กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
ใครทำดีให้ตนต้องจำ ทำดีให้คนอื่นต้องลืม
 
     
 
สิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยืน
กฎหมายด้านประมงที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันขาดความเหมาะสมในทางปฏิบัติหลายประการ ควรมีการทบทวนโดยต้องสนับสนุนสิทธิชุมชนต่อการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
 

ส่วนที่ 5
การระดมความคิดเห็น เรื่อง สิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
อย่างยั่งยืนในบริบทชุมชนสู่สากล

 

                กิจกรรมในส่วนนี้ดำเนินการโดย รองศาสตราจารย์บำเพ็ญ  เขียวหวาน จากมหาวิทยาลัย
สุโขทัยธรรมาธิราช และนางสาวเรวดี  ประเสริฐเจริญสุข มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งได้ให้ข้อมูลแก่ที่ประชุมในเบื้องต้นเกี่ยวกับการสร้างหลักประกันความยั่งยืนของการประมงขนาดเล็กตามแนวทางที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติกำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิชุมชนและการจำทำกรอบอาสาสมัครเพื่อสร้างหลักประกันความยั่งยืนประมงขนาดเล็ก รวมทั้งกระบวนการจัดทำกรอบความร่วมมือ

                ทั้งนี้ได้ทำการแบ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาออกเป็น 9 กลุ่มย่อย ที่มีสมาชิกคละกันจากชุมชนต่างๆ เพื่อให้ระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อยละ 2 ประเด็น ก่อนนำเสนอเป็นรายกลุ่มในห้องประชุใหญ่ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งหมดอภิปรายและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมร่วมกัน ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญของทั้ง 9 ประเด็น ดังนี้

 

1  ลักษณะของประมงพื้นบ้านและประมงขนาดเล็ก

 

สามารถเปรียบเทียบลักษณะของประมงพื้นบ้านและประมงขนาดเล็กดังนี้

ประมงพื้นบ้าน

ประมงขนาดเล็ก

– ทำการจับสัตว์น้ำในท้องถิ่นของตนเอง โดยไม่มีการข้ามถิ่น

– ทำการจับสัตว์น้ำในเขตน่านน้ำของชุมชน โดยไม่มีการข้ามน่านน้ำ

– ทำการจับสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งหรือคลองในท้องถิ่น โดยระยะทางไม่เกิน 3,000 เมตร จากแนวชายฝั่ง

– ทำการจับสัตว์น้ำภายในเขตจังหวัดของตนเองในบริเวณห่างจากแนวชายฝั่งมากกว่า 3,000 เมตร

– ใช้เครื่องมือพื้นบ้านที่ไม่สลับซับซ้อนที่ไม่สร้างเสียหายต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

– มีการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีขั้นสูงประกอบ เช่น ซาวเดอร์ โซนา

– เน้นการใช้แรงงานเฉพาะภายในครัวเรือนของตน

– มีการว่าจ้างแรงงานทั้งภายในและภายนอกชุมชน ระหว่าง 20 – 30 คน

– ส่วนใหญ่ใช้เรือหางยาวบางทีมีกำลังของเครื่องเรือประมาณ 5 - 8 แรงม้า

– ใช้เรือขนาดกลางที่มีกำลังของเครื่องเรือประมงประมาณ 500 แรงม้า

– เน้นการจับสัตว์น้ำเฉพาะบางชนิด เพื่อใช้ภายในครัวเรือนและจำหน่ายในท้องถิ่น

– เน้นการจับสัตว์น้ำหลากหลายชนิดในปริมาณสูงเพื่อการพาณิชย์

                อย่างไรก็ตามในปัจจุบันที่ยังมีความสับสนแก่ชุมชนในพื้นที่ ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงควรร่วมกันกำหนดนิยามของ “ประมงพื้นบ้าน” และ “ประมงขนาดเล็ก” ให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมต่อการปฏิบัติ

 

2 ข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนโดยทั้งในการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง

                เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของตนควรดำเนินการในด้านต่างๆ ดังนี้

                                2.1 ด้านกฎหมาย

                                     1) กฎหมายประมง กฎหมายด้านประมงที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันขาดความเหมาะสมในทางปฏิบัติหลายประการ ควรมีการทบทวนโดยต้องสนับสนุนสิทธิชุมชนต่อการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อของตนในกฎหมายให้ชัดเจน

                                     2) กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับที่ชุมชนไม่มีความรู้และความเข้าใจอย่างแท้จริง

                                2.2 ด้านหน่วยงาน

                                     1) หน่วยงานภาครัฐ บทบาทหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลมีหลายหน่วยงานสร้างความสับสนให้แก่ประชาชน อย่างไรก็ตามแต่ละหน่วยงานควรดำเนินการตามหน้าที่อย่างจริงจังและต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง

                                     2) หน่วยงานท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การบริหารส่วนตำบล ควรมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานท้องถิ่นให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการให้ความรู้เพิ่มเติมให้ครอบคลุมเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมต่อการบริหารจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งในท้องถิ่นของตน ให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานท้องถิ่น

                                2.3 ด้านชุมชน

                                     1) ควรส่งเสริมความรู้และความเข้าใจแก่ชุมชนชายฝั่งเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งในด้านที่จำเป็นของชุมชน โดยการใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสม

                                     2) ควรสนับสนุนให้ชุมชนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์กับชุมชนอื่นๆ ที่มีความเข้มแข็งและประสบผลสำเร็จในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งกลุ่มในชุมชนร่วมกัน

                                     3) ควรสนับสนุนอาสาสมัครขององค์กรพัฒนาภาคเอกชนในการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งร่วมกับชุมชน

 

3 ข้อเสนอต่อการสร้างความรับผิดชอบร่วมกันในสังคมต่อการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

                การสร้างความรับผิดชอบร่วมกันในสังคมต่อการจัดการทรัพยากรทะและชายฝั่งควรดำเนินการในประเด็น ดังนี้

                                3.1 ผู้บริโภคสินค้าต้องมีจิตสำนึกและร่วมมือต่อการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง เช่น การงดบริโภคสัตว์น้ำในฤดูวางไข่ การเลือกซื้อสินค้าที่ชุมชนปฏิบัติตามกฎหมาย

                                3.2 มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่เชื่อมโยงกันในทุกภูมินิเวศทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

                                3.3 ต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและตรวจสอบการดำเนินงานโครงการพัฒนาของรัฐและภาคธุรกิจในพื้นที่ของชุมชน

                                3.4 ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันต่อต้านการกระทำความผิดและสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง

                                3.5 หน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และชุมชน ต้องมีแผนงานและดำเนินงานแบบบูรณาการเพื่อจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน

                                3.6 ผู้ประกอบการธุรกิจต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนชายฝั่งที่เกี่ยวข้อง โดยจัดทำเป็นแผนงานควบคู่ไปกับการประกอบธุรกิจ

                                3.7 ภาครัฐต้องมีการรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ และเผยแพร่ให้ชุมชนได้รับทราบอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง

 

4 ความคิดเห็นต่อการเพาะเลี้ยงชายฝั่งกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งข้อเสนอต่อการจัดการความขัดแย้งระหว่างการประมงเพาะเลี้ยงและประมงชายฝั่ง

                                4.1 ความคิดเห็นต่อการเพาะเลี้ยงชายฝั่งกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง

                การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง เช่น กระชังปลา การทำนากุ้ง การเลี้ยงปลาในบ่อ การทำคอกหอย ฯลฯ แม้จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการในชุมชนอยู่บ้างแต่หากขาดการจัดการที่ดีเพียงพอมักส่งผลกระทบต่อความเสียหายและสร้างความขัดแย้งในชุมชน ดังนี้

                                     1) กีดขวางการคมนาคมทางเรือ

                                     2) การเกิดน้ำเน่าเสียเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ

                                     3) การปนเปื้อนของสารเคมีในระบนิเวศ

                                     4) การเกิดตะกอนทับทมในลำคลองและทะเลเพิ่มขึ้น

                                     5) สัตว์น้ำตามธรรมชาติมีแนวโน้มว่าลดลง

 

                                4.2 แนวทางการจัดการความขัดแย้ง

                                     1) หน่วยงานของรัฐต้องควบคุมและดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยความเป็นธรรมอย่างจริงจังต่อผู้กระทำผิดในด้านต่างๆ

                                     2) ผู้ประกอบการต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการดำเนินการธุรกิจตามที่กฎหมายกำหนดและหลักวิชาการอย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น การสร้างบ่อพักน้ำ การกำจัดน้ำเสีย การใช้สารเคมีต่างๆ

                                     3) กรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งชุมชนและผู้ประกอบการต้องมีการหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไข โดยหน่วยงานภาครัฐเป็นตัวกลางในการดำเนินงาน

                                     4) รัฐควรมีการทบทวนนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงชายฝั่งในรูปแบบต่างๆ อย่างจริงจังเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เหมาะสมในปัจจุบันและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิทำกินในทะเลและชายฝั่ง

 

5  การส่งเสริมบทบาทหญิงชาย เด็ก เยาวชน และคนเปราะบางต่อการเกิดภัยพิบัติในการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง

                หน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันดำเนินการส่งเสริมบทบาทของชุมชนทุกภาคส่วนทั้งชาย หญิง เด็ก เยาวชนและคนเปราะบาง ในการมีส่วนร่วมกันจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน ดังนี้

                                5.1 จัดทำแผนและดำเนินการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนของชุมชน โดยเปิดโอกาสให้ตัวแทนของคนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน

                                5.2 สนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มของคนในชุมชนตามศักยภาพของตน เพื่อจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง โดยที่หน่วยงานต่างๆ ต้องมีการบูรณาการและสนับสนุน การทำงานร่วมกับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างแท้จริง

                                5.3 ออกกฎระเบียบของชุมชนเพื่อสร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกันในการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งของชุมชน

                                5.4 มีการจัดการความรู้โดยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้คนในชุมชนได้นำไปใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสม

                                5.5 ให้ความสำคัญและส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิง เยาวชนและคนเปราะบางในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งอย่างเป็นรูปธรรม

 

 

 

6 การลดความเสี่ยงและการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของชุมชนชายฝั่ง

                ชุมชนและหน่วยงานควรมีการดำเนินการในด้านการลดความเสี่ยงและการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของชุมชนชายฝั่ง ดังนี้

                                6.1 ด้านชุมชน

                                     1) ต้องมีการจัดทำแผนงาน และวัสดุอุปกรณ์เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับครัวเรือนและระดับชุมชน โดยมีข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอและเป็นปัจจุบัน

                                    2) การแลกแปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนในชุมชน โดยวิธีการที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน

                                     3) ร่วมกับสถาบันการศึกษาในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นโดยเน้นการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่กับบทเรียนที่มีอยู่และความรู้ด้านวิชาการที่เกี่ยวข้อง

                                     4) ควรมีการสร้างเครือข่ายระหว่างชุมชนใกล้เคียงเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการเฝ้าระวังสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

                                6.2 ด้านหน่วยงาน

                                     1) หน่วยงานท้องถิ่นและจังหวัดต้องกำหนดแผนงาน ทรัพยากร งบประมาณและบุคลากรสนับสนุนให้แก่ชุมชนชายฝั่ง

                                2) หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องวางแผนและจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือชุมชนได้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

                                3) หน่วยงานภาคประชาสัมคมควรได้รับการสนับสนุนให้เป็นตัวกลางในการเชื่อมความรู้ และการสนับสนุนงบประมาณแก่ชุมชน

 

7 นโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

                                7.1 ชาวบ้านในชุมชนชายฝั่งเกือบทั้งหมดขาดความรู้และความเข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและกฎหมายประมงที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งรัดต่อการให้ความรู้และความเข้าใจเนื้อหาสาระของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และการประกอบอาชีพของชุมชนชายฝั่งโดยเร่งด่วน

                                7.2 ควรมีการออกกฎหมายทางด้านการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งเป็นการเฉพาะโดยเร่งด่วน ทั้งนี้ต้องมีการบรรจุสาระสำคัญทางด้านสิทธิชุมชนต่อการดำเนินงานจัดการทรัพยากรของชุมชนตนเองด้วย

                                7.3 ส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนให้ชุมชนต่อการบริหารจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งอย่างมีประสิทธิภาพ

 

8 ภาพอนาคตชาวประมงพื้นบ้านในอีก 20 ปี ข้างหน้า

                                8.1 หากปล่อยให้ดำเนินการไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนชายฝั่ง ได้แก่

                                    1) ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้น้อยลงทั้งชนิดและปริมาณ สัตว์น้ำบางชนิดอาจสูญพันธุ์ เนื่องจากพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมและลดลง การขยายพื้นที่อยู่อาศัย การสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความเสียหายของระบบนิเวศชายฝั่งและการประมง

                                    2) อาชีพและแรงงานการประมงมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากความฝืดเคืองในการประกอบอาชีพและการเคลื่อนย้ายไปทำงานภาคอุตสาหกรรม

                                   3) ชุมชนชายฝั่งขาดความมั่นคงในชีวิต และมีคุณภาพชีวิตต่ำลงเนื่องจากปัญหาทั้งในด้านการแย่งทางด้านอาหารและทรัพยากรอื่นๆ การขาดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งการมีภาระหนี้สินเพิ่มเติม

                                   4) เกิดภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการกัดเซาะชายฝั่งและมีมลพิษที่เพิ่มขึ้นทั้งในด้านความถี่และความรุนแรงส่งผลเสียหายต่อชุมชนชายฝั่งเป็นการต่อเนื่อง

                                8.2 ภาพในอนาคต 20 ปีที่พึงประสงค์ในภาพรวม ชุมชนชายฝั่งควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่มีภาระหนี้สินเนื่องจาก

                                   1) ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์น้ำได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ทั้งภูมินิเวศต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

                                   2) ชุมชนชายฝั่งได้รับการยอมรับให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพตนเองและท้องถิ่นจนสามารถพึงพาตนเองได้อย่างแท้จริงภายใต้แนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

                                   3) การมีนโยบายและกฎหมายในทุกระดับที่คำนึงถึงสิทธิชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่นและเอื้อต่อการประกอบอาชีพของชุมชนชายฝั่ง

                                  4) การส่งเสริมอาชีพและสร้างจิตสำนึกที่ดีแก่ชุมชนและเยาวชนเพื่อการยกรระดับคุณภาพชีวิตควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลและชายฝั่งของชุมชน

                                  5) หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการประสานงานและบูรณาการอย่างแท้จริงต่อความเป็นอยู่ของชุมชนชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการประมง

 

 

 

 

 

 

 

9 การเปิดสังคมสู่ประชาคมอาเซียน

                การเปิดสังคมสู่ประชาคมอาเซียนมีศักยภาพและข้อจำกัด รวมทั้งข้อเสนอจากชุมชนชายฝั่ง ดังนี้

 

ศักยภาพ

ข้อจำกัด

– มีการเคลื่อนย้ายและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีบางด้านที่ส่งเสริมการพัฒนาประเทศ

– มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับชุมชนและวัฒนธรรมของประเทศอาเซียนไม่มากเท่าที่ควร

– มีการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรระหว่างประเทศ

– กลุ่มทุนจากต่างประเทศมีโอกาสเข้ามาใช้ทรัพยากรในประเทศมากขึ้น

– ร่วมส่งเสริมบรรยากาศการเป็นครัวโลก เนื่องจากมีการขยายตลาดสินค้าประมงให้แพร่หลายออกไป

– การแย่งซึ่งทรัพยากรในด้านต่างๆ ทั้งการประมง การท่องเที่ยว อาชีพและแรงงาน

– การท่องเที่ยวเชิงนิเวศมีโอกาสได้รับความนิยมและขยายตัวเพิ่มขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้าน

– การแข่งขันด้านราคาสินค้าของประเทศต่างๆ

 

ข้อเสนอเพิ่มเติม

                1. ควรใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละประเทศ เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับอาเซียน

                2. ควรมีการแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพยากรชายฝั่งระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย ในด้านเรือประมงสองสัญชาติ

                3. ควรมีการเตรียมความพร้อมร่วมกันต่อการแก้ไขปัญหาหรือผลกระทบที่เกิดให้เพื่อการจัดการบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งที่มีประสิทธิภาพ เช่น ปัญหาด้านขยะ ด้านการท่องเที่ยว

 


Last updated: 2013-04-07 09:04:11


@ สิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยืน
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ สิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยืน
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,422

Your IP-Address: 18.225.149.158/ Users: 
1,421