แหล่งหนู
แล่งหนูในภาษาของคนอีสานหมายถึง ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ถ้าเราเอาคำว่าแล่งหนูมาแยกเป็น 2 คำ จะได้คำว่า แล่งกับหนู
กลางเดือนกรกฎาคมได้เดินทางไปพบกับพี่น้อง ยโสธร ที่ป่าดงมะไฟ อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร พี่น้องชาวทรายมูลได้พาไปเยี่ยมชมป่าดงมะไฟ ป่าเห็ดที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดยโสธร พี่น้อง พาไปสำรวจพื้นที่ป่าในส่วนที่มีน้ำขัง และชี้ให้ดูพันธุ์ไม้พื้นล่างชนิดหนึ่ง เรียกเป็นภาษาอีสานพื้นถิ่นว่า แล่งหนู คำว่า แล่งหนูหรือแหล่งหนู เป็นคำที่สะดุดหูของนายนักเลาะมานานแล้ว ใครที่เคยขับรถจากตัวจังหวัดยโสธร มายังอำเภอคำเขื่อนแก้วก่อนจะถึงตัวอำเภอประมาณ 5 กิโลเมตร ด้านซ้ายมือมีป้ายแสดงชื่อชื่อบ้านอยู่ป้ายหนึ่ง เขียนว่า บ้านแหล่งหนู ตามประเพณีของคนอีสานมักจะตั้งชื่อบ้านตามลักษณะภูมิประเทศ หรือชื่อต้นไม้สำคัญที่มีอยู่ในชุมชนนั้นๆ ดังเช่น บ้านม่วงของชาวบ้าน ตั้งชื่อว่าบ้านม่วงเพราะมีต้นมะม่วงใหญ่กลางบ้าน บ้านนาแก ตั้งชื่อเพราะมีต้นสะแกมาก บ้านหนองแหน ตั้งชื่อเพราะหนองน้ำใกล้บ้าน มีแหนอยู่มาก สำหรับคำว่า บ้านแหล่งหนู ผู้เขียนมีความเห็นว่าคนอีสานโบราณ คงจะไม่เอาชื่อแหล่งหนู อันหมายถึงบ้านที่มีหนูอยู่เป็นจำนวนมากมาตั้งเป็นชื่อบ้าน เนื่องจากไม่เป็นมงคล แต่บ้านแหล่งหนูคงจะเป็นคำ ทางราชการใช้เขียน โดยเพี้ยนไปจากคำเดิม (แล่งหนู เป็น แหล่งหนู)
คราวนี้มาดูกันว่าแล่งหนูในภาษาอีสานหมายถึงอะไร แล่งหนูในภาษาของคนอีสานหมายถึง ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ถ้าเราเอาคำว่าแล่งหนูมาแยกเป็น 2 คำ จะได้คำว่า แล่งกับหนู แล่ง ในภาษาอีสานหมายถึงฉีกผ้าขาดเป็นริ้ว หนู หมายถึง สัตว์ตัวเล็กๆที่พวกเรารู้จักกันดีนั่นเอง เมื่อรวมสองคำเข้ากัน น่าจะหมายถึง ลักษณะการชำแหละหนูที่ล่ามาได้แล้วห้อยเป็นพวงรวมกัน คำว่า แล่ง ในภาษาไทยกลาง ที่เคยชิน คือ คำว่า ขาดสะพายแล่ง เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงแล้ว ลักษณะของถุงดักเหยื่อของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงเมื่อเอามารวมกันเป็นพวง ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับ การหิ้วหางหนูที่ถูกชำแหละแล้วนั่นเอง ทำให้พวกเราเข้าใจคำว่า บ้านแหล่งหนูได้แจ่มแจ้ง บ้านแหล่งหนูหรือภาษาเดิมน่าจะเป็น แล่งหนู อยู่ใกล้กับพื้นที่ป่าทามลำเซบายตอนกลางมีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่เรียนกันว่า ป่าทาม ที่มีต้นแล่งหนูหรือหม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นจำนวนมาก และจากเหตุนี้ คนโบราณจึงเอาชื่อของ ต้นแล่งหนู มาตั้งเป็นชื่อบ้าน แต่ต่อมาเพี้ยน เป็นบ้านแหล่งหนู ไป
สำหรับต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงในประเทศไทยเป็นต้นไม้อยู่ในสกุล Nepenthes ซึ่งปรมจารย์ด้านอนุกรมวิธานของโลก ท่านลินเนียส ได้ตั้งไว้เมื่อหลายร้อยปีแล้ว สำหรับชนิดที่พบในพื้นที่ป่าทามเป็นกลุ่มที่ขึ้นในที่ลุ่ม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Nepenthes mirabilis ชื่อของไทยมีหลายชื่อ เช่น กระบอกน้ำนายพราน ลึงค์นายพราน หม้อข้าวหม้อแกงลิง เหน่งนายพราน และที่พวกเราค้นพบอีกชื่อก็คือแล่งหนูนี่เอง
Last updated: 2014-10-25 10:59:00
|
@ แหล่งหนู |
|
|
|
|
|
|
|
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ แหล่งหนู
|