แสด
ไม้แสด ต้องบ่ควรมาทำ บ่นำมาเฮ็ดบ้านแปงเฮือน
ก่อนที่จะพูดเรื่องของ แสด จะต้องพูดถึงการจากไปของ รศ.ดร.มณฑล จำเริญพฤกษ์
ผู้เป็นทั้งครู พี่ ที่ให้โอกาสแก่นายมักเลาะ เขียนบทความลง Look forest ดร.มณฑล หรือที่พวกเราเรียกท่านว่า พี่ต๋อง
เป็นครูผู้ให้ในทุกโอกาส ทุกคนต้องการความรู้ หรือการช่วยเหลือในด้านต่างๆ พี่ต๋องไม่เคยปฏิเสธ
พวกเราไม่ทราบข่าวการป่วยของพี่ต๋องเลย มารู้อีกทีก็ทราบข่าวว่า
พี่ต๋องของพวกเราจากไปแล้ว อำนาจคุณงามความดีที่พี่ต๋องได้ปฏิบัติบำเพ็ญมาตลอดชีวิต
คงส่งผลให้พี่ต๋องไปดำรงอยู่ในภพภูมิที่ดีอย่างมีความสุข พวกเราจะพยายามรักษาสิ่งที่พี่ต๋องให้โอกาส
ด้วยการสานต่องานเขียนของพวกเราชาววนศาสตร์ต่อไป
นายมักเลาะ สนใจคำว่า แสด มานานแล้ว แสด นั้น
หมายถึง สีแสด ช่วงฤดูแล้งเวลาออกเดินทางไปในป่าหรือชนบทของอีสาน
ในพื้นที่นาจะมีต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ทิ้งใบออกดอกสีแสดเต็มต้น
ตัดกับสีน้ำตาลของนาข้าว พ่อใหญ่คนหนึ่งเคยพานายมักเลาะไปดูต้นไม้
ผืนนาในช่วงฤดูแล้ง แกบอกว่าต้นไม้ต้นนั้นทำให้นาของแก สวยงามที่สุด ต้นไม้ที่ว่าคือ
ต้นจาน ภาษาของคนภาคกลางเรียกว่า ทองกวาว ชื่อของนางเอกของพี่คล้าวในเรื่อง
มนต์รักลูกทุ่ง นั่นเอง
นายมักเลาะสนใจศึกษาเรื่องไม้คะลำ
มีผู้รู้คนหนึ่งได้อธิบายไม้คะลำชนิดหนึ่ง ที่เรียกกันว่าไม้ฟ้าผ่า
เมื่อเกิดฟ้าผ่าลงต้นไม้ ชาวบ้านจะไม่เอาไม้ต้นนั้นใช้ประโยชน์
ไม้ที่ถูกฟ้าผ่าเนื้อไม้จะแตกฉีกเป็นแฉก ภาษาอีสานว่า ไม้ติดแสกกระเด็น แม้จะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดก็ไม่สามารถคืนเป็นไม้ดี
นำมาสร้างบ้านเรือนได้ เนื่องจากเป็นไม้ที่ไม่สะอาด ไม่ผ่องใส มีตำหนิมลทิน
เป็นไม้เข็ดขวาง จึงทำให้เกิดปรากฎการณ์ฟ้าผ่าขึ้น เมื่อนำมาสร้างบ้าน จะมีเสียงดังโดยไม่รู้สาเหตุ
ทำให้คนในครอบครัวไม่มีความสุขเจ็บไข้ได้ป่วยบ่อย มีคำกล่าวเป็นคำคล้องจองว่า ไม้ฟ้าผ่า
คือเอาห่ามาใส่เฮือน
พูดถึงเรื่องไม้ฟ้าผ่าแล้ว
นั้นเกี่ยวข้องกับสีแสดอย่างไร เมื่อเกิดฟ้าผ่าลงที่ต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่ง
ซึ่งมักจะเป็นต้นไม้ที่สูงกว่าต้นอื่นรอบข้าง
ตามความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เรียนมาว่า ฟ้าจะผ่าลงส่วนที่สูงและแหลม ต้นไม้รอบๆต้นที่ถูกฟ้าผ่า
ชาวบ้านจะเรียกกันว่า ไม้แสด ไม้แสดจะได้รับแรงเหนี่ยวนำจากการเกิดฟ้าผ่า
ใบจะห้อยเหี่ยวลงมาแม้ไม่ตายแต่เกิดอาการงันไปชั่วขณะ ไม้ที่ขึ้นอยู่รอบๆ ต้นที่ถูกฟ้าผ่าถือว่าเป็นไม้คะลำ
ไม่ตัดมาใช้ประโยชน์เช่นกัน ตามคำที่ว่า ไม้แสด ต้องบ่ควรมาทำ บ่นำมาเฮ็ดบ้านแปงเฮือน
ถ้าใครสังเกตเวลาฟ้าผ่าลงที่ใดแสงฟ้าที่ผ่าลงมาจะมีสีส้ม
ที่เราเรียกกันว่า สีแสด นั่นเอง ต้นไม้ที่ต้องแสงนี้เรียกว่า ไม้แสด ข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นความเป็นมาของ
สีแสด รวมทั้ง ไม้แสด ใครจะเถียงเป็นอย่างอื่น นายมักเลาะก็ไม่ว่าอะไร
แต่นายมักเลาะคิดเองว่า สีแสด มาจากปรากฏการณ์แสงที่ปรากฏขึ้นขณะ
ฟ้าผ่าลงมายังต้นไม้นั่นเอง
Last updated: 2018-03-23 13:06:58
|
@ แสด |
|
|
|
|
|
|
|
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ แสด
|