บทความนี้
เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเรื่อง
โครงการเสริมสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล
23 จังหวัด
ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชดำเนินการวิจัย
ซึ่งมีวัตถุประสงค์ 4 ประการ ได้แก่
1. เพื่อสร้างความเข็มแข็งให้แก่เครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง
จังหวัดสมุทรสาครที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้จัดตั้งขึ้น
2. เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง
จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา
3. เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง
จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา
4. เพื่อส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง
จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม
(Participatory Action
Research: PAR) มีระยะเวลาดำเนินการ 10 เดือน (ธันวาคม
2557-กันยายน 2558) โดยดำเนินงานใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดสมุทรสาคร
โดยดำเนินการเฉพาะ 8 ตำบลที่ติดชายฝั่งทะเล ได้แก่ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ ตำบลโคกขาม
ตำบลบางกระเจ้า ตำบลบางหญ้าแพรก ตำบลบ้านบ่อ ตำบลบางโทรัด ตำบลกาหลง และตำบลนาโคก
ส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา ดำเนินการจังหวัดละ 1 ตำบล
ได้แก่ ตำบลบางแก้ว ตำบลแหลมฟ้าผ่า และตำบลสองคลอง ตามลำดับ
โดยเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา
คือ การพบปะเยี่ยมเยียนชุมชน การจัดสนทนากลุ่ม การจัดเวทีชุมชน
การจัดสัมมนาเชื่อมโยงเครือข่าย การศึกษาดูงาน
และการจัดกิจกรรมปฏิบัติการตามแผนงาน เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันระหว่างนักวิจัย
บุคลากรของกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง ตัวแทนของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร สมาชิกเครือข่ายชุมชนฯ ทั้ง 4 จังหวัด
และตัวแทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ผลการวิจัย
มีดังต่อไปนี้
1. การสร้างความเข็มแข็งให้แก่เครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง
จังหวัดสมุทรสาครที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้จัดตั้งขึ้น
1.1. การทบทวนโครงสร้างและคณะกรรมการบริหารเครือข่ายชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร
1.2. การออกระเบียบเครือข่ายชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร
1.3. การออกระเบียบกองทุนเครือข่ายชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร
พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณจำนวน 200,000 บาท ให้กองทุนเครือข่ายฯ
1.4. การศึกษาดูงานด้านการจัดการเครือข่ายชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
ณ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร
1.5. การดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
การเข้าร่วมกิจกรรมวันฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสมุทรสาคร
การจัดประชุมสัญจรของเครือข่ายที่ตำบลกาหลง การปลูกป่าชายเลนในวันแม่
2. การจัดตั้งเครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง
จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา
2.1 กำหนดโครงสร้างคณะกรรมการเครือข่ายชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการ กัดเซาะชายฝั่ง ตำบลบางแก้ว
จังหวัดสมุทรสงคราม ตำบลแหลมฟ้าผ่า จังหวัดสมุทรปราการ และตำบล สองคลอง จังหวัดฉะเชิงเทรา
2.2 การออกระเบียบเครือข่ายชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตำบลบางแก้ว
จังหวัดสมุทรสงคราม ตำบลแหลมฟ้าผ่า จังหวัดสมุทรปราการ และตำบลสองคลอง
จังหวัดฉะเชิงเทรา
2.3 การออกระเบียบกองทุนเครือข่ายชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตำบลบางแก้ว
จังหวัดสมุทรสงคราม ตำบลแหลมฟ้าผ่า จังหวัดสมุทรปราการ และตำบลสองคลอง
จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณให้กองทุนเครือข่ายชุมชนฯ จังหวัดละ
50,000 บาท
2.4 จัดทำแนวทางการบริหารจัดการของเครือข่ายชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตำบลบางแก้ว
จังหวัดสมุทรสงคราม ตำบลแหลมฟ้าผ่า จังหวัดสมุทรปราการ และตำบลสองคลอง
จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงาน 6 ด้าน ได้แก่
ด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจ ด้านการศึกษาวิจัยและด้านข้อมูล
ด้านการจัดทำแผนและการออกแบบ ด้านการจัดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
และด้านการมีส่วนร่วมประสานงาน และด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
2.5 การศึกษาดูงานด้านการจัดการเครือข่ายและการจัดทำแนวทางการจัดการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งร่วมกันของเครือข่ายจากจังหวัดสมุทรสงคราม
สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา ณ จังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรี
2.6 การดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
การปลูกป่าชายเลนร่วมกับองค์กรอื่นที่ตำบลสองคลอง จังหวัดฉะเชิงเทรา
และตำบลบางแก้ว จังหวัดสมุทรสงคราม การทอดผ้าป่าโรงเรียนกับชุมชนชายฝั่ง หมู่ที่ 9
ตำบลแหลมฟ้าผ่า จังหวัดสมุทรปราการ
3. การเชื่อมโยงเครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง
จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา
3.1. จัดประชุมเครือข่ายชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม และฉะเชิงเทรา ในวันที่ 25 สิงหาคม 2558
ณ. ห้องประชุม (ห้องใหญ่ ชั้น 3) ที่ว่าการอำเภอ จังหวัดสมุทรสาคร
โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินกิจกรรมของแต่ละเครือข่ายชุมชนฯ รวมทั้งสิ้น
10 โครงการ ตลอดจนระดมสมองเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่สนับสนุน
และปัญหาอุปสรรคของการดำเนินเครือข่าย
ตลอดจนแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานเครือข่ายในอนาคต
3.2. การติดต่อสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ (Social Media) ในลักษณะของการติดต่อส่วนบุคคลและการติดต่อในรูปแบบกลุ่ม
เพื่อให้สมาชิกได้นำเสนอผลความก้าวหน้าของการดำเนินกิจกรรมตลอดจนการเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อเครือข่าย
รวมทั้งแลกเปลี่ยนข่าวสารอื่นๆ
ที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์และการเอื้ออาทรของสมาชิกในเครือข่าย
3.3. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างตัวแทนเครือข่ายชุมชนฯ
จังหวัดสมุทรสาครกับเครือข่ายชุมชนฯ ของตำบลบางแก้ว จังหวัดสมุทรสงคราม
ทำให้สมาชิกของทั้ง 2
เครือข่ายได้นำความรู้และประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจกรรมที่เหมาะสมในเครือข่ายของตน
3.4. การจัดทำทำเนียบเครือข่ายชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทั้ง
4 จังหวัด เพื่อให้แต่ละเครือข่ายได้มีการเชื่อมโยงกันภายในจังหวัด
รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงกันระหว่างจังหวัด
4. การส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง
จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา
4.1 โครงการของเครือข่ายชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร
จำนวน 7 โครงการ ดังนี้
4.1.1 โครงการเสริมแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่นของหมู่ที่
7 ต.กาหลง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร งบประมาณสนับสนุนจำนวน 250,000 บาท
(สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
4.1.2 โครงการซ่อมแซมไม้ไผ่ที่ชำรุดเสียหาย
หมู่ที่ 4 ต.นาโคก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร งบประมาณสนับสนุนจำนวน 250,000 บาท
(สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
4.1.3 โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน
ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาครงบประมาณสนับสนุนจำนวน 35,000 บาท (สามหมื่นห้าพันบาทถ้วน)
4.1.4 โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน
ต.กาหลง อ.เมือง จ.สมุทรสาครงบประมาณสนับสนุนจำนวน 66,000 บาท
(หกหมื่นหกพันบาทถ้วน)
4.1.5 โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่งทะเล
ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
งบประมาณสนับสนุนจำนวน วงเงินงบประมาณจำนวน 99,000 บาท (เก้าหมื่นเก้าพัน บาทถ้วน)
4.1.6 โครงการจัดเก็บขยะบริเวณป่าชายเลน
ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาครงบประมาณสนับสนุนจำนวน 40,000 บาท
(สี่หมื่นบาทถ้วน)
4.1.7 โครงการจัดเก็บขยะบริเวณป่าชายเลนและหมู่บ้านของ
ต.บางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
งบประมาณสนับสนุนจำนวน 60,000 บาท (หกหมื่นบาทถ้วน)
4.2 โครงการของเครือข่ายชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
จังหวัดสมุทรสงคราม ได้แก่ โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์มีชีวิต วิถีประมงพื้นบ้าน
ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม งบประมาณสนับสนุนจำนวน 50,000 บาท
(ห้าหมื่นบาทถ้วน)
4.3 โครงการของเครือข่ายชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
จังหวัด สมุทรปราการ ได้แก่ โครงการจัดเก็บขยะบริเวณหมู่ที่ 9 ตำบลแหลมฟ้าผ่า
อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ งบประมาณสนับสนุนจำนวน 50,000 บาท
(ห้าหมื่นบาทถ้วน)
4.4 โครงการของเครือข่ายชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ โครงการก่อสร้างศูนย์อนุรักษ์ชายฝั่งทะเลบ้านสองคลอง
อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา งบประมาณสนับสนุนจำนวน 50,000 บาท
(ห้าหมื่นบาทถ้วน)
ข้อเสนอแนะ
จากผลการดำเนินการศึกษาการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เครือข่ายชุมชนป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร
การจัดตั้งเครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสมุทรสงคราม
สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา การเชื่อมโยงเครือข่ายและส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมเครือข่ายชุมชนฯ
ของทั้ง 4 จังหวัด
ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานมานั้น
กล่าวได้ว่าประสบผงสำเร็จอยู่ในระดับที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การดำเนินงานของเครือข่ายทั้งหมดมีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการชายฝั่งที่นอกจากเกิดผลดีทั้งทางด้านเศรษฐกิจ
สังคม และสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนชายฝั่ง สังคม รวมทั้งประเทศชาติเป็นการต่อเนื่อง
มีข้อเสนอแนะที่ควรจะได้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้
ข้อเสนอแนะต่อเครือข่าย
1. การดำเนินงานตามแผนงาน
เครือข่ายชุมชนฯ
ควรดำเนินกิจกรรมตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้อย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ควรได้มีการทบทวนแผนงานที่กำหนดไว้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และบริบทของชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไป
2. การบริหารงานเครือข่ายชุมชนฯ
เครือข่ายชุมชนฯ ต้องมีการจัดประชุม และดำเนินกิจกรรมร่วมกันเป็นระยะๆ
โดยเฉพาะกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในเครือข่ายชุมชนฯ
และระหว่างเครือข่ายอื่นๆ ทั้งในและนอกจังหวัด นอกจากนี้ควรมีการทบทวนโครงสร้างและกรรมการบริหารเครือข่ายชุมชนฯ
ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
3. การจัดหาสมาชิกเครือข่ายชุมชนฯ
การดำเนินงานเครือข่ายชุมชนฯ
จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากสมาชิก
ซึ่งต้องมีการมอบหมายงานให้สมาชิกดำเนินงานตามความเหมาะสม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการจัดหาสมาชิกเพิ่มเติมเพื่อรองรับกิจกรรมที่มีเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ควรเน้นกลุ่มเยาวชน
และนักเรียนเพื่อเป็นทายาทสืบทอดการทำงานของเครือข่ายชุมชนฯ ต่อไป
4. การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้
การถ่ายทอดความรู้ให้แก่สมาชิก และประชาชนในชุมชนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
เพื่อให้ได้มีความรู้และตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องมีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งร่วมกันของทุกคนในชุมชนร่วมกัน
ดังนั้นเครือข่ายชุมชนฯ จึงต้องมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ภายในชุมชน
โดยอาจร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นที่มีการดำเนินการอยู่แล้วในชุมชนก็ได้
5. การประชาสัมพันธ์
เท่าที่ผ่านมาการดำเนินงานของเครือข่ายชุมชนฯ
มักเป็นที่รับรู้ของบุคคลหรือหน่วยงานในวงจำกัด
นอกจากไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางแล้ว
ยังขาดโอกาสได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อชุมชนและสังคม
ดังนั้นเครือข่ายชุมชนฯ
จึงมีความจำเป็นต้องทำการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานในช่องทางที่เหมาะสม
โดยอาจขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายอื่นๆ
ข้อเสนอแนะต่อชุมชน
1. การให้ความร่วมมือกับเครือข่ายชุมชนฯ
กิจกรรมการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของเครือข่ายฯ
มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์เฉพาะแก่สมาชิกของเครือข่ายเท่านั้น
แต่ยังเอื้อให้กับประชาชนในชุมชนทั้งหมด และสังคมเป็นการต่อเนื่อง
ดังนั้นประชาชนในชุมชนต้องถือเป็นหน้าที่ในการให้ความร่วมมือกับเครือข่ายชุมชนฯ
เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามศักยภาพของตน
ทั้งนี้หากละเลยอาจได้รับผลกระทบเสียหายในอนาคตก็ได้
2. การหาความรู้ด้านระบบนิเวศชายฝั่ง
ประชาชนที่อยู่ในชุมชนควรหาโอกาสศึกษาหาความรู้ทางด้านระบบนิเวศชายฝั่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในด้านต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของตน
เพื่อตระหนักถึงความสำคัญและหลีกเลี่ยงการดำเนินกิจกรรมที่สร้างความเสียหาย
หรือก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มเติม
กับทั้งจะได้เข้ามามีส่วนร่วมกับเครือข่ายชุมชนฯ เพิ่มมากขึ้น
3. การส่งเสริมเยาวชนในการอนุรักษ์ชายฝั่ง
ในปัจจุบันพบว่าเยาวชนที่ให้ความสนใจในการอนุรักษ์ชายฝั่งมีเพียงจำนวนน้อย
ซึ่งในอนาคตเครือข่ายอาจขาดผู้สืบทอดการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของชุมชน
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการให้ความรู้และปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชนเหล่านี้ด้วยวิธีการต่างๆ
ทั้งการศึกษาในระบบที่ควรมีการสอดแทรกไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียน
การศึกษานอกระบบ และการจัดกิจกรรมอื่นๆ ตามความเหมาะสม
ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานท้องถิ่น
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1. การสนับสนุนงบประมาณ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะ องค์การบริหารส่วนตำบล สำนักงานเทศบาลท้องที่
องค์การบริหารส่วนจังหวัด ต้องให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานของเครือข่ายชุมชนฯ
เพราะก่อให้เกิดประโยชน์และป้องกันความเสียหายให้แก่ชุมชนอย่างแท้จริง
ประการสำคัญก็คือ ต้องให้การสนับสนุนด้านงบประมาณให้แก่เครือข่ายชุมชนฯ
ในการดำเนินกิจกรรมโดยเปิดโอกาสให้เครือข่ายชุมชนฯ
จัดทำแผนงานเสนอขอรับการสนับสนุนเป็นประจำทุกปี
2. การสนับสนุนจากภาคเอกชน
ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีดำเนินกิจการส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่ของชุมชนชายฝั่งต้องพิจารณาสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายชุมชนฯ
ในรูปแบบความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)
ซึ่งในปัจจุบันนี้พบว่า
เริ่มมีภาคเอกชนบางส่วนได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนบางเครือข่ายอยู่บ้างในลักษณะต่างคนต่างทำ
ทั้งนี้หากผู้ประกอบการภาคเอกชนหลายรายได้มีการร่วมมือกันจะสามารถช่วยเหลือเครือข่ายชุมชนฯ
ในกิจกรรมที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากอย่างเป็นรูปธรรม
3. การสนับสนุนในด้านอื่นๆ
การดำเนินงานตามแผนงานของเครือข่ายชุมชนฯ ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
โดยบางกิจกรรมยังไม่สามารถดำเนินการได้
สืบเนื่องจากข้อจำกัดในบางด้านของเครือข่ายชุมชนฯ
ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การให้คำปรึกษา
การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ดำเนินงาน การจัดทำสื่อการเรียนรู้
การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เป็นต้น
ข้อเสนอแนะต่อกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
1. การสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายชุมชนฯ
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งควรจัดแผนงานประจำปีที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายชุมชนฯ
ในทุกพื้นที่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านงบประมาณ
ด้านวิชาการ และด้านบุคลากร
ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ควรมอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่มีการประสานงานและติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงานกับเครือข่ายชุมชนฯ
อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ควรพิจารณามอบรางวัลเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่เครือข่ายชุมชนฯ
ที่เป็นต้นแบบที่ดีในการดำเนินงานด้านต่างๆ
2. การเป็นองค์กรหลักในการจัดการพื้นที่ชายฝั่ง
การจัดการพื้นที่ชายฝั่งที่ผ่านมา
พบว่ามีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาดำเนินงานในหลายรูปแบบ
ทั้งมีการดำเนินงานแบบเอกเทศ และการร่วมมือกับท้องถิ่น
จึงมีหลายกิจกรรมที่ที่มีความซ้ำซ้อนกัน
ไม่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของชุมชน ก่อให้เกิดการสิ้นเปลืองทางด้านทรัพยากรจำนวนมาก
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งควรทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักในการบูรณาการแผนงาน
และกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน
3. การจัดประชุมเครือข่ายชุมชนฯ
เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เครือข่ายชุมชนฯ มีการดำเนินได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งร่วมกับชุมชนในพื้นที่อื่นๆ
รวมทั้งนักวิชาการในด้านต่างๆ
ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งควรจัดให้มีการประชุมเครือข่ายชุมชนฯ เป็นระยะๆ
หรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้สมาชิกเครือข่ายชุมชนฯ
ได้นำความรู้และประสบการณ์ไปประยุกต์ในการบริหารจัดการเครือข่ายชุมชนฯ
ของตนตามความเหมาะสม
4. การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
การดำเนินงานของเครือข่ายชุมชนฯ ในบางด้านที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
ควรมีการวิเคราะห์และรวบรวมเพื่อจัดทำเป็นองค์ความรู้
แล้วทำการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้แก่เครือข่ายในพื้นที่อื่นๆ
รวมทั้งประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์
โดยอาจดำเนินการในช่องทางต่างๆ เช่น การจัดทำเอกสารเผยแพร่
การจัดทำเป็นสื่ออิเล็กโทรนิค การจัดประชุมวิชาการ เป็นต้น
Last updated: 2015-09-13 19:58:20