ขณะที่กำลังพัฒนาผู้อื่น จงถามตนเองว่าเราพัฒนาไปได้แค่ไหนแล้วด้วย
 
     
 
การกระจายอำนาจกับธรรมาภิบาลในการจัดการภูมิทัศน์ป่าไม้
นับตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา สังคมไทยได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 บัญญัติไว้หลายมาตรา
 

1) บทนำ

        นับตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา สังคมไทยได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 บัญญัติไว้หลายมาตรา กำหนดให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น (ดั้งเดิม) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิและหน้าที่ในการมีส่วนร่วมจัดการบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและสมดุล อีกทั้ง พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2543 ซึ่งมีสาระสำคัญให้หน่วยงานภาครัฐถ่ายโอนภารกิจด้านการพัฒนาป่าชุมชน และการป้องกันไฟป่าซึ่งเป็นภารกิจที่กรมป่าไม้ (เดิม) ดำเนินการอยู่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งกำหนดให้มีการจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เหมาะสมกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้ท้องถิ่นมีอิสระและมีอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะสามารถตัดสินใจในกิจการที่เกี่ยวกับการจัดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เอง ซึ่งจะทำให้กิจการดังกล่าวมีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่นั้นๆ อย่างแท้จริง โดยรัฐ (ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค) เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่าที่จำเป็นภายใต้กรอบกฎหมายเท่านั้น

        นักวิชาการในกลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยืนยันว่า การกระจายอำนาจถือเป็น “เครื่องมือ” สำคัญของการบริหารจัดการป่าไม้ที่ดี หรือ “ธรรมาภิบาลป่าไม้” (Forest Governance) เพราะการกระจายอำนาจเปิดโอกาสให้ภาคีหรือผู้มีส่วนได้เสียหลักในการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างน้อย 3 กลุ่ม ได้แก่ องค์กรชุมชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจทางกฎหมายในการดูแลและรักษาทรัพยากรป่าไม้เข้ามาทำงานร่วมกัน เพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เกิดกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้โดยมีเป้าหมายร่วมกันก็คือ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างไรก็ดี นักวิชาการกลุ่มนี้เน้นว่าการที่จะบรรลุเป้าหมายของการบริหารจัดการป่าที่ดีนั้นรัฐต้องมอบ “อำนาจ” ในการตัดสินใจใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น

ณ วันนี้ ประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านนโยบาย และกฎหมายระดับหนึ่งในการส่งเสริมให้ประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น หากแต่การปฏิบัติการถ่ายโอน “อำนาจ” การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้จากรัฐสู่ประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในช่วงระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมามีความคืบหน้าไม่มากนัก หรือแทบจะกล่าวได้ว่าหน่วยงานที่มีอำนาจดูแลทรัพยากรป่าไม้ยังไม่มีการมอบอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้สู่ชุมชนและท้องถิ่น ทั้งนี้เนื่องจาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ขาดความไว้วางใจและเชื่อมั่นศักยภาพของท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน และมักจะอ้างว่าท้องถิ่น “ขาดความพร้อม” ในการรับมอบอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ จนมีนักวิชาการบางท่านถึงกับสรุปว่า รูปแบบการกระจายอำนาจในสังคมไทยเป็นเพียง “การมอบภารกิจ” ให้กับท้องถิ่น แต่ “อำนาจ” การตัดสินใจที่แท้จริงยังอยู่ในมือของ “รัฐ” ในส่วนกลาง

        ในสภาพความเป็นจริง มีชุมชนท้องถิ่นในหลายพื้นที่ทั้งที่อยู่รอบเขตป่าและในพื้นที่ป่าได้พึ่งพิงและจัดการทรัพยากรป่าไม้มาอย่างยาวนานผ่านระบบความเชื่อและประเพณีดั้งเดิมของชุมชน และจากการศึกษาวิจัย “ป่าชุมชน” ในช่วงกว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา พบว่า ระบบการจัดการป่าของชาวบ้าน หรือ “สถาบันท้องถิ่น” ซึ่งหมายรวมถึง ระบบความเชื่อ ประเพณี องค์กรชุมชน ข้อตกลงและกฎระเบียบในการจัดการป่า และเครือข่ายการเรียนรู้ของชุมชน มีประสิทธิภาพและสามารถใช้ควบคุมการเข้าถึงทรัพยากรป่าไม้ในระดับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิผลกว่าระบบกฎหมายของรัฐ ทั้งนี้เพราะ สถาบันท้องถิ่นสร้างขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนจึงทำให้ชาวบ้านเข้าใจและยอมรับในสถาบันดังกล่าว อย่างไรก็ดี ระบบการจัดการป่าของชาวบ้านดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองทางกฎหมายและถือเป็นสถาบันที่ไม่เป็นทางการซึ่งเป็นช่องโหว่ให้ผู้มีอิทธิพลบางกลุ่มในชุมชนสร้างกระแสเพื่อลดความน่าเชื่อถือของสถาบันท้องถิ่นเพื่อหาผลประโยชน์จากทรัพยากรส่วนรวมให้ตนเอง ส่งผลให้สถาบันของชุมชนหลายแห่งเกิดความอ่อนแอและไร้ความศักดิ์สิทธิในการควบคุมการเข้าถึงทรัพยากรระดับชุมชน

        เอกสารชิ้นนี้ต้องการชี้ให้เห็นถึงกระบวนการคุ้มครองและรับรองความชอบธรรมทางกฎหมายของสถาบันท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งวิเคราะห์ปัจจัยที่เอื้อต่อการจัดทำข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อคุ้มครองสิทธิองค์กรชุมชนดังกล่าว โดยใช้กรณีการจัดการทรัพยากรป่าไม้ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นกรณีตัวอย่างของการสรุปบทเรียน ทั้งนี้ การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพยายามทำหน้าที่และใช้อำนาจของตนเองตามที่กฎหมายเอื้ออำนวยในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้เพื่อประโยชน์ของชุมชนถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะชุมชนท้องถิ่นในหลายพื้นที่ยังคงพึ่งพิงทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ที่อยู่ติดและรอบหมู่บ้านในฐานะของพื้นที่หาอยู่หากิน และเป็นแหล่งสร้างรายได้ของครัวเรือนโดยเฉพาะครัวเรือนที่ยากจนและมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ หากแต่ว่าการตัดสินใจในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรเหล่านั้นยังไม่ได้อยู่ที่ชุมชนและท้องถิ่น กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ที่ผ่านมาชุมชนท้องถิ่นขาดสิทธิและความชอบธรรมทางกฎหมายในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ในท้องถิ่นของตนเองเพื่อการดำรงชีพ โดยกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ตำบลแม่ทาและองค์กร “พี่เลี้ยง” ได้เปิดพื้นที่การทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนให้ “คนแม่ทา” เข้ามามีส่วนร่วม และมีสิทธิ หน้าที่อย่างชอบธรรมเพื่อการจัดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ในชุมชนของตนเอง บทความนี้ต้องการเสนอว่า รัฐต้องมอบอำนาจให้กับ “สถาบันท้องถิ่น” เพื่อเป็นกลไกในการจัดการทรัพยากรที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น และทำให้การกระจายการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในระดับท้องถิ่นมีความเป็นธรรมมากขึ้น

 

2) การกระจายอำนาจสู่ “ท้องถิ่น” และการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีส่วนร่วม

        กระบวนทัศน์ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของไทยกว่าศตวรรษที่ผ่านมามองว่า 1) รัฐเป็นเจ้าของทรัพยากรป่าไม้และที่ดินป่าไม้และมีเพียงแต่รัฐเท่านั้นที่มีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ และ 2) รัฐมีเป้าหมายการจัดการทรัพยากรป่าไม้เพื่อเน้นความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของชาติ ภายใต้กระบวนทัศน์ดังกล่าวรัฐจึงสถาปนาอำนาตนเองเหนือทรัพยากรและทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ของชาติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนร่วมผ่านกลไกการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้หลายๆ ฉบับ เช่น พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เป็นต้น มีงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า การจัดการทรัพยากรป่าไม้ภายใต้กระบวนทัศน์ดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบอย่างน้อย 3 ประการ กล่าวคือ 1) เกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและความไม่เป็นธรรมจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากร 2) ปัญหาการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประชาชนในท้องถิ่น และ 3) ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม จากปัญหาดังกล่าว ทำให้สังคมไทยต้องหันกลับมาทบทวนและปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้จากการ “รวมศูนย์อำนาจ” โดยมองว่ารัฐเป็นเจ้าของทรัพยากรป่าไม้และกันประชาชนออกจากระบบการตัดสินใจในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้อย่างสิ้นเชิงไปสู่กระบวนทัศน์ “การมีส่วนร่วมของประชาชน” โดยส่งเสริมให้ “ท้องถิ่น” ซึ่งในที่นี่หมายถึง ประชาชน องค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมและสิทธิหน้าที่ในการจัดการ ดูแลรักษา และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทยที่กฎหมายสูงสุดของประเทศบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชนไว้อย่างชัดเจน โดยมีหลายมาตราที่ระบุถึงสิทธิและหน้าที่ของประชาชน และชุมชนท้องถิ่นในการร่วมมือกับรัฐในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ และต่อมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ยังคงสานต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วในเรื่องสิทธิชุมชนและการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยมากขึ้น การนำเสนอในส่วนนี้ต้องการชี้ให้เห็นถึงประเด็นเกี่ยวกับสิทธิชุมชน อำนาจหน้าที่ และความชอบธรรมทางกฎหมายของท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยต้องการตอบคำถามหลัก 2 คำถาม ได้แก่ 1) ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจริงๆ หรือไม่ และ 2) อำนาจหน้าที่ดังกล่าว (ตามที่กฎหมายระบุ) มีขอบเขตกว้างขวางและครอบคลุมในเรื่องอะไรบ้าง

ดังที่เกริ่นข้างต้นว่าสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมได้มีการบัญญัติขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 64 แต่มีการบัญญัติไว้ท้ายของมาตรานี้ว่า “ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”  ทำให้สังคมเกิดการถกเถียงว่าแท้จริงแล้วสิทธิของชุมชนและชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ได้รับการรับรองจากกฎหมายสูงสุดของประเทศหรือไม่ เนื่องจากในขณะนั้น (จนถึงปัจจุบัน) สังคมไทยยังไม่มีการตรากฎหมายลูกที่สอดรับกับมาตราดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันได้ปรับปรุงและอุดช่องโหว่ของประเด็นสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนับว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เป็นกฎหมายที่มีลักษณะพิเศษหลายประการ และยังเป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ชัดเจนเพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคล และรับรองสิทธิชุมชน ชุมชนท้องถิ่น และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยในหมวด 3 มาตรา 66 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีการระบุเรื่อง “สิทธิชุมชน” ในการดูแล บำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้อย่างชัดเจน ดังนี้

        “มาตรา 66 บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน”

        จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้ทุกชุมชนซึ่งครอบคลุมทั้งชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมชุมชนท้องถิ่น และชุมชนมีสิทธิรวมตัวกันในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในชุมชนนั้น ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วที่เปิดโอกาสให้เฉพาะชุมชนท้องถิ่นที่รวมตัวกันมาเป็นเวลานานจนถือเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมเท่านั้นที่มีสิทธิรวมตัวกันดูแลทรัพยากรป่าไม้

        ในขณะที่มาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนเพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่จะเข้าร่วมกับรัฐหรือชุมชนหรือชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา การได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ หรือในการคุ้มครอง สิ่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติสุขและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิการหรือคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ความพิเศษของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็คือ มีการตัดคำว่า “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ซึ่งระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ออก เพื่อให้บุคคลดังกล่าวสามารถใช้สิทธิได้ทันที (กล่องที่ 1)

กล่องที่ 1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
       
มาตรา 67 สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิการ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม
        การดำเนินงานโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้เว้นได้จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว

        สำหรับในเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้ยืนยันหลักการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีเจตนารมณ์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอิสระอย่างแท้จริงในการปกครองตนเองและเน้นประโยชน์ของท้องถิ่นเป็นสำคัญ โดยมาตรา 283 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจ หน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดบริการสาธารณะแก่ประชาชนในท้องถิ่น และกำหนดให้รัฐต้องมีกฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาความไม่ชัดเจนในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนและขัดแย้งระหว่างหน่วยงานในระดับต่างๆ ตั้งแต่ส่วนกลางไปจนถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญแล้ว พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีสาระสำคัญในการกำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง ได้บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการคุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรป่าไม้ โดยในมาตรา 16 (24) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งประกอบด้วยเทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังรายละเอียดข้างล่างนี้

        “มาตรา 16 ให้เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองดังนี้”
        “(24) การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”
        นอกจากนี้ พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นกฎหมายที่สามารถกล่าวได้ว่าฟื้นแนวคิดการปกครองท้องถิ่นและยอมรับสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลในฐานะที่เป็นนิติบุคคล ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ระบุว่าองค์การบริหารส่วนตำบลอาจดำเนินการคุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่ในการคุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้อเด่นของกฎหมายฉบับนี้ก็คือ กฎหมายให้อำนาจองค์การบริหารส่วนตำบลในการออก “ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล” เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย พร้อมทั้งได้ให้แนวทางการจัดทำร่างข้อบัญญัติและการประกาศใช้ข้อบัญญัติไว้ค่อนข้างชัดเจน อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้บัญญัติว่าการออกข้อบัญญัติตำบลนั้นสามารถทำได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อ “กฎหมาย”  (กล่องที่ 2)

        จะเห็นได้ว่า สิทธิของบุคคล ชุมชน และองค์กรชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย นั่นหมายความว่า ชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิและความชอบธรรมทางกฎหมายในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้เพื่อการดำรงชีพของตนเอง นอกจากนี้ กฎหมายยังให้อำนาจหน้าที่ และยอมรับองค์การบริหารส่วนตำบลในฐานะนิติบุคคลเพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลและการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายสองประการ กล่าวคือ 1) ความสอดคล้องระหว่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ. 2542 กับกฎหมายป่าไม้ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน พบว่า มีความขัดแย้งกันระหว่างกฎหมายดังกล่าวในการให้อำนาจหน้าที่กับองค์กรชุมชน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเด็นการใช้ประโยชน์จากป่า และ 2) ชุมชนท้องถิ่นแต่ละแห่งมีรูปแบบและระดับของการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ที่แตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ อีกทั้ง ผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มในแต่ละพื้นที่อาจมีการนิยามคำนิยามเกี่ยวกับการจัดการและการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน จะมีมาตรฐานในการกำหนดคำนิยามร่วมได้อย่างไร

กล่องที่ 2 พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546
        มาตรา 71 องค์การบริหารส่วนตำบลอาจออกข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อใช้บังคับใช้ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้องค์การบริหารส่วนตำบลออกข้อบัญญัติหรือให้มีอำนาจออกข้อบัญญัติ ในการนี้จะกำหนดค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บและกำหนดโทษปรับหรือผู้ฝ่าฝืนด้วยก็ได้ แต่มิให้กำหนดโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลจะเสนอได้ก็แต่โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหรือสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือราษฎรในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น

        เมื่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาทบทวนร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลตามวรรคสี่แล้ว มียืนยันตามร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลงชื่อประกาศเป็นข้อบัญญัติตำบลได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากนายอำเภอ แต่ถ้าสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไม่ยืนยันภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลคืนจากนายอำเภอหรือยืนยันด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ให้ร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นเป็นอันตกไป

 

3) ป่าชุมชนตำบลแม่ทาและพลวัตของสถาบันท้องถิ่น

        ตำบลแม่ทา ณ วันนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ และทำให้สังคมภายนอกยอมรับรูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรดังกล่าวของชุมชน ดังจะเห็นได้จากการที่ชุมชนเพิ่งได้รับโล่รางวัลในฐานะที่เป็น “เครือข่ายที่มีการจัดการป่าชุมชนโดยขบวนชุมชนเป็นแกนหลักร่วมกับภาคี” ในเดือนตุลาคม 2552 จากคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ และถือเป็นรางวัลที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับ “คนแม่ทา” ที่มุ่งมั่นและอุทิศทั้งแรงกาย แรงใจ และกำลังสมองในการจัดกระบวนการเรียนรู้และสร้างรูปธรรมการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ดิน และระบบการผลิตในไร่นาภายใต้หลักคิด “ตำบลพึ่งตนเอง” มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน รางวัลที่ได้รับนอกจากจะสร้างกำลังใจให้กับชาวบ้านที่ทำงานเพื่อชุมชนและท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นสัญญาณให้รู้ว่า “ขบวนการจัดการทรัพยากร” ของคนแม่ทาเป็นต้นแบบของการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน
        ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2536  ซึ่งเป็นปีแรกที่ตำบลแม่ทาได้ริเริ่มจัดการป่าในรูปแบบ “ป่าชุมชน” อย่างเป็นทางการ โดยสภาตำบลได้จัดตั้งคณะกรรมการป่าระดับตำบลขึ้นในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 และกำหนดกฎระเบียบการจัดการป่าระดับตำบลขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีคณะกรรมการป่าชุมชนระดับหมู่บ้านเพื่อดูแล จัดการใช้ประโยชน์จากป่าโดยแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็น 5 พื้นที่ ดังนี้ 1) พื้นที่ป่าชุมชนบ้านทาม่อน มีเนื้อที่ประมาณ 8,000 กว่าไร่ ให้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการป่าชุมชนหมู่ที่ 1 บ้านทาม่อน 2) ป่าชุมชนบ้านท่าข้าม-บ้านค้อกลาง มีเนื้อที่ประมาณ 19,000 ไร่ ให้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบร่วมกันของคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านท่าข้าม และบ้านค้อกลาง 3) ป่าชุมชนบ้านห้วยทราย มีเนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ ให้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านห้วยทราย 4) บ้านชุมชนบ้านป่านอด มีเนื้อที่ประมาณ 10,000 กว่าไร่ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านป่านอดดูแล และจัดการ และ 5) ป่าชุมชนบ้านดอนชัย-บ้านใหม่ดอนชัย มีเนื้อที่ประมาณ 10,000 ไร่ ให้อยู่ภายใต้การดูแล และจัดการร่วมกันระหว่างคณะกรรมการของทั้งสองหมู่บ้าน ทั้งนี้ ในแต่ละหมู่บ้าน/ป่าชุมชนจะมีการกำหนดกติการ่วมสำหรับการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน หรือ “กฎระเบียบการจัดการป่าชุมชนระดับหมู่บ้าน” ซึ่งสอดคล้องกับกฎระเบียบระดับตำบล โดยคณะกรรมการป่าชุมชนในแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งมีอยู่ประมาณหมู่บ้านละ 15 คน จะทำหน้าที่หลักในการสอดส่องดูแล และพิจารณาอนุญาตการใช้ไม้จากพื้นที่ป่าชุมชนภายในหมู่บ้านตนเอง

        มีเหตุผลสำคัญสองประการที่ชุมชนตำบลแม่ทาพัฒนาและริเริ่มการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ในเขตตำบลของตนเองในรูปแบบป่าชุมชน ประการแรก เนื่องจากในปี พ.ศ. 2536 ชุมชนประสบปัญหาความแห้งแล้ง และชาวบ้านส่วนใหญ่ในเขตตำบลแม่ทากว่าครึ่งหนึ่งขาดแคลนน้ำสำหรับการทำนาและเพาะปลูก กลุ่มแกนนำชาวบ้านในสมัยนั้นซึ่งนำโดยกำนันอนันต์ ดวงแก้วเรือน เห็นว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของความแห้งแล้งก็เนื่องจากทรัพยากรป่าไม้ในเขตตำบลถูกทำลายและอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมจากการสัมปทานป่าไม้ในอดีต และตามด้วยการตัดไม้และใช้ประโยชน์ของชาวบ้าน ทางแกนนำชุมชนเห็นว่าหากไม่ทำการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ให้ดีขึ้น ในอนาคตชุมชนอาจจะประสบปัญหารุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทางสภาตำบลฯ จึงเสนอให้มีการจัดการป่าชุมชนขึ้นเพื่อทำการฟื้นฟู และจัดการทรัพยากรป่าไม้ในเขตตำบลแม่ทา ส่วนเหตุผลประการที่สองสืบเนื่องจากกรมป่าไม้ (ในขณะนั้น) ได้มีการประกาศให้พื้นป่าในเขตลุ่มน้ำแม่ทาตอนบนเป็นพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ซึ่งพื้นที่เตรียมการฯ ส่วนใหญ่ทับพื้นที่ป่าที่ชุมชนแม่ทาใช้ประโยชน์และเก็บหาของป่า และพื้นที่เตรียมประกาศฯ ยังทับพื้นที่ทำกินบางส่วนของชาวบ้าน ชาวบ้านในตำบลแม่ทาเห็นว่าแนวทางการจัดการป่าของรัฐโดยการแยกชุมชนออกจากป่าตามนโยบายการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติจะส่งกระผลต่อการดำรงชีพและการทำมาหากินของชาวบ้าน จึงได้มีการรวมตัวกันคัดค้านนโยบายดังกล่าว พร้อมทั้งมีการจัดตั้งป่าชุมชนและออกกฎระเบียบการจัดการป่าชุมชนซึ่งภายหลังมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการโดยสภาตำบลฯ พร้อมทั้งมีการจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนในระดับหมู่บ้านให้เป็นกลไกสำหรับการสร้างความเข้าใจและควบคุมการใช้ประโยชน์ในระดับหมู่บ้าน และยังใช้เป็นกลไกเพื่อต่อรองกับกรมป่าไม้ (รัฐ) อีกด้วย ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงพลังของชุมชนในการพิทักษ์และรักษาทรัพยากรป่าไม้เพื่อเป็นฐานในการดำรงชีพของตนเองและเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในรูปแบบป่าชุมชน
        การจัดการป่าชุมชนในแต่ละหมู่บ้านของตำบลแม่ทา นอกจากการกำหนดกฎระเบียบการจัดการป่าชุมชน และตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนแล้ว ชุมชนได้กำหนดและแบ่งพื้นที่ป่าเพื่อการใช้ประโยชน์ออกเป็นสองส่วน ได้แก่ พื้นที่ป่าชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ และพื้นที่ป่าชุมชนเพื่อการใช้สอย โดยในเขตป่าชุมชนเพื่อการอนุรักษ์นั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารจะมีกฎระเบียบห้ามตัดไม้ไปใช้ประโยชน์อย่างเด็ดขาด แต่ยังคงอนุญาตให้มีการเก็บหาของป่าอื่นๆ รวมถึงเป็นพื้นที่เลี้ยงวัวของชาวบ้านด้วย ส่วนการใช้ไม้สำหรับการสร้างและซ่อมแซมบ้านจะอนุญาตเฉพาะในเขตป่าใช้สอยเท่านั้น ทั้งนี้ ชาวบ้านที่ต้องการใช้ไม้ต้องยื่นความต้องการใช้ไม้โดยการกรอกแบบฟอร์มการขอใช้ไม้ต่อคณะกรรมการป่าชุมชนซึ่งจะทำหน้าที่พิจารณาอนุญาตการใช้ไม้โดยพิจารณาจากสภาพความจำเป็นของแต่ละครัวเรือน อย่างไรก็ตาม แต่ละหมู่บ้านจะมีช่วงการเปิดอนุญาตให้ใช้ไม้จากป่าชุมชนแตกต่างกันไป ส่วนการใช้ประโยชน์ของป่าอื่นๆ เช่น หน่อไม้ เห็ด ผักป่า สามารถเก็บหาและใช้ประโยชน์ได้ทั่วไป

        นอกเหนือจากการจัดการป่าระดับหมู่บ้าน ตำบลแม่ทาได้จัดตั้ง “เครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติตำบลแม่ทา” เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนรูปแบบการจัดการป่าของตำบลแม่ทา และเป็นพื้นที่การเรียนรู้และแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างคณะกรรมการป่าชุมชนแต่ละหมู่บ้าน ในปัจจุบันเครือข่ายฯ มีคณะกรรมการทั้งสิ้น 21 คน โดยเป็นตัวแทนจากคณะกรรมการป่าชุมชนระดับหมู่บ้าน ๆ ละ 2 คน รวม 14 คน และตัวแทนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลอีกหมู่บ้านละ 1 คน รวม 7 คน โดยในปีล่าสุดทางเครือข่ายฯ ได้จัดกิจกรรมเพื่อแสดงพลังของชุมชนและสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของคนแม่ทา อาทิเช่น โครงการปลูกต้นไม้ในไร่สวน โครงการจัดทำแผนที่และแนวเขตป่าตำบลแม่ทา โครงการเดินตรวจป่า การเลี้ยงผีขุนน้ำ และการประชุมประจำปีของเครือข่าย  นอกจากนี้ ในช่วงการผลักดันกฎหมายป่าชุมชนกว่าสิบปีที่ผ่านมาทางเครือข่ายฯ ถือเป็นองค์กรหลักของชุมชนในการประสานงานทั้งภายในตำบลแม่ทาและประสานกับเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือเพื่อร่วมในขบวนการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการทรัพยากรป่าไม้ภาคประชาชน

        ในปี พ.ศ. 2548 เครือข่ายการจัดการทรัพยากรตำบลแม่ทาได้ร่วมกับเครือข่ายเกษตรในการจัดตั้ง “สถาบันพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและเกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทา” โดยมุ่งหวังให้มีการประสานและเชื่อมโยงงาน “ป่า” กับ “เกษตร” เข้าด้วยกัน และเพื่อให้สถาบันฯ ทำหน้าที่คล้ายเป็นเวทีในการกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และการประสานงานพัฒนาของตำบล และเพื่อให้ภาพการทำงานร่วมกันขององค์กรชุมชนมีความชัดเจนขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์ตำบลโดยมีองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานสนับสนุน ทั้งนี้ คณะกรรมการของสถาบันฯ มาจากเครือข่ายทรัพยากรฯ และเครือข่ายเกษตร ในสัดส่วนที่เท่ากัน รวมทั้งผู้ใหญ่บ้านทั้ง 7 หมู่บ้าน ก็เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสถาบันฯ ด้วย  เมื่อเร็วๆ นี้ ทางสถาบันฯ ได้แสดงบทบาทในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชุมชน 5 ปี ตำบลแม่ทาซึ่งเป็นผลจากการทำงานร่วมกันระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลกับสถาบันฯ นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ได้กล่าวไว้ในเอกสารดังกล่าวอย่างน่าสนใจว่า “แผนตำบลเป็นแผนยุทธศาสตร์การทำงาน (ของชุมชน) และไม่ใช่แผน อบต.” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับขบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาโดยชุมชนของผู้นำองค์กรท้องถิ่น อีกทั้ง ยังแสดงถึงความเข้าใจที่ชัดเจนถึงบทบาทและหน้าที่ขององค์กรชุมชน และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทาในการพัฒนาและจัดการทรัพยากรของตำบลแม่ทา 
        การเติบโตของการจัดการทรัพยากรป่าไม้ตำบลแม่ทาไม่ได้หยุดอยู่แค่ขอบเขตการปกครองภายในตำบลแม่ทาเท่านั้น ด้วยแกนนำและสมาชิกเครือข่ายทรัพยากรฯ มีความตระหนักว่าการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำแม่ทาตอนบนให้เกิดผลดีต้องขยายแนวร่วมกับชุมชนอื่นข้างเคียง ในปี พ.ศ. 2547 ทางเครือข่ายทรัพยากรฯ จึงได้ประสานงานกับเครือข่ายคณะกรรมการป่าชุมชนตำบลทาเหนือถึงแนวทางในการประสานการทำงานร่วมกัน ซึ่งในที่สุดได้มีการจัดตั้ง“เครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำทาตอนบน” ขึ้น ซึ่งเป็นเครือข่ายของสองตำบลในการจัดการและคุ้มครองทรัพยากรลุ่มน้ำ โดยมีคณะกรรมการเครือข่ายร่วมทั้งสองตำบล จำนวน 35 คน อย่างไรก็ตาม การทำงานของเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ทาตอนบนยังไม่คืบหน้ามากนัก เนื่องด้วยข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ และประเด็นการเมืองท้องถิ่นภายในตำบลทาเหนือ
        นอกเหนือจากกิจกรรมในการฟื้นฟูทรัพยากรลุ่มน้ำแล้ว ทางเครือข่ายทรัพยากรตำบลแม่ทายังมองถึงความสำคัญในเรื่องสวัสดิการของคณะกรรมการป่าชุมชนทั้งในระดับหมู่บ้านและตำบลซึ่งทำหน้าที่ลาดตระเวน และควบคุมการใช้ประโยชน์ป่าชุมชน ทางเครือข่ายฯ จึงได้มีการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการจัดการป่าชุมชน” ขึ้นในปี พ.ศ. 2550 โดยได้รับงบประมาณกองทุนในเบื้องต้นจากการสนับสนุนของแผนงานสนับสนุนความร่วมมือในประเทศไทย ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีคณะกรรมการกองทุน ตลอดจนข้อตกลงและระเบียบเพื่อการบริหารกองทุนที่ชัดเจน
สามารถกล่าวได้ว่า ความสำเร็จในการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของตำบลแม่ทาในวันนี้เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติ โดยอาศัยกลไกของ “สถาบันท้องถิ่น” เพื่อจัดการกับประเด็นปัญหาที่ชุมชนเผชิญอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการยอมรับรูปแบบและแบบแผนการจัดการของท้องถิ่นทั้งจากสมาชิกภายในชุมชนเอง หน่วยงานของรัฐ และสังคมโดยทั่วไป ตำบลแม่ทาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสถาบันท้องถิ่นซึ่งสถาปนาโดยสมาชิกในชุมชนแม้จะไม่เป็นทางการแต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยอมรับ และสามารถนำไปสู่การฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของชุมชน ทั้งนี้ การพัฒนาสถาบันท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดกลไกการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนในระดับชุมชน อย่างไรก็ดี มีผู้นำชุมชนและชาวบ้านบางคนที่มุ่งหาประโยชน์จากป่าเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก รวมถึงหน่วยงานของรัฐที่ยึดติดกับการใช้ตัวบทกฎหมายในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ ได้อาศัยช่องโหว่ “ความไม่เป็นทางการ” ของสถาบันท้องถิ่น เพื่อลดความชอบธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ของกฎระเบียบการจัดการป่าชุมชน และคณะกรรมการป่าชุมชนในระดับหมู่บ้าน ในหัวข้อถัดไปจะนำเสนอการปรับใช้แนวทางและโอกาสทางนโยบายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อรับรองและยกระดับให้สถาบันและแบบแผนการจัดการทรัพยากรของชุมชนมีความชอบธรรมทางกฎหมาย

 

4) การรับรอง “สถาบันท้องถิ่น” ผ่านกลไกข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล

        “กรรมการป่า(เถื่อน)” เป็นชื่อที่คณะกรรมการป่าชุมชนระดับหมู่บ้านถูกเรียกขานจากผู้นำทางการและขาวบ้านบางส่วนในตำบลแม่ทา ซึ่งเป็นการแสดงออกว่าตนเองไม่ยอมรับกฎระเบียบการจัดการป่าชุมชน และต้องการลดความศักดิ์สิทธิ์และอำนาจของคณะกรรมการป่าชุมชน ส่งผลให้การจัดการป่าในบางหมู่บ้านของตำบลแม่ทาไม่เป็นไปตามแบบแผนที่เคยมีการตกลงกันไว้แต่เดิม นอกจากนี้ การเข้าร่วมกับเครือข่ายตำบลของบางหมู่บ้านที่ผู้นำทางการขาดความเชื่อมั่นคณะกรรมการป่าชุมชนลดลง และขาดการประสานงานระหว่างคณะกรรมการป่าชุมชนระดับหมู่บ้านและเครือข่ายฯ ตำบล ทำให้การจัดการป่าชุมชนของตำบลแม่ทาไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากประเด็นการไม่ยอมรับของผู้นำทางการบางท่านต่อกฎระเบียบการจัดการป่าชุมชนแล้ว กฎระเบียบการจัดการป่าชุมชนตำบลแม่ทายังไม่ได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครอง และรักษาทรัพยากรป่าไม้ ทั้งนี้เนื่องจาก พื้นที่ป่าชุมชนของตำบลแม่ทาส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ป่าส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น พบว่า มีบางครั้งที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้มีการจับกุมชาวบ้านที่ตัดไม้ในเขตป่าชุมชน และได้ขออนุญาตจากคณะกรรมการป่าชุมชนในหมู่บ้านของตนเองแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้ คณะกรรมการป่าชุมชน และชาวบ้านในเรื่องการใช้ประโยชน์จาก “ป่า”

        ในปี พ.ศ. 2550 องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทาได้มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น และด้วยความตระหนักในอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นซึ่งถือเป็นโอกาสทางนโยบายที่เปิดให้ท้องถิ่นได้จัดการทรัพยากรของตนเอง ทางองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทาโดยการสนับสนุนจากแผนงานความร่วมมือในประเทศไทย หรือ รีคอฟ ได้จัดคณะทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูลในแต่ละชุมชนเกี่ยวกับแบบแผนการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของแต่ละหมู่บ้าน และนำไปสู่การยกร่าง “ข้อบัญญัติตำบลแม่ทา เรื่องการจัดการป่าชุมชนตำบลแม่ทา พ.ศ. 2550” ทั้งนี้ กระบวนการจัดทำร่างข้อบัญญัติตำบลได้เปิดโอกาสให้ประชาชนในแต่ละหมู่บ้านมีส่วนร่วมโดยจัดเวทีการประชาพิจารณ์ในระดับตำบล จนในที่สุด ร่างข้อบัญญัติฯ ดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา ในการประชุมสมัยสามัญเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2550 และต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทาได้ประกาศใช้ข้อบัญญัติตำบล เรื่อง การจัดการป่าชุมชนตำบลแม่ทา พ.ศ. 2550 ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2550 หรือเพียงแค่สองวันหลังจากผ่านความเห็นชอบของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

        สามารถกล่าวได้ว่า องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งแรกๆ ในประเทศไทยที่มีการจัดทำข้อบัญญัติตำบลเรื่องการจัดการป่าชุมชน ซึ่งถือเป็นความกล้าหาญและวิสัยทัศน์ที่ไกลของผู้นำองค์กร และแกนนำชุมชนในการแปลงนโยบายการกระจายอำนาจ (แผ่นกระดาษ) สู่การปฏิบัติการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น

เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาและเจตนารมณ์ของข้อบัญญัติตำบลฯ พบว่า ข้อบัญญัตินี้ต้องการที่จะยืนยันและรับรองหลักการ “ป่าชุมชน” ที่ทางตำบลแม่ทาได้ดำเนินการมาเกือบสามทศวรรษ กล่าวคือ ต้องการให้ชุมชนมีสิทธิและความชอบธรรมทางกฎหมายในการจัดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในท้องถิ่นเพื่อการดำรงชีพของตนเอง ทั้งนี้ เนื้อหาของ ข้อบัญญัติแบ่งออกเป็น 5 หมวด ได้แก่ หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 กล่าวถึงคณะกรรมการเครือข่ายป่าชุมชนระดับตำบล หมวด 3 เกี่ยวกับคณะกรรมการป่าชุมชนของหมู่บ้าน หมวด 4 ได้บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกป่าชุมชนหมู่บ้าน และหมวด 5 กล่าวถึงกองทุนป่าชุมชนของหมู่บ้าน ซึ่งจะขอนำเสนอเนื้อหาในแต่ละหมวดดังต่อไปนี้

        หมวด 1 บททั่วไป ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งป่าชุมชนซึ่งครอบคลุมทั้งในเรื่องการสร้างความตระหนักให้กับชุมชน การสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชน รวมถึง การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดิน น้ำ ป่า อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน และในหมวดนี้ยังได้บัญญัติว่าป่าชุมชนที่จัดตั้งขึ้นให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบล โดยให้คณะกรรมการเครือข่ายป่าชุมชนทั้งในระดับตำบลและหมู่บ้านมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

        ในหมวด 2 คณะกรรมการเครือข่ายป่าชุมชนระดับตำบล ในบทบัญญัตินี้ต้องการให้มีคณะกรรมการเครือข่ายป่าชุมชนระดับตำบล พร้อมทั้งระบุอำนาจหน้าที่ คุณสมบัติ และระยะเวลาของคณะกรรมการเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งในส่วนของอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป่าชุมชนระดับตำบลจะเน้นการสนับสนุน การประสานงานความร่วมมือ และการติดตามการดำเนินงานการจัดการป่าและคณะกรรมการป่าชุมชนระดับหมู่บ้าน ทั้งนี้ คณะกรรมการเครือข่ายทำหน้าที่เปรียบเสมือน “พี่เลี้ยง” ให้กับชุมชนและคณะกรรมการป่าชุมชนระดับหมู่บ้าน ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเครือข่ายป่าชุมชนระดับตำบล ก็คือ มีการกำหนดให้คณะกรรมการจัดทำรายงานการดำเนินงานด้านป่าชุมชนระดับตำบลอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเสนอต่อที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบล อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตก็คือ ข้อบัญญัตินี้ไม่ได้พูดถึงความบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการป่าระดับตำบลกับสถาบันพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและเกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทาซึ่งเป็นองค์กรหลักของชุมชน

        หมวด 3 คณะกรรมการป่าชุมชนหมู่บ้าน ในข้อบัญญัติตำบลแม่ทากำหนดให้มีคณะกรรมการป่าชุมชนระดับหมู่บ้านจำนวนไม่น้อยกว่า 15 คน แต่ไม่เกิน 25 คน โดยข้อบัญญัติได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป่าชุมชนในการประสานจัดทำแผนการบริหารจัดการ ดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ของชุมชน ซึ่งรวมถึงการกำหนดแนวเขตป่าชุมชน การจัดแบ่งพื้นที่ และการพิจารณากำหนดระเบียบการขอใช้ไม้และการใช้ประโยชน์อื่นๆ ในป่าชุมชน นอกจากนี้ คณะกรรมการป่าชุมชนยังมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการกองทุนป่าชุมชนหมู่บ้านอีกด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการป่าชุมชนตามข้อบัญญัตินี้ต้องจัดทำรายงานการดำเนินงานป่าชุมชนเพื่อเสนอต่อที่ประชุมหมู่บ้าน และที่ประชุมคณะกรรมการเครือข่ายป่าชุมชนระดับตำบล

        หมวด 4 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกป่าชุมชนหมู่บ้าน จุดเด่นแห่งข้อบัญญัติตำบลแม่ทาเรื่องการจัดการป่าชุมชน ก็คือ การกำหนดให้สมาชิกป่าชุมชนมีสิทธิและหน้าที่เข้าร่วมกับคณะกรรมการป่าชุมชนในการบริหารจัดการป่าชุมชน และข้อบัญญัติยังให้สิทธิสมาชิกป่าชุมชนในการขอใช้ไม้และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอื่นๆ ในป่าชุมชน ซึ่งเท่ากับว่าข้อบัญญัตินี้ได้รับรองสิทธิการใช้ประโยชน์จากป่าของสมาชิกป่าชุมชน และที่สำคัญอย่างยิ่งในแง่ของสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกป่าชุมชนตามที่ระบุไว้ในข้อบัญญัติตำบล ก็คือ สมาชิกป่าชุมชนมีสิทธิและหน้าที่ในการตรวจสอบการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการป่าชุมชนตำบลแม่ทาของคณะกรรมการป่าชุมชนหมู่บ้าน และคณะกรรมการเครือข่ายป่าชุมชนระดับตำบล แสดงให้เห็นว่า ข้อบัญญัติตำบลแม่ทาได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการตรวจสอบและสร้างกลไกการถ่วงดุลอำนาจในหลายระดับ อย่างไรก็ตาม ข้อบัญญัติตำบลยังมิได้ระบุถึงแนวทางของการตรวจสอบดังกล่าว

        หมวด 5 กองทุนป่าชุมชนหมู่บ้าน ข้อบัญญัติตำบลแม่ทาได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการป่าชุมชนของหมู่บ้าน และเพื่อจัดสวัสดิการและค่าตอบแทนให้แก่คณะกรรมการป่าชุมชนของหมู่บ้าน และสมาชิกป่าชุมชน ซึ่งเงินกองทุนป่าชุมชนหมู่บ้านอาจได้มาจากการสนับสนุนขององค์กรและหน่วยงานภายนอก และองค์การบริหารส่วนตำบล รวมถึงเงินค่าปรับจากการฝ่าฝืนกฎระเบียบป่าชุมชน และการจัดเก็บเงินค่าสมาชิกป่าชุมชน จะเห็นได้ว่า ข้อบัญญัติตำบลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกองทุนในการบริหารจัดการป่าชุมชน และการมีส่วนร่วมของสมาชิกป่าชุมชนในการเข้าร่วมการจัดการป่าชุมชนโดยการจ่ายค่าสมาชิก ซึ่งถือเป็นมิติใหม่สำหรับการจัดการป่าในระดับหมู่บ้าน 
        สามารถกล่าวได้ว่า การจัดทำข้อบัญญัติตำบลเรื่องการจัดการป่าชุมชนของตำบลแม่ทาซึ่งอาศัยกลไกการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ยืนยันหลักการป่าชุมชน และต้องการรับรองสิทธิของสมาชิกชุมชน และองค์กรชุมชนในการบริหาร จัดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอื่นๆ ในป่าชุมชน อย่างไรก็ตาม กลไกการรับรองอำนาจหน้าที่ และสิทธิดังกล่าวยังมีพื้นที่ว่างสำหรับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการตรวจสอบการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ ดังจะเห็นได้จากข้อบัญญัติตำบลที่กำหนดอำนาจ หน้าที่ และบทบาทไปขององค์กรชุมชนในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านถึงระดับตำบล โดยหวังให้การบริหารจัดการป่าชุมชนและทรัพยากรในป่ามีความโปร่งใส มีการกระจายทรัพยากรจากป่าชุมชนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมระหว่างคนรวย และคนจนในหมู่บ้าน ระหว่างผู้นำชุมชนและสมาชิกของชุมชน และระหว่างคณะกรรมารป่าชุมชนกับสมาชิกป่าชุมชน ดังที่พ่อสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติตำบลแม่ทาได้กล่าวว่า “เพื่อให้คนทุกข์คนยากสามารถใช้ประโยชน์ (จากป่า) ได้เท่าเทียมกัน” โดยมีกลไกการป้องกันการครอบครองและใช้ประโยชน์ทรัพยากรของผู้นำทางการและ “ผู้มีอิทธิพล” ในท้องถิ่นที่มุ่งแต่การหาผลประโยชน์ส่วนตัว ทั้งนี้ สามารถสรุปเจตนารมณ์ของข้อบัญญัติตำบลแม่ทาเรื่องการจัดการป่าชุมชน ได้ดังนี้
        4.1 ยอมรับและคุ้มครองสถาบันท้องถิ่น ได้แก่ คณะกรรมการป่าชุมชนของหมู่บ้าน คณะกรรมการป่าชุมชนระดับตำบล และกฎระเบียบการใช้ประโยชน์จากป่าในแต่ละหมู่บ้าน ให้เป็นกลไกในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในตำบลแม่ทา และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิกป่าชุมชน
        4.2 กำหนดอำนาจหน้าที่ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสมาชิกป่าชุมชน สถาบันท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามข้อบัญญัติฯ องค์การบริหารส่วนตำบลมีบทบาทเป็นเพียงผู้กำกับดูแล ส่วนคณะกรรมการป่าชุมชนในระดับหมู่บ้าน และคณะกรรมการป่าชุมชนระดับตำบลมีอำนาจ หน้าที่ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้โดยมีส่วนร่วมกับสมาชิกป่าชุมชน
        4.3 ส่งเสริมการถ่วงดุลย และตรวจสอบการใช้อำนาจของสถาบันท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายระดับโดยการมีส่วนร่วมของสมาชิกป่าชุมชน 
        4.4 จัดให้มีระบบสวัสดิการของคณะกรรมการป่าชุมชน และสมาชิกป่าชุมชน

 

5.) บทเรียนการฟื้นฟูภูมินิเวศป่าไม้ตำบลแม่ทาภายใต้กลไกการกระจายอำนาจ

        เป็นเวลากว่าสองปีที่ตำบลแม่ทาได้ประกาศใช้ข้อบัญญัติตำบลเรื่องการจัดการป่าชุมชน จากการพูดคุยและสัมภาษณ์ผู้นำองค์กรท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และคณะกรรมการเครือข่ายการจัดการทรัพยากรแม่ทา ถึงผลกระทบต่อการจัดการป่าชุมชนของตำบลแม่ทาภายหลังจากที่ประกาศใช้ข้อบัญญัติตำบล พบว่า ข้อบัญญัติตำบลช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคณะกรรมการป่าชุมชนทั้งในระดับหมู่บ้าน และระดับตำบลในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองมากยิ่งขึ้น และเมื่อองค์การบริหารส่วนตำบลเข้ามาทำหน้าที่ประสานงานทำให้ผู้นำชุมชนบางส่วนที่เคยหันหลังให้กับเครือข่ายป่าชุมชนตำบลแม่ทาได้กลับเข้ามาร่วมงานกับเครือข่ายอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้กลไกของข้อบัญญัติตำบลเรื่องการจัดการป่าชุมชนตำบลแม่ทายังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่มากนักเนื่องจากอยู่ในช่วงการจัดปรับกระบวนการภายในตำบลแม่ทาเอง และยังมีช่องว่างในเรื่องความเข้าใจเนื้อหาของข้อบัญญัติตำบลระหว่างระหว่างแกนนำชุมชน คณะกรรมการเครือข่ายทรัพยากร คณะกรรมการป่าชุมชนระดับหมู่บ้าน และชาวบ้านที่อยู่ในระดับล่าง ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการเรียนรู้และสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี การมีข้อบัญญัติตำบลเรื่องการจัดการป่าชุมชนถือเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จระดับหนึ่งของท้องถิ่นและองค์การบริหารส่วนตำบลในการรองรับสิทธิของสมาชิกป่าชุมชน องค์กรชุมชน และชุมชนในการจัดการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน หากพิจารณาถึงปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จในกระจายอำนาจ และหน้าที่ให้แก่องค์กรชุมชนในการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ในเขตตำบลแม่ทา สามารถจำแนกปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

        5.1) การมีทุนทางสังคม และกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง ตำบลแม่ทาได้ให้บทเรียนกับเราว่าหากต้องการให้กลไกการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นนั้น ชุมชนต้องมีทุนทางสังคมทั้งทุนทางปัญญาซึ่งจะเห็นว่าตำบลแม่ทามีผู้นำตามธรรมชาติที่มีความรู้ในหลากหลายมิติทั้งในด้านการจัดการใช้ประโยชน์จากป่า เกษตรอินทรีย์ และการจัดองค์กรชุมชน นอกจากนั้น ตำบลแม่ทายังมีทุนทางธรรมชาติทั้งป่าไม้ ที่ดิน และทรัพยากรน้ำ ที่ชุมชนสามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีพและสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และที่สำคัญอย่างมาก คือ ตำบลแม่ทามีทุนทางสังคมและวัฒนธรรมสูง ดังจะเห็นได้จาก ชุมชนแม่ทามีวัฒนธรรมและประเพณีที่เอื้อต่อการจัดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน เช่น ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ โดยทุนทางวัฒนธรรมนี้จะทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างสมาชิกในชุมชน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชุมชนจะมีทุนทางสังคมอยู่สูงแต่หากขาดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ในบางครั้งชุมชนนั้นๆ อาจไม่สามารถประยุกต์ใช้ทุนทางสังคมดังกล่าวให้เอื้อต่อการบริหารจัดการท้องถิ่นและทรัพยากรได้ โดยคนแม่ทาแสดงให้เห็นว่าตนเองมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และยาวนาน โดยกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวช่วยให้พวกเขาเองสามารถปรับใช้ทุนทางสังคมในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจกล่าวได้ว่า ข้อบัญญัติตำบลแม่ทาเรื่องการจัดการป่าชุมชนอาจมีความหมายเพียงแค่ตัวหนังสือ แต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติเหมือนกับกฎหมายหลายๆ ฉบับของสังคมไทย หากตำบลแม่ทาไม่มีองค์กรชุมชน คณะกรรมการป่าชุมชน ผู้นำชุมชน และชาวบ้านที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้การจัดการป่าชุมชนมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องจนถือว่าเป็น ”วิถีของคนแม่ทา” ไปแล้ว ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ข้อบัญญัติตำบลแม่ทาพัฒนาบนฐานของวิถีชีวิตชุมชนก็คงไม่ผิดเท่าไรนัก

        5.2) มีผู้นำท้องถิ่นที่มีวิสัยทัศน์ และมีคุณธรรม เราได้เรียนรู้จากตำบลแม่ทาว่าหากผู้นำองค์กรมีวิสัยทัศน์ และมีความคุณธรรมแล้วจะสามารถนำพาท้องถิ่นไปในทิศทางที่สร้างความเสมอภาคและเทียมกันในการจัดสรรและกระจายการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ นอกจากนี้ ตำบลแม่ทาให้บทเรียนอย่างชัดเจนว่า หากท้องถิ่นได้ผู้นำทางการที่มีลักษณะของผู้นำธรรมชาติ กล่าวคือ มีจิตใจเปิดกว้าง และให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ในการบริหารจัดการ มากกว่าการมุ่งใช้อำนาจในการหาผลประโยชน์ของตนเอง จะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความก้าวหน้าอย่างมาก การริเริ่มจัดการและฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ในสมัยการบริหารจัดการแบบสภาตำบลภายใต้การนำของกำนันอนันต์ ดวงแก้วเรือน ทำให้ตำบลแม่ทามีรูปแบบการจัดการป่าชุมชนที่เป็นรูปธรรมและเอื้อประโยชน์ต่อคนในชุมชนมาจนถึงทุกวันนี้ ในขณะที่การรับรองสถาบันท้องถิ่นในการจัดการป่าชุมชนขององค์การบริหารส่วนตำบลภายใต้การนำของนายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของผู้นำองค์กรท้องถิ่น

        5.3) การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากองค์กรพี่เลี้ยง นับตั้งแต่ปี 2536 เรื่อยมา ตำบลแม่ทาถือเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ร่วมระหว่างชุมชนกับองค์กรพี่เลี้ยงอย่างไม่ขาดสาย มีองค์กรพี่เลี้ยงที่เข้าไปจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนแม่ทานั้นมีอุดมการณ์และเจตนาที่หลากหลายทั้งในด้านการพัฒนาชุมชน การเกษตรอินทรีย์ การเสริมสร้างศักยภาพองค์กรชุมชน การวางแผนจัดการทรัพยากรป่าไม้ และการประสานงานและผลักดันนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในแง่หนึ่ง องค์กรพี่เลี้ยงเหล่านี้ทำหน้าที่เสมือนการเชื่อมโยงชุมชนกับโครงสร้างทางนโยบายที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาท้องถิ่น และการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างชุมชนด้วยกันเอง ซึ่งกลไกนี้ช่วยให้ชุมชนสามารถนำบทเรียนของตนเองไปสู่การผลักดันการเปลี่ยนแปลงนโยบายให้สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น ในขณะเดียวกัน ยังช่วยให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ที่จะจัดการทรัพยากรและท้องถิ่นของตนเองให้ยั่งยืนและสอดคล้องกับสังคมในภาพรวม ดังนั้น การมีองค์กรพี่เลี้ยงเข้ามาทำงานแบบไม่ขาดสายจึงทำให้ตำบลแม่ทาเกิดการเรียนรู้ในการจัดการป่าชุมชนแบบไม่หยุดนิ่ง

        หากพิจารณาบทบาทขององค์กรพี่เลี้ยงต่อความสำเร็จในการจัดทำข้อบัญญัติตำบล พบว่า แผนงานสนับสนุนความร่วมมือในประเทศไทย ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ รีคอฟ มีบทบาทอย่างมากในการเสริมศักยภาพและเพิ่มพูนความรู้ให้กับสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทาโดยมีการนำสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลไปศึกษาดูงานนอกพื้นที่ การจัดฝึกอบรมเพื่อให้สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลมีมีความเข้าใจและตระหนักในอำนาจหน้าที่ของตนเองตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย การสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชนและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลในเรื่องการติดตามการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน และที่สำคัญก็คือ การประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมสิทธิและเสรีภาพเพื่อประชาชน (สสส) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับชุมชนและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลและเป็นที่ปรึกษาในการร่างข้อบัญญัติตำบลเรื่องการจัดการป่าชุมชน ด้วยบทบาทและการหนุนเสริมดังกล่าวถือเป็นแรงผลักสำคัญให้เกิดต้นแบบการจัดการทรัพยากรในระดับตำบล
        สามารถสรุปได้ว่า ความสำเร็จในการจัดทำข้อบัญญัติตำบลเพื่อรับรองสถาบันท้องถิ่นในการจัดการป่าชุมชนของตำบลแม่ทาเกิดจากการประสานและเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชน/ผู้นำชุมชน/องค์กรชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล และหน่วยงานพี่เลี้ยงหรือองค์การสนับสนุน มีข้อน่าสังเกตก็คือว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจการจัดการป่าให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น กรมป่าไม้ ยังไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมและแสดงบทบาทของตนเองในการสนับสนุนกระบวนการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นแต่อย่างใด

 

6) ก้าวต่อไปของการการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อการจัดการภูมินิเวศป่าไม้อย่างมีส่วนร่วม
        มีสองสถานการณ์ที่สะท้อนภาพปัจจุบันของการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี สถานการณ์แรก หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจดูแลทรัพยากรป่าไม้จ้างชาวบ้านมาเป็นคนงานป้องกันและดับไฟป่า ทั้งนี้ ประธานเครือข่ายจัดการทรัพยากรตำบลแม่ทา เล่าว่า เจ้าหน้าที่จากหน่วยป้องกันและปราบปรามไฟป่า (ไม่สามารถระบุหน่วยงาน) ได้เข้าไปประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านในตำบลแม่ทาเพื่อจ้างชาวบ้านให้มาทำหน้าที่ป้องกันและดับไฟป่า โดยให้ผู้ใหญ่บ้านคัดเลือกชาวบ้าน จำนวน 8 คน โดยมีค่าจ้างเดือนละ 4,000 บาท ในระยะเวลาการจ้างประมาณ 6 เดือน (เฉพาะช่วงเวลาการเกิดไฟป่า) โดยคณะกรรมการป่าชุมชนทั้งในระดับหมู่บ้านและคณะกรรมการป่าระดับตำบลไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมแต่อย่างใด ส่วนสถานการณ์ที่สอง คือ ในช่วงที่องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทาประสานจัดทำข้อบัญญัติตำบล ซึ่งภายหลังจากที่สภาฯ ได้มีมติรับร่างข้อบัญญัติตำบลแล้ว ทางนายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้ส่งร่างข้อบัญญัติดังกล่าวไปยังอำเภอแม่ออน เพื่อให้นายอำเภอพิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนของมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2546 แต่ปรากฏว่าทางอำเภอมิได้ส่งร่างข้อบัญญัติกลับคืนมายังองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา และไม่มีเอกสารตอบรับที่เป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้สามารถตีความได้เป็นสองด้าน กล่าวคือ ในด้านหนึ่ง นายอำเภอเห็นชอบกับร่างข้อบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ได้ส่งร่างข้อบัญญัติกลับคืนมายังองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรืออีกด้านหนึ่ง ทางอำเภอเองก็ยังไม่ทราบแนวทางปฏิบัติว่าควรดำเนินการเช่นไรเนื่องจากข้อบัญญัติตำบลเรื่องการจัดการป่าชุมชนถือเป็นเรื่องใหม่และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดในเรื่องเวลา ทางผู้ศึกษาจึงไม่ได้ทำการศึกษาความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะความคิดเห็นจากนายอำเภอ และกรมป่าไม้ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียที่มีต่อข้อบัญญัติตำบล

        จะเห็นได้ว่า ทั้งสองสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่ายังมี “ช่องว่าง” ระหว่างนโยบายและกฎหมายการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการปฏิบัติ อีกทั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งยังไม่มีการระบุขอบเขตของอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ มีแต่เพียงกำหนดว่าหน่วยของรัฐต้องกระจายภารกิจด้านการควบคุมไฟป่าและภารกิจด้านป่าชุมชนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในขณะเดียวกันนโยบายและกฎหมายการกระจายอำนาจหลายฉบับที่ให้อำนาจและหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการควบคุม ดูแล บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพยังขัดแย้งกับกฎหมายป่าไม้ ทำให้เกิดคำถามว่า อบต.มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเองจริงหรือไม่? รัฐมีความจริงใจในการกระจายอำนาจการจัดการป่าไม้ให้กับองค์กรชุมชนมากน้อยเพียงไร? และข้อบัญญัติตำบลเป็นกลไกที่รับรองสิทธิของชุมชนในการบริหาร จัดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในท้องถิ่นได้จริงหรือไม่? คำถามเหล่านี้ยังไม่มีคำตอบ และคงเป็นการยากอย่างยิ่ง (ในความคิดเห็นของผู้เขียน) ที่จะหาเจ้าหน้าที่ผู้ที่มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะตอบคำถามดังกล่าว หากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดูแลทรัพยากรป่าไม้จะอ้างว่าท้องถิ่นยังไม่มีศักยภาพและความพร้อมในการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นตนเองทางตำบลแม่ทาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วชุมชนมีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสมและเพียงพอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่ายังมีอีกหลายพื้นที่ในประเทศไทยซึ่งมีความพร้อมในการรองรับการถ่ายโอนอำนาจในการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่น

        ดังนั้น ข้อเสนอโดยทั่วไปต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ดูเหมือนเป็นสูตรสำเร็จ ฟังดูง่าย แต่ไม่ค่อยเกิดขึ้นในสังคมไทย ก็คือ รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการปรับกฎหมาย และกฎระเบียบทางด้านป่าไม้ที่มีอยู่ให้เอื้อต่อการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ใครจะเป็นคนรับผิดชอบและเป็นคนที่บอกว่า รัฐคือใคร? และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือใคร? ที่ต้องปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว และหากหน่วยงานเหล่านั้นไม่ดำเนินการจะมีมาตรการต่อไปอย่างไร การหา “เจ้าภาพ” หลักเพื่อดำเนินการในเรื่องการปรับปรุงกฎหมายจึงถือเป็นเรื่องที่เร่งด่วนและสำคัญสำหรับการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ให้ท้องถิ่น

 

สรุป
        ป่าชุมชนตำบลแม่ทาเป็นกรณีศึกษาที่ดีในเรื่องการใช้โอกาสทางนโยบายการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการรับรองสถาบันท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ทำให้สถาบันท้องถิ่นเป็นกลไกที่มีความศักดิ์สิทธิและมีความชอบธรรมทางกฎหมาย ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในตำบลแม่ทา กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่ภาครัฐมีนโยบาย และสั่งการให้องค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐในท้องถิ่นดำเนินการในการจัดทำข้อบัญญัติตำบลเรื่องการจัดการป่าชุมชนเพื่อสนับสนุนสถาบันชุมชนในการจัดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ แต่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ของภาคประชาชนที่ต้องการดูแล และรักษาทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ให้เป็นฐานในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน และชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ ดังนั้น การกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่มีความหมายต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมนั้นรัฐต้องมอบอำนาจให้กับสถาบันท้องถิ่นซึ่งเป็นกลไกที่มีอยู่เดิมในชุมชนและ/หรือเป็นกลไกที่ผลิตขึ้นใหม่จากกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนเพื่อให้กลไกเหล่านี้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเห็นได้ว่า การกระจายอำนาจที่ตอบสนองต่อความต้องการของท้องถิ่นมีความหมายมากกว่าการสั่งการทางนโยบายและมอบภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปรับผิดชอบดำเนินการ ซึ่งการปฏิบัติการดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของท้องถิ่น และอาจเป็นการยกอำนาจไปให้กลุ่มคนที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อท้องถิ่นของตนเอง ดังนั้น การกระจายอำนาจแบบสั่งการและยึดติดอยู่เพียงองค์กรที่มีโครงสร้างและเป็นทางการเพียงอย่างเดียวอาจไปซ้ำเติมและกระตุ้นให้สถานการณ์การจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นเลวร้ายลงก็เป็นได้

 

เอกสารอ้างอิง
1. กนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน, ปณิธาน จิตรานนท์, นพรัตน์ ดวงแก้วเรือน, ภาคภูมิ วังแจ่ม และทะนงศักดิ์ จันทร์ทอง (2551). ข้อบัญญัติตำบลแม่ทา เรื่อง การจัดการป่าชุมชนตำบลแม่ทา พ.ศ. 2550. แผนงานสนับสนุนความร่วมมือในประเทศไทย ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
2. คณะกรรมาธิการวิสามัญบันทึกเจตนารมณ์ จดหมายเหตุ และตรวจรายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ (2550). เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. สำนักกรรมาธิการ 3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
3. ระวี ถาวร และกฤษฎา บุญชัย (2552).จากขุนเขาถึงอ่าวไทย: บทเรียนการพัฒนาเครือข่ายป่าชุมชน 4 พื้นที่ภายใต้โครงการสนับสนุนความร่วมมือในประเทศไทย. แผนงานสนับสนุนความร่วมมือในประเทศไทย ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
4. สมคิด เลิศไพฑูรย์ (2548). กฎหมายรัฐธรรมนูญ: หลักการใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพ
5. สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (2545). คู่มือการปฏิบัติงานด้านการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. สำนักนายกรัฐมนตรี


Last updated: 2010-08-02 00:00:00


@ การกระจายอำนาจกับธรรมาภิบาลในการจัดการภูมิทัศน์ป่าไม้
 


 
     
เธ™เธฒเธกเธœเธนเน‰เธชเนˆเธ‡         [1/14967]...xxx135.232.12 2021-12-08 09:54:14
    เธ‚เน‰เธญเธ„เธงเธฒเธก

เธ™เธฒเธกเธœเธนเน‰เธชเนˆเธ‡         [2/13468]...xxx135.232.12 2021-09-11 06:20:24
    เธ‚เน‰เธญเธ„เธงเธฒเธก

เธ™เธฒเธกเธœเธนเน‰เธชเนˆเธ‡         [3/12944]...xxx146.166.20 2021-08-19 21:49:07
    เธ‚เน‰เธญเธ„เธงเธฒเธก

 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
2,457

Your IP-Address: 3.91.17.78/ Users: 
2,308