กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
คนคิดบวกมีโอกาสสำเร็จมากกว่าคนคิดลบ
 
     
 
การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ภายในคำขวัญ “ชุมชนชายฝั่ง รวมพลังฟื้นป่า นวัตกรรมล้ำค่า ฝ่าวิกฤตโลกร้อน” ได้จัดขึ้นเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและประชาชน
 

การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ตอนที่ 1)

รศ.ดร.ดุสิต เวชกิจ(มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช)  และนายสมศักดิ์ พิริยโยธา(กรมรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)

 

ผลการจัดสัมมนา

                การสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติ เรื่อง การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ภายในคำขวัญ “ชุมชนชายฝั่ง รวมพลังฟื้นป่า นวัตกรรมล้ำค่า ฝ่าวิกฤตโลกร้อน” ได้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการ คือ 1) เพื่อนำเสนอองค์ความรู้และภูมิปัญญาในการฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรทะเลและชายฝั่งและการตั้งรับปรับตัวของชุมชนชายฝั่งท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 2) เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและประชาชนในการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การตั้งรับปรับตัวของชุมชนชายฝั่งท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีกำหนดการ 3 วัน ในวันที่ 12 ธันวาคม 2555 เป็นการศึกษาดูงานการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและการตั้งรับปรับตัวชุมชนชายฝั่ง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรมขององค์กรชุมชน ในท้องที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และในวันที่ 13 -14 ธันวาคม 2555 เป็นการจัดเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งการแสดงนิทรรศการและการนำเสนอผลงานในรูปแบบโปสเตอร์ของภาคีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี 4 องค์กร ที่สนับสนุนงบประมาณ คือ โครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต (Mangroves for the Future : MFF) โครงการเพิ่มศักยภาพการปรับตัวของชุมชนชายฝั่งที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Increasing Coastal Community Capacity for Climate Change Adaptation : INCA) โครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ชายฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Building Resilience  to  Climate Change Impacts in Southeast Asia  Region : BCR และโครงการส่งเสริมชุมชนชายฝั่งเข้มแข็งปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในประเทศไทยและอินโดนีเซีย (Building Coastal Resilience to Reduce Climate Change Impact in Thailand and Indonesia  Project : BCRCC) และมีองค์กรร่วมจัดที่เกี่ยวข้องอีก 15 องค์กร มีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น องค์กรเอกชน ภาคธุรกิจ และชุมชน จำนวน 222 คน

 

ผลการสัมมนาสามารถสรุปได้ 5 ประเด็นสำคัญดังนี้

                1. การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนวัตกรรมจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ : การฟื้นฟูป่าชายเลนกับการบริหารจัดการบนฐานระบบนิเวศและความร่วมมือพหุภาคี ประกอบด้วย 4 ประเด็นย่อย คือ

                                1.1 สถานการณ์ป่าชายเลนในประเทศไทย พื้นที่ป่าชายเลนในประเทศไทยมีแนวโน้มว่าลดลงจากในอดีตเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่การให้สัมปทานทำป่าชายเลนในอดีต การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใปทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การบุกรุกซื้อขายที่ดินเพื่อประโยชน์ด้านอื่นๆ นโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินในป่าชายเลน การขัดแย้งกันเองของคนทั้งในและนอกชุมชน และการขาดการสนับสนุนช่วยเหลือชุมชนในการจัดการป่าชายเลน

                                1.2 หน่วยงาน/องค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป่าชายเลน การจัดการป่าชายเลนของประเทศไทยจะก่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างยั่งยืนต้องเป็นความร่วมมือแบบบูรณาการของหน่วยงานและองค์กรภาคี ได้แก่ ชุมชนในท้องถิ่น หน่วยงานในท้องถิ่น หน่วยงานภาคราชการที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้งหน่วยงานภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน

                                1.3 นวัตกรรมการจัดการป่าชายเลน การจัดการป่าชายเลนควรเป็นการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและความรู้ทางด้านวิชาการควบคู่กันไป โดยควรเน้นความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมของชุมชนเพิ่มเติม จึงจะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การใช้นวัตกรรมควรเน้นการแก้ปัญหาโดยใช้ข้อมูลของชุมชนเป็นหลัก มีการวางแผนดำเนินงานให้เหมาะสม มีการจัดการความรู้ในท้องถิ่น เป็นการใช้ผู้นำท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมมากที่สุด ทั้งนี้นวัตกรรมต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น

                                1.4 กิจกรรมการจัดการป่าชายเลน กิจกรรมการจัดการป่าชายเลนมีหลายด้านขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความต้องการและความพร้อมของชุมชน เท่าที่ผ่านมาได้แก่ การปลูกและบำรุงรักษาสวนป่า การปลูกป่าในนากุ้งร้างแบบผสมผสาน การอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การออกกฎระเบียบของชุมชนต่อการจัดการป่าชายเลน และการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ของชุมชน

                2. มูลค่าทางเศรษฐกิจทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประกอบด้วย 4 ประเด็นย่อย คือ

                                2.1 ประโยชน์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทรัพยากรทะเลและชายฝั่งของแต่ละชุมชนมีองค์ประกอบและโครงสร้างที่แตกต่างกันไปและเอื้ยอำนวยประโยชน์ในด้านต่างๆ ให้กับชุมชนมาโดยตลอด ทั้งนี้สามารถจำแนกประโยชน์ได้เป็น 3 รูปแบบ คือ ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ประโยชน์ทางด้านสังคม และประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อม

                                2.2 การประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประโยชน์ของทรัพยากรทะเลและชายฝั่งในรูปแบบต่างๆ ควรมีการประเมินออกมาเป็นตัวเงินหรือมูลค่าทางเศรษฐกิจเพื่อใช้ในการวางแผนจัดการป่าชายเลนให้เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งนี้มูลค่าทางเศรษฐกิจดังกล่าวจำแนกได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือ มูลค่าที่เกิดจากการใช้ ได้แก่ มูลค่าจากการใช้ประโยชน์จากผลผลิตและการบริการ มูลค่าจากการใช้ประโยชน์ทางอ้อมและมูลค่าเพื่อจะใช้ ส่วนประเภทหลัง ได้แก่ มูลค่าที่เกิดจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์ ได้แก่ มูลค่าเพื่อลูกหลาน และมูลค่าที่เกิดจากการคงอยู่

                                2.3 บทบาทหน้าที่ของชุมชน/หน่วยงานในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายที่สำคัญ ได้แก่ การจำแนกเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ของชุมชน การดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดไว้ การควบคุมดูแลเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งต้องมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานใหแก่ผู้สนใจทั่วไปด้วย

                                2.4 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของชุมชนควรมีการติดตามประเมินผลแล้วนำมากำหนดแนวทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ซึ่งมีแนวทางที่สำคัญ ได้แก่ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานในพื้นที่ การศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มเติมองค์ความรู้ การวิเคราะห์ด้านผลผลิตและผลตอบแทนที่ได้รับจากการดำเนินงาน การเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และการจัดการความรู้ที่ได้จากการริหารจัดการ

                3. การปรับตัวของชุมชนในการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง : มิติหญิงชาย ประกอบด้วย 4 ประเด็นย่อยคือ

                                3.1 สภาพปัญหาของชุมชนชายฝั่ง ชุมชนชายฝั่งของประเทศไทยส่วนใหญ่มักประสบปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของชุมชนเป็นอย่างมาก ปัญหาเหล่านี้ที่สำคัญ ได้แก่ การกัดเซาะและพังทลายของชายฝั่ง การแปรปรวนของลมมรสุม ความรุนแรงของกระแสลม ความแปรปรวนของฤดูกาล การเกิดภาวะโลกร้อน รวมทั้งผลกระทบจากการพัฒนาของภาครัฐในบ้างด้าน

                                3.2 กิจกรรมการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ชุมชนภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ พยายามดำเนินกิจกรรมหลายด้านตามความเหมาะสมกับศักยภาพและสถานการณ์ในแต่ละชุมชน กิจกรรมที่มักดำเนินการในชุมชนต่างๆ ได้แก่ การฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลน การอนุรักษ์ทรัพยากรประมงและชายฝั่ง การปรับตัวด้านวิถีชีวิตและอาชีพ รวมทั้งหลายชุมชนได้พยายามสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนของตนมากยิ่งขึ้น

                                3.3 การบริหารจัดการกองทุน ชุมชนได้พยายามพึ่งพาตนเอง โดยการจัดตั้งกองทุนเพื่อลดภาระหนี้สินและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพให้แก่สมาชิก กองทุนที่จัดตั้งในแต่ละชุมชนอาจมีความแตกต่างกันไปตามสถานภาพของจำนวนเงินที่มีอยู่ วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุน กิจกรรมการดำเนินงานกองทุน รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของกองทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

                                3.4 บทบาทของผู้หญิงในการพัฒนาชุมชน ในอดีตที่ผ่านมาผู้หญิงมักถูกละเลยและมองข้ามความสำคัญต่อการพัฒนาชุมชน ส่วนมากมีหน้าที่เพียงแค่ความรับผิดชอบงานบ้านในครัวเรือนและการเลี้ยงดูบุตรหลาน อย่างไรก็ตามผู้หญิงเริ่มได้รับการตระหนักถึงศักยภาพและความสำคัญต่อการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง และการพัฒนาอาชีพในชุมชนมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ผู้หญิงยังมีศักยภาพในการทำงานบางด้านเหนือกว่าผู้ชาย ดังนั้นจึงควรส่งเสริมคุณค่าของผู้หญิงในการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนของตน

                4. การเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติและการตั้งรับปรับตัวของชุมชนชายฝั่งท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย 4 ประเด็นย่อย คือ

                                4.1 ผลกระทบจากภัยพิบัติต่อชุมชน ภัยพิบัติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีผลกระทบต่อชุมชนในแต่ละภูมินิเวศที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถจำแนกผลกระทบออกได้เป็นผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชน ผลกระทบต่อการเกษตรและแหล่ง ผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง ผลกระทบด้านคุณภาพชีวิตและสังคม และผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ

                                4.2 ปัจจัยความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ โอกาสในการเกิดภัยพิบัติของชุมชนในภูมินิเวศต่างๆ มีแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับปัจจัยความเสี่ยงของชุมชนนั้นๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่ ปัจจัยทางกายภาพ ปัจจัยทางด้านภูมิอากาศ ปัจจัยด้านสังคม ปัจจัยด้านการเมือง ปัจจัยด้านความรู้และปัจจัยด้านงบประมาณ

                                4.3 เป้าหมายในการเตรียมรับภัยพิบัติ ชุมชนชายฝั่งควรต้องมีการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นอยู่เสมอเพื่อทำให้เกิดความเสียหายที่น้อยที่สุดต่อชุมชน ในการเตรียมรับภัยพิบัติควรกำหนดเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ สร้างความรู้และความตระหนักในชุมชน พัฒนาขีดความสามารถของชุมชนในการจัดการความเสี่ยง จัดทำแผนเพื่อเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ บูรณาการระหว่างหน่วยงานในการดำเนินงาน และจัดการความรู้ของชุมชนในเรื่องที่เกี่ยวข้อง

                                4.4 กิจกรรมการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติและการตั้งรับปรับตัวของชุมชนชายฝั่ง ในแต่ละภูมินิเวศควรมีการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อวางแผนในการดำเนินกิจกรรมที่เหมาะสมต่อการพร้อมรับภัยพิบัติ กิจกรรมเหล่านี้ ได้แก่ การปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ การปรับตัวโดยการวางแผนใช้ที่ดินและจัดทำผังชุมชน การปรับตัวในด้านวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพ การปรับตัวในด้านทรัพยากรธรรมชาติ การสร้างเครือข่ายชุมชน และการสร้างจิตสำนึกให้แก่เยาวชน

                5. ระดมความคิดเห็น เรื่อง สิทธิชุมชนกับการบริหารจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนในบริบทชุมชนสู่สากล ในการสัมมนาได้สรุปการระดมความคิดเห็นไว้ 9 ประเด็นย่อย ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

                                5.1 ควรมีการกำหนดนิยามและเปรียบเทียบลักษณะของประมงพื้นบ้านและประมงขนาดเล็กในมิติต่างๆ ให้ชัดเจนพร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจที่ตรงกัน เพื่อเป็นการลดความขัดแย้งในการปฏิบัติที่อาจเกิดขึ้นเหมือนในอดีตที่ผ่านมมา

                                5.2 ควรมีการปรับปรุงกฎหมายทางด้านประมงชายฝั่งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน  โดยต้องเน้นหลักการทางด้านสิทธิชุมชนในการจัดการชายฝั่งอย่างเหมาะสม รวมทั้งให้ความรู้และความสำคัญต่อความเข้มแข็งในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งของชุมชน

                                5.3 หน่วยงานภาครัฐ ชุมชน ท้องถิ่น เอกชน ธุรกิจและประชาชนทั่วไป ต้องให้ความสำคัญและมีความรับผิดชอบร่วมกันในด้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมการจัดการที่ดีต่อทรัพยากรทะเลและชายฝั่งพร้อมทั้งและต่อต้านผู้กระทำความผิดในทุกรูปแบบ

                                5.4 การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งต้องไม่ละเมิดกฎหมาย ไม่ทำลายระบบนิเวศชายฝั่งและการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องใช้กฎหมายให้เข้มงวดและมีส่วนร่วมในการแก้ไขข้อขัดแย้งในชุมชน โดยรัฐต้องทบทวนนโยบายเกี่ยวกับสิทธิทำกินในทะเลและชายฝั่งให้เหมาะสมกับสถานการณ์

                                5.5.ทบทวนและส่งเสริมให้หญิง ชาย เด็ก เยาวชนและคนเปราะบางต่อการเกิดภัยพิบัติมีโอกาสและสิทธิในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างเป็นธรรม และเท่าเทียมกัน โดยต้องมีการจัดการความรู้และออกกฎระเบียบที่เหมาะสมสำหรับแต่ละชุมชน

                                5.6 ชุมชนชายฝั่งต้องศึกษาข้อมูล เพื่อจัดทำแผนและจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความเสี่ยงและการตั้งรับปรับตัวต่อภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอาจมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายกับชุมชนข้างเคียง โดยที่หน่วยงานของรัฐต้องจัดเตรียมแผนและทรัพยากรเพื่อการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีที่มีภัยพิบัติเกิดขึ้น

                                5.7 เร่งรัดการให้ความรู้และความเข้าใจต่อเนื้อหาสาระของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้แก่ชุมชน โดยเร่งด่วน รวมทั้งผลักดันให้มีการออกกฎหมายเฉพาะในด้านการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนให้ชุมชนได้บริหารจัดการกันเอง

                                5.8 หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปตามที่เกิดมาในอดีตเชื่อว่าชุมชนชายฝั่งจะได้รับผลกระทบและความเสียหายในด้านความเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าชายเลน ทรัพยากรประมงและทรัพยากรชายฝั่ง อื่นๆ เนื่องจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม จึงควรมีการแก้ไขในประเด็นสำคัญโดยเร่งด่วน คือการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง การทบทวนกฎหมายและนโยบายให้เหมาะสม การสร้างจิตสำนึกของคนทุกภาคส่วน รวมทั้งการบูรณาการแผนงานของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง

                                5.9 การเปิดสังคมสู่ประชาคมอาเซียน อาจส่งผลต่อชุมชนชายฝั่งในด้านบวก ได้แก่ การเคลื่อนย้ายเทคโนโลยีและการสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ ขณะเดียวกันอาจส่งผลลบในด้านการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างประเทศและการแข่งขันกันของราคาสินค้า

           สำหรับรายละเอียดในประเด็นที่ 1-5 จะได้แยกนำเสนอไว้ใตอนที่ 2-6 ต่อไป

 

ข้อเสนอแนะ

                เพื่อให้การจัดการทรัพยากรป่าชายเลนและระบบนิเวศชายฝั่งของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  อันจักก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสูงสุดแก่ชุมชนและประเทศชาติเป็นการต่อเนื่อง  คณะกรรมการประสานความร่วมมือระดับชาติด้านนิเวศป่าชายเลนเพื่ออนาคต  ควรสนับสนุนและผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานต่อไป ดังนี้

                1.  การกำหนดกลไกในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนและระบบนิเวศชายฝั่งแบบบูรณาการของหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ  ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชนและชุมชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

                2.  เร่งรัดการออกกฎหมายของด้านการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนและระบบนิเวศชายฝั่ง เพื่อให้มีการบังคับใช้โดยเร่งด่วน  โดยเป็นสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง  และมีการประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจที่ตรงกัน

                3.  ผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การบริหารส่วนตำบลของชุมชนชายฝั่งในทุกจังหวัดให้ความสำคัญและสนับสนุนการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนและระบบนิเวศชายฝั่งของชุมชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

                4.  ส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มในชุมชนต่อการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนและระบบนิเวศชายฝั่ง  ที่เน้นการดำเนินงานโดยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้  รวมทั้งการขยายเครือข่ายไปยังชุมชนข้างเคียง  ตลอดจนชุมชนของประเทศเพื่อนบ้านที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมสอดคล้องกัน

                5.  ให้ความสำคัญมากขึ้นต่อบทบาทของผู้หญิง  เยาวชน  นักเรียนและคนเปราะบางต่อการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนและระบบนิเวศชายฝั่งที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชนในด้านอื่นๆ

                6.  ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้และหลักสูตรท้องถิ่นในด้านการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนและระบบนิเวศชายฝั่ง  โดยการเชื่อมโยงข้อมูลทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น  เศรษฐกิจ สังคมและการพัฒนาทางด้านต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน

                7.  สนับสนุนการจัดการความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนและระบบนิเวศชายฝั่ง  โดยถอดบทเรียนจากชุมชนที่ประสบความสำเร็จ  เพื่อทำการเผยแพร่ผ่านสื่อในรูปแบบที่เหมาะสม  เพื่อให้ชุมชนอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ดำเนินการตามความเหมาะสม

                8.  จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยการใช้รูปแบบที่เหมาะสมทั้งในประเทศและนานาชาติ  เช่น การประชุม สัมมนา การฝึกอบรม  การจัดเวทีชาวบ้าน การศึกษาดูงาน แก่คนกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับปฏิบัติงาน  ผู้กำหนดแผนงาน  และผู้บริหารในระดับต่างๆ

                9.  จัดทำฐานข้อมูลทางด้านการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนและระบบนิเวศชายฝั่งที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและหน่วยงานต่างๆ

                10.  ทำการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความสำคัญของทรัพยากรป่าชายเลนและระบบนิเวศชายฝั่ง  เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความรู้และความเข้าใจที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน  รวมทั้งการเห็นคุณค่าและมีจิตสำนึกร่วมกันในการส่งเสริมการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนและระบบนิเวศชายฝั่งให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด 

 


Last updated: 2013-03-24 07:45:52


@ การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,564

Your IP-Address: 3.133.157.133/ Users: 
1,563