การงานจะสำเร็จหรือล้มเหลว ไม่ใช่เพราะคนอื่นแต่เพราะตัวของเราเองเท่านั้น
 
     
 
บุญสังฆทาน
ภาคอีสานมีประเพณีสำคัญ เรียกกันว่า ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ถือปฏิบัติมาตั้งแต่โบราณ ในรอบปีแต่ละชุมชนอีสานจะมีการจัดงานบุญประเพณีทุกเดือน
 

                ภาคอีสานมีประเพณีสำคัญ เรียกกันว่า ฮีตสิบสอง  คองสิบสี่  ถือปฏิบัติมาตั้งแต่โบราณ  ในรอบปีแต่ละชุมชนอีสานจะมีการจัดงานบุญประเพณีทุกเดือน  ปัจจุบันประเพณีฮีตสิบสอง ในแต่ละชุมชนจะปฏิบัติไม่ครบทุกเดือน  เนื่องจากข้อจำกัดทั้ง  คน  ทุนทรัพย์ ศรัทธา  และการสานต่อของคนรุ่นใหม่  ฮีตสิบสองที่ยังคงปฏิบัติกันอยู่  ผู้คนที่เข้าร่วมจะเป็นผู้อาวุโสและเด็กๆ ที่อยู่ในชุมชน 

                ต้นเดือนกันยายน  นายมักเลาะได้ไปร่วมงานบุญประเพณีกับพี่น้อง ชาวอำเภอโพธิ์ไทร  อำเภอโขงเจียม  อำเภอศรีเมืองใหม่ เป็นบุญที่ชาวบ้านเรียกกันว่า  บุญสังฆทาน บุญนี้ไม่ได้ถูกกำหนดให้  เป็นบุญประเพณี  หนึ่งในสิบสองเดือนของ ฮีตสิบสอง แต่เมื่อ นายมักเลาะ ไปร่วมงานได้ประจักษ์ถึง  ความพร้อมเพียง  ความสามัคคีของกลุ่มคนบริเวณลุ่มน้ำโขงถิ่นนี้  ที่ร่วมกันสืบสานประเพณี  โดยอาศัยความเชื่อทางด้านพุทธศาสนาเป็นเครื่องเชื่อมร้อยคนเข้าด้วยกัน  งานบุญสังฑทาน  เป็นประเพณีที่งดงามน่ายกย่อง เห็นความสามัคคีร่วมมือของคนในชุมชนและต่างชุมชน  ผ่านงานบุญนี้  นายมักเลาะ  ขอบันทึกเรื่องราวของบุญสังฆทานให้ทุกท่านได้ชื่นชมกัน

                บุญสังฆทาน  กำหนดให้มีขึ้นในช่วงกลางพรรษา  ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ (เดือนเก้าเพ็ง)  ก่อนบุญข้าวประดับดิน  ไปจนถึง  ขึ้น  ๑๕  ค่ำ  เดือน  ๑๑  (วันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด)  ราษฎรผู้มาร่วมทำบุญ  จะนำอาหาร  ประกอบด้วย  อาหารหวาน  อาหารคาว  และผลไม้  มาทำบุญร่วมกันที่วัด  นิมนต์พระจากวัดจากหมู่บ้านใกล้เคียงมาร่วมพิธี  วันนี้จึงเป็นวันที่ทุกคนได้ทำบุญกับพระทั้งตำบล  อาหารที่จะมาร่วมทำบุญ  นอกจากอาหารคาวหวาน  ตามปกติแล้ว  หัวใจสำคัญของงาน  คือ  มันจากป่า  เช่น  มันนก  มันน้ำ ร่วมทั้งที่ปลูกมันขึ้น  จำพวกมันเทศ  และเผือก  จนเป็นที่มาของการเรียกบุญสังฆทานอีกคำว่า  สังฆทานกะทิมัน หรือ  สังฆทานเผือกมัน  วันงาน  มีการทำบุญเลี้ยงพระเพล  และถวายปัจจัยแด่พระสงฆ์  หลังจากการทำบุญกับพระ  ผู้มาร่วมทำบุญรับประทานอาหารร่วมกัน  เจ้าภาพหรือเจ้าของบ้านจะเตรียมอาหารเหลือเผื่อไว้  เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้มาร่วมทำบุญ  ทั้งที่อยู่ในบ้านนั้นและที่มาร่วมงานบุญจากชุมชนอื่น  นำกลับไปฝากคนที่บ้านด้วย  เนื่องจากบุญสังฆทานเป็นงานใหญ่  ชาวบ้านที่เป็นบ้านเจ้าภาพ จะใช้เวลาเตรียมงานอย่างน้อย    วัน  ถึง หนึ่งสัปดาห์  ในคืนก่อนวันงานจะเป็นวันที่เตรียมงานหนักที่สุด  ทุกบ้านในชุมชนจะต้องมาร่วมกันจัดเตรียมสถานที่  จัดเตรียมอาหารเพื่อถวายพระและเลี้ยงผู้คนมาร่วมงาน  รวมทั้งร่วมกัน ปอก ผ่า และขูดมะพร้าว ช่วยกันอยู่ทั้งคืน  เนื่องจากการเตรียมน้ำกะทิสด จะต้องทำในตอนกลางคืนก่อนวันงาน  เพื่อที่จะไม่ให้น้ำกะทิที่คั้นไว้  บูด เสียหาย ตอนถวายพระ หรือใส่ถุงเป็นของฝากผู้มาร่วมงาน

                ขณะนายมักเลาะไปร่วมงาน  ลานวัดขนาดใหญ่เต็มไปด้วยรถของชุมชนข้างเคียงที่มาร่วมบุญ  จอดจนล้นวัด

                ผู้ร่วมงาน  นอกจากทุกครัวเรือนในชุมชนแล้ว  ยังมีเพื่อนบ้านใกล้เคียงทั้งอยู่ในตำบลเดียวกันและต่างตำบลมาร่วมงานบุญ  เมื่อบ้านอื่นจัดงาน  ชุมชนก็จะเตรียมตัวแทนจากชุมชนไปร่วมงานด้วยทุกบ้าน  เริ่มแรกจะทำบุญในบ้านตนเองเป็นหลัก  ต่อมาได้ขยายการทำบุญเป็นระดับตำบลและระดับอำเภอ  โดยมีท่านเจ้าคณะอำเภอเป็นผู้กำหนดเวลาการทำบุญสังฆทาน ในแต่ละบ้านจนครบทุกบ้านภายในเวลา  ก่อนออกพรรษา  เป็นประเพณีบุญที่น่าชื่นชมอีกอย่างหนึ่งของคนอีสาน



Last updated: 2014-11-01 11:05:20


@ บุญสังฆทาน
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ บุญสังฆทาน
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
2,539

Your IP-Address: 18.97.9.171/ Users: 
2,537