จงยินดีที่เป็นผู้ให้ มากกว่าจะเป็นผู้รับ
 
     
 
โรงเรียนเตรียมนายฮ้อย
โรงเรียนเตรียมนายฮ้อย เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นโดยกลุ่มคนที่อาศัยอยู่กับป่าทามตอนกลางของลำน้ำมูล มีวัตถุประสงค์เพื่อสอนลูกหลานของตนเองให้รู้จักใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ
 

 

ปลายเดือนมีนาคมปีนี้ นายมักเลาะได้มีโอกาสไป
เยี่ยมชมผลงานของพี่น้องดูแลรักษาป่าทามลุ่มน้ำมูลตอนกลาง อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ พื้นที่ตอนกลางของลำน้ำมูล บริเวณอำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ติดกับ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพื้นที่ป่าทามผืนใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อดีตย้อนหลังไปสัก 25 ปี
พื้นที่แห่งนี้ร้อนระอุ ด้วยปัญหาความขัดแย้งเรื่องการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำมูลตอนกลาง เวลาผ่านไปความร้อนแรงของปัญหาเริ่มลดลง จากความตั้งใจในการร่วมกันแก้ไขปัญหาของทุกฝ่าย ป่าทามส่วนหนึ่งหายไปจากการสร้างเขื่อนแต่ ป่าทามส่วนหนึ่งกำลังฟื้นฟูด้วยพลังของคนพื้นที่ ขณะเดินไปลงเรือเพื่อไปดู กุด หรือหนองน้ำที่พี่น้องจัดสร้างวังปลา เพื่อเป็นพื้นที่อนุรักษ์ปลา ได้เดินผ่านศาลาหลังหนึ่ง สดุดตาตรงที่ป้ายด้านหนึ่งของศาลา เขียนไว้ว่า
“โรงเรียนเตรียมนายฮ้อย” เคยได้ยินคำว่า นายฮ้อย เรื่องราวของ นักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ที่เดินพาฝูงควายออกจากดินแดนที่ราบสูงของภาคอีสานผ่านทุ่งกุลาข้ามลำน้ำมูล นำควายจากภาคอีสานไปขายที่สระบุรี ในสมัยนั้นยังไม่มีเส้นทางรถไฟมาถึงภาคอีสาน การเดินทางต้องผ่าฟันอุปสรรคนานัปการ ตั้งแต่สภาพภูมิประเทศที่ทุรกันดาร
โจรที่คอยดักปล้น   จนมีนักเขียนนำไปเขียนเป็นเรื่องราวที่ผู้อ่านติดกันงอมแงม  ทั่วบ้านทั่วเมือง จึงหันไปถาม คุณบุญมี โสภัง ผู้พาพวกเราลงลุยดู  ป่าทาม ได้คำตอบว่า โรงเรียนเตรียมนายฮ้อย เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นโดยกลุ่มคนที่อาศัยอยู่กับป่าทามตอนกลางของลำน้ำมูล มีวัตถุประสงค์เพื่อสอนลูกหลานของตนเองให้รู้จักใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ใช้ประโยชน์อย่างเกื้อกูลกับธรรมชาติที่อยู่รอบๆ ตัวเอง    ให้เหมือนกับคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ ทำกันมา โรงเรียนจะเปิดสอนในวันเสาร์ อาทิตย์ หรือเวลา
ใดก็ได้ที่มีผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ หลักสูตรมีหลากหลาย ตั้งแต่ การเลี้ยงควายทาม อันเป็นที่มาของคำว่า โรงเรียนนายฮ้อย ชื่อของต้นไม้ในทาม ผักที่กินได้ เครื่องมือจับสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ วังปลา พืชพรรณที่อยู่ในแม่น้ำ หนองน้ำ ลักษณะภูมิประเทศที่  อยู่ในทาม ทั้ง วัง เลิง หนอง กุด คุย คู คุย มาบ ฯลฯ และวิธีการรักษาป่าทามให้คงอยู่ นายมักเลาะ ได้ฟังจึงถึงบางอ้อ เข้าใจถึงความหมายของโรงเรียน
เตรียมนายฮ้อยแล้ว ป่าทามเป็นแหล่งเลี้ยงควายที่สำคัญของภาคอีสาน ควายเป็นสัตว์ที่ต้องการน้ำ ทามจึงเป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัย และเป็นแหล่งอาหารของควาย  จนมีคำว่า ควายทาม ให้ได้ยิน แหล่งเลี้ยงควายที่สำคัญของภาคอีสาน ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำสงคราม ถ้านั่งรถผ่านทาง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม จะเห็นฝูงควายทามเป็นร้อยตัว เดินเล็มหญ้าอยู่ตามเลิงริมหนองน้ำในทามในช่วง
ฤดูแล้งจนถึงต้นฤดูฝน นายฮ้อยเคน จากนวนิยาย เรื่องนายฮ้อยทมิฬ ก็ต้อนฝูงควายจากดินแดนแถบลุ่มน้ำสงคราม  ผ่านเทือกภูพาน  ทุ่งกุลา เอาควายไปขายให้แก่พ่อค้าที่มารับซื้อแถวจังหวัดสระบุรี

                        โรงเรียนเตรียมนายฮ้อย ของคนลุ่มน้ำมูล นอกจากจะมีนักเรียน อันเป็นลูกหลานของคนทามมาเรียนรู้จาก ปู่ ย่า ตา ยาย แล้วยังมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง นักเรียนจากกรุงเทพที่ต้องการสัมผัสวิถีชีวิตของคนชนบทเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตดั้งเดิม ที่ยังคงต้องผูกพันธรรมชาติ ปัจจุบันชีวิตของคน เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว แต่ตราบใดที่คนจะต้องบริโภคอาหาร  ทรัพยากรธรรมชาติและองค์ความรู้ดั้งเดิมของคนท้องถิ่น ยังคงมีความสำคัญที่จะต้องสืบสานไม่ต่างจากการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงตามวิทยาการที่หลายคนใช้คำว่า ทันสมัย




Last updated: 2017-03-29 21:30:27


@ โรงเรียนเตรียมนายฮ้อย
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ โรงเรียนเตรียมนายฮ้อย
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
984

Your IP-Address: 18.97.14.87/ Users: 
983