รักตนเอง รักครอบครัว รักองค์กร
 
     
 
แนวทางการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน จังหวัดนครศรีธรรมราช
เป็นการนำที่ดินป่าชายเลนของรัฐที่มีผู้ใช้ประโยชน์มาจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ รวมทั้งการจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้
 

แนวทางการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน จังหวัดนครศรีธรรมราช

ดร.ดุสิต เวชกิจ

รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาเกษตรศาสตร์และสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ดร.มณฑล จำเริญพฤกษ์

รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สมศักดิ์ พิริยโยธา

ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน จังหวัดนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. 2559 นี้ได้เริ่มดำเนินการครั้งแรกเฉพาะในท้องที่อำเภอเมืองและอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีแนวทางการจัดที่ดินทำกินป่าชายเลนในท้องที่อำเภอเมืองและอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในครั้งนี้ ได้ใช้แนวทางที่ทางฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ทำการกำหนดไว้ แต่ได้มีการปรับปรุงบางด้านเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของสังคมและสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ทั้งนี้ได้มีการกำหนดนโยบายการจัดที่ดินทำกินแห่งชาติ หลักเกณฑ์การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนและการจัดระเบียบการใช้ ประโยชน์ที่ดิน การกำหนดประเภทผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน คุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน แนวทางการจัดหา ที่ดินและการจัดที่ดิน รวมทั้งข้อกำหนดการใช้ที่ดินของผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1.������ นโยบายการจัดที่ดินทำกินแห่งชาติ

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ให้มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2557 คณะกรรมการดังกล่าว มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธาน กรรมการโดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องรวม 6 กระทรวง เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งมีผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้แทนองค์กรส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรเอกชน และผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์การจัดการที่ดิน และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการข้างต้น มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ ได้แก่ จัดทำนโยบายและแผนบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ กำหนดแนวทาง หรือมาตรการเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างเหมาะสมและ��� มีประสิทธิภาพ เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ ในกรณีที่ปรากฏว่าการดำเนินงานของคณะกรรมการตามกฎหมาย หรือหน่วยงานของรัฐไม่เป็นไปตามนโยบายและแผนบริการจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ติดตาม ประสานงาน สนับสนุน หรือเร่งรัดการดำเนินงานของคณะกรรมการตามกฎหมายหรือหน่วยงานของรัฐเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย และแผนบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ กำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบูรณาการความร่วมมือและประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐและประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินหรือทรัพยากรดิน รวมทั้งเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการจัดให้มีการปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน

สำหรับการกำหนดกรอบแนวคิดในการจัดที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าไม้ของคณะกรรมการที่สำคัญ คือ ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้แก่ชุมชน โดยให้สิทธิทำกินและอยู่อาศัย แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์พร้อมทั้งจัดทำสาธารณูปโภคให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพของชุมชน เช่น การจัดทำถนน จัดทำแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค เป็นต้น และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ยังได้ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อฝึกอาชีพจัดหาตลาดเพื่อการกระจายผลผลิตให้แก่ชุมชนด้วย โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1) เพื่อให้ประชาชนผู้ยากไร้ได้มีที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย����� อันเป็นการสร้างงานและอาชีพให้เกิดขึ้นกับประชาชน 2) เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในที่ดินของรัฐได้รับการจัดระบบและระเบียบการถือครองที่ดิน โดยสามารถอยู่อาศัยทำกินได้ แต่ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่อย่างไร และ 3) เพื่อการสงวน ปกป้อง ดูแลพื้นที่ป่าสมบูรณ์ รักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ เพื่อประโยชน์ของประเทศในอนาคต

ในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 3 คณะ ดังนี้

1.1��������� คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานปลัดกระทรวง และอธิบดีที่เกี่ยวข้องเป็นอนุกรรมการ และอธิบดีกรมป่าไม้เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่จัดทำฐานข้อมูลที่ดิน และแผนที่ขอบเขตที่ดินที่จะจัดสรรให้แก่ผู้ยากไร้�� ที่ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย

1.2��������� คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ปลัดกระทรวงและอธิบดีที่เกี่ยวข้องเป็นอนุกรรมการ และอธิบดีกรมที่ดินเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่สำรวจตรวจสอบและจัดทำข้อมูลผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย รวมทั้งจัดทำแผนและกำหนดหลักเกณฑ์การจัดที่ดิน

1.3��������� คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ปลัดกระทรวงและอธิบดีที่เกี่ยวข้องเป็นอนุกรรมการและอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่จัดทำแผนการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพและการตลาด พัฒนาระบบสาธารณูปโภค รวมถึงคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ในรูปแบบสหกรณ์ หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม

ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช ขึ้นโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและมีอนุกรรมการประกอบด้วย บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีอำนาจหน้าที่ ได้แก่ พิจารณาเพื่อกำหนด แนวทาง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การจัดที่ดินที่เป็นป่าชายเลนตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) สำรวจ ตรวจสอบ จัดทำข้อมูลที่ดิน และแผนที่ขอบเขตที่ดินป่าชายเลนที่จะจัดให้ชุมชนพร้อมรายละเอียดข้อมูลของราษฎรผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดิน เพื่อส่งมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป สรุปและรายงานผลการปฏิบัติงานต่อผู้บริหาร รวมทั้งปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

2.������ หลักเกณฑ์การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนโดยการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์และการจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน

คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล โดยการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ซึ่งได้จำแนกที่ดินของรัฐที่จะนำมาจัดออกมาเป็น 2 ลักษณะ คือ การจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ เป็นการนำที่ดินของรัฐที่มีผู้ใช้ประโยชน์มาจัดระเบียบ และการจัดระบบการใช้ประโยชน์ เป็นการนำที่ดินของรัฐที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ (ที่ว่าง) มาบริหารจัดการ ดังมีรายละเอียดตามที่ส่วนจัดที่ดินเพื่อประชาชน สำนักจัดการที่ดินของรัฐ ได้ให้แนวทางไว้ตามตารางที่ 1

ตารางที่ 1 หลักเกณฑ์ของ คทช. การจัดระเบียบการใช้ประโยชน์และการจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน

การจัดระเบียบการใช้ประโยชน์

การจัดระบบการใช้ประโยชน์ (ที่ว่าง)

1. จัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในรูปแปลงรวม ตามสภาพพื้นที่ และตามเขตการปกครอง

1. จัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในรูปแปลงรวม ตามสภาพพื้นที่ และตามเขตการปกครอง

2. การอนุญาต และการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ����ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของ คทช. แล้ว

2. การจัดทำแผนผังแปลงที่ดินตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับสภาพการทำประโยชน์ (Zoning)

3. จัดที่ดินให้แก่ผู้ใช้ประโยชน์ทำกินอยู่ก่อนแล้ว ������หากพื้นที่เหลือจึงจะจัดให้ผู้ที่ถูกผลักดันและอพยพ ออกจากพื้นที่ป่า และผู้มีถิ่นที่อยู่ในท้องที่ที่จะจัดที่ดินหรือใกล้เคียง โดยพิจารณาจากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ตามลำดับ ตามเกณฑ์การตรวจสอบข้อมูลการถือครอง และแนวทางการจัดที่ดินที่ คทช. เห็นชอบ

3. จัดทำสาธารณูปโภคอย่างเหมาะสมกับพื้นที่

4. การอนุญาต และการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ซึ่งได้ ผ่านความเห็นชอบของ คทช. แล้ว

5. จัดที่ดินให้ผู้ที่ถูกผลักดันและอพยพออกจากพื้นที่สงวนหวงห้ามของรัฐ โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำ ชั้น 1 ชั้น 2 และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่สำคัญเป็นอันดับแรก

������ หากมีพื้นที่เหลือจึงจะจัดให้กับผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในท้องที่ที่จะจัดที่ดินโดยพิจารณาจากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ตามลำดับ หากมีพื้นที่เหลือจึงจะจัดให้ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในท้องที่ใกล้เคียงอื่นต่อไป

สำหรับการจัดที่ดินทำกินในท้องที่จังหวัดนครศรีธรรมราชครั้งนี้ เป็นการนำที่ดินป่าชายเลนของรัฐที่มีผู้ใช้ประโยชน์มาจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ รวมทั้งการจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้�� โดยใช้หลักเกณฑ์ดังนี้

2.1��������� จัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในรูปแปลงรวมให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์เฉพาะรายตามสภาพพื้นที่และตามเขตการปกครอง โดยสมาชิกของชุมชนควรมีการรวมกลุ่มกัน ทั้งนี้อาจประกอบด้วย สมาชิกในกลุ่มตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด เช่น วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เป็นต้น

2.2��������� การใช้ประโยชน์ในที่ดิน ให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) แล้ว

2.3��������� จัดที่ดินให้แก่ผู้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่อยู่แล้วตามที่ครอบครองอยู่จริง������ โดยจัดให้รายละไม่เกิน 30 ไร่ หากมีพื้นที่เหลือหรือพื้นที่ที่ไม่มีผู้ทำประโยชน์ให้นำมาฟื้นฟูสภาพป่าก่อน

ในกรณีที่สภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมที่จะนำมาฟื้นฟูสภาพป่าจึงจะจัดให้ผู้ที่ถูกผลักดันและอพยพออกจากพื้นที่ป่า และผู้มีถิ่นที่อยู่ในท้องที่ที่จะจัดที่ดินหรือใกล้เคียงที่เป็นผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกิน โดยพิจารณาผู้ที่อยู่อาศัยจากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ตามลำดับก่อนหลัง ตามรายละเอียดในข้อที่ 2 ตามเกณฑ์ การตรวจสอบข้อมูลการถือครองและแนวทางการจัดที่ดินที่ คทช. เห็นชอบ ทั้งนี้เพื่อเป็นการควบคุมและร่วมกันดูแลรักษาพื้นที่ป่าชายเลน

2.4��������� ให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินนำที่ดินดังกล่าวไปดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนหรือสมาชิกของชุมชนที่รวมกลุ่มกันตามนโยบายรัฐบาล โดยร่วมกับ คทช. จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อดำเนินการจัดที่ดินให้แก่ราษฎรที่มีคุณสมบัติและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ คทช. เห็นชอบ

2.5��������� พื้นที่ที่จะจัดให้ตามโครงการฯ ต้องมีการทำประโยชน์ในพื้นที่ก่อนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

2.6��������� ให้กันที่ดินส่วนที่อยู่ห่างจากริมทะเล ไม่น้อยกว่า 100 เมตร ออกไปก่อน เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน

2.7��������� ในการจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดินให้กับผู้ได้รับการจัดที่ดินรายใหม่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้กำหนดพื้นที่ไว้ประมาณ 500 ไร่

2.8��������� ผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดินต้องแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ต่อกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งหรือ คทช. จังหวัด หรือหน่วยงานที่กำหนดไว้

3.������ ประเภทของผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน

ผู้ที่จะได้รับการพิจารณาจัดที่ดินทำกินในป่าชายเลน ท้องที่อำเภอเมืองและอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชในครั้งนี้ ประกอบด้วยบุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่

3.1��������� ผู้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่อยู่แล้วจากการสำรวจเบื้องต้นของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและเป็นไปตามผลการตรวจสอบข้อมูลรูปแปลงที่ดิน และข้อมูลรายชื่อราษฎรผู้ครอบครอง จาก คทช.จังหวัด โดยจำแนกประเภทผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินตามลักษณะการครอบครองออกเป็น

1)������ ผู้ครอบครองรายเดิมชื่อตรง/แปลงตรงให้เข้าร่วมโครงการฯ

2)������ ผู้ครอบครองชื่อไม่ตรง (ทายาทผู้ครอบครองรายเดิม)/แปลงตรง ให้เข้าร่วมโครงการฯ

3)������ ผู้ครอบครองรายใหม่/มีการเปลี่ยนมือ ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ครอบครอง

กรณีผ่าน : ให้เข้าร่วมโครงการฯ

กรณีไม่ผ่าน : แจ้งผู้ครอบครองทราบและให้นำพื้นที่มาฟื้นฟูสภาพป่า

4)������ ในพื้นที่ที่ไม่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ให้ คทช. จังหวัด ตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่าไม่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ ในกรณีนี้ให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพิจารณาดำเนินการ ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

3.2��������� ผู้ที่ถูกผลักดันและอพยพออกจากพื้นที่ป่า

3.3��������� ผู้มีถิ่นที่อยู่ในท้องที่ที่จะจัดที่ดินหรือใกล้เคียง โดยพิจารณาจากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ตามลำดับ

4.������ คุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน

ในด้านคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดินทำกินในป่าชายเลนข้างต้นสามารถจำแนกออกเป็น ผู้ครอบครองที่ดินรายเดิม (การจัดระเบียบการใช้ประโยชน์) และผู้ได้รับจัดที่ดินรายใหม่ (การจัดระบบการใช้ประโยชน์) โดยมีรายละเอียดดังนี้

4.1 ผู้ครอบครองที่ดินรายเดิม

1)������ มีสัญชาติไทยและบรรลุนิติภาวะแล้วหรือเป็นหัวหน้าครอบครัว

2)������ มีความสามารถทำประโยชน์ในที่ดินได้

3)������ ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ

4)������ ยินยอมปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด และเงื่อนไขที่กำหนด

5)������ ปัจจุบันไม่ได้รับการช่วยเหลือในการจัดที่ดินจากทางราชการ

4.2 ผู้ได้รับการจัดที่ดินรายใหม่

1)������ มีสัญชาติไทยและบรรลุนิติภาวะแล้วหรือเป็นหัวหน้าครอบครัว

2)������ มีความสามารถทำประโยชน์ในที่ดินได้

3)������ ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ

4)������ ยินยอมปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด และเงื่อนไขที่กำหนด

5)������ ปัจจุบันไม่ได้รับการช่วยเหลือในการจัดที่ดินจากทางราชการ

6)������ เป็นผู้ยากไร้ไม่มีที่ทำกินและ/หรือที่อยู่อาศัย หรือมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคนต่อปี

7)������ มีถิ่นที่อยู่ในท้องที่ที่จะจัดที่ดินหรือใกล้เคียง

กรณีที่คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดพิจารณาถึงความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ สังคม และความสงบเรียบร้อย โดยคำนึงถึงลักษณะพื้นที่ สภาพการใช้ประโยชน์ทำประโยชน์ คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช. จังหวัด) จะผ่อนผันการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เป็นการเฉพาะ รายก็ได้

5.������ แนวทางการจัดหาที่ดิน

แนวทางการจัดหาที่ดินป่าชายเลนในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน ก่อนนำไปดำเนินงานจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (ภาพที่ 1) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1

คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน พิจารณาข้อมูลจากการนำเสนอของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ซึ่งได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการจัดที่ดินทำกินป่าชายเลน ท้องที่อำเภอเมือง และอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้แก่ราษฎรตามนโยบายรัฐบาล แล้วแจ้ง คทช. เพื่อทราบ

ขั้นตอนที่ 2

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เสนอเรื่องที่ คทช. รับทราบแล้วเพื่อขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องผ่านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอต่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วรายงานผลให้คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน

ขั้นตอนที่ 3

คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน จัดส่งข้อมูลแปลงที่ดินและรายชื่อผู้ครอบครองที่ได้จากการสำรวจเบื้องต้น ให้คณะอนุกรรมการจัดที่ดินและคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช (คทช. จังหวัดนครศรีธรรมราช)

ขั้นตอนที่ 4

คณะอนุกรรมการจัดที่ดินทำการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดิน รายงานต่อ คทช. เพื่อทราบรวมทั้งแจ้ง คทช. จังหวัดนครศรีธรรมราช

ขั้นตอนที่ 5

คทช. จังหวัดนครศรีธรรมราช นำข้อมูลที่ได้จากคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินร่วมกับหน่วยงาน เจ้าของพื้นที่ (ระดับจังหวัด) ทำการประชาสัมพันธ์การดำเนินงาน/สำรวจ/ตรวจสอบ/ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล รูปแปลงที่ดิน และข้อมูลของราษฎรผู้ครอบครองภายในขอบเขตพื้นที่ที่จะดำเนินการจัดที่ดินทำกิน�� ให้ชุมชน และจำแนกประเภทตามการครอบครองที่ดินแล้วรายงานต่อคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินและคณะอนุกรรมการจัดที่ดิน

อนึ่ง ในขั้นตอนที่ 4 และ 5 เป็นการดำเนินงานควบคู่กันไป ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการจัดที่ดินและคทช. จังหวัดนครศรีธรรมราช อาจมีการประสานงานกันเพื่อให้การดำเนินงานมีความสอดคล้องกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ขั้นตอนที่ 6

คทช. จังหวัดนครศรีธรรมราช มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัด โดยผ่านทาง������� ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำการยื่นขออนุญาตใช้ประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปตามแต่สถานภาพของพื้นที่ ทั้งนี้เมื่อได้รับการอนุญาตแล้ว คทช. จังหวัดนครศรีธรรมราช จะได้มอบหนังสืออนุญาตดังกล่าวในแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อไป

อนึ่ง แนวทางการจัดหาที่ดินป่าชายเลนให้แก่ชุมชนในท้องที่อื่นๆ ต้องเป็นไปตามที่คณะกรรมการ นโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ทั้งนี้แต่ละพื้นที่อาจมีการปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมแต่ต้องได้รับการเห็นชอบจาก คทช. ก่อนดำเนินการ



6.������ แนวทางการดำเนินงานจัดที่ดิน

เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัด ได้รับหนังสืออนุญาตการใช้ประโยชน์พื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว จะดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน โดยมอบหมายให้ คทช. จังหวัดนครศรีธรรมราชร่วมกับคณะอนุกรรมการจัดที่ดิน ซึ่งจะทำการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อดำเนินการจัดที่ดินให้แก่ราษฎรโดยมีการดำเนินงาน 5 ขั้นตอน (ภาพที่ 2) ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1

คณะอนุกรรมการจัดที่ดินทำการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดิน (อาจจะดำเนินการมาก่อนในขั้นตอนการจัดหาที่ดินตามภาพที่ 1 ที่ได้กล่าวมาแล้ว) รายงานต่อ คทช. เพื่อทราบรวมทั้งแจ้ง คทช. จังหวัดนครศรีธรรมราช

ขั้นตอนที่ 2

คทช. จังหวัดนครศรีธรรมราช คณะทำงาน และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประชาสัมพันธ์ ตรวจสอบหลักฐานและพื้นที่ตามผังแปลงที่ดินรวมทั้งบัญชีรายชื่อ กรณีที่ผู้ยื่นคำขอขาดหลักฐานหรือหลักฐานไม่ถูกต้องจะได้รับการแจ้งให้ทำการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง

ขั้นตอนที่ 3

คทช. จังหวัดนครศรีธรรมราช มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามหลักเกณฑ์/เงื่อนไข/คุณสมบัติผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดิน โดยจัดทำผังแปลงที่ดินพร้อมรายชื่อผู้ที่ได้รับสิทธิทำกินในที่ดิน เพื่อเป็นหลักฐานและรับการตรวจสอบให้เป็นไปตามเงื่อนไขจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่

กรณีที่คุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอไม่เป็นไปตามที่ทางราชการกำหนด จะได้แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบ ซึ่งจะเป็นการสิ้นสุดขั้นตอนการขอสิทธิเข้าทำประโยชน์

ขั้นตอนที่ 4

คทช. จังหวัดนครศรีธรรมราช พิจารณาอนุมัติ/รับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ให้แก่ราษฎร

ขั้นตอนที่ 5

คทช. จังหวัดนครศรีธรรมราช รายงานและจัดส่งข้อมูลการดำเนินงานให้แก่คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งรายงานต่อหน่วยงานเจ้าของพื้นที่เพื่อกำกับดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ ต้องรายงานต่อคณะอนุกรรมการจัดที่ดินเพื่อทราบและรายงานผลต่อ คทช. ต่อไป

ทั้งนี้ คทช. จังหวัดนครศรีธรรมราช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจกำหนดรายละเอียดหรือพิจารณาปรับแนวทางการจัดที่ดินเพิ่มเติมได้ตามสมควร เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความเหมาะสม ในพื้นที่



7.������ ข้อกำหนดการใช้ที่ดินของผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน

เพื่อให้การจัดที่ดินทำกินในป่าชายเลน อำเภอเมืองและอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและตอบสนองนโยบายการจัดที่ดินทางราชการ ได้มีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน ดำเนินการตามข้อกำหนดดังนี้

7.1��������� ต้องทำประโยชน์และ/หรืออยู่อาศัยด้วยตนเอง หรือบุคคลในครอบครัว ภายในขอบเขตพื้นที่ที่ได้รับการจัดที่ดินเท่านั้น ห้ามขยายพื้นที่และต้องทำประโยชน์อย่างต่อเนื่อง

7.2��������� ห้ามซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ให้ยืม โอนสิทธิการเช่า หรือโอนสิทธิการครอบครองให้บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นไปตามระเบียบกฎหมายของหน่วยงานที่อนุญาตให้ใช้ที่ดิน

7.3��������� สามารถตกทอดไปยังทายาทโดยธรรมได้

7.4��������� ต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายต่างๆ ของหน่วยงานที่อนุญาตให้ใช้ที่ดิน รวมถึงข้อกำหนดที่ คทช. จะกำหนดขึ้นใหม่ในภายหลังด้วย

7.5��������� ให้ความยินยอมและอำนวยความสะดวกกับเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ที่จัดที่ดิน

7.6��������� หากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินไม่ประสงค์จะใช้ที่ดิน ให้ คทช.จังหวัด สามารถพิจารณายกเลิกการใช้ที่ดินและให้ผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินต้องส่งคืนพื้นที่

7.7��������� อนุญาตให้ใช้ประโยชน์เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือปลูกป่าชายเลน ไม่อนุญาตให้ใช้ ���เพื่อวัตถุประสงค์อื่น

7.8��������� การสร้างที่อยู่อาศัยต้องทำเท่าที่จำเป็นแก่ตนเองและบุคคลในครอบครัว จะสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อวัตถุประสงค์อื่นมิได้

7.9��������� การทำประโยชน์ของตนจะต้องไม่กระทบต่อระบบนิเวศใกล้เคียง และไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ต่อสิ่งแวดล้อม

7.10����������� ผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินต้องให้ความร่วมมือในการปลูกและบำรุงรักษาป่าชายเลนในพื้นที่ตามที่ทางราชการเห็นสมควร ตลอดทั้งต้องช่วยดูแลป่าชายเลนที่อยู่ใกล้เคียงมิให้ถูกบุกรุกเพิ่มเติม

7.11����������� การไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือกระทำผิดเงื่อนไข มีผลทำให้สิทธิในการใช้ที่ดินตามโครงการฯ สิ้นสุดลงทันที

8.������ ข้อเสนอแนะ

จากการประชุมประชาสัมพันธ์แนวทางจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558 และการจัดเวทีชุมชนให้แก่ผู้นำชุมชนและประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ���ในการจัดที่ดินท้องที่อำเภอเมืองและอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 13 และ 15 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา มีข้อเสนอแนะต่อกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ เพื่อให้การจัดที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าชายเลนมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนี้

8.1����� ระบบและกลไกในการดำเนินงาน ควรทำการวางระบบและกลไกในการดำเนินงานจัดที่ดิน ทำกินในพื้นที่ป่าชายเลนให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ในทุกกระบวนการของการดำเนินงาน โดยควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบโดยตรง เพื่อจะได้ทำการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมอบหมายเจ้าหน้าที่ดำเนินการในด้านต่างๆ ตามความเหมาะสม

8.2����� ฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน ต้องมีการจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินในป่าชายเลนที่ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรในรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสม ทั้งพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ พื้นที่เพื่อการฟื้นฟู และพื้นที่ทำกินของชุมชน โดยต้องมีการจัดทำฐานข้อมูลที่สะดวกต่อการใช้ปฏิบัติงานของทุกฝ่าย ทั้งนี้ต้องมีการปรับปรุงให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

8.3����� การติดตามและตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดิน ต้องมอบหมายให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำการติดตามและตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินในป่าชายเลนที่ได้รับการอนุญาตให้ทำกินเป็นระยะๆ โดยต้องให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด โดยเฉพาะกิจกรรมการใช้ประโยชน์และการถือครองที่ดินตามที่ทางราชการกำหนดไว้

8.4����� การประชาสัมพันธ์แก่หน่วยงานและประชาชนที่เกี่ยวข้อง การจัดที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าชายเลน จังหวัดนครศรีธรรมราชครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่มีการการดำเนินการให้แก่ประชาชนในพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทย จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องมีการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจผิดและสับสนต่อการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช และประชาชนในพื้นที่ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการดำเนินงาน

8.5����� การกำหนดพื้นที่ทำกินให้แก่ประชาชนบางส่วน การจัดที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าชายเลน จังหวัด นครศรีธรรมราชครั้งนี้ ในเบื้องต้นพบว่า ประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมีความพึงพอใจกับแนวทางที่ทางราชการ กำหนดไว้ เพียงแต่ในส่วนผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกิน ซึ่งได้จัดเตรียมพื้นที่ไว้จำนวน 500 ไร่ และผู้ที่ครอบครองที่ดินทำกินขนาดใหญ่ยังขาดความชัดเจนในการดำเนินงาน ควรจะได้มีการประสานงานกับคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนและเหมาะสมต่อไป

8.6����� การกำหนดพื้นที่ป่าชายเลนชุมชน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระในการจัดการป่าชายเลนบางส่วน และการส่งเสริมให้ประชาชนได้มีการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนแบบมีส่วนร่วม จึงเห็นควรกำหนดพื้นที่และรายละเอียดการจัดการพื้นที่บางส่วนให้เป็นป่าชายเลนชุมชนที่ประชาชนสามารถดำเนินการได้ในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจแก่ชุมชนในพื้นที่

8.7����� การบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ตอบสนองและบรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ในการจัดที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนโดยการร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ��� อย่างยิ่ง กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฯลฯ ดังนั้น แผนการจัดการพื้นที่ป่าชายเลนจึงต้องมีการบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยแท้จริง ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งควรจะได้ประสานงานกับคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างแท้จริง



Last updated: 2016-02-20 21:27:21


@ แนวทางการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน จังหวัดนครศรีธรรมราช
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ แนวทางการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน จังหวัดนครศรีธรรมราช
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,641

Your IP-Address: 18.222.219.97/ Users: 
1,640