หวังดีต่อตัวเอง หวังดีต่อผู้อื่น หวังดีต่อสังคม (3 ดี)
 
     
 
โนนทามเกิดขึ้นได้อย่างไร
 

                 ช่วงนี้ชีพจรลงเท้า เดินทางบ่อยมาก เพื่อไปดู บุคคล ชุมชน และเยาวชนที่ทำงานด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมแถบอีสาน ที่ อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ไปชมผลงานการอนุรักษ์ป่าทามของท่านอาจารย์ของสถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ ที่ลาออกมาดูแลรักษาป่าทามริมลำน้ำมูล มากกว่า 30 ปี จนป่าทามฟื้นสมบูรณ์ กลายเป็นแหล่งอาหารของคนรอบข้าง รวมทั้งเป็นแหล่งสมุนไพรของช้างที่มาอาศัยพักผ่อนในป่าผืนนี้ ท่านอาจารย์ได้พาเยี่ยมชมพื้นที่อย่างละเอียด นายมักเลาะมองเห็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ทาม ทั้ง ฝ้ายน้ำ เบ็นน้ำ หัวลิง คางฮุง หว้า เปือยน้ำ ฯลฯ พื้นที่รอบๆ แปลงป่าของท่านอาจารย์เป็นทุ่งไม้ยูคาลิปตัส ที่ผู้มีอันจะกินในเมืองมาซื้อแล้วถางป่าทามดั้งเดิมออก ปลูกไม้ยูคาลิปตัสเต็มไปหมด ช่วงนี้เขาเพิ่งตัดไม้ยูคาขายจึงมองเห็นทุ่งโล่งเรียบเสมอกัน มีพุ่มเล็กๆ ของต้นยูคาสูงไม่เกิน 2 เมตร กระจายเป็นทุ่งกว้างขนาดใหญ่

พอมาเดินในป่าทาม ที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของท่านอาจารย์ ปรากฏว่าร่มรื่นสดชื่นด้วยความชุ่มชื้นของอากาศภายใต้ร่มไม้ขนาดใหญ่ พวกเราต้องเดินเลี้ยวลดไปตามเส้นทางในป่าทาม ที่ต้องเดินเลี้ยวคดไปคดมา เพราะว่าในพื้นที่ป่าทามมีโพนจอมปลวกขนาดใหญ่ บนโพนต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น เลยสอบถามท่านอาจารย์ว่า สภาพพื้นที่บริเวณนี้เดิมเป็นอย่างไร ท่านอาจารย์ตอบว่าสภาพป่าบริเวณนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว มีแต่ไม้ขนาดเล็ก เช่น หัวลิง ฝ้ายน้ำ เกียงปืน ขึ้นอยู่เกิดไฟไหม้ป่าในช่วงฤดูแล้งเป็นประจำ โนนทามหรือโนนที่มีจอมปลวกที่เห็นอยู่ไม่มี หลังจากที่ดูแลรักษาป่าเดิม ปลูกเสริมจนพื้นที่อุดมสมบูรณ์ โพนปลวกเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น เลยถามต่อว่า ในช่วงฤดูน้ำหลากท่านอาจารย์จะติดต่อกับโลกภายนอกอย่างไร ท่านตอบว่า น้ำจะท่วมพื้นที่ป่าทามสูงราว 3 – 4 เมตรจากพื้นดิน ท่านติดต่อกับโลกภายนอกโดยอาศัยเรือ พื้นที่บริเวณนี้น้ำท่วม แต่พื้นที่ที่เป็นโนนทามจะถูกน้ำท่วมช่วงที่ในปีน้ำสูงมากๆ ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก นานครั้งจึงจะเกิด พื้นที่ของท่านสูงจากพื้นที่ด้านนอก ที่เปลี่ยนจากพื้นที่ป่าทามเดิมเป็นสวนยูคาลิปตัส ชาวบ้านที่อยู่ด้วยบอกว่าพื้นที่โนนทามจะมีเห็ดปลวกเอาไว้เก็บหาได้ในช่วงฤดูฝน ยูเรก้า เลย ทำไมในพื้นที่ป่าทาม ควรจะราบเรียบเสมอกัน เพราะได้รับอิทธิพลการไหลท่วมของกระแสน้ำจากแม่น้ำที่ไหลเอ่อมาท่วมในช่วงปลายฤดูฝน หรือเป็นร่องน้ำที่เกิดจากการไหลของน้ำฝนด้านบนที่ไหลบ่าเซาะพื้นที่ป่าทามให้เป็นร่อง เพื่อไหลลงสู่ลำน้ำมูลที่อยู่ต่ำกว่าในช่วงต้นฤดูฝน แต่ทำไมป่าทาม จึงมีทั้งพื้นที่ราบ ร่อง และบริเวณที่เป็นโนนสูงกว่าที่อื่น คำตอบก็คือ ปลวกและเศษไม้ใบไม้ในพื้นที่ร่วงหล่นทับถมในช่วงฤดูร้อนก่อนฝนจะตกนี่เอง ถ้าเข้าไปในป่าทามช่วงต้นฝนจะเห็นปลวกขนาดใหญ่เดินเป็นสายจากพื้นที่ที่ราบ ไปสู่พื้นที่ที่เรียกว่าโพนหรือโนนทาม เพื่อเก็บสะสมอาหารเอาไว้และสร้างพื้นที่โพนให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ให้พ้นการท่วมของน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ช่วงฝนตกใหม่ๆ โพนหรือจอมปลวกก็จะถูกน้ำฝนชะล้างลงมาทำให้ฐานของโพนกว้างขึ้น การเกิดปรากฏการณ์ตามธรรมชาติเช่นนี้ เกิดเป็นประจำทุกปี ในฤดูน้ำหลาก น้ำจะพัดพาตะกอนมาทับถมให้พื้นที่สูงขึ้น ช่วงฤดูแล้งใบไม้จากป่าทามจะร่วงหล่นทับถมเป็นแผ่นหนา ต้นฤดูฝนปลวกก็จะคาบเอาชิ้นใบไม้เล็กๆ ไปสะสมไว้ในรังเพื่อเป็นอาหารให้ตัวอ่อนและตัวปลวกเองในรูปของสวนรา (Fungi garden) ฝนตกลงมา พื้นที่จอมปลวกบางส่วนจะพังทลายลง ทำให้โพนหรือที่เรียกว่าโนนทามขยายกว้างขึ้น พื้นที่ป่าทามบางส่วนจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ จนน้ำท่วมไม่ถึงในช่วงฤดูน้ำหลาก ดังเช่น พื้นที่ของท่านอาจารย์ผู้รักษ์โลก ที่ดูแลป่าทามผืนนี้มาเป็นเวลานาน ต่างจากพื้นที่ใกล้เคียง ที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสเป็นเพียงแต่ที่ราบ หาจอมปลวกไม่ได้ อินทรียวัตถุไม่อุดมสมบูรณ์เท่ากับพื้นที่ที่เป็นป่าทาม ปลวกจึงไม่มาอาศัยและสร้างโพนหรือโนนทามขึ้นเอง

















Last updated: 2018-05-07 16:07:27


@ โนนทามเกิดขึ้นได้อย่างไร
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ โนนทามเกิดขึ้นได้อย่างไร
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
848

Your IP-Address: 3.139.239.157/ Users: 
844