กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
อย่าเพิ่งท้อแท้ในสิ่งที่ยังไม่พยายาม และอย่าเพิ่งหมดหวังในสิ่งที่ยังไม่เริ่มต้น
 
     
 
การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนวัตกรรม
ในบางชุมชนมีการรวมกลุ่มกันของผู้ที่เห็นคุณค่าและความสำคัญของป่าชายเลน เพื่อทำการอนุรักษ์พื้นที่ แต่ไม่สามารถรวมตัวกันได้อย่างเข้มแข็งและไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากขาดแคลนการช่วยเหลือและสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 

การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ตอนที่ 2)

รศ.ดร.ดุสิต เวชกิจ(มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช)  และนายสมศักดิ์ พิริยโยธา(กรมรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)

 

ส่วนที่ 1

การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนวัตกรรมจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ : การฟื้นฟูป่าชายเลน
กับการบริหารจัดการบนฐานระบบนิเวศและความร่วมมือพหุพาคี

 

                การสัมมนาในส่วนนี้มีนางสาวสมหญิง   สุนทรวงษ์ จากศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคอาเซียแปซิฟิก  เป็นผู้ดำเนินรายการ  ซึ่งมีผู้ร่วมนำเสนอ  5  ท่าน  โดยนำเสนอในประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

                1.  นายอภิชัย   เอกวนากุล  ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการป่าชายเลนที่ 1 (ชลบุรี)  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ได้สรุปแนวทางสำคัญที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมกับการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ  โดยใช้กิจกรรมต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกป่าชายเลนในบริเวณนากุ้งร้าง  ท้องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ซึ่งเคยมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานร่วมกับชุมชน

                2.  นายประมวล   รัตนานุพงศ์  ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ป่าชายเลนอ่าวบ้านดอน  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ได้นำเสนอประสบการณ์ในการรวมกลุ่มคนในชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมจากการเปลี่ยนแปลงไปทำการเพาะเลี้ยงสัตว์   ซึ่งมีผลกระทบและสร้างความเสียหายให้ชุมชนในท้องถิ่นของจังหวัดสุราษฎร์ธานี   การดำเนินงานได้รับการสนับสนุนจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนหลายองค์กร  จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

                3.  นางสาวดาวรรณ  สันหวี  จากมูลนิธิอันดามัน  จังหวัดตรัง  ได้นำเสนอประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาร่วมกับมูลนิธิอันดามันและหน่วยงานต่างๆ ในท้องที่จังหวัดตรัง  เพื่อการบริหารจัดการป่าชายเลนชุมชน  ซึ่งนอกจากจะเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนของชุชนแล้ว  ยังพยายามแก้ไขความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนเกี่ยวกับสิทธิในการจัดการป่าชายเลน

                4.  นางสาวกชกร  ลอยสมุทร  จากศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนภาคพื้นศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคอาเซียแปซิฟิก  ได้นำเสนอเกี่ยวกับประสบการณ์ในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนที่บ้านเปร็ดใน  จังหวัดตราด  ซึ่งนับได้ว่าเป็นนวัตกรรมในการสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายป่าชุมชนชายเลนในการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง  ซึ่งควรต่อการขยายผลการปฏิบัติงานไปประยุกต์ใช้ในชุมชนนั้นๆ ต่อไป

                5.  นายพิเชษฐ์   ปานคำ  จากโครงการความมั่นคงทางด้านอาหารของชุมชนชายฝั่งอ่าว พังงา  ได้นำเสนอประสบการณ์การทำงานร่วมกับชุมชนชายฝั่ง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดพังงาและภูเก็ตต่อการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  เพื่อแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าชายเลนหลายด้าน  ส่วนใหญ่เป็นการต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและการสร้างที่พัก  รวมทั้งสิ่งก่อสร้างต่างๆ ได้มีการทำกิจกรรมต่างๆ หลายด้านโดยเน้นการใช้วิถีชีวิตและประเพณีท้องถิ่นในบางด้านอีกด้วย

 

การนำเสนอในประเด็นนี้สามารถสรุปเนื้อหาสาระที่สำคัญได้  4  ด้าน ดังนี้

1. สถานการณ์ป่าชายเลนของประเทศไทย พื้นที่ป่าชายเลนในประเทศไทยมีแนวโน้มว่าลดลงและเสื่อมโทรมจากอดีตเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้

                                1.1 การให้สัมปทานการทำป่าชายเลน โดยพบว่ามักดำเนินการไม่เป็นไปตามหลักวิชาการป่าไม้และระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่ในปัจจุบันนี้ได้มีการยกเลิกการให้สัมปทานการทำป่าชายเลนไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539

                                1.2 การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กิจกรรมนี้สร้างความเสียหายแก่ป่าชายเลนเป็นอย่างมาก โดยหวังผลทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี พ.ศ. 2528-2534 ที่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนไปทำการเลี้ยงกุ้งแชบ้วยและกุ้งกุลาดำอย่างกว้างขวาง

                                1.3 การบุกรุกซื้อขายที่ดิน ในชุมชนบางแห่งมีการบุกรุกเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อดำเนินกิจกรรมอื่นๆ เช่น การสร้างที่อยู่อาศัยของชุมชน การสร้างท่าเทียบเรือ การประกอบอาชีพเพาะปลูกพืชเกษตร ฯลฯ ซึ่งมักมีการซื้อขายที่ดินให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย

                                1.4 นโยบายของภาครัฐ การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศบางด้านอ้างความจำเป็นต่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลน. ซึ่งมักได้รับการเห็นชอบและสนันสนุนจากภาครัฐ เช่น การสร้างโรงงานอุตสาหกรรม การขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การตัดถนนและสร้างทางคมนาคม ฯลฯ โดยขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง

                                1.5 การขัดแย้งของชุมชน ความต้องการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนในบางชุมชนมีแนมโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดการขัดแย้งกันเองระหว่างคนในชุมชนที่ต้องการอนุรักษ์พื้นที่หรือมีความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกัน นอกจากนี้ยังอาจมีคนนอกชุมชนที่ต้องการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนอีก ทำให้เกิดการขัดแย้งกันมากขึ้น

                                1.6 การขาดการช่วยเหลือสนับสนุน ในบางชุมชนมีการรวมกลุ่มกันของผู้ที่เห็นคุณค่าและความสำคัญของป่าชายเลน เพื่อทำการอนุรักษ์พื้นที่ แต่ไม่สามารถรวมตัวกันได้อย่างเข้มแข็งและไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากขาดแคลนการช่วยเหลือและสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามที่ต้องกากร

 

2. หน่วยงาน/องค์กรภาคี การจัดการป่าชายเลนของแต่ละพื้นที่มีเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งจำเป็นที่ต้องใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งบุคลากร ความรู้ วิชาการ เทคโนโลยี วัสดุ อุปกรณ์ ตลอดจนงบประมาณ จึงควรเน้นความร่วมือของหน่วยงาน/องค์กรค์ภาคีที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสม ซึ่งได้แก่

                                2.1 ชุมชนในท้องถิ่น มีความจำเป็นและสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จของการจัดการป่าชุมชนในพื้นที่ เนื่องจากมีความใกล้ชิดและเกี่ยวข้องกับป่าชายเลนเป็นอย่างมาก ในชุมชนที่มีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งอย่างแท้จริงมักประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี แม้จะขาดการช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ ก็ตาม นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างเครือข่ายของชุมชน ทำให้เกิดความเข้มแข็งต่อการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น

                                2.2 หน่วยงานท้องถิ่น ในปัจจุบันนี้หน่วยงานท้องถิ่นหรือองค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัดและสำนักงานเทศบาลท้องที่ได้รับอำนาจและหน้าที่จากภาครัฐในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการป่าชายเลนของชุมชนอยู่แล้ว หากหน่วยงานท้องถิ่นเหล่านี้ให้ความสำคัญต่อการจัดการป่าชายเลนอย่างจริงจัง จะเป็นกำลังสำคัญยิ่งต่อการสนับสนุนการดำเนินงานของชุมชน

                                2.3 หน่วยงานภาคราชการ นอกจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการบริหารจัดการป่าชายเลนโดยตรงแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐอีกหลายหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลนและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนป่าชายเลน เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร ฯลฯ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ควรมีแผนบูรณาการจัดการป่าชายเลนในพื้นที่ร่วมกันให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

                                2.4 องค์กรพัฒนาเอกชน(NGO) ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่าองค์กรพัฒนาเอกชนหลายองค์กร เช่น มูลนิธิรักษ์ไทย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิอันดามัน ฯลฯ เข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมกับชุมชนชายฝั่งในบางท้องถิ่น เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ หลายด้านทั้งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป่าชายเลนโดยตรง เช่น การปลูกป่า การอนุรักษ์พื้นที่ การจัดการป่าชุมชน ฯลฯ รวมทั้งยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนชายฝั่ง เช่น การส่งเสริมอาชีพทางการประมง การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การจัดการความรู้ การป้องกันรักษาชายฝั่ง เป็นต้น

                                2.5 หน่วยงานภาคธุรกิจ กระแสการดำเนินงานของหน่วยงานภาคธุรกิจในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Coporate Social Responsibility : CSR) กำลังได้รับการยอมรับและมีการดำเนินงานกันอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ซึ่งพบว่า หน่วยงานภาคธุรกิจหลายแห่ง เช่น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย ฯลฯ ต่างให้การสนับสนุนการบริหารจัดการป่าชายเลนของทั้งภาครัฐและชุมชนในหลายพื้นที่

 

3. นวัตกรรมการจัดการป่าชายเลน ซึ่งการจัดการป่าชายเลนที่ผ่านมา นอกจากจะมีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและความรู้ทางด้านวิชาการดำเนินการอยู่แล้วก็ตาม  หากจะให้บังเกิดความมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  ควรจะให้มีการพิจารณานวัตกรรม อันได้แก่ความรู้ แนวคิดหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ของชุมชนเข้ามาช่วยดำเนินการอีกด้วย ซึ่งควรดำเนินการดังนี้

                                3.1 การแก้ปัญหาของชุมชน  ในแต่ละชุมชนอาจมีปัญหาของป่าชายเลนที่แตกต่างกันไป  จึงควรมีการทบทวนปัญหาร่วมกัน โดยการใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในชุมชนเป็นต้นทุนผนวกกับข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์และบทเรียนของชุมชนอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อนำมาประกอบการคิดและวิเคราะห์ต่อการแก้ไขปัญหาของชุมชนร่วมกัน เพื่อหาทางแก้ไขหรือดำเนินการให้เหมาะสม

                                3.2 การวางแผนดำเนินงาน การปรับปรุงหรือแก้ไขปัญหาป่าชายเลนในท้องถิ่นต้องมีการวางแผนดำเนินการให้เหมาะสม และเชื่อมโยงกันในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้แนวคิด วิธีการหรือสิ่งใหม่ๆ  เพิ่มเติมจากที่เคยดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อให้การดำเนินงานมีคุณค่าและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จำเป็นต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม และการยอมรับของชุมชนในท้องถิ่น

                                3.3 การจัดการองค์ความรู้ การดำเนินงานในกิจกรรมต่างๆ จำเป็นต้องมีการเก็บรวบรวมไว้เป็นระยะๆ มีการจัดหมวดหมู่ให้เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อการถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ไปยังคนในชุมชนให้มีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องและสอดคล้องกัน รวมทั้งการเผยแพร่ไปยังชุมชนข้างเคียงและสังคม.เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสมและแพร่หลายยิ่งขึ้น

                                3.4 การใช้ผู้นำท้องถิ่น การใช้นวัตกรรมการจัดการป่าชายเลนในแต่ละชุมชนจะประสบผลสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ถ้าได้รับการช่วยเหลือสนับสนุน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้นำท้องถิ่น ซึ่งผู้นำควรต้องเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ อยู่เสมอ มีความเสียสละเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก มีความเข้มแข็งและมีจุดยืน รวมทั้งมีความสามารถในการประสานงานและดำเนินการร่วมกับคนในท้องถิ่น และหน่วยงานภายนอกได้เป็นอย่างดี

                                3.5 ความเหมาะสมของนวัตกรรม การนำนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการป่าชายเลนของทุกท้องถิ่น จำเป็นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ต่อการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสอดคล้องกับขนบธรรมเนียมและประเพณีของท้องถิ่นที่อาจมีรายละเอียดและข้อจำกัดอยู่บ้าง รวมทั้งศักยภาพในด้านอื่นๆ เช่น งบประมาณ สภาพทางกายภาพของพื้นที่ ฯลฯ

 

4. กิจกรรมการจัดการป่าชายเลน การดำเนินกิจกรรมการจัดการป่าชายเลนของแต่ละชุมชนหรือท้องถิ่น อาจมีความสำคัญและแตกต่างกันไปตามความต้องการและสถานการณ์ของแต่ละชุมชน กิจกรรมบางด้านอาจเป็นนวัตกรรมของชุมชน แต่บางด้านอาจมีการดำเนินการกันอยู่แล้วตามปกติ กิจกรรมที่สำคัญได้แก่

                                4.1 การปลูกและบำรุงรักษาป่า  เป็นกิจกรรมที่เกือบทุกชุมชนมีการดำเนินการกันอยู่แล้วในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมหรือบริเวณเลนงอกใหม่ อย่างไรก็ตามความสำเร็จอาจมีแตกต่างกันไป ทั้งนี้ควรคำนึงถึงชนิดพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมต่อการปลูกและบำรุงรักษา ไม่ควรเน้นแต่เฉพาะไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว ควรคำนึงถึงพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับระบบนิเวศประกอบการตัดสินใจด้วย

                                4.2 การปลูกป่าในนากุ้งร้างแบบผสมผสาน การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อเพาะเลี้ยงกุ้งของบางท้องที่อย่างกว้างขวางในอดีต ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนรวมทั้งการเกิดปัญหาในด้านต่างๆ หลายประการ จึงได้มีการยินยอมให้ทางราชการทำการปลูกป่าชายเลนควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์น้ำบางชนิด เช่น ปลาทะเล หอยแครง ฯลฯ ก่อให้เกิดผลดีต่อสภาพแวดล้อมยิ่งขึ้น

                                4.3 การอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลน หลายชุมชนประสบผลสำเร็จในการกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนให้เหมาะสมกับท้องถิ่นและระบบนิเวศ โดยทั่วไปแล้วมักมีการจัดแบ่งและกำหนดพื้นที่ออกเป็นการใช้ประโยชน์การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ ซึ่งอาจมีข้อปลีกย่อยและกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไปในหลายพื้นที่ มักมีการผนวกการประกาศเขตอภัยทานในพื้นที่อนุรักษ์ ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อความสมบูรณ์ของทั้งทรัพยากรป่าไม้และสัตว์น้ำในพื้นที่

                                4.4 การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การเชื่อมโยงป่าชายเลนให้เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ร่วมกับสถานที่ต่างๆ ของชุมชน นับว่าเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากหลายชุมชนประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานเป็นอย่างมาก และชุมชนในหลายแห่งแม้จะยังมิได้มีการดำเนินงาน แต่ก็มีศักยภาพเพียงพอ อย่างไรก็ตามควรจะได้มีการศึกษาและวางแผนงานให้เหมาะสมกับชุมชน จะทำให้เกิดความยั่งยืนของการดำเนินงานต่อไป

                                4.5 การออกกฎระเบียบของชุมชน นอกจากกฎกติกาที่กลุ่มหรือชุมชนกำหนดกันขึ้นมาเพื่อใช้ในการบริหารจัดการป่าชายเลนแล้ว  ในปัจจุบันนี้บางชุมชนได้มีการออกข้อบัญญัติขององค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อกำหนดแนวทางการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน ส่งผลต่อความมีประสิทธิภาพต่อการบริหารจัดการ รวมทั้งผลและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่งเป็นอย่างยิ่ง

                                4.6 การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ เป็นแนวทางในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มและเครือข่าย ต่อการบริหารจัดการป่าชายเลนและทรัพยากรชายฝั่ง โดยเน้นการเรียนรู้ของชุมชนเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิทยาการที่เกี่ยวข้องระหว่างคนในชุมชน รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้ให้แพร่หลายทั้งคนในชุมชนและเครือข่ายที่สามารถนำไปปฏิบัติและปรับใช้ให้เหมาะสม ทั้งนี้ในระยะแรกของการดำเนินงานอาจต้องได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกที่มีประสบการณ์อยู่บ้าง


Last updated: 2013-03-25 07:52:58


@ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนวัตกรรม
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนวัตกรรม
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,356

Your IP-Address: 3.14.255.58/ Users: 
1,355