ความรู้ไม่ใช่อยู่เฉพาะในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยแต่อยู่ทั่วทุกแห่งที่ไป ทุกคนที่เราพบ ขึ้นอยู่ที่เราจะยอมรับ นำมาคิดและเก็บได้มากน้อยแค่ไหน
 
     
 
FFT โปรแกรมจัดการสวนไม้เศรษฐกิจในยุค Thailand 4.0
โปรแกรม FFT นี้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่ช่วยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสวนไม้เศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้ผู้จัดการฯ สามารถวางแผนกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยสะดวก
 

 

บทนำ

         การปลูกสวนไม้เศรษฐกิจเป็นกิจการที่เน้นการเพิ่มผลผลิตเนื้อไม้และการสร้างผลกำไรสูงสุดให้เกิดขึ้นแก่ธุรกิจ ซึ่งต้องมีวิธีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การวางแผนปลูก การกำหนดพื้นที่ปลูก การคัดเลือกชนิดพรรณไม้ที่เหมาะสม ตลอดจนการเตรียมพื้นที่และการปลูก ต่อเนื่องไปถึงการบำรุงรักษาและการจัดการทางวนวัฒน์เพื่อให้ต้นไม้มีการเจริญเติบโตที่ดี มีคุณภาพไม้ท่อนตามที่ตลาดต้องการ

นอกจากนี้ ในด้านธุรกิจจะต้องสามารถวางแผนด้านการตลาดไม้เพื่อนำวัตถุดิบไม้ที่มีอยู่ป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมไม้แต่ละประเภทในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้สามารถขายไม้ได้ในราคาที่สูงขึ้น

การจัดการดังกล่าว จะต้องมีการรวบรวมข้อมูลมาเพื่อใข้ในการตัดสินใจอย่างเป็นระบบ จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและง่ายมาใช้งาน ซึ่งโปรแกรม FFT หรือ Farm Forestry Toolbox เป็นซอฟท์แวร์ที่ผลิตโดยนักวิจัยจากประเทศออสเตรเลีย สามารถช่วยให้ผู้จัดการธุรกิจด้านไม้เศรษฐกิจและนักวิชาการที่ส่งเสริม ตลอดจนเกษตรกรหัวก้าวหน้าทั้งหลายนำมาใช้เพื่อศึกษาและตัดสินใจในการจัดการ

สำหรับโปรแกรม FFT เวอร์ชั่นล่าสุด ได้จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจากประเทศออสเตรเลีย ภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ภาพที่ 1) ได้บรรจุโมเดลรูปทรงไม้สักภาคเหนือซึ่งเป็นผลงานวิจัยล่าสุดเข้าไว้ด้วย จึงทำให้โปรแกรมนี้มีความเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น


ภาพที่ 1 โปรแกรม FFT รุ่นพิเศษ ซึ่งผลิดเพื่อสนับสนุนการจัดการสวนป่าไม้สักขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้


การประยุกต์ใช้งานไม้เศรษฐกิจ

โปรแกรมนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ การคำนวณปริมาตรไม้ท่อนตามสูตรคณิตป่าไม้ทั่วไป  การวาดแผนที่และคำนวณพื้นที่โครงการและระยะทางสำหรับสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ อาทิ ถนน รั้ว ฯลฯ สามารถพล๊อตข้อมูลจากกล้องสำรวจ หรือจากค่า GPS สามารถใช้เพื่อการกำหนดตำแหน่งแปลงเพื่อการวางแผนสำรวจผลผลิตไม้เศรษฐกิจ สามารถบันทึกข้อมูลไม้จากแปลงสำรวจเพื่อการวิเคราะห์ผลผลิตไม้ท่อนและมูลค่าที่จะได้รับตามราคาที่กำหนดในชุดชั้นไม้ท่อน สามารถวิเคราะห์ข้อมูลค่าใช้จ่ายในการลงทุนและผลตอบแทนที่จะได้รับจากผลผลิตไม้ที่ตัดสางออกในแต่ละช่วงเวลา โดยแสดงเป็นค่าทางเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ อาทิ NPV IRR ตลอดจนค่า Break Even Point หรือจุดคุ้มทุนของกิจกรรมต่าง ๆ ในแผนการจัดการ สร้างเป็นแผนทางเลือกการจัดการ (scenario) ต่าง ๆ ช่วยในการจัดทำแผนการลงทุนและบริหารจัดการได้โดยง่าย

 

ภาพที่ 2 การวัดการเจริญเติบโตสวนไม้สักเพื่อนำมาประเมินผลผลิตและมูลค่า และกำหนดแนวทางการตัดสางขยายระยะ



การฝึกอบรมการใช้งานโปรแกรม

อย่างไรก็ดี เนื่องจากโปรแกรมมีการใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน อาทิ โมเดลรูปทรงลำต้น โมเดลการเจริญเติบโตของไม้ชนิดต่าง ๆ ค่าคงที่ของชุดชั้นไม้ท่อน รวมทั้งค่าคงที่มวลชีวภาพ และค่าอื่น ๆ มาใช้ในการคำนวณ ดังนั้นผู้ใช้งานโปรแกรมนี้จึงควรเข้าใจหลักการทำงานของแต่ละขั้นตอน ที่ทำให้ได้ผลลัพธ์ตัวเลขต่าง ๆ ออกมา จึงควรรับการฝึกอบรมการใช้งานในเบื้องต้นก่อน ซึ่งภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ ได้จัดโครงการฝึกอบรม เรื่อง “การประเมินผลผลิตและรายได้จากสวนไม้เศรษฐกิจด้วยโปรแกรม FFT” ขึ้นในวันที่ 21-23 กันยายน 2559 ณ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากกรมป่าไม้และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จำนวนรวม 26 คน โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

1. การจัดทำแผนที่โครงการ

เป็นการเรียนรู้การใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Survey Tool ในการวาดแผนที่ โดยนำภาพจาก Google Map มาทำการตรึงค่าพิกัด แล้วลอกขอบเขตและรายละเอียดของพื้นที่โครงการ ทำการหาเนื้อที่และความยาวของเส้นถนนในสัดส่วนที่ถูกต้อง นำผลที่ได้มาทำการวางแผนพัฒนาพื้นที่และประเมินค่าใช้จ่ายการลงทุนเริ่มโครงการ

2. การสร้างเกณฑ์ชุดชั้นไม้ท่อน

เป็นการเรียนรู้หลักเกณฑ์การซื้อขายไม้ที่มีการกำหนดราคาตามขนาดความโตและความยาวของไม้ท่อน ซึ่งปกติมีราคาต่อลูกบาศก์เมตรสูงกว่า เมื่อท่อนไม้มีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งในปัจจุบันมีการกำหนดเกณฑ์ชุดชั้นไม้ท่อนโดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือโดยโรงงานอุตสาหกรรมไม้ซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์ไม้  โดยได้ฝึกใช้โปรแกรม FFT ในการบันทึกข้อมูลชุดชั้นไม้ท่อนหรือ Log Grade Set ไว้เป็นไฟล์เพื่อเรียกมาใช้ประเมินมูลค่าไม้ต้นในเชิงเปรียบเทียบ เพื่อการกำหนดราคาไม้ท่อนที่เหมาะสม ตลอดจนแนวทางในการจัดการไม้ในสวนให้มีขนาดตามที่ตลาดต้องการ

3. การจัดทำชุดสัมประสิทธิ์มวลชีวภาพ

เป็นการเรียนรู้การประเมินคุณค่าของสวนไม้เศรษฐกิจในมิติของสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การกักเก็บคาร์บอนโดยใช้โปรแกรม FFT บันทึกค่าสัมประสิทธิ์ที่ใช้เปลี่ยนปริมาตรไม้ให้เป็นน้ำหนัก ในรูปของมวลชีวภาพเนื้อไม้หรือในรูปของคาร์บอนที่มีอยู่ในเนื้อไม้ (ซึ่งปัจจุบันนับเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญเกี่ยวกับการจัดการเพื่อรับมือกับสภาวะโลกร้อน)

4. การสำรวจกำลังผลิตและประเมินมูลค่าหมู่ไม้

เป็นการเรียนรู้ลักษณะพิเศษของโปรแกรม FFT คือการนำเอาโมเดลรูปทรงลำต้น(tree shape model) มาใช้ร่วมกับข้อมูลชุดชั้นไม้ท่อนเพื่อวิเคราะห์ปริมาตรลำต้นของต้นไม้ได้อย่างละเอียด และกำหนดได้ว่าต้นไม้ต้นหนึ่งนั้น จะสามารถให้ผลผลิตไม้ท่อนคุณภาพใดบ้าง มีความยาวแต่ละท่อนเท่าใด คิดเป็นมูลค่าเท่าใด ซึ่งนอกจากจะช่วยให้การเก็บข้อมูลไม้ในแปลงสำรวจเป็นระบบแล้วยังช่วยประเมินรายได้จากการจัดการไม้เศรษฐกิจได้อีกด้วย


ภาพที่ 3 การศึกษารูปทรงไม้สักโดยวัดความโตที่ระดับความาวต่างของลำต้น



5. การประเมินแผนธุรกิจทางเลือกการจัดการ

เป็นการเรียนรู้การจัดทำแผนการจัดการ โดยใช้ฟังชั่น Regime หรือตัวช่วยสร้างแผนการจัดการ ซึ่งสามารถบันทึกกิจกรรมการลงทุนตั้งแต่การปลูกสร้าง การบำรุงรักษา กิจกรรมที่ทำรายได้ ได้แก่ การตัดขยายระยะไม้ในช่วงเวลาต่าง ๆ จนถึงรอบตัดฟันสุดท้าย แล้วนำไปวิเคราะห์หาค่าตัวชี้วัดโครงการ ได้แก่ ค่า NPV (Net Present Value) ค่า IRR (Internal Rate of Return) เพื่อประกอบการตัดสินใจดำเนินธุรกิจไม้เศรษฐกิจได้ต่อไป


ภาพที่ 4 การฝึกอบรมโครงการ “การประเมินผลผลิตและรายได้จากสวนไม้เศรษฐกิจด้วยโปรแกรม FFT” วันที่ 21-23 กันยายน 2559 ณ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



บทสรุป

          ธุรกิจการปลูกไม้เศรษฐกิจ จะประสพผลสำเร็จเพียงใดขึ้นอยู่กับผลตอบแทนในรูปของตัวเงินที่จะได้รับในแต่ละช่วงเวลาจนถึงรอบตัดฟัน ซึ่งใช้ระยะเวลามากกว่า 10 ปีขึ้นไป โดยราคาของไม้ท่อนจะเพิ่มมากขึ้นตามขนาดความโตของท่อนเป็นลำดับชั้น ดังนั้น การคัดเลือกพันธุ์ การบำรุงรักษา การใส่ปุ๋ย การตัดขยายระยะ เป็นกิจกรรมการจัดการที่ช่วยเพิ่มพูนอัตราการเจริญเติบโต ที่ส่งผลให้ผลผลิตท่อนไม้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามชั้นไม้ท่อน ซึ่งการสร้างชุดชั้นไม้ท่อนที่เหมาะสม ที่มีการกำหนดราคาตามตลาดไม้เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจการปลูกไม้เศรษฐกิจมีความก้าวหน้าและยั่งยืน

          ในขณะที่นโยบายของรัฐบาลเน้นเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ที่มุ่งเน้นความฉับไวของทุกภาคส่วนและเศรษฐกิจดิจิตอล โปรแกรม FFT นี้จึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่ช่วยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสวนไม้เศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้ผู้จัดการฯ สามารถวางแผนกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยสะดวก ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร 02-5790171หรือ รศ.ดร.มณฑล จำเริญพฤกษ์ fformtj@ku.ac.th เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม

 



Last updated: 2017-02-18 14:41:38


@ FFT โปรแกรมจัดการสวนไม้เศรษฐกิจในยุค Thailand 4.0
 


 
     
สไลย์ดา         [1/17139]...xxx.24.171.16 2022-12-07 11:43:42
    สนใจคะ อยากเรียนรู้ และนำมาใช้จริงในการทำงานคะ

 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,852

Your IP-Address: 18.116.20.108/ Users: 
1,851