้ว และตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 เป็นเงิน 35,000,000บาท ระยะทางรวม 4 กิโลเมตร โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสงครามได้รับมอบหมายจากกลุ่มจังหวัดให้ดำเนินการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นในตำบลแหลมใหญ่ เป็นระยะทางทั้งสิ้น 3.6 กิโลเมตร โดยเปิดโอกาศให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคัดเลือกไม้ไผ่ ปักไม้ไผ่ ตลอดจนการดูแลไม้ไผ่ภายหลังการดำเนินการ

ทั้งนี้ตัวแทนชุมชนชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร ได้เดินไปศึกษาดูงานการปักแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่นในพื้นที่ต.แหลมใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ดังแสดงในภาพที่ 7

 

การประเมินความคิดเห็นและความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการฯ

                ผลการประเมินความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมโครงการที่มีต่อความรู้และความพึงพอใจในกิจกรรมการบรรยายให้ความรู้ พบว่า ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ก่อนการอบรมในระดับปานกลาง หลังการอบรมมีความรู้ในระดับมากที่สุด และ ผู้เข้ารับการอบรมมีความพึงพอใจต่อเนื้อหา ในระดับมากที่สุด ร้อยละ 87.8 ด้านการถ่ายทอดความรู้ ความชัดเจนในการตอบคำถาม และการใช้สื่อประกอบการอบรมของวิทยากรในระดับมากที่สุด ร้อยละ 87.4 มีความพึงพอใจในด้านความเหมาะสมของระยะเวลาที่จัด ความเหมาะสมของสถานที่ และการให้บริการและการอำนวยความสะดวกของคณะผู้จัดกิจกรรมในระดับมากที่สุด ร้อยละ 87.2

                ผู้เข้ารับการอบรมมีความพึงพอใจในการศึกษาดูงานในระดับมากที่สุด ร้อยละ 89.6 และในภาพรวมแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 90 ในด้านการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ เนื้อหาในการอบรมแต่ละกิจกรรม  ผู้เข้ารับการอบรมนำไปใช้ประโยชน์ในระดับมากที่สุด ร้อยละ 87.4

ข้อเสนอแนะของผู้ดำเนินโครงการ

                จากผลการประเมินความคิดเห็นและความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการแสดงให้เห็นว่า ก่อนการเข้าร่วมโครงการ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งและการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นในระดับปานกลาง แต่ภายหลังการเข้าร่วมโครงการ พบว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรม
มีความรู้อยู่ในระดับมากที่สุด และมีความเห็นว่าสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ในระดับมากที่สุด ถึงร้อยละ 87.4  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการนำข้อค้นพบจากการวิจัยมาถ่ายทอดให้กับชุมชนในพื้นที่นั้น ก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ทั้งประโยชน์ต่อผู้วิจัยในแง่ของการเผยแพร่ผลงานวิจัยและรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยในอนาคต และต่อชุมชนในแง่ของการได้เพิ่มพูนองค์ความรู้เพื่อนำไปพัฒนา ต่อยอด หรือปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของแต่ละชุมชนต่อไป ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับการส่งกลับข้อค้นพบจากการวิจัยไปยังชุมชนในพื้นที่

                จากการศึกษาดูงานการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ ต.แหลมใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม สะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่แห่งนี้ คือ การมีส่วนร่วมของชุมชน และการที่ชุมชนมีการประสานความร่วมมือกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง มีความพยายามในการร่วมกันค้นหาสาเหตุของปัญหาและค้นหาแนวทางแก้ไขด้วยตนเอง การสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกนั้นเกิดขึ้นในภายหลัง เมื่อหน่วยงานเหล่านั้นเล็งเห็นว่าชุมชนมีความเข้มแข็งและมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา ดังนั้นจึงเล็งเห็นว่าการสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของชุมชน และจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องเข้าไปทำหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายชุมชนเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆของชุมชน พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ของเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง

 

 

กิตติกรรมประกาศ

                โครงการ การนำข้อค้นพบจากการวิจัย ไปสู่การบริการสังคม เรื่อง “เสริมสร้างศักยภาพชุมชนชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง”  เป็นหนึ่งในโครงการบริการสังคมของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากเงินอุดหนุน เงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ทางคณะผู้ดำเนินโครงการฯ จึงขอขอบคุณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ และขอขอบคุณนายยรรยง  เลขาวิจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาครและเจ้าหน้าที่ในสังกัด นายอมรศักดิ์ ฉัตรทิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงครามและคณะผู้บริหารของหน่วยงาน รวมทั้ง นายสมศักดิ์ พิริยโยธา ผู้เชี่ยวชาญเฉาพทางด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่งและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ที่ให้ความอนุเคราะห์ความรู้ สถานที่ ตลอดทั้งอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ

 

เอกสารอ้างอิง

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (2556) คู่มือแนวทางปฏิบัติเบื้องต้นความรู้เกี่ยวกับชายฝั่งและ
การจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
สำหรับประชาชน กรุงเทพฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและ
ชายฝั่ง

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2556) รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการวิจัยประเมินผลสัมฤทธิ์การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยวิธีปักไม้ไผ่  นนทบุรี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม (2555) การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย
               
กรุงเทพฯ  กรมทรัพยากรธรณี 



Last updated: 2014-09-13 23:19:53


@ เสริมสร้างศักยภาพชุมชนชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ เสริมสร้างศักยภาพชุมชนชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,649

Your IP-Address: 3.239.76.211/ Users: 
1,648