ผู้ที่ประสบความสำเร็จ คือผู้ที่ทำความฝันให้เป็นความจริงได้อยู่เสมอ
 
     
 
บ้านยี่สาร : สวนป่าโกงกางเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย
ชุมชนบ้านยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีอาชีพการปลูกป่าเป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้ว และวิถีชีวิตประจำวันจำต้องอาศัยทรัพยากรจากสัตว์น้ำที่มีอยู่มากมายในป่าชายเลน
 

ย้อนรอยอดีต กว่า  300 ปี ราวพุทธศักราช 2246-2251 สมัยอยุธยาตอนปลาย รัชสมัย
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 พระเจ้าเสือ ปรากฏหลักฐานจากโบราณสถานและโบราณวัตถุ พบหมู่บ้านที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบชายฝั่งทะเล และได้รับอิทธิพลจากการขึ้นลงของน้ำทะเล ประกอบกับหลักฐานทางวรรณคดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นพบว่า สุนทรภู่กวีเอกของโลกได้บรรยายความในนิราศเมืองเพชร(พ.ศ.2384-2392) ถึงสภาพของหมู่บ้านยี่สารที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผืนป่าชายเลน จึงน่าจะบ่งชี้ได้ว่าคนกับป่าชายเลนนั้นพึ่งพิงกันมานานเพียงใด ด้วยภูมิประเทศที่เป็นชายฝั่งทะเล ราษฎรในชุมชนบ้านยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จึงต้องคัดเลือกชนิดพรรณไม้ที่เหมาะสมและปรับตัวได้ในสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำเค็ม ในช่วงแรกจึงปลูกไม้จำพวกไม้แสม (Avicennia spp.) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงและปลูกต้นจาก (Nypa fruticans) เพื่อใช้อุปโภคบริโภค คือ ใช้มุงหลังคาและผลจากต้นจาก

ประมาณปี พ.ศ.2450 ราษฎรท้องถิ่นได้นำไม้โกงกางใบเล็ก (Rhizophora apiculata) มาปลูกเพื่อใช้ในการเผาถ่านตามความต้องการและได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่า จึงได้เปลี่ยนแปลงมาปลูกไม้โกงกางใบเล็กในพื้นที่ที่จับจองไว้จนถึงปัจจุบัน สำหรับด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน ทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการครอบครอง (สค.1) ให้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 และปี พ.ศ.2504 จากนั้นได้สำรวจและออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3) ต่อมาปี พ.ศ.2516 ได้ออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน (นส.4 หรือโฉนดที่ดิน) ซึ่งกล่าวได้ว่าชุมชนบ้านยี่สารเป็นชุมชนที่ต้องอยู่กับป่าชายเลน และเป็นสวนป่าชายเลนแห่งแรกของประเทศไทย


เมื่อชุมชนมีความจำเป็นต้องอยู่พึ่งป่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 กิจการเลี้ยงกุ้งแชบ๊วยและกุ้งกุลาดำเริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและทำรายได้ดีกว่าการปลูกป่า ใช้เวลาสั้นๆเพียงประมาณ 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งต่างจากการปลูกป่าที่ใช้เวลาถึง 12-15 ปี โดยเฉพาะช่วงปีพ.ศ.2529-2531 เป็นช่วงที่นิยมเลี้ยงกุ้งสูงสุด มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนไปเป็นบ่อกุ้ง ประมาณเกือบครึ่งหนึ่ง (พื้นที่ทั้งตำบลประมาณ 38,000 ไร่หรือ 60 ตารางกิโลเมตร) ซึ่งที่ดินบางส่วนได้ถูกกว้านซื้อและไปตกอยู่กับนายทุนต่างถิ่น แต่การเลี้ยงกุ้งไม่มีความยั่งยืน เกิดโรคระบาด และราคากุ้งตกต่ำ การเลี้ยงกุ้งจึงประสบกับการขาดทุน และได้ระงับการเลี้ยงกุ้งลง (ทำให้หนุ่มบ้านยี่สารที่เคยฝันเฟื่องถึงความรุ่งเรืองในชีวิตและทรัพย์สินที่ได้หมายปองสาวคนรัก แต่พลันต้องอับปรางลงอย่างไม่เป็นท่า)

ในช่วงปี พ.ศ.2537-2547 ราษฎรเริ่มกลับมายึดอาชีพดั้งเดิม คือ การปลูกป่าชายเลนมากขึ้น แม้บางรายจะต้องเช่าที่ดินจากนายทุนภายนอกที่กว้านซื้อที่ดินไว้แล้วมาปลูกป่าในอัตราไร่ละ 100 บาท/ปี และบางรายก็มีการปลูกป่าควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ปลา ปู ในบ่อ ซึ่งจะช่วยให้มีสภาพแวดล้อมดีขึ้นและไม่มีสารเคมีมาเป็นผลกระทบ โดยส่วนหนึ่งก็มาจากนโยบายการส่งเสริมราษฎรปลูกป่าเศรษฐกิจโดยกรมป่าไม้ มีการสนับสนุนให้ทุนราษฎรร่วมโครงการในจำนวน 3,000 บาท/ไร่ ในระยะเวลา 5 ปี คือ 800, 700, 600, 500 และ 400 บาท ตามลำดับ ทางออกของราษฎรในชุมชนที่จะประกอบอาชีพในที่ดินของบ้านยี่สารมีไม่มากนัก เนื่องจากสภาพอันเป็นที่ดินชายฝั่งทะเล ดังนั้น การต้องหันกลับมาปลูกป่าชายเลนจึงเป็นทางเดินเดิมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้


ปลูกป่าชายเลนแล้วราษฎรในชุมชนได้อะไรบ้าง ชุมชนบ้านยี่สาร อำเภออัมพวา
จังหวัดสมุทรสงคราม มีอาชีพการปลูกป่าเป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้ว และวิถีชีวิตประจำวันจำต้องอาศัยทรัพยากรจากสัตว์น้ำที่มีอยู่มากมายในป่าชายเลน เป็นอาหารประจำวัน เหลือก็ขายไป ดังนั้นความเอื้ออาทรต่อกันในการใช้ประโยชน์ทางอ้อม คือ จับสัตว์น้ำในป่าชายเลนและลำคลอง เช่น การจับปูทะเลปูแสม กุ้ง หอย หรือวางอวนปลา ก็แบ่งปันกันโดยไม่มีปัญหาด้านที่ดินกรรมสิทธิ์ แม้กระทั่งการไปเก็บเศษไม้ปลายไม้ในป่ามาเป็นฟืนก็สามารถทำได้


บางครั้งเก็บมาขายให้กับผู้ใช้เตาถ่านเพื่อเป็นเชื้อฟืนหน้าเตาสำหรับผลประโยชน์ภายหลังจากการปลูกป่าซึ่งเจ้าของที่ดินจะได้รับ คือ ไม้จากป่า ซึ่งในการปลูกป่าจะต้องมีการลงทุนลงแรง ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ เตรียมกล้าไม้ คือ ฝักไม้โกงกางใบเล็ก การปลูกและการปลูกซ่อม ซึ่งกว่าจะตัดฟันใช้ไม้ได้ประมาณ 12-15 ปี ตามสภาพของพื้นที่ ดังนั้นระหว่างที่มีการปลูกป่าจึงมีการจ้างแรงงาน และรับซื้อฝักไม้โกงกาง เมื่อถึงตอนตัดฟันไม้ไปเผาถ่านก็ต้องจ้างแรงงานเพื่อตัดและลอกเปลือกออก ทอนเป็นท่อน ขนส่งเข้าเตาถ่านเพื่อเผาถ่าน และมีขบวนการเผาถ่านอีกประมาณ 30 วัน


จึงได้ถ่านไม้มาเพื่อจำหน่ายต่อไป ในขั้นตอนการเผาถ่าน มีผู้ควบคุมการเผาที่เรียกว่า ไซฮู้  ในชุมชนบ้านยี่สารมีผู้รู้ คือ ลุงไสย ศักดิ์เสรีชัย เกษตรกรดีเด่นปี พ.ศ.2540 ที่ประกอบอาชีพปลูกป่าและเผาถ่าน ผู้เขียนคงต้องไปนำความรู้มานำเสนอในโอกาสต่อๆไป และภูมิปัญญาชุมชนนี้นับวันจะสูญหายไป อย่างไรก็ตามจึงขอเสนอขั้นตอนการปลูกป่าชายเลน จนถึงการใช้ประโยชน์ให้เห็นเป็นแผนภูมิ ดังนี้


การเพิ่มมูลค่าจากถ่าน เป็นพลังงานที่มีคุณภาพ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ดำเนินการโครงการแนวทางการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืนโดยประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งพื้นที่ชุมชนยี่สาร ก็อยู่ในพื้นที่เป้าหมายของโครงการในเขตพื้นที่ปากแม่น้ำบางตะบูน และกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการฯ ซึ่งการเผาถ่านได้ผลตอบแทนน้อยและยังมีเศษวัสดุเหลืออีก คือ เศษถ่านก้นเตา การมาเพิ่มขบวนการผลิตถ่านอัดแท่งจึงเป็นนวัตกรรมที่เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน และสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่ามากขึ้น

โครงการฯได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมสุขภาพและสังคม (สสส.) เพื่อจัดซื้อเครื่องอัดแท่งถ่านมอบให้กับกลุ่มถ่านอัดแท่งบ้านยี่สาร จะเริ่มทำการในเดือน พฤษภาคม 2552 นี้ นอกจากนี้ยังใช้ศูนย์กลางการเรียนรู้ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งด้วย ในวันนี้ชุมชนบ้านยี่สารได้มีกลุ่มเกิดขึ้นอีกมากมาย เช่น กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน กลุ่มผ้ามัดย้อมจากเปลือกไม้ชายเลน นับว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสร้างรายได้แก่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป

เมื่อปัญหาโลกร้อนเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดผลกระทบและสร้างปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้น รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง วันนี้ชุมชนบ้านยี่สารเป็นชุมชนที่ต้องอยู่กับป่าชายเลนด้วยสภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชน หากภาครัฐมีการส่งเสริมการปลูกป่าชายเลนของภาคเอกชนอย่างจริงจัง จะเกิดพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มมากขึ้น และผืนป่าชายเลนดังกล่าวจะเป็นแหล่งเรียนรู้สร้างอาชีพอื่นๆ ตลอดจนกลายเป็นแหล่งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เพิ่มมูลค่าและรายได้แก่ชุมชน จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆนอกเหนือจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะต้องให้การส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้น
 


Last updated: 2011-07-03 13:07:15


@ บ้านยี่สาร : สวนป่าโกงกางเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ บ้านยี่สาร : สวนป่าโกงกางเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
3,169

Your IP-Address: 3.235.243.45/ Users: 
3,168