การฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนโดยการมีส่วนร่วม
ปีสุดท้ายของโครงการเป็นการสรุปผลแนวทางการจัดการและรวบรวมบทเรียนความรู้เพื่อถ่ายทอดสู่ชุมชน และจัดทำแผนยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ และเชิงนโยบาย
แนวทางของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คือ การนำพื้นที่ที่ถูกเปลี่ยนไปนั้นกลับคืนมา เช่น พื้นที่นากุ้ง เป็นต้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่สามารถฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนกลับคืนมาได้ง่ายที่สุด ต่างจากพื้นที่อื่น เช่น ท่าเรือ และบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เป็นต้น แนวทางดังกล่าวเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าได้อีกด้วย ในขณะเดียวกันพบว่ามีป่าชายเลนของเอกชนในจังหวัดสมุทรสงครามถึงจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นป่าที่กำหนดเป็นเขตป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี ทางกรมทรัพยากรทางทะเลฯ ยังไม่มีนโยบายหรือการจัดการที่เป็นรูปธรรมกับพื้นที่ลักษณะนี้
สำหรับงานวิจัยในโครงการแนวทางการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืนโดยประชาชนมีส่วนร่วม กรณีศึกษาพื้นที่นำร่อง 5 แห่ง เป็นการดำเนินงานของกรมทรัพยากรทางทะเลฯ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการป่าชายเลนให้เกิดความยั่งยืนทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการเสนอความคิดเห็นเพื่อจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลน และสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน พื้นที่นำร่อง 5 แห่ง ครอบคลุม 6 จังหวัด 20 อำเภอ 67 ตำบล 186 หมู่บ้าน พื้นที่รวม 319,982 ไร่ ประกอบด้วย
-
ตัวแทนภาคตะวันออก คือ ลุ่มน้ำเวฬุ จังหวัดจันทบุรี
-
ตัวแทนภาคกลาง คือ ปากน้ำบางตะบูน จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดเพชรบุรี
-
ตัวแทนภาคใต้ฝั่งตะวันออก คือ อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎ์ธานี
- ตัวแทนภาคใต้ฝั่งตะวันตก คือ ปากแม่น้ำกระบุรี จังหวัดกระบี่ และลุ่มน้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง
การดำเนินงานระยะที่ 1 ปี 2547-2549 เป็นระยะปรับตัวและวางแผนร่วม คือ ปรับทัศนคติเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลฯ องค์กรท้องถิ่น และชุมชน ในการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ เนื่องจากกรมทรัพยากรทางทะเลฯ แยกจากกรมป่าไม้ เจ้าหน้าส่วนใหญ่รับผิดชอบดำเนินการปราบปรามการทำผิดกฎหมาย ทำให้มีความคิดเห็นไม่ตรงกับชาวบ้าน การจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ สภาพเศรษฐกิจ และสังคมท้องถิ่นร่วมกัน จัดทำแผนปฏิบัติงานและแนวยุทธศาสตร์การจัดการอย่างยั่งยืนจำนวน 6 แผนงาน 66 โครงการ ได้แก่ การสำรวจทรัพยากรและฐานข้อมูล การสาธิตการจัดการทรัพยากรร่วมกับชุมชน การส่งเสริมและพัฒนาด้านการใช้ประโยชน์ การส่งเสริมและพัฒนากลุ่มและเครือข่ายการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากร การส่งเสริมและพัฒนาความรู้เพื่อการถ่ายทอดความรู้โดยเน้นศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ด้านป่าชายเลน
การดำเนินงานระยะที่ 2 ปี 2550-2553 เป็นระยะดำเนินงานและพัฒนา โดยดำเนินการตามโครงการ การสร้างกลุ่มและเครือข่ายและภาคประชาชนภายในสามปีแรก ส่วนปีสุดท้ายของโครงการเป็นการสรุปผลแนวทางการจัดการและรวบรวมบทเรียนความรู้เพื่อถ่ายทอดสู่ชุมชน และจัดทำแผนยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ และเชิงนโยบาย
ผลการดำเนินงานของ
-
แผนงานที่ 1 ได้มีการสำรวจทรัพยากรและฐานข้อมูลของพื้นที่นำร่องทั้ง 5 แห่ง
-
แผนงานที่ 2 การสาธิตการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนร่วมกับชุมชน เช่น การทำนาเกลือผสมผสาน กิจกรรมการเลี้ยงปูดำแบบผสมผสาน แปลงสาธิตการเลี้ยงหอยแครงในป่าชายเลน และแปลงวนเกษตรในป่าชายเลน เป็นต้น
-
แผนงานที่ 3 การส่งเสริมและพัฒนาด้านการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน เช่น การใช้ประโยชน์จากต้นจาก และเตยปาหนัน ผลิตภัณฑ์จากใบขลู่ และถ่านอัดแท่งจากเศษถ่านไม้โกงกาง เป็นต้น
-
แผนงานที่ 4 การส่งเสริมและพัฒนากลุ่มและเครือข่ายการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรป่าชายเลน เช่น การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับพื้นที่นำร่องทั้ง 5 แห่ง
-
แผนงานที่ 5 การส่งเสริมและพัฒนาความรู้เพื่อการถ่ายทอดความรู้เน้นศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ด้านป่าชายเลน และ
-
แผนงานที่ 6 ได้มีการติดตามและประเมินผลในพื้นที่นำร่องทั้ง 5 แห่ง
Last updated: 2013-01-01 17:37:24
|
@ การฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนโดยการมีส่วนร่วม |
|
|
|
|
|
|
|
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ การฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนโดยการมีส่วนร่วม
|