ไม่มีอะไรยากเกินไป หากเราคิดว่าเราทำได้
 
     
 
"สิบสองเมษา วันป่า(ชายเลน)ชุมชน"
เพิ่งถึงบางอ้อว่าทำไม...12 เมษายน วันป่า(ชายเลน)ชุมชน... โดยน่ากำหนดขึ้นจากการที่ชาวบ้านในท้องที่ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ร่วมกันปลูกป่าชายเลนร่วมกันเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2532
 

•เมื่อสิบสองเมษายนต้นสามสอง

ชาวพี่น้องย่านสิเกาเขาไม้แก้ว

ร่วมภาคีจังหวัดตรังทั้งถิ่นแนว

หวังเพริดแพร้วพัฒนาป่าชายเลน

 

•ด้วยผ่านมาป่าอุดมสมบูรณ์ล้น

ถูกถางก่นโค่นใช้ไม่ว่างเว้น

สัมปทานถ่านเผาเจ้ากรรมเวร

ตัดไม้เด่นแทบหมดไปเหลือไม้รอง

 

•บางชาวบ้านเอาอย่างอ้างชอบธรรม

พารวมกลุ่มรุมกระหน่ำตัดซ้ำสอง

หวังประโยชน์ส่วนตนผลก่ายกอง

ทั้งจับจองครองที่ดินถิ่นพำนัก

 

•เจ้าหน้าที่ไม่นำพาวิชาการ

บ้างหน้าด้านช่วยนายทุนทำวุ่นหนัก

ฉ้อราษฎร์เอาชาวบ้านพาลแช่งชัก

ไม่รู้จักรักศักดิ์ศรีที่มีเลย

 

•ป่าชายเลนพบเวรกรรมถูกทำลาย

ก่อเสียหายให้ผู้คนจนเหลือเอ่ย

เกิดทุกข์เข็ญลำเค็ญใจไม่เหมือนเคย

หากเฉยเมยปล่อยไปภัยนานา

 

•สมาคมหยาดฝนต้นความคิด

กระตุ้นจิตชาวบ้านกันถ้วนหน้า

ถือบทเรียนประสบการณ์ที่ผ่านมา

ปลุกสำนึกระลึกค่าป่าชัดเจน

 

•เชิญผู้ว่าฯท่านผัน จันทรปาน

ร่วมสืบสานชุมชนผลงานเด่น

สร้างตำนานปลูกต้นไม้ป่าชายเลน

แหวกกฎเกณฑ์หน่วยงานรัฐที่จัดไป

 

•จึงวันดีที่สิบสองเมษายน

แรกชุมชนรวมพลังสร้างป่าไม้

เป็น"วันป่าชายเลนชุมชน"ไทย

คือผลงานอันยิ่งใหญ่ให้ก้าวตาม

ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)

 www.lookforest.com

12 กรกฎา 61 ตรัง

แรงดลใจ:

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561ที่ผ่านมา นับว่ามีโอกาสดีที่ได้ไปเยี่ยมชมชุมชนร่วมกันดำเนินงานป่าชุมชนชายเลน ที่บ้านแหลมมะขาม ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ซึ่งนับว่ามีผลงานที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง โดยสามารถฟื้นฟูป่าชายเลนที่เคยเสื่อมโทรมจากการทำสัมปทานที่ไม่ค่อยเป็นไปตามหลักวิชาการ รวมทั้งการใช้ประโยชน์ซ้ำเติมจากชาวบ้านที่ขาดการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่ จนปัจจุบันป่าชายเลนกลับมีความอุดมสมบูรณ์ ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับชุมชนอย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์น้ำนานาชนิดที่ชุกชุมเพิ่มขึ้น อันเป็นแหล่งอาหารและเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้าน

กำนันสมหมาย หมาดทิ้ง  ได้ให้ข้อมูลที่สร้างความกระจ่างและน่าสนใจหลายด้านเกี่ยวกับประสบการณ์ดำเนินงานป่าชุมชนของบ้านแหลมมะขามและป่าชุมชนชายเลนของจังหวัดตรัง ตอนหนึ่งได้ให้ข้อมูลว่า

 

"...พวกเราผู้นำชุมชนหลายคนทนไม่ไหวที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรม จนส่งผลเสียหายหลายด้าน โดยเฉพาะกุ้ง หอย ปู ปลาที่ลดน้อยลงอย่างมาด สมาคมหยาดฝนได้กระตุ้นให้พวกเราร่วมกันรักษาป่าชายเลนร่วมกัน จนได้ตกลงกับหลายภาคีทำการปลูกป่าชายเลนโดยชุมชนในตำบลเขาไม้แก้ว ซึ่งน่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2532 ซึ่งนายผัน จันทรปาน ผู้ว่าฯตรังในตอนนั้นมาเป็นประธานให้..."

 

ข้อมูลข้างต้นนี้เอง ที่ทำให้ปัญหาที่เคยค้างคาใจมาหลายเดือนกระจ่างขึ้น โดยเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2561ที่ผ่านมา ได้มีหลายคนสอบถามเกี่ยวกับที่มาที่ไปของวันป่าชายเลนชุมชน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์ ได้พยายามหาข้อมูลจากหลายแหล่ง แต่ก็ไม่มีใครอธิบายได้ จึงได้ทำการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าในเวบไซต์ของรางวัลลูกโลกสีเขียวได้เสนอบทความที่สอดคล้องกันเกี่ยวกับป่าชุมชนบ้านทุ่งทอง ในตำบลเขาไม้แก้วเช่นเดียวกัน โดยตอนหนึ่งได้รายงานไว้ว่า

 

"...ช่วงปี 2532 สมาคมหยาดฝน ได้จัดสัมมนา เรื่อง ปัญหาระบบนิเวศวิทยากับแนวทางพัฒนาชายฝั่งภาคใต้ โดยมีตัวแทนจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ศ.นพ.ประเวศ วะสี จึงได้ข้อสรุปให้มีการจัดตั้ง โครงการฟื้นฟูป่าชายเลนในเขตป่าใช้สอยของชุมชน จนได้รับอนุมัติจากทางจังหวัด มีพื้นที่จำนวน 587 ไร่ และผู้ว่าราชการฯในขณะนั้น (นายผัน จันทรปาน) ก็เป็นประธานในการปลูกป่าครั้งแรกในวันที่ 12 เมษายน 2532..."

 

 จึงพอสรุปได้ว่าการกำหนดวันป่าชายเลนชุมชนน่าจะมาจากการดำเนินงานปลูกป่าชายเลนโดยชาวบ้านและภาคีเป็นครั้งแรกที่ตำบลเขาไม้แก้ว ในจังหวัดตรังดังกล่าว ทั้งนี้หากท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติมน่าจะได้แลกเปลี่ยนกัน เพื่อช่วยบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของป่าไม้ไทยต่อไป


Last updated: 2018-07-20 20:20:16


@ "สิบสองเมษา วันป่า(ชายเลน)ชุมชน"
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ "สิบสองเมษา วันป่า(ชายเลน)ชุมชน"
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,121

Your IP-Address: 18.97.9.171/ Users: 
1,120