คนที่อยากให้มีคนเคารพ ต้องรู้จักเคารพผู้อื่น
 
     
 
มองป่าไม้เวียตนาม (2)
อุทยานแห่งชาติ Xuan Thuy เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำภายใต้อนุสัญญา RAMSAR แห่งแรกของอาเซียน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ RAMSAR ในปี พ.ศ. 2532
 

วันที่ 2: 29 มีนาคม 2554

ช่วงเช้า เป็นการดูงานอุทยานแห่งชาติ Xuan Thuy บรรยายโดย Mr. Nguyen Viet Cach ผู้อำนวยการอุทยานแห่งชาติ Xuan Thuy มีประเด็นสำคัญสรุปได้ดังนี้

อุทยานแห่งชาติ Xuan Thuy เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำภายใต้อนุสัญญา RAMSAR แห่งแรกของอาเซียน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ RAMSAR ในปี พ.ศ. 2532 ตั้งอยู่ปากแม่น้ำแดง (Red River) และยังเป็นแหล่งสงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve) ด้วย  อุทยานแห่งชาติ Xuan Thuy ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลน 3,000 เฮคแตร์ มีพรรณไม้ชั้นสูงมากกว่า 3,000 ชนิด  ปลา 107 ชนิด สัตว์น้ำ 500 ชนิด และนกอีก 220 ชนิด นอกจากนั้น ยังมีสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และแมลง อีกนานาชนิด ในจำนวนนี้มีนกที่ใกล้สูญพันธุ์ ตามบัญชีรายชื่อของ IUCN จำนวน 9 ชนิด

พื้นที่อุทยานแห่งชาติ Xuan Thuy ประกอบด้วยพื้นที่เขตกันชน (buffer zone) 7,233 เฮคแตร์ มีชุมชนอาศัยอยู่โดยรอบ 50,000 คน ซึ่งดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติในป่าชายเลน คือ การจับสัตว์น้ำ การเพาะเห็ด และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ทางอุทยานฯ ได้นำชมกิจกรรมของอุทยาน 2 แห่ง ได้แก่

1) สหกรณ์เพาะเห็ด เกิดจากการรวมตัวของชุมชนในรูปของสหกรณ์ ทำการเพาะเห็ดเพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชน โดยการใช้ฟางข้าวซึ่งเป็นวัสดุเศษเหลือจากการเกษตรมาใช้เป็นวัสดุเพาะ หลังจากมีการก่อตั้งสหกรณ์เพาะเห็ด ทำให้มลพิษจากเผาฟางข้าวลดลง เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายเห็ด และรายจ่ายในการซื้ออาหารลดลง

2) ขยะเขียว  เป็นการดำเนินการขององค์กรท้องถิ่น ที่ช่วยลดลมลพิษจากขยะ โดยมีการฝึกอบรมให้ชุมชนแยกขยะ และจัดพื้นที่เป็นบ่อฝังกลบขยะ ที่มีการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากขยะก่อนที่จะปล่อยลงสู่แม่น้ำ การดำเนินการดังกล่าวทำให้มลพิษจากขยะในบริเวณอุทยานฯ ลดน้อยลง และสมาชิกมีรายได้เพิ่มจากการเก็บแยกขยะ

ช่วงบ่ายออกเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติ Cuc Phuong ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติ Xuan Thuy ระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร

วันที่ 3: 30 มีนาคม 2554

ช่วงเช้า เป็นการดูงานอุทยานแห่งชาติ Cuc Phuong บรรยายโดย Mr. Cuong ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์อุทยาน  มีประเด็นสำคัญสรุปได้ดังนี้

อุทยานแห่งชาติ Cuc Phuong เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศเวียดนาม ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2505 เป็นอุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่ มีเนื้อที่รวม 22,000 เฮคแตร์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศแบบหินปูน ศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการป่าไม้แบบยั่งยืน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมทั้งการให้ความรู้เพื่อสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม  ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ Cuc Phuong มีรายงานว่ามีการพบพรรณไม้ทั้งหมด 2,234 ชนิด จาก 931 สกุล 231 วงศ์ และ 7 อันดับ เป็นพรรณพืชสมุนไพรจำนวน 430 ชนิด

การจัดการอุทยานแห่งชาติ Cuc Phuong เกิดจากความสำเร็จในการย้ายชนเผ่าออกจากพื้นที่เขตอุทยาน หลังจากนั้น ก็ได้มีการศึกษาวิจัยถึงกระบวนการทดแทนป่าตามธรรมชาติ ซึ่งจากการติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ที่เคยมีการใช้ประโยชน์รูปแบบต่างๆ กัน เป็นเวลา 15 ปี พบว่า พื้นที่ที่เคยเป็นสวนผลไม้มีการทดแทนตามธรรมชาติรวดเร็วกว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบอื่น นอกจากนั้น อุทยานแห่งชาติ Cuc Phuong ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า  ศูนย์เพาะเลี้ยงเต่า  และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เป็นต้น

ช่วงบ่ายออกเดินทางไปยังเมือง Canh Nang, Ba Thuoc District ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติ Cuc Phuong ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร

วันที่ 4: 31 มีนาคม 2554

ช่วงเช้า เป็นการดูงานการปลูกสร้างสวนป่าไผ่ซึ่งดำเนินการโดย Department of Agriculture and Rural Development (DARD) โดยมี Mr. Lo Van Len รองประธานตำบลมาร่วมต้อนรับทีมดูงาน บรรยายสรุปเกี่ยวกับการจัดการไผ่โดย Dr. Dang Thien Trieu มีประเด็นสำคัญสรุปได้ดังนี้

ประเทศเวียดนามมีไผ่อยู่ทั้งหมด 190 ชนิด 26 สกุล ป่าธรรมชาติที่มีไผ่ปกคลุมคิดเป็นพื้นที่ 1.5 ล้านเฮคแตร์ ไผ่ที่นิยมปลูกในเชิงเศรษฐกิจมากที่สุดคือ Dendrocalamus barbatus มีชื่อท้องถิ่นว่า luong เป็นไผ่ต่างถิ่นที่นำเข้ามาจากประเทศจีน มีพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ 68,000 เฮคแตร์ เป็นไผ่ที่มีลำขนาดใหญ่ ลำมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 เซนติเมตร และมีความสูง 20 เมตร มีการเติบโตรวดเร็วมาก มีการเพิ่มพูนความสูงถึง 10-70 เซนติเมตรต่อวัน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตลำเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างเมื่อมีอายุ 6 ปี ไม่ปรากฏว่าไผ่ชนิดนี้มีการผลิตเมล็ดในประเทศเวียดนาม

หลังจากนั้น เป็นการดูงานในแปลงทดลองที่ศึกษาวิจัยเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมด้วย Dendrocalamus barbatus ของ Thanh Province โดยเป็นการศึกษาการปฏิบัติทางวนวัฒนวิทยาในสวนป่าไผ่ ได้แก่ ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 5 x 10 หรือ 5 x 8 เมตร หลุมปลูกควรมีขนาด 60 เซนติเมตร

ไผ่สามารถปลูกในระบบวนเกษตรโดยปลูกควบกับมันสำปะหลัง ถั่ว และอ้อย อย่างไรก็ตาม เกษตรกรนิยมปลูกชนิดเดียวล้วนมากกว่าการปลูกในระบบวนเกษตร ปัญหาในการปลูกสร้างสวนป่าไผ่คือการทำลายยอดไผ่โดยด้วงชนิดหนึ่ง ทำให้การเติบโตของไผ่ชะงัก ผลผลิตลดลง เกษตรกรแก้ปัญหาการเข้าทำลายของด้วยโดยการคลุมยอดอ่อนของไผ่ด้วยถุงพลาสติค ทำให้ด้วงไม่สามารถเข้าทำลายยอดได้ เมื่อไผ่เติบโตได้ระยะหนึ่ง ด้วงจะไม่เข้าทำลาย นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความต้องการธาตุอาหาร  การปลูก การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยวไผ่ชนิดดังกล่าวด้วย

ช่วงบ่ายเป็นการดูงานโครงการ Luong Development Project (LDP) ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยองค์กรเอกชนของประเทศฝรั่งเศส บรรยายสรุปโดย Mr. Pratrice Lamballe โดยมีประเด็นสำคัญสรุปได้ดังนี้

LDP เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยมีหน่วยงานที่สนับสนุนด้านเงินทุนหลายองค์กร เช่น ธนาคารโลก และ UNDP มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนแก่ชุมชนโดยมีไผ่ luong เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมต่างๆ กิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย การส่งเสริมการปลูกสวนป่าไผ่ในรูปแบบวนเกษตรโดยการฝึกอบรมและการทำแปลงสาธิต  การเลี้ยงไก่ในสวนไผ่  การเพาะเห็ดโดยใช้ขี้เลื่อยจากไผ่  หัตถกรรมจากไผ่  ถ่านไม้ไผ่คุณภาพสูง  การเลี้ยงไส้เดือน  ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ในการเพิ่มผลผลิตให้ได้มากขึ้น  สำหรับการดำเนินการของโครงการในระยะต่อไปคือระหว่างปี พ.ศ. 2554-2556 จะเป็นโครงการ Green Future Project มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความตระหนักในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการส่งเสริมการเพิ่มรายได้และผลผลิตของเกษตรกร ในขณะที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตต่างๆ ลดลง และมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่การดำเนินการภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM)  หลังจากนั้น เป็นการเดินทางไปดูงานกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ ได้แก่ อุตสาหกรรมทำตะเกียบไม้ไผ่  การทำถ่านไม้ไผ่  การทำเตาเผาถ่าน  การเลี้ยงไส้เดือน  การทำแก๊สชีวภาพ  และแบบจำลองระบบเกษตร
หลังจากนั้น จึงเดินทางต่อไปยัง Ban Lat, Mai Chau District อยู่ทางทิศเหนือของ Ba Thoc District ประมาณ 40 กิโลเมตร


Last updated: 2011-06-15 06:06:17


@ มองป่าไม้เวียตนาม (2)
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ มองป่าไม้เวียตนาม (2)
 
     
     
   
     
Untitled Document



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,494

Your IP-Address: 18.97.14.81/ Users: 
1,493