ใครจะทำอะไรได้ดีและมีความสุข ต้องมีฝัน
 
     
 
ทิศทางการป่าไม้ไทยใน 2 ทศวรรษหน้า
การป่าไม้เป็นสิ่งที่อยู่ไกล เกินกว่าที่จะอดทนรอคอยสำหรับใครบางคน จึงทำให้เราต้องสูญเสียสิ่งที่มีค่าจนแทบจะไม่เหลือ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมองไกล และเอาจริงจังกับสิ่งที่พูด
 

สืบเนื่องจากกระแสโลกาภิวัฒน์ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจึงได้จัดทำวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลถึงปี 2570 ขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้นำไปใช้จัดทำแผนงานต่าง ให้สอดรับในทิศทางอันเดียวกัน

ทางด้านป่าไม้ หน่วยงานของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ และผู้สนใจจากหน่วยงานต่าง ได้เสวนากันอย่างต่อเนื่องถึง 3 เดือนจนได้ข้อสรุปเป็นประเด็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านนโยบายและกฏหมาย ด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้และการใช้ประโยชน์ และด้านองค์กรการบริหารและการมีส่วนร่วม

ซึ่งผู้ที่กำลังจะคิดปฏิรูปประเทศไทยน่าจะไตร่ตรองข้อสรุปดังกล่าว

1. ด้านนโยบายและกฎหมาย

 

1.1 ภาคส่วนป่าไม้เป็นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย

  • รัฐจะพัฒนาภาคป่าไม้ให้เป็นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญภาคการป่าไม้เชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่นๆ อย่างเหมาะสม เช่น ภาคส่วนป่าไม้เชื่อมโยงกับภาคการเกษตร การอุตสาหกรรม และการบริการ โดยให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของภาคส่วนอื่น ๆ นั้น จะต้องมีการประเมินมูลค่าของภาคส่วนป่าไม้เป็นต้นทุนด้วย

1.2 สังคมไทยมีความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ต่อสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

  • รัฐจะต้องกระตุ้นและส่งเสริมในทุกรูปแบบเพื่อให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ต่อสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับชาติและนานาชาติ และบทบาทของทรัพยากรป่าไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของชาติ เพื่อระดมการมีส่วนร่วมของสังคมต่อการจัดการและอนุรักษ์ป่าไม้

1.3 อาชีพด้านการป่าไม้เป็นหนึ่งในอาชีพหลักของคนไทยที่มีความมั่นคง

  • รัฐส่งเสริมอย่างจริงจังให้ป่าไม้เป็นอาชีพหลักของคนไทยอย่างยั่งยืน เช่นการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ท้องถิ่นดั้งเดิมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นองค์ประกอบหลัก
     
  • นักส่งเสริมต้องได้รับการพัฒนาให้สามารถถ่ายทอดความรู้ด้านวนศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์สู่เกษตรกร

  • การปลูกสร้างสวนป่าต้องสอดคล้องกับนโยบายการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยกำหนดให้การปลูกป่าเป็นกิจกรรมในโซนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งเสริมให้เอกชนปลูกไม้เศรษฐกิจ โดยรัฐลดหย่อนภาษีให้กับผู้ที่ประกอบอาชีพป่าไม้ เพื่อชดเชยการลงทุนที่ใช้ระยะเวลายาวนาน

1.4 ประชาชนในทุกภาคส่วนสามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

  • ประชาชนจะมีสิทธิในการใช้ประโยชน์และเข้าถึงทรัพยากรป่าไม้อย่างเหมาะสมภายใต้กรอบของกฎหมาย อย่างเท่าเทียมกัน

1.5 กฎหมายด้านการป่าไม้เป็นเครื่องมือส่งเสริมให้การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้บรรลุผลสัมฤทธิ์

  • ประเทศไทยมีกฎหมายด้านการป่าไม้ที่เน้นการส่งเสริมมากกว่าการป้องกัน การออกกฎหมายควรเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าไปมีส่วนร่วม ตั้งแต่การยกร่างกฎหมาย จนถึงการประชาพิจารณ์
  • ปรับปรุงกฏหมายเพื่อลดความขัดแย้ง ในการบังคับใช้ มีการบูรณาการกฏหมายด้านทรัพยากรป่าไม้ให้มีความเชื่อมโยง มีความสะดวกและชัดเจนในการบังคับใช้ โดยเน้นการส่งเสริมและบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีส่วนร่วม

1.6ทรัพยากรป่าไม้มีบทบาทในการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน       

  • ทรัพยากรป่าไม้ทั้งป่าคุ้มครองและป่าเศรษฐกิจมีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติอื่นๆ โดยรัฐมีมาตรการคุ้มครองป่าธรรมชาติอย่างจริงจังและส่งเสริมให้ประชาชนปลูกป่าเพื่อเป็นแหล่งผลิตก๊าซออกซิเจนและแหล่งเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเชื่อมโยงให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจด้วย

1.7การจำแนกพื้นที่และแนวเขตมีความชัดเจนและถูกต้อง

  • การจำแนกพื้นที่มีความเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ เศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศ ทั้งป่าเศรฐกิจ ป่าคุ้มครอง และป่าชุมชน และมีแนวเขตพื้นที่ที่ชัดเจน ถูกต้อง และได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยจัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลที่มีความสมบูรณ์

2.การจัดการทรัพยากรป่าไม้และการใช้ประโยชน์


2.1 การจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างเหมาะสม เน้นการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

  • การจัดการทรัพยากรป่าไม้โดยมีมาตรการและวิธีการที่เหมาะสม มีวิธีการบริหารจัดการที่เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมหรือแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ และหน่วยงานรับผิดชอบนำความคิดเห็นเหล่านั้นมาพิจารณาตัดสินใจดำเนินการ  ตลอดทั้งแสวงหาความร่วมมือจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรป่าไม้ให้ได้มาตรฐานที่สามารถติดตามและประเมินผลภายในประเทศ และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

2.2  มีระบบฐานข้อมูลทรัพยากรป่าไม้ที่สมบูรณ์

  • มีระบบฐานข้อมูลที่แสดงข้อมูลทุกด้านของทรัพยากรป่าไม้ และมีความทันสมัย ที่พร้อมในการนำไปพิจารณาในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ โดยข้อมูลได้จากการสำรวจ การวิจัยและพัฒนาอย่างครบวงจร เช่น แนวเขตพื้นที่ ลักษณะทางนิเวศวิทยา ชนิดไม้ที่เหมาะสมในการปลูก เป็นต้น

2.3 ปรับปรุงและพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่ว่างเปล่าและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

  • มีการนำพื้นที่ว่างเปล่าและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมมาปรับปรุงและพัฒนาการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น มีโครงการความร่วมมือในการฟื้นฟูพื้นที่ร่วมกันหลายๆ หน่วยงานแบบบูรณาการ  การจัดสรรให้เอกชนเช่าปลูกป่าเพื่อทำธุรกิจด้านการป่าไม้ในราคาที่สูงกว่าปัจจุบัน เป็นต้น

2.4 มีระบบการรับรองป่าไม้ในประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ (Thai Forest Certification)

  • พัฒนาระบบการรับรองป่าไม้ที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อประโยชน์ต่อการเจรจาในระดับนานาชาติ และการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ป่าไม้ พัฒนาอุตสาหกรรมไม้ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น การยกระดับระดับกระบวนการผลิตและเทคโนโลยี ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และปล่อยมลภาวะน้อยที่สุด รวมถึงสนับสนุนแนวคิดการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในภาคการป่าไม้ของประเทศ อยากเป็นรูปธรรม

2.5 มีการสร้างป่าเศรษฐกิจให้มากกว่า 20% ของพื้นที่ป่าไม้ในประเทศ และการบริหารจัดการมีการแบ่งรายได้สุทธิ 20% ให้กับชุมชนรอบพื้นที่

  • รัฐบาลให้การสนับสนุนในเชิงนโยบายเกี่ยวกับการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ เพื่อเป็นแหล่งผลิตไม้ใช้สอยและตอบสนองความต้องการบริโภคสินค้าที่ใช้ไม้เป็นวัตถุดิบในประเทศ เช่น พลังงาน กระดาษ ถ่าน เป็นต้น และส่วนที่เหลือให้ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพด้านการป่าไม้ ทั้งนี้แนวทางการดำเนินการคือการร่วมลงทุนกับเอกชนทั้งรายใหญ่และรายเล็ก โดยรัฐเป็นผู้อนุญาติให้ใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และเอกชนเป็นผู้ลงทุนด้านการเงินและเทคโนโลยี และผลประโยชน์ที่เป็นรายได้สุทธิอย่างน้อย 20% ต้องนำมาใช้ในการพัฒนาชุมชนที่รอบพื้นที่โครงการในรูปแบบต่างๆ ผ่านองค์การบริหารส่วนตำบลที่พื้นที่ป่าเหล่านั้นตั้งอยู่

 

2.6 จัดตั้งสมาคมการป่าไม้/สหกรณ์การป่าไม้

  • จัดตั้งสมาคมการป่าไม้แห่งชาติเพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้ด้านการป่าไม้อย่างครบวงจรแก่เกษตรกรตลอดทั้งทำหน้าที่ในการรับรองสินค้าไม้ที่ใช้วัตถุดิบจากป่าปลูก ส่วนสหกรณ์ป่าไม้ทำหน้าที่ศูนย์กลางในการพัฒนาธุรกิจการป่าไม้ ได้แก่ รับสมัครสมาชิก เป็นแหล่งทุนกู้ยืมให้กับสมาชิกที่ต้องการปลูกป่า ประกันราคาผลิตผลจากป่าปลูก พัฒนาระบบการตลาดไม้ทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น โดยทั้งสองหน่วยงานนี้ควรต้องทำงานประสานสอดคล้องกัน เพราะเป้าหมายคือต้องการสร้างเสถียรภาพให้กับเกษตรกรผู้ยึดการป่าไม้เป็นอาชีพหลัก

2.7 พัฒนาระบบวนเกษตรและถ่ายทอดสู่ชุมชน

  • เพื่อเป็นการช่วยเหลือกับเกษตรกรที่มีที่ดินจำกัดและต้องการปลูกสร้างสวนป่าหรือเกษตรกรที่มีความสนใจในการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสานหลายๆ องค์ประกอบทั้ง ไม้ป่า พืชเกษตร และการเลี้ยงสัตว์ รัฐควรพัฒนาและส่งเสริมระบบวนเกษตรให้กับเกษตรกรเหล่านี้ ผ่านรูปแบบการสร้างแปลงสาธิตระบบวนเกษตรและการจัดทำเอกสารการส่งเสริม ที่ประกอบด้วยวิธีการปลูก การดูแลรักษา และการวิเคราะห์ทางผลตอบแทนที่จะได้รับ ทั้งนี้ เนื่องจากระบบวนเกษตรเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาและฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้

3.องค์กร การบริหารงาน และการมีส่วนร่วม


3.1 องค์กรภาครัฐด้านป่าไม้มีการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยยึดหลักธรรมมาภิบาล

  • องค์กรภาครัฐด้านป่าไม้มีการบริหารงานที่เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีการจัดอัตรากำลังอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

3.2 องค์กรภาครัฐด้านป่าไม้สามารถให้บริการแก่ประชาชนทุกระดับอย่างทั่วถึง

  • องค์กรภาครัฐมีการบริหารงานโดยยึดประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับเป็นหลัก มียุทธศาสตร์ขององค์กรที่พร้อมรับการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เช่น มีเครือข่ายมวลชน เป็นต้น

3.3 องค์กรภาครัฐด้านป่าไม้มีความชัดเจนในอำนาจหน้าที่ และกฎหมายรองรับในการปฏิบัติงาน

  • องค์กรภาครัฐด้านป่าไม้ที่สามารถบริหารงานแบบบูรณาการหรือเชื่อมโยงกับทรัพยากรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีความขัดแย้งในอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้

3.4 มีสถาบันวิจัยป่าไม้ในระดับชาติ

  • สถาบันวิจัยป่าไม้ในระดับชาติมีภารกิจในการวิจัยและพัฒนาอย่างครบวงจรทางทรัพยากรป่าไม้ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรป่าไม้ให้สมบูรณ์ และสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการป่าไม้แก่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน

3.5 องค์ภาคเอกชน มีส่วนร่วมในการจัดการสวนป่าเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีที่สะอาด

  • องค์กรภาคเอกชน โดยเฉพาะองค์กรที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตสินค้าที่ใช้ไม้เป็นวัตถุดิบ เช่น โรงงานเยื่อและกระดาษ  โรงไฟฟ้า  โรงงานแปรรูปไม้ ฯลฯ ต้องสามารถบอกที่มาของวัตถุไม้ได้ มีการดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี และใช้เทคโนโลยีที่ปลดปล่อยมลพิษาน้อยที่สุด

3.6 สถาบันการเงิน

  • มีบทบาทต่อการให้การสนับสนุนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกรรวมทั้งกลุ่มคน องค์กรที่มีความสนใจปลูกสร้างสวนป่า

3.7 องค์กรเอกชนที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ (NGO)

  • เป็นหน่วยงานที่แสวงหาผลกำไรทางด้านการป่าไม้และการลงทุน แต่มีบทบาทต่อการสร้างจิตสำนึกที่ดีแก่สังคมในด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน


Last updated: 2010-11-23 07:11:28


@ ทิศทางการป่าไม้ไทยใน 2 ทศวรรษหน้า
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ทิศทางการป่าไม้ไทยใน 2 ทศวรรษหน้า
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,938

Your IP-Address: 18.188.227.64/ Users: 
1,937