กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
ในช่วงวิกฤตการณ์ต้องคิดถึงคนอื่นให้มาก ๆ
 
     
 
การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการจัดการป่าชายเลน
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าชายเลนของประเทศและเล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการป่าชายเลน
 

หลักการและเหตุผล

                ป่าชายเลน (Mangrove forest) คือระบบนิเวศที่ประกอบไปด้วยพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์นานาชนิด ดำรงชีวิตร่วมกันในสภาพแวดล้อมที่เป็นดินเลน น้ำกร่อย และมีน้ำทะเลท่วมถึงอย่างสม่ำเสมอ

โดยพบว่าป่าชายเลนในประเทศไทยจะขึ้นกระจายอยู่ทั่วไปบริเวณแนวชายฝั่งทะเลทั้งทางด้านอ่าวไทย ในแถบจังหวัดตราด ระยอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ชุมพร สุราษร์ธานี นครศรีธรรมราช ต่อเนื่องไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส และทางด้านฝั่งทะเลอันดามันบริเวณจังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล และจังหวัดภูเก็ต รวมพื้นที่ประมาณ 1.5 ล้านไร่

(กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2552)

ในแง่ของคุณค่าและความสำคัญ พบว่าป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างมากมายมหาศาลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจ

ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การนำเนื้อไม้มาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่นใช้ทำฟืน ผลิตถ่าน ไม้เสาเข็ม ชิ้นไม้สับ และเครื่องมือด้านการประมง นอกจากนั้นยังใช้เป็นแหล่งเก็บหาสมุนไพรพื้นบ้าน และของป่าของชุมชนที่สำคัญ (สนิท อักษรแก้ว, 2548) ในด้านของคุณค่าทางสังคมพบว่าชุมชนชายฝั่งส่วนใหญ่

ได้อาศัยป่าชายเลนเป็นแหล่งประกอบอาชีพด้านการประมง ใช้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัยของชุมชน สำหรับคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมพบว่าป่าชายเลนมีคุณค่าในการเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และแหล่งหลบภัยจากศัตรูต่าง ๆ นอกจากนั้นป่าชายเลนยังช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่ง รักษาสมดุลของธาตุอาหาร ช่วยเก็บกักสิ่งปฏิกูล ลดความรุนแรงของคลื่น และช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของคลื่นอีกด้วย (ดุสิต เวชกิจ และสมศักดิ์ พิริยโยธา, 2556)

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าชายเลนของประเทศและเล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการป่าชายเลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังหลักในการอนุรักษ์ป่าชายเลนในอนาคต จึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเยาวชนรักษ์ป่า หลักสูตร“การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการจัดการป่าชายเลน” เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการอนุรักษ์ และจัดการทรัพยากรป่าชายเลนในพื้นที่ให้แก่ชุมชนโดยเริ่มที่เยาวชน เสริมสร้างการเรียนรู้ด้านการจัดการทรัพยากรป่าชายเลน และเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนระหว่างเยาวชน ประชาชนในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ผลการดำเนินโครงการ

โครงการเยาวชนรักษ์ป่า หลักสูตร “การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการจัดการป่าชายเลน”

เป็นโครงการที่มุ่งเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลนแก่เยาวชนในพื้นที่ ผ่านการฝึกอบรมที่จัดขึ้น

จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7- 8 มิถุนายน 2556 ณ ส่วนบริหารจัดการป่าชายเลนที่ 1 (ชลบุรี) ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี และ ศึกษาดูงาน การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จังหวัดชลบุรี ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี มีเยาวชนเข้ารับการอบรมจำนวน 47 คน (ดังแสดงในภาพที่ 1-2) และการฝึกอบรมครั้งที่ 2

จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 14-15 มิถุนายน 2556 ณ ส่วนบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนที่ 5 (เพชรบุรี)

ตำบลโพไร่หวาน อ.เมือง จ. เพชรบุรี และ ศึกษาดูงานการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ณ วนอุทยานปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีเยาวชนเข้ารับการอบรมจำนวน 40 คน (ดังแสดงในภาพที่ 3-5)

ภาพที่ 1 การบรรยายให้ความรู้แก่เยาวชนในการฝึกอบรม ระหว่างวันที่ 7- 8 มิถุนายน 2556 ณ ส่วนบริหารจัดการป่าชายเลนที่ 1 (ชลบุรี) จังหวัดชลบุรี

 

ภาพที่ 2 การทำกิจกรรมกลุ่มของเยาวนชนผู้เข้ารับการฝึกอบรม ระหว่างวันที่ 7- 8 มิถุนายน 2556 ณ ส่วนบริหารจัดการป่าชายเลนที่ 1 (ชลบุรี) จังหวัดชลบุรี

 

ภาพที่ 3 การทำกิจกรรมของเยาวชนที่เข้าร่วมการฝึกอบรมระหว่างวันที่ 14-15 มิถุนายน 2556 ณ ส่วนบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนที่ 5 (เพชรบุรี) จ. เพชรบุรี

 

ภาพที่ 4 การนำเสนอผลงานที่ได้รับจากการระดมความคิดของเยาวชน ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ณ ส่วนบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนที่ 5 (เพชรบุรี) จ. เพชรบุรี

 

ภาพที่ 5 กิจกรรมศึกษาดูงานการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ณ วนอุทยานปราณบุรี

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

สำหรับกิจกรรมในการฝึกอบรม สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้

กิจกรรมในวันแรกของการฝึกอบรม ได้จัดให้มีกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลนใน 4 ด้าน ได้แก่

1. ระบบนิเวศป่าชายเลน บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับความหมายของป่าชายเลน ปัจจัยสิ่งแวดล้อมของป่าชายเลน และการปรับตัวของพันธุ์ไม้ในป่าชายเลน สรุปรายละเอียดได้ว่าป่าชายเลนเป็นกลุ่มของสังคมพืชที่พบทั่วไปตามพื้นที่ชายฝั่งทะเล บริเวณปากแม่น้ำ อ่าว ทะเลสาบ และ เกาะ ซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำทะลท่วมถึง ลักษณะดินเป็นดินเลน พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงลักษณะบางประการ เพื่อให้สามารถเจริญเติบโตได้ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีกระแสน้ำขึ้นลงอยู่เสมอ น้ำมีความเค็มสูง และมีสภาพดินเป็นดินเลน ตัวอย่างเช่นการปรับตัวให้มีระบบรากค้ำจุน(รากค้ำยัน)ซึ่งพบได้ในไม้โกงกาง  ปรับตัวให้มีรากหายใจ (รูปกรวยคว่ำ รูปคล้ายเข่า และรูปหมุด) ซึ่งพบในไม้ลำพู ไม้ถั่ว และไม้ตะบูน ตามลำดับ

2. ประโยชน์ของป่าชายเลน บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของป่าชายเลน สรุปรายละเอียดได้ว่า ป่าชายเลนมีประโยชน์ทั้งในด้านของการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต แหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำ แหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำ แหล่งอาหารของมนุษย์ แหล่งเชื้อเพลิงในการหุงต้ม ช่วยในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นแนวกำบังลมพายุ ช่วยกรองของเสีย และช่วยดูดซับคาร์บอนไซด์ไดออกไซด์ ตลอดจนเป็นแหล่งวิจัยและศึกษาหาความรู้

3 พรรณไม้ในป่าชายเลน จัดกิจกรรมให้เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ป่าชายเลน

โดยอธิบายถึงลักษณะของพันธุ์ไม้ในป่าชายเลนแต่ละชนิด ลักษณะต้น ดอก ใบ และประโยชน์ของพันธุ์ไม้เหล่านั้น โดยได้แบ่งกลุ่มให้เยาวชนได้ร่วมกันทำกิจกรรมอธิบายลักษณะของต้นไม้ในป่าชายเลน ตัวอย่างเช่น อธิบายลักษณะของต้นแคทะเล โดยระบุว่าชื่ออื่น คือ แคน้ำ แคนา แคป่า แคตุ้ย แคผา แคปี่ฮ่อ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูง 4-10 เมตร แตกกิ่งก้านน้อย เรือนยอดแผ่กว้าง แต่ละส่วนเมื่อแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีดำ เปลือกสีเทา เรียบ หรือแตกเป็นร่องตื่นๆ มีช่องอากาศ ตามลำต้น ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ดอก เป็นแบบช่อกระจะ ช่อดอกสั้นออกตามปลายกิ่ง  ผล เป็นฝักเรียวยาว บิดเป็นเกลียว มักขึ้นในป่าบริเวณน้ำกร่อย เป็นต้น จากนั้นจึงให้แต่ละกลุ่มนำเสนอรายละเอียดกิจกรรมต่อเพื่อนๆ ที่เข้าอบรม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน

4 สัตว์ในป่าชายเลน บรรยายให้เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับชนิดสัตว์ในป่าชายเลน โดยนำเสนอเป็นรูปภาพ และสาระคดีต่างๆ

                วันที่ 2 ของการฝึกอบรม จัดให้มีกิจกรรมทัศนศึกษาป่าชายเลน เพื่อให้เยาวชนที่เข้ารับการอบรมได้ฝึกสังเกตระบบนิเวศป่าชายเลน สังเกตลักษณะเด่นของพันธุ์ไม้แต่ละชนิด ลักษณะของสัตว์ที่พบ

และอธิบายความแตกต่างของสิ่งที่สังเกตเห็นกับสิ่งที่ได้เรียนรู้จากวิทยากรในวันแรก จากนั้นจึงให้นำเสนอสิ่งที่พบเห็นทั้งในสิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ไม่ควรทำ และสิ่งที่ต้องทำ อีกทั้งยังจัดเวทีให้มีการระดมความคิดเห็นของเยาวชนที่เข้ารับการอบรมว่าในฐานะที่เป็นเยาวชนจะมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนอย่างไร

จากการระดมความคิดเห็นพบว่าเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการได้แสดงความคิดเห็นต่อการมีส่วนรวมของเยาวชนในการอนุรักษ์ป่าชายเลน สรุปได้เป็น 4 ประเด็น ดังนี้

1 ด้านอนุรักษ์พืชและสัตว์ป่าชายเลน

1.1 เข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลน

1.2 การขยายพันธุ์ไม้ป่าชายเลน

1.3 เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ

1.4 ปลูกเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนเป็นเลนงอกใหม่

1.5 ฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนที่เสื่อมโทรม

1.6 ปลูกต้นไม้ในป่าชายเลน

1.7 ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ

1.8 ช่วยหาพื้นที่หรือบริจาคพื้นที่ในการปลูกป่าชายเลน

1.9 ช่วยอนุรักษ์พันธุ์ไม้ สัตว์น้ำ และสัตว์ที่อาศัยในป่าชายเลน

2. ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม

2.1 ร่วมกันเก็บขยะในพื้นที่ป่าชายเลน

2.2 ติดตามโรงงานที่ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำและทะเล

2.3 รักษาความสมดุลในระบบนิเวศป่าชายเลน

2.4 ช่วยกันดูแลรักษาสะพานและป้ายที่อยู่ในป่าชายเลน

2.5 ไม่นำอาหารเข้าไปรับประทานในป่าชายเลนที่ไม่อนุญาต

3. ด้านการประชาสัมพันธ์และกิจกรรมจัดการป่าชายเลน

3.1 ดูแลป้องกันรักษาป่าชายเลนของชุมชน

3.2 รณรงค์ประชาสัมพันธ์ไม่ทิ้งขยะลงทะเล

3.3 จัดทำเขตอนุรักษ์สำหรับพื้นที่พืชและสัตว์

3.4 จัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลน และการอนุรักษ์

3.5 ประชาสัมพันธ์ให้คนอื่นมาช่วยปลูกป่าชายเลน

3.6 ช่วยกันดูแลป้องกันไม้ให้มีผู้มาบุกรุกป่าชายเลน

3.7 ไม่ตัดต้นไม้ที่ไม่อนุญาตในป่าชายเลน

3.8 ไม่จับสัตว์น้ำในป่าชายเลนที่ไม่อนุญาตไปรับประทาน

3.9 จัดทำป้ายแสดงพันธุ์ไม้และประโยชน์ของพันธุ์ไม้ในป่าชายเลน

3.10 รณรงค์ให้คนไม่ทิ้งขยะในป่าชายเลน

4. ด้านการส่งเสริมป่าชายเลน

4.1 เข้าร่วมอบรมและนำความรู้ไปเผยแพร่

4.2 จัดตั้งชมรมอนุรักษ์ป่าชายเลนในโรงเรียน

4.3 ศึกษาวิจัยพันธ์ไม้ในพื้นที่เพิ่มเติม

4.4 จัดเข้าค่ายอนุรักษ์ป่าชายเลนให้นักเรียนและบุคลทั่วไป

4.5 เป็นมัคคุเทศก์พานักท่องเที่ยวชมป่าชายเลน

4.6 จัดตั้งกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ป่าชายเลน

4.7 บริจาคเงินช่วยเหลือการอนุรักษ์ป่าชายเลน

 

                ทั้งนี้ได้จัดให้มีการประเมินความคิดเห็นของเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการที่มีต่อความรู้และ

ความพึงพอใจในกิจกรรมของโครงการ ดังรายละเอียดในตาราง

 

รายละเอียด

ระดับคะแนน

การแปลผล

ความรู้

 

 

1. ความรู้เกี่ยวกับการอบรมก่อนเข้าร่วมโครงการ

2.93

ปานกลาง

2.ความรู้เกี่ยวกับการอบรมหลังเข้าร่วมโครงการ

4.13

มาก

ความพึงพอใจ

 

 

1. ด้านเนื้อหา

 

 

   - ความน่าสนใจของเนื้อหา

4.40

มากที่สุด

2. ด้านวิทยากร

 

 

  - การถ่ายทอดความรู้ของวิทยากร

4.46

มากที่สุด

 - ความชัดเจนในการตอบคำถามของวิทยากร

4.21

มากที่สุด

 - การใช้สื่อประกอบการฝึกอบรมของวิทยากร

4.16

มาก

3. ด้านการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์

 

 

  - ความคาดหวังในการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์หลังการฝึกอบรม

4.34

มากที่สุด

4. ด้านบริหารจัดการ

 

 

 - ความเหมาะสมของระยะเวลาที่จัดฝึกอบรม

4.09

มาก

 - ความเหมาะสมของสถานที่จัดฝึกอบรม

4.23

มากที่สุด

 - ความเหมาะสมของสถานที่ศึกษาดูงาน

4.43

มากที่สุด

 - การให้บริการและการอำนวยความสะดวกของคณะผู้จัดอบรม

4.53

มากที่สุด

5. สรุปในภาพรวมท่านมีความพึงพอใจต่อการจัดฝึกอบรมครั้งนี้

4.74

มากที่สุด

จากตารางสามารถสรุปโดยภาพรวมได้ว่าผู้เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมในระดับมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 94.80 และผู้เข้าร่วมโครงการมีความคิดเห็นต่อการนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ต่อไปในระดับมากถึงมากที่สุดร้อยละ 100

 

ข้อเสนอแนะ

                ข้อเสนอแนะของเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการ

                เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินโครงการดังต่อไปนี้ 

1. ให้จัดอีกครั้งแต่ขอเชิญ ม.3 ในปีหน้าด้วย

2. อยากให้มีการฝึกอบรมป่าชายเลนแบบนี้อีก และอบรมแบบค้างคืน 2 คืน 3 วัน

3. อยากให้จัดการอบรมอีก เพราะอบรมมันดีต่อตัวเรา และได้ความรู้ไปใช้ในวันข้างหน้า

4. ขอให้มีการอบรมแบบนี้อีก

5. ถ้ามีโอกาสอยากให้มีการอบรมที่โรงเรียนของพวกเราอีก

6. น่าจะเพิ่มการอบรมอีก 2-3 วัน

7. ควรมีกิจกรรมการปลูกป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเย็น

8. ในการอบรมครั้งนี้ทุกๆอย่างก็ดีอยู่แล้ว อยากให้เสริมในเรื่องของพืชพันธุ์ในป่าชายเลน

ให้มากกว่านี้อีก เพราะรู้สึกว่า ยังไม่รู้ในเรื่องของพืชพันธุ์ในป่าชายเลน

 ข้อเสนอแนะของผู้ดำเนินโครงการ

                จากข้อมูลที่ได้รับจากการระดมความคิดเห็นของเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการต่อการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการอนุรักษ์ป่าชายเลน สะท้อนให้เห็นว่า นอกจากเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้จะเกิดการเรียนรู้ และตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของป่าชายเลนตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้แล้ว

ยังพบว่าเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการเหล่านี้ยังสามารถนำเอาความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปพัฒนาต่อยอด และแตกประเด็นมุมมองออกมาเป็นคำตอบได้อย่างมีมิติ มีความน่าสนใจในการนำใช้ให้เป็นรูปธรรม  คณะผู้ดำเนินโครงการจึงเล็งเห็นว่าโครงการฝึกอบรมให้ความรู้แก่เยาวชนในลักษณะนี้เป็นโครงการที่สามารถดำเนินการได้ในทุกพื้นที่ เป็นโครงการที่มีขั้นตอนการดำเนินการไม่ยุ่งยาก

ใช้ระยะเวลาไม่มาก แต่ให้ผลสัมฤทธิ์สูงและสามารถส่งผลดีต่อการอนุรักษ์ได้ในระยะยาว

กิตติกรรมประกาศ

                โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเยาวชนรักษ์ป่า หลักสูตร “การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการจัดการป่าชายเลน” นี้ เป็นหนึ่งในโครงการบริการสังคมของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากเงินอุดหนุน เงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ทางคณะผู้ดำเนินโครงการฯ จึงขอขอบคุณมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ และขอขอบคุณคุณสมศักดิ์ พิริยโยธา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คุณอภิชัย เอกวนากุล ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนที่ 1 (ชลบุรี) คุณไพโรจน์ นาครักษา ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนที่ 5 (เพชรบุรี) ตลอดจนผู้อำนวยการโรงเรียนชลราษฎรอำรุง ผู้อำนวยการโรงเรียนชลกันยานุกูล ผู้อำนวยการโรงเรียนประภัสสร จ.ชลบุรี และผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเนรัญชรา จ.เพชรบุรี ที่ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง ทำให้โครงการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และสุดท้ายนี้ ขอขอบคุณกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นอย่างสูง ที่ให้ความอนุเคราห์สถานที่และอำนวยความสะดวกในทุกด้าน

 

เอกสารอ้างอิง

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (2552) ทรัพยากรป่าชายเลน ค้นคืนวันที่ 9 กันยายน 2556 จาก
                http://www.dmcr.go.th/marinecenter/mangrove.php

ดุสิต เวชกิจ และสมศักดิ์ พิริยโยธา (2556) มูลค่าทางเศรษฐกิจต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ใน การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ตอนที่ 3) ค้นคืนวันที่ 9 กันยายน 2556 จาก http://www.lookforest.com/00_newlook/article_person.php?id_send=221&title_key_id=4

สนิท อักษรแก้ว (2548) “ระบบนิเวศป่าชายเลนและการจัดการ” ใน เอกสารการสอนชุดวิชานิเวศวิทยา
                และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ หน่วยที่
7 นนทบุรี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
                สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์


Last updated: 2013-09-12 00:06:41


@ การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการจัดการป่าชายเลน
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการจัดการป่าชายเลน
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
3,598

Your IP-Address: 18.224.59.107/ Users: 
1,877