เมื่อคิดว่าตนฉลาด จงเอาความฉลาดไปทำบุญ
 
     
 
ไม้เครือ (2)
ไม้เครือจะพันบริเวณรอบๆ กิ่งหลักด้านล่างของชั้นเรือนยอด ใบของต้นไม้ในป่าเต็งรังด้านบน ยังสามารถสังเคราะห์แสงสร้างอาหารได้ ต้นไม้หลักสามารถเจริญเติบโตควบคู่ไปกับไม้เครือได้
 

ตอนที่แล้วได้เขียนไม้เครือ  แบ่งตามลักษณะที่ปรากฏอยู่เป็นสองประเภท  ได้แก่  ไม้เครือพัน ไม้เครือพาด  และทิ้งท้ายไว้ว่า  ไม้เครือประเภทใดที่พาดพันไม้หลักแล้ว  มีผลทำให้ต้นไม้หลักที่ไม้เครือพาดพันตายได้  จากการสังเกต  ขณะเดินเข้าไปในป่า  พบว่า  ต้นไม้หลักที่ถูกไม้เครือขึ้นปกคลุมจนแห้งตาย  บางส่วนก็โค่นล้มลงในป่า  พบอยู่ในป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest)  ยังไม่พบไม้หลักที่เครือพันจนตายในป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest)  หรือในป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest)  เครือที่ขึ้นพันไม้หลักได้  ได้แก่  เครือสะบ้า  มะขามเครือ  หนามกระจาย  เถาวัลย์เปรียง  เครือซูด  ถ้าจะอธิบายง่ายๆ เหตุที่ไม้ในป่าดิบแล้งที่มีเครือพาดพันจนตาย  เนื่องจากสภาพของป่าดิบแล้ง  จะมีไม้ขนาดใหญ่ที่เป็นไม้เด่น (Dominant tree)  และไม้รอง (Codominant tree) ขึ้นอยู่ปะปนกันหนาแน่น  เรือนยอดของไม้เด่นและไม้รองชิดติดกันเป็นผืนเดียว  จนแสงแดดไม่สามารถลอดลงมายังพื้นของป่าได้  แตกต่างจากเรือนยอดของไม้ในป่าเต็งรัง  ที่เรือนยอดของไม้เด่นแต่ละต้นอยู่ห่างกัน  มีช่องว่างระหว่างต้นไม้มาก  แสงแดดสามารถส่องลอดลงพื้นป่าได้มากกว่า  ถ้าเราสังเกตเวลาเดินเข้าไปในป่าดิบแล้งที่มีเรือนยอดหนาแน่น  พื้นป่าจะโล่ง  ไม้พื้นล่างน้อยสามารถเดินได้สะดวกกว่า  ป่าเต็งรังที่เรือนยอดโปร่ง  มีไม้พื้นล่าง (Ground layer) จำพวก  หญ้าเพ็ก  โจด  พุดผา  กระเจียว  ขึ้นอยู่หนาแน่น  เดินไม่สะดวก  ดังนั้น  เมื่อไม้เครือพาดไต่จากพื้นดินในป่าดิบแล้ง  ไปยังยอดไม้ด้านบน  ที่มีเรือนยอดแนบชิดติดเป็นผืนเดียวกัน  จึงสามารถที่จะปกคลุมเรือนยอดของไม้เด่นและไม้รองได้ทั้งหมด  จนใบ  ของไม้หลักไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้  ในที่สุดต้นไม้หลักอ่อนแอลง  และยืนต้นตายในที่สุด

                ในป่าเต็งรัง  ก็มีไม้เครือทั้งไม้เครือพาดและไม้เครือพันเช่นเดียวกัน  ด้วยเหตุที่  เรือนยอดของต้นไม้ในป่าเต็งรัง  เป็นเรือนยอดโดด  ไม่เชื่อมติดกันเป็นผืนเดียว  ไม้เครือที่พันไม่สามารถที่จะเลื้อยพันคลุมเรือนยอดได้หมด  ลักษณะเรือนยอดของไม้ป่าเต็งรัง  จะไม่แผ่เป็นพุ่มคล้ายกับร่มเหมือนไม้ในป่าดงดิบ  แต่จะเป็นชั้นๆ สลับสูงขึ้นไปคล้ายกับชั้นของฉัตร  ไม้เครือจะพันบริเวณรอบๆ กิ่งหลักด้านล่างของชั้นเรือนยอด  ใบของต้นไม้ในป่าเต็งรังด้านบน  ยังสามารถสังเคราะห์แสงสร้างอาหารได้  ต้นไม้หลักสามารถเจริญเติบโตควบคู่ไปกับไม้เครือได้

                นอกจากนี้ปัจจัยอื่นๆ ยังส่งผลกระทบต่อไม้เครืออีก  ปัจจัยที่ว่าได้แก่  ไฟป่า  ไฟป่าเกิดขึ้นในป่าเต็งรังทุกปีไม้หลักในป่าเต็งรัง  จะมีเปลือกหนา  คอยปกป้องตนเองจากความร้อนของไฟป่าได้  แต่ลำต้นของไม้เครือที่มีอายุน้อย  มีเปลือกบางทอดลำต้นเลื้อยยาวไปกับพื้นดิน  ลำต้นจึงได้รับอันตรายจากความร้อนแรงของไฟป่า  ในช่วงฤดูแล้ง ในป่าเต็งรัง  ไม้เครือมีโอกาสที่จะเจริญเติบโต  เป็นเครือขนาดใหญ่ได้น้อยกว่า  เครือชนิดเดียวกันที่เกิดในป่าดิบแล้งไม้เครือในป่าเต็งรัง  จะเป็นไม้เครืออายุปีเดียว  เมื่อถึงฤดูแล้งเถาจะแห้งตาย    แต่ยังคงมีลำต้นหรือหัวใต้ดินสะสมอาหารไว้  รอฝนตกรอบใหม่  จะแทงยอดอ่อนเจริญเติบโตใหม่อีกครั้ง  ไม้เครือเหล่านี้  ได้แก่  ไม้เถาว์  ประเภท  กลอยป่า  มันป่าชนิดต่างๆ

ท่าน  ที่สนใจจะเรียนรู้ชนิดของไม้เครือในป่าธรรมชาติ  โดยเฉพาะในป่าดิบแล้ง  ที่มีเรือนยอดสูงจากพื้นดินหลายสิบเมตร  โดยการสังเกต  ลักษณะของใบหรือดอกเป็นไปได้ยาก  แต่ถ้ามีความสนใจที่จะศึกษาชนิดของไม้เครือแล้ว  การสังเกต  ลักษณะของลำต้นที่ทอดเลื้อยไปตามพื้นป่า  ไม้เครือแต่ละประเภท  จะมีลักษณะลำต้นที่แตกต่างกัน  เครือประเภทที่เป็นหนาม  สามารถระบุชนิดได้อย่างคร่าวๆ ดังเช่น  เครือที่มีหนาม  ได้แก่  เครือเล็บเหยี่ยว  หนามโกธา  ชะเอมเครือ  มะขามเครือ 

 


เครือที่บิดเป็นเกลียวคล้ายกับปล้องไม้ไผ่  ได้แก่  เครือสามพันตาเถาว์ของเครือเขาน้ำจะมีเปลือกอ่อนนุ่มจับดู  รู้สึกเย็นกว่าลำต้นของต้นไม้ปกติที่อยู่ข้างเคียง  เครือหลายชนิด  สังเกตได้จากในช่วงการติดผล  เครือหมากยาง  จะมีผลลูกกลมสีเหลืองให้เห็นชัดเจน  ในช่วงปลายฤดูร้อน  เช่นเดียวกับเครือพีผ่วน  ที่จะเห็นช่อของลูกพีผ่วนเป็นสีแดงชัดเจน  เครือม่วย

สังเกตได้ชัดเจน  เนื่องจากผลของเครือม่วยจะเกิดบริเวณลำต้น  ตั้งแต่พื้นดินไปจนถึงยอดไม้  การออกผลของเครือม่วยชาวบ้านผู้มีประสบการณ์เล่าให้ฟังว่า  ถ้าปีไหน  ผลของเครือม่วยอยู่ต่ำ  ปีนั้นฝนจะตกมากช่วงต้นปี  ปีไหนผลของเครือม่วยอยู่ตรงกลาง  ปีนั้นฝนจะมากช่วงกลางของฤดูฝน  ถ้าปีไหนเครือม่วยออกผลอยู่ส่วนปลายของเครือ  ปีนั้นฝนจะดีช่วงปลายฝน  และถ้าปีไหนผลเครือม่วยออกตลอดทั้งเครือ  แสดงว่าปีนั้นฝนจะดีตลอดทั้งปี    ถ้าต้องการสังเกตใบของเครือไม้ในป่าให้สะดวกแล้ว  ให้เราไปสำรวจบริเวณริมชายป่าที่ติดกับที่ทำกินของชาวบ้าน  หรือบริเวณริมถนนที่ตัดเข้าไปในป่า  ด้วยลักษณะนิสัยของเครือไม้  ที่เป็นไม้ต้องการแสงมากในการดำรงชีวิต  บริเวณส่วนไหนของป่าที่มีโอกาสได้รับแสงมาก  บริเวณนั้นจะมีไม้เครือขึ้นพาดพันไม้หลักเป็นจำนวนมาก  หากท่านใด  ล่องเรือไปตามลำน้ำสาขาของภาคอีสาน  ที่ยังคงมีพื้นป่าทามดั้งเดิมอยู่  บริเวณสองฝั่งของสายน้ำ  จะมีไม้เครือขึ้นปกคลุมไม้หลัก  จนมองแทบไม่เห็นใบไม้ของต้นไม้หลักเลย

 

 


Last updated: 2013-08-24 23:07:31


@ ไม้เครือ (2)
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ไม้เครือ (2)
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
2,050

Your IP-Address: 52.90.142.26/ Users: 
2,046