Cop 19 (3)
เมื่อดูบทเรียนจากประเทศต่าง ๆ แล้ว กลับมาเปรียบเทียบกับกิจกรรมลดโลกร้อนของไทยบ้าง...ฟันธง ได้เลยว่า ไทยได้ดำเนินการลดการเสื่อมโทรมลงของป่า..อยู่ในระดับแนวหน้า
สองตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงภาพรวมของการประชุมว่า มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในโลกของเรานี้ ทั้งปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ที่น่าจะเกิดจากการที่โลกร้อนขึ้น และบทบาทของประเทศในโลกของเรา ที่พยายามลดผลกระทบ และปรับตัวให้ได้ กับการเกิดโลกร้อน ปัจจุบันประเทศที่เจริญแล้ว โดยเฉพาะประเทศจากยุโรป และญี่ปุ่นเพื่อนสนิทของไทย มีบทบาทเด่นมากในการสนับสนุนให้ประเทศที่กำลังพัฒนา ดูแลรักษาป่าที่มีอยู่ ให้มีสภาพสมบูรณ์ไม่เสื่อมโทรมลงไป จากการเดินไปชมนิทรรศการ การเสวนาของนักวิทยาศาสตร์ จากทั่วโลกในที่ประชุม ปรากฏว่า ประเทศที่เจริญแล้ว (Developing Country) มีโครงการสนับสนุนการรณรงค์รักษาป่า ให้แก่ประเทศในอาเซียนรอบ ๆ บ้านเรามากมายไปหมด ทั้งจากยุโรปเอง และประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเชีย แต่ไม่พบว่าประเทศเหล่านี้ มีกิจกรรมสนับสนุนไทย ในโครงการลดโลกร้อนแต่อย่างใด ไม่รู้ว่านายมักเลาะ ตาไม่ดีหรือดูไม่ทั่วหรือเปล่า เมื่อไม่พบ สามารถตีความได้สองแบบ แบบแรก ประเทศไทยมีการป้องกันรักษาป่าที่เข้มแข็ง ดังที่กล่าวไว้แล้ว ว่า โลกเขาประเมินไทยว่ามีศักยภาพในการรักษาป่าดีกว่าประเทศรอบข้างของเรา แบบสอง ประเทศไทยปัจจุบัน สถานการณ์ไม่น่าที่จะเข้ามาดำเนินการใด ๆ จากปัญหาการเมืองในประเทศ
ไม่พูดเรื่องการเมืองดีกว่า กลับมาดูการดำเนินการโครงการลดโลกร้อนต่อ สิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วเข้ามาสนับสนุนประเทศรอบบ้านของเรามีอะไรบ้าง สิ่งที่เข้ามาช่วยเหลือ มีอยู่ 2 รูปแบบ รูปแบบแรก คือ การเข้ามาช่วยรัฐบาลต่าง ๆ ดำเนินการป้องกันรักษาป่าเอาไว้ให้ได้ รูปแบบที่สอง คือ การใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการประเมินปริมาณของ Carbon Stock ในป่า ที่เด่น ๆ คือ JICA ส่งนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น มาประเมินปริมาณ Carbon Stock ในป่าพรุของประเทศอินโดนิเชียโดยใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมช่วยในการประเมิน ประเทศจากยุโรปสนับสนุนให้ชาวบ้านศึกษา Carbon Stock ในป่าชุมชนบริเวณตอนกลางของเวียดนาม ญี่ปุ่นเข้ามาส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ป่าไม้และประชาชน ทางภาคเหนือของลาว ร่วมดูแลรักษาป่า รวมทั้งทางตอนเหนือของกัมพูชาด้านที่ติดกับเขาพระวิหาร ชายแดนที่มีข้อขัดแย้งกับไทย หลายประเทศที่กล่าวมา มีผลงานมานำเสนอในเวทีโลก ทั้งที่เป็นเอกสาร รายงานการเสวนาที่จัดขึ้นรอบที่ประชุม นายมักเลาะได้แต่ตั้งความหวังว่า ในอนาคตคงจะมีคนไทยได้ไปนำเสนอ วิธีการลดโลกร้อนแบบไทย ในเวทีโลกกับเขาบ้าง
มีเรื่องน่าสนใจ ที่ควรกล่าวถึงของประเทศญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่คนอ่อนน้อมถ่อมตน โดยเฉพาะในที่ประชุมใหญ่ ตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่นพูดน้อยมาก แต่ถ้าไปดูผลงาน การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาช่วยป้องกันโลกร้อนแล้ว ประเทศญี่ปุ่นมีกิจกรรมในประเทศต่าง ๆ มากมาย ถือว่าเป็นผู้นำในการช่วยการทำลายป่าให้แก่ประเทศต่าง ๆ ทั้งในทวีปเอเชีย อัฟริกา และอเมริกาใต้ มี lession learn หรือ บทเรียน ที่ญี่ปุ่นได้รายงานไว้ จากประสบการณ์ในการเข้าไปทำงานไว้ หลายประการ สมควรกล่าวถึงเพื่อเป็นข้อน่าสังเกตุในการทำงาน ประการแรก ผู้เชี่ยวชาญของญี่ปุ่นกล่าวว่า การพัฒนาคนให้เกิดเป็นผู้เชี่ยวชาญ (Expert) ด้านโลกร้อน ค่อนข้างทำได้ยาก ต้องใช้เวลาในการพัฒนา ประการที่สอง การทำงานกับประเทศต่าง ๆ ต้องทำไปพร้อมกับเรียนรู้ไป (Learning by doing) ประการสาม การทำงานเรื่องโลกร้อน เป็นการทำงานที่ต้องการมีส่วนร่วม ในทุกภาคส่วน ทั้งจาก ระดับบนสุดจนถึงระดับล่างสุด ประการที่สี่ ผู้ขับเคลื่อน (Drivers) กิจกรรมลดโลกร้อนที่แท้จริง คือชุมชนที่อาศัยอยู่กับป่า และประการสุดท้าย การพัฒนาต้องให้คนอื่นมองเราว่าดี มิใช่เราบอกตัวเราเอง ว่าดี นายมักเลาะ ประทับใจทุกเรื่อง โดยเฉพาะ ประการสุดท้าย ถ้าจะสรุปผลการดำเนินการลดโลกร้อนในเพื่อนรอบ ๆ บ้านเราแล้ว นายมักเลาะ ยังเห็นว่า ทุกประเทศพึ่งจะเริ่มดำเนินการ ในขั้นสร้างจิตสึกนึก ให้แก่ ชุมชนรอบ ๆ ป่า เพื่อการอนุรักษ์ป่า เพื่อใช้ป้องกันโลกร้อน เท่านั้น
เมื่อดูบทเรียนจากประเทศต่าง ๆ แล้ว กลับมาเปรียบเทียบกับกิจกรรมลดโลกร้อนของไทยบ้าง นายมักเลาะฟันธง ได้เลยว่า ไทยได้ดำเนินการลดการเสื่อมโทรมลงของป่า เพิ่มปริมาณต้นไม้ในประเทศ อยู่ในระดับแนวหน้า เลยก็ว่าได้ ทั้งการป้องกันพื้นที่ป่าในส่วนที่เป็นป่าอนุรักษ์ ตามบทบาทของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การดูแลรักษาป่าชุมชน ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ป่าครอบครัว ป่าหัวไร่ปลายนา ที่ชาวบ้านดูแลรักษาอยู่ เพียงแต่การรายงานผลการดำเนินงาน ให้เป็นรูปธรรม ตามที่สังคมโลก หรือประเทศเจ้าของเงินทุน ที่จะสนับสนุนการดูแลรักษาป่าของประเทศกำลังพัฒนา เมืองไทยของเรา ไม่ได้ทำเท่านั้นเอง
ท้ายสุด นายมักเลาะ ยังมีความเห็นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งคนและงบประมาณในการดูแลรักษาป่า รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้ ความสามารถในการประเมิน Carbon Stock ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มีความสำคัญต่อความอยู่รอดของคนบนโลกอยู่แล้วอย่างเพียงพอ เราไม่ต้องไปแบมือขอความช่วยเหลือจากภายนอก ก็ได้เพียงแต่จัดระบบการทำงาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ที่โลกต้องการ เพียงแค่นี้ นายมักเลาะ เชื่อว่า เราจะเป็นผู้นำในการแก้ไขโลกร้อนในอาเซียนได้อย่างแน่นอน แต่ไม่รู้ว่านายมักเลาะฝันไปหรือเปล่า เพราะขณะนี้ นายมักเลาะ ยังไม่รู้เลยว่า จะมีโอกาสเลือกตั้งหรือมีรัฐบาล ที่เป็นตัวแทนของพวกเราชาวไทยหรือไม่
Last updated: 2014-03-15 10:38:24
|
@ Cop 19 (3) |
|
|
|
|
|
|
|
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ Cop 19 (3)
|