การงานจะสำเร็จหรือล้มเหลว ไม่ใช่เพราะคนอื่นแต่เพราะตัวของเราเองเท่านั้น
 
     
 
ปักแนวไม้ไผ่ ปลูกไม้ชายเลน
พบว่าปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยในบริเวณชายฝั่งทะเลหลายแห่งของจังหวัดฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาครและสมุทรสงคราม นับวันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ
 

•ปักไม้ไผ่แนวยาวที่เหยียดยื่น

ชะลอคลื่นละลอกโหมที่โถมถั่ง

ปะทะลมแรงน้อยถอยกำลัง

ประวิงไว้ชายฝั่งพังทลาย

•เพิ่มตะกอนสะสมตกจมฝัง

จากแนวไผ่สู่ชายฝั่งหวังจุดหมาย

ค่อยเขินตื้นดินเติมเสริมเลนทราย

แล้วปลูกไม้ชายเลนเน้นครอบครอง

•อดีตกาลชายฝั่งทั้งแนวเขต

ภูมิประเทศป่าปกไว้ไร้เจ้าของ

จึงนำพาประโยชน์ล้ำตามครรลอง

ทั้งปกป้องต้านแรงแห่งคลื่นลม

•ครั้นนาเกลือนากุ้งเกิดรุ่งเรือง

คนหาเรื่องทำลายป่าพาโค่นล้ม

ทั้งถางขุดปรับพื้นที่ค่านิยม

ด้วยชื่นชมอีกโลภมากอยากร่ำรวย

•เพิ่มแรงคลื่นลมน้ำกระหน่ำหา

เหลือหย่อมป่าน้อยนักเกินจักช่วย

ดินค่อยพังฝั่งค่อยหายคนกลายซวย

สิ้นเกลือกุ้งยุ้งเรือนด้วยแทบม้วยมรณ์

•ทั้งหมู่บ้านวุ่นวายชายฝั่งหด

ต้องรันทดสู้กันไปคลายเดือดร้อน

ทั้งเขื่อนหินถุงทรายไผ่ใช้ต่อกร

ชีพลุ่มดอนต้านฝืนคลื่นลมภัย

•เป็นบทเรียนล้ำค่าอย่าโลภมาก

ลดความอยากตระหนักค่าของป่าไม้

ก่อประโยชน์แก่ผู้คนท่วมท้นไป

ต้องปกปักรักษาไว้ให้ตราบนาน

•อันแนวไผ่ไม้ชายเลนเน้นปลูกเสริม

เพียงช่วยเพิ่มความหวังครั้งคราวผ่าน

ชายฝั่งจักสมบูรณ์ได้ไปชั่วกาล

ต้องสืบสานปลูกต้นไม้ในใจคน

ครูนิด (วน.43)ชมรมสีเสียดแก่น

แรงดลใจ:

                จากการศึกษาและวิจัยร่วมกันระหว่างทีมวิจัยของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พบว่าปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยในบริเวณชายฝั่งทะเลหลายแห่งของจังหวัดฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาครและสมุทรสงคราม นับวันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ สร้างความเสียหายต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมต่อประชาชนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก บางชุมชนต้องมีการย้ายถิ่นที่อยู่หลายครั้ง จนปัจจุบันไม่อาจดำเนินการได้อีกเนื่องจากไม่มีที่ดินรองรับการสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยอีกแล้ว

จากข้อมูลเชิงลึกที่รวบรวมจากหลายแหล่ง สามารถสรุปได้ว่าในอดีตหลายพื้นที่ไม่เคยประสบปัญหาข้างต้น กับทั้งชายฝั่งยังมีการงอกของแผ่นดินยื่นออกสู่ทะเลด้วยซ้ำไป เนื่องจากมีป่าชายเลนปกคลุมพื้นที่อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีการตกของตะกอนเลนจำนวนมาก แต่ภายหลังชุมชนมีการดำเนินกิจกรรมในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ที่สำคัญได้แก่การทำนาเกลือและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่งผลให้ความต้านทานต่อความรุนแรงของคลื่นและลมทะเลลดน้อยลง การพังทลายของชายฝั่งจึงมากขึ้นตามลำดับ

การป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินการในหลายรูปเช่นการสร้างกำแพงคอนกรีต การทิ้งหิน การใช้กระสอบทราย การปักเสาซีเมนต์ฯลฯ รวมทั้งการใช้ภูมิปํญญาชาวบ้านที่มีการประยุกต์ไปสู่การปักแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่นลมทะเล กับทั้งมีตะกอนดินเกิดขึ้นหลังแนวไม้ไผ่ จนเมื่อมีปริมาณและความหนาแน่นมากพอจึงทำการคัดเลือกพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่เหมาะสมเช่น แสมทะเลและโกงกางใบใหญ่ทำการปลูกในพื้นที่ ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จในบางชุมชน แต่บริเวณพื้นที่ที่คลื่นลมทะเลมีความรุนแรงมาก กอปรกับพื้นที่มีความลาดเอียงมากก็อาจไม่ได้ผลมากนัก  อย่างไรก็ตามหากผู้คนเห็นความสำคัญของป่าชายเลนโดยมีการใช้ประโยชน์ในระดับที่เหมาะสมรวมทั้งมีการอนุรักษ์ การปลูกและการบำรุงรักษาที่ดีแล้วจะทำให้ปํญหาการกัดเซาะชายฝั่งคลี่คลายลงอย่างแน่นอน

 


Last updated: 2014-05-14 18:52:27


@ ปักแนวไม้ไผ่ ปลูกไม้ชายเลน
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ปักแนวไม้ไผ่ ปลูกไม้ชายเลน
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,716

Your IP-Address: 18.217.10.200/ Users: 
1,714