จดแล้วไม่ค่อยจำ เข้าใจแล้วไม่ค่อยลืม
 
     
 
ระบบการติดตามป่าทดแทน
การจัดเก็บข้อมูลลงในระบบฐานข้อมูลที่ออกแบบอย่างเหมาะสม จะมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของป่าทดแทน สามารถเก็บข้อมูลได้จำนวนมาก ในช่วงเวลาที่ต่างกัน
 

 

ป่าไม้เป็นสังคมพืชที่ไม่หยุดนิ่ง มีการเจริญเติบโตและล้มตาย มีการเพิ่มขึ้น ลดลงของชนิดและจำนวนของพืชพรรณที่ขึ้นอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือโดยกิจกรรมของมนุษย์

โดยธรรมชาตินั้น พรรณไม้ที่ขึ้นอยู่ร่วมกันจะแก่งแย่งทรัพยากรซึ่งรวมถึง ดิน น้ำ แร่ธาตุ อากาศ และแสงสว่าง จึงทำให้ชนิดที่เติบโตได้ดีกว่ามีขนาดใหญ่กว่าและมีจำนวนต้นมากกว่า และพืชพรรณชนิดใดที่สามารถเข้ามาสู่เวทีของการแก่งแย่งได้ก็จะเข้ามาครอบครองพื้นที่และแพร่พันธุ์ได้ โดยเฉพาะเมื่อในพื้นที่นั้นมีทรัพยากรที่หลากหลายย่อมสร้างโอกาสในการเข้ามาของพรรณพืชนานาชนิด มีทั้งพรรณไม้ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ไม้หนุ่ม ไม้ใหญ่ที่มีอายุมากขึ้น ไม้ยืนต้นตายที่อ่อนแอ ทำให้เกิดโครงสร้างของป่าที่มีความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา มีความสามารถที่จะอำนวยประโยชน์ในระบบนิเวศเปลี่ยนไป หน้าที่ของป่าจึงขึ้นอยู่กับโครงสร้างในขณะนั้น

มนุษย์นั้นมีความต้องการใช้ประโยชน์จากป่าทั้งทางตรงและทางอ้อม มีรูปแบบที่หลากหลายของการเก็บหา เก็บเกี่ยวพรรณพืชและทรัพยากรอื่น ๆ รวมทั้งการอนุรักษ์ ปลูกฟื้นฟู เก็บรักษาไว้เพื่อคงสภาพพื้นที่ป่าไว้อย่างยั่งยืน หากกิจกรรมของมนุษย์ก่อให้เกิดการทำลายพืชพรรณที่เป็นโครงสร้างหลักขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจก่อให้เกิดสภาพความเสื่อมโทรมของป่าขึ้น

การศึกษาติดตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของป่าทดแทน เป็นพื้นฐานของการกำหนดเงื่อนไขทางวนวัฒนวิทยาเพื่อจัดการป่าให้อำนวยประโยชน์ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งระบบการติดตามประกอบด้วย ข้อมูลเชิงพื้นที่ การจัดเก็บตามเวลา การวิเคราะห์ข้อมูล และการเสนอแนะ



การกำหนดขอบเขตพื้นที่ป่าที่สนใจ จำนวน ตำแหน่ง ขนาดและรูปร่างแปลงตัวอย่าง เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพป่า ซึ่งจะต้องให้เป็นไปตามมาตรฐานทั้งในระดับสากลและระดับชาติเพื่อการเปรียบเทียบ การวางแปลงตัวอย่างในพื้นที่จริง ในปัจจุบันสามารถใช้เครื่องมือ GPS เข้าไปหาตำแหน่งจุดศูนย์กลางแปลงได้อย่างง่ายดาย ซึ่งจะต้องมีการฝึกอบรมผู้เข้าไปเก็บข้อมูลทุกครั้งที่เริ่มงาน โดยเน้นการวางวางแปลงให้มีขนาดที่ถูกต้อง การวัดขนาดต้นไม้ทั้งความโตและความสูงที่แม่นยำ การจดบันทึกข้อมูลซึ่งต้องขจัดความผิดพลาดโดยการทวนสอบ รวมทั้งเมื่อเสร็จสิ้นการเก็บข้อมูลในแต่ละวันจะต้องนำเข้าข้อมูลและตรวจสอบความผิดพลาด เพื่อสร้างความมั่นใจในข้อมูลที่ถูกต้อง



การจัดเก็บข้อมูลลงในระบบฐานข้อมูลที่ออกแบบมาอย่างดี จะมีคุณค่ามากต่อการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของป่าทดแทน สามารถเก็บข้อมูลได้จำนวนมาก ในช่วงเวลาที่ต่างกันไม่ว่าจะกี่ปี สามารถเรียกมาใช้งานได้เมื่อต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบฐานข้อมูลออนไลน์จะช่วยสร้างคุณภาพของทีมงาน สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายขึ้นอยู่กับโปรแกรมประยุกต์ที่จะพัฒนาขึ้นมา นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบความถูกต้องของการเก็บข้อมูลในระดับพื้นที่จากค่าพิกัดของแปลงสำรวจได้



ภาพที่ 4 แสดงถึงการนำข้อมูลในระบบมาใช้งาน เพื่อประเมินสภาพป่าทดแทนของสถานีวิจัยและฝึกอบรมวนเกษตรตราด (โครงการทุนอุดหนุนวิจัยมก.2555-57: การจัดการป่าทดแทนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานชุมชนอย่างยั่งยืน) จะเห็นถึงความผันแปรด้านความหลากหลายทางชีวภาพและมวลชีวภาพในแต่ละพื้นที่

ภาพที่ 5 แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของป่าทดแทนในพื้นที่หมู่ไม้กระทุ่ม ณ สถานีวิจัยฯ ในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา จะเห็นถึงความเพิ่มพูนทั้งทางด้านจำนวนชนิด ความหลากหลายทางชีวภาพ จำนวนต้น และมวลชีวภาพ




การพัฒนาระบบการติดตามป่าทดแทนที่กล่าวข้างต้น จะสามารถนำมาใช้ในการจัดการป่าอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมกับชุมชน ซึ่งได้แก่ ป่าชุมชนซึ่งปัจจุบันขยายตัวเพิ่มขึ้นมากว่า 8,000 แห่ง การปลูกป่าเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อม การปลูกป่าเศรษฐกิจทั้งในระบบแปลงขนาดใหญ่ และระบบฟาร์มไม้ป่า ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาทีมงานป่าไม้ในระดับมืออาชีพได้



Last updated: 2016-06-30 17:25:05


@ ระบบการติดตามป่าทดแทน
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ระบบการติดตามป่าทดแทน
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,233

Your IP-Address: 3.144.42.233/ Users: 
1,232