การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ตอนที่ 3)
รศ.ดร.ดุสิต เวชกิจ(มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช) และนายสมศักดิ์ พิริยโยธา(กรมรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)
ส่วนที่ 2
มูลค่าทางเศรษฐกิจต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
การนำเสนอในส่วนนี้มีรองศาสตราจารย์ ดร.ดุสิต เวชกิจ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมีผู้ร่วมนำเสนอจำนวน 4 ท่าน โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. รองศาสตราจารย์ ดร. นพรัตน์ บำรุงรัตน์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานความร่วมมือระดับชาติด้านระบบนิเวศด้านป่าชายเลนเพื่ออนาคต ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่ทรัพยากรป่าชายเลนเอื้ออำนวยให้แก่ชุมชนและประเทศชาติ ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างประสบการณ์เกี่ยวกับการศึกษาพันธุ์ไม้จากในป่าชายเลนในมิติต่างๆ ทั้งด้านการใช้ประโยชน์ มูลค่าที่ได้รับ การปลูกและบำรุงรักษา ระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ได้ร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ
2. นายรัตน์กวี บุญเมฆ จากศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคอาเซียแปซิฟิก ได้นำเสนอความสำคัญของทรัพยากรป่าชายเลนที่สามารถนำมาประเมินค่าในทางเศรษฐกิจได้ด้วยการใช้วิธีการคำนวณทางคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญของป่าชายเลนในด้านการเก็บกักคาร์บอนในป่าชายเลน ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญต่อการช่วยแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและเริ่มมีการซื้อขายคาร์บอนในบางหน่วยงานในต่างประเทศ
3. นางสาวรัฎดา ลาภหนุน ผู้ประสานงานโครงการประเมินและปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ได้นำเสนอประสบการณ์การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลของประเทศไทย ในการบริหารจัดการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งสามารถประเมินผลทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรที่มี รวมทั้งประเมินรายได้และค่าใช้จ่าย ตลอดจนแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ
4. นายนนท์ มีล่าม จากกลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านเกาะกลาง จังหวัดกระบี่ ได้นำเสนอการจัดการทรัพยากรชองชุมชนชายฝั่ง ดดยการสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนและการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน โดยการรวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เชื่อมดยงทรัพยากรป่าชายเลนกับบริบทอื่นที่น่าสนใจของชุมชน เช่น โบราณสถาน การประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การประกอบอาชีพ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
เนื้อหาของการนำเสนอทั้งหมด มีประเด็นที่น่าสนใจพอสรุปได้ดังนี้
1. ประโยชน์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของแต่ละชุมชนอาจมีองค์ประกอบและโครงสร้างที่แตกต่างกันออกไปบ้าง อย่างไรก็ตามทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เอื้ออำนวยประโยชน์อย่างมหาศาลต่อชุมชนที่อยู่ในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1.1 ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ชุมชนได้รับผลประโยชน์ในรูปของเศรษฐกิจโดยตรงในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลผลิตจากการประมงและจับสัตว์น้ำ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ชายฝั่งในรูปแบบต่างๆ การนำไม้จากป่าชายเลนมาใช้ในการก่อสร้าง การทำฟืนเชื้อเพลิง และการใช้สอยต่างๆ การเก็บหาของป่ามาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต เป็นต้น
1.2 ประโยชน์ทางสังคม ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เอื้อประโยชน์ทางสังคมแก่ชุมชนในรูปแบบต่างๆ ที่สำคัญได้แก่ การประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการประมงและจับสัตว์น้ำ การเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนชายฝั่ง การเป็นแหล่งสมุนไพรเพื่อใช้ในการบริโภคและยารักษาโรค การใช้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ตลอดจนการศึกษาค้นคว้าของชุมชนและสถาบันการศึกษา รวมทั้งผู้สนใจโดยทั่วไป
1.3 ประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อม นับว่าเป็นประโยชน์ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม โดยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เอื้อประโยชน์ในด้านการเป็นแหล่งอนุบาลและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด รวมทั้งสัตว์บกบางประเภท การช่วยลดความรุนแรงของคลื่นและกระแสลมทะเล การช่วยเก็บกักสิ่งปฏิกูลและช่วยให้มีดินเลนงอกขึ้นใหม่ในบางพื้นที่
2. การประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประโยชน์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในรูปแบบต่างๆ ควรมีการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือทางเศรษฐศาสตร์ออกมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นประโยชน์ที่ทำได้รับทั้งหมดจากทรัพยากรที่มี รวมทั้งการนำไปวางแผนการจัดการพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในการประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ
2.1 มูลค่าที่เกิดจากการใช้ จำแนกได้เป็น
2.1.1 มูลค่าจากการใช้ประโยชน์ทางตรงจากผลผลิตและการบริการจากทรัพยากร เช่น การใช้ประโยชน์จากต้นจาก การใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ การใช้ไม้ทำถ่านและเชื้อเพลิง
2.1.2 มูลค่าจากการใช้ประโนชน์ทางอ้อม ซึ่งเป็นมูลค่าจากการทำหน้าที่ของระบบนิเวศในพื้นที่ เช่น การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของป่าชายเลน การเก็บกักคาร์บอนของป่าชายเลน
2.1.3 มูลค่าเพื่อจะใช้ เป็นประโยชน์ที่จะได้รับจากระบบนิเวศในพื้นที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งอาจจะใช้ในอนาคต เช่น ความหลากหลายของพืชพรรณ ความหลากหลายของพันธุ์สัตว์น้ำ
2.2 มูลค่าที่เกิดจากการไม่ได้ใช้ จำแนกได้เป็น
2.2.1 มูลค่าเพื่อลูกหลาน เป็นประโยชน์จากการเก็บไว้เพื่อให้ลูกหลานในอนาคต เช่น มูลค่าจากการอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลน มูลค่าจากการอนุรักษ์สัตว์น้ำ
2.2.2 มูลค่าที่เกิดจากการคงอยู่ เป็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการที่ระบบนิเวศดำรงอยู่และทำหน้าที่ของระบบนิเวศตลอดไป เช่น มูลค่าจากการใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต มูลค่าจากพันธุ์พืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์ มูลค่าของโบราณสถานในชุมชน
3. บทบาทหน้าที่ของชุมชน/หน่วยงานในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในแต่ละพื้นที่อยู่ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของชุมชนหรือหน่วยงานทั้งราชการและท้องถิ่นที่แตกต่างกันไปตามกฎหมายหรือการครอบครองพื้นที่แห่งนั้น อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ชุมชนหรือหน่วยงานนั้นๆ ได้มีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันไป ดังนี้
3.1 การจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ ในพื้นที่แต่ละแห่งควรมีการจำแนกพื้นที่ เพื่อกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ให้ชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดแผนงานและกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ส่งผลต่อความยั่งยืนและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของการจัดการทรัพยากร เช่น การกำหนดเขตอนุรักษ์และปลูกไม้ยืนต้นเพื่อเก็บกักคาร์บอน การใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในเขตอุทยานแห่งชาติ
3.2 การดำเนินงานตามแผน เพื่อให้กำหนดแผนงานหรือกิจกรรมต่างๆ ไว้แล้ว ต่างมีการกำหนดผู้รับผิดชอบให้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิผล หากเกิดปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินงานต้องทำการแก้ไขดดยเร่งด่วน เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อความเสียหายต่อหน่วยงานที่วางไว้
3.3 การควบคุมดูแล ชุมชนหรือหน่วยงานต้องมีกลไกในการควบคุมดูแลการดำเนินงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินงานที่อาจมีผลประโยชน์ตอบสนองต่อผู้รับผิดชอบ หรืองานที่ต้องใช้หลักธรรมาภิบาลอย่างเข้มข้น มิฉะนั้นอาจก่อให้เกิดการประพฤติผิดมิชอบและไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
3.4 การประสานงาน ศักยภาพของชุมชน/หน่วยงานอาจมีข้อจำกัดในบางด้าน ซึ่งต้องมีการพัฒนาหรือปรับปรุงให้ดีขึ้นในบางด้าน รวมทั้งอาจมีข้อจำกัดเกี่ยวกับกฎหมายทางด้านทรัพยากรชายฝั่งและทะเล จำเป็นต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานหรือชุมชนอื่นๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพหรือแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้ลุล่วงไปด้วยดี
3.5 การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การดำเนินงานจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่เป็นการได้รับประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ เช่น การกำหนดพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน ฯลฯ ควรมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อที่เหมาะสม เพื่อให้บุคคลที่สนใจได้เข้ามาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น รวมทั้งอาจมีการต่อยอดในกิจกรรมอื่นต่อไป
4. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งควรมีการติดตามประเมินผล เพื่อทบทวนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลลัพธ์ในทิศทางที่ดีขึ้นของประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้พอสรุปแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการของชุมชนหรือหน่วยงานดังนี้
4.1 การใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ ในทุกพื้นที่ย่อมมีองค์ประกอบและโครงสร้างของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่แตกต่างกันไป แต่ทรัพยากรเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ในด้านต่างๆ จำเป็นต้องมีการศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์ให้ครอบคลุมในด้านต่างๆ เช่น การใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของต้นจาก.ในรูปแบบต่างๆ การศึกษาการเก็บกักคาร์บอนขององค์ประกอบในป่าชายเลนที่อาจนำไปจำหน่ายได้ในการซื้อขายคาร์บอนเพื่อลดปัญหาโลกร้อน
4.2 การบูรณาการการดำเนินงาน กิจกรรมดำเนินงานในแต่ละพื้นที่ควรมีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนทั้งป่าชายเลน แหล่งโบราณสถาน อาชีพและวิถีชีวิตของชุมชน การชมปะการังในทะเล นอกจากนี้ยังควรมีการบูรณาการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งชุมชนข้างเคียง ภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างประเทศตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรสูงสุด
4.3 การศึกษาวิจัย การแก้ไขปัญหาอุปสรรคตลอดจนการแสวงหาแนวทางหรือนวัตกรรมในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัย โดยการใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในชุมชนผนวกกับความรู้หรือวิชาการที่มีอยูนอกชุมชนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ได้ผลการวิจัยที่นำไปใช้ได้อย่างแท้จริง ซึ่งคนในชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยร่วมกัน โดยในระยะแรกๆ อาจต้องมีพี่เลี้ยงหรือผู้ให้คำปรึกษาแนะนำอยู่บ้าง เช่น การศึกษาการสะสมคาร์บอนในส่วนต่างๆ ของป่าชายเลน ผลตอบแทนจากการประกอบอาชีพท่องเที่ยวของชุมชน การศึกษาองค์ประกอบเอทธานอลของต้นจาก
4.4 การวิเคราะห์ด้านผลผลิตและผลตอบแทน การดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มุ่งหวังผลด้านเศรษฐกิจ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการวิเคราะห์ผลผลิตขององค์ประกอบและกิจกรรมต่างๆ ออกมาในรูปของตัวเงิน เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการวางแผน เช่น ผลผลิตต่อพื้นที่ของป่าชายเลน มูลค่าของป่าชายเลนต่อการป้องกันลมพายุ รายได้จากการท่องเที่ยวในชุมชน นอกจากนี้ยังต้องนำค่าใช้จ่ายที่ได้ลงทุนลงไปมาประกอบการวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบผลตอบแทนว่าคุ้มค่าต่อการดำเนินงานมากน้อยเพียงใด
4.5 การมีส่วนร่วมของชุมชน การจัดการพื้นที่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนตามความเหมาะสม แม้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานไม่ขัดแย้งและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานควรมีการจัดสรรอย่างเป็นธรรมให้ชุมชนที่ใกล้ชิดกับทรัพยากร มิใช่นำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นนอกชุมชนแต่เพียงอย่างเดียว
4.6 การกำหนดกฎระเบียบ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมักมีผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยหลายฝ่ายทั้งในชุมชน ชุมชนข้างเคียง บุคคลภายนอกและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งอาจมีความต้องการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันไป จึงควรมีการกำหนดแนวทางและวิธีการใช้ประโยชน์ให้ชัดเจน อาจมีการกำหนดบทลงโทษและผู้รับผิดชอบไว้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้การกำหนดกฎระเบียบต่างๆ ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
4.7 การจัดการความรู้ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ควรได้รับการวิเคราะห์/สังเคราะห์แล้วรวบรวมให้เป็นหมวดหมู่ที่ง่ายต่อการค้นคว้าและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ข้อมูลบางด้านอาจมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้รับทราบทั่วไป เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสม ข้อมูลบางด้านอาจต้องถ่ายทอดให้แก่คนในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชน เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีและการสานต่อเจตนารมณ์ของชุมชนต่อไป

Last updated: 2013-03-26 08:07:37