จงมองผู้ใต้บังคับบัญชาว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถอยู่เสมอจงหาความสามารถของเขาให้พบ
 
     
 
ไม้นอกเขตป่า
ไม้บริเวณคันนา แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ไม้ธรรมชาติดั้งเดิม เช่น ต้นเสียวใหญ่ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือไม้ใหม่ที่นำมาปลูกเป็นไม้เศรษฐกิจ เช่น ยูคาลิปตัส
 

หลายท่าน  คงจะคุ้นเคยกับคำว่า  ป่าไม้  ที่หมายถึง  พื้นที่ที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่หลากหลายทั้งชนิดและขนาด  ทั้งไม้ขนาดใหญ่ขึ้นเด่นเป็นสง่า  ไม้ขนาดรองๆ ที่ขึ้นลดหลั่นกันมา  จนถึงลูกไม้ขนาดเล็ก  ไม้พื้นล่างที่ตลอดชีวิตไม่มีโอกาสเจริญเติบโตเป็นไม้ขนาดใหญ่ได้  ไม้เครือเถาว์ที่ห้อยระโยงระยางหรือไหลเลื้อยไปตามพื้นป่า  จนถึง   คาคบไม้  ป่าลักษณะเช่นนี้  เป็นที่คุ้ยเคยของคนโดยทั่วไป  ป่าสมบูรณ์ที่กล่าวมา พบอยู่  ในพื้นที่อนุรักษ์  เขตอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าขนาดใหญ่  ที่มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดูแลกันอย่างเข้มข้น  หรือถ้ามีพื้นที่เล็กลงมาอยู่ใกล้ชุมชน  มีการจัดการดูแลด้วยชุมชน  เราเรียกกันว่า  ป่าชุมชน  พื้นที่ป่าชุมชน     มีพื้นที่หลายสิบไร่ไปจนถึงหลายร้อยไร่  หลายพันไร่  ป่าทั้งสองประเภทเป็นที่คุ้นเคย  สำหรับผู้ที่สนใจการจัดการทรัพยากรป่าไม้

                ผู้เขียน  เกิดอยู่ในทุ่งรังสิต  ภาคกลางของประเทศ  แต่มาใช้ชีวิตอยู่ภาคอีสานมากกว่าอยู่บ้านเกิด  ช่วงแรกของชีวิตอยู่ทามกลางทุ่งนา  เมื่อมองไปรอบข้างพบแต่ทุ่งนาเป็นทุ่งกว้างสุดสายตา  ถ้าวันไหนอากาศดีจะมองเห็นเขาอีโต้อยู่ด้านทิศตะวันออก  ชาวนาภาคกลางจะปลูกต้นไม้ด้วยการถมที่ให้เป็นโคก  น้ำไม่ท่วมในฤดูน้ำหลาก  ไม้ที่ปลูกจะมีไม้ไผ่เป็นไม้หลัก  เหมาะใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย  ปีไหนน้ำท่วมกอ  ก็ไม่ตาย   ไม้ธรรมชาติที่ไม่ได้ปลูกจะพบบริเวณริมลำคลอง  ได้แก่  โพทะเล สะแก  เตย  หรือโสน  แต่พอมาทำงานอยู่ภาคอีสาน  ทุ่งนาของภาคอีสานแตกต่างจากนาของภาคกลาง  นาในภาคอีสานเมื่อสามสิบปีที่แล้ว  มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่เต็มไปหมด  จนถึงปัจจุบันการเหลือไม้ไว้ในทุ่งนาของอีสานก็ยังคงมีอยู่  บางส่วนเพิ่มมากขึ้นตามกระแสพืชเศรษฐกิจ  เช่น  การปลูกต้นกระดาษบริเวณคันนาเป็นรายได้เสริมให้แก่เจ้าของนา ปัจจุบัน  กล้าต้นกระดาษ (ยูคาลิปตัส)  เป็นที่ต้องการของชาวบ้านจนไม่พอแจก 

มีนักวิชาการของกรมอุทยานแห่งชาติ  สัตว์ป่า  และพันธุ์พืช  ได้ศึกษาเทคนิคการสำรวจไม้นอกเขตป่า  เพื่อประเมินปริมาณของไม้ที่มีอยู่ในนอกเขตป่า  โดยเลือกเอาจังหวัดอุบลราชธานี  เป็นพื้นที่นำร่อง  ในการเสริมความรู้ให้แก่ชาวบ้านในการประเมินปริมาณของไม้นอกเขตป่าที่มีอยู่  การรับทราบข้อมูลทั้งวิชาการสมัยใหม่และการคุ้นเคยกับพื้นที่เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้เขียน  ได้มองเห็นความสำคัญของไม้นอกเขตป่า  ที่มีบทบาทสำคัญของวิถีชีวิตของคนภาคอีสาน  ลดการเข้าไปใช้ประโยชน์  จากพื้นที่ป่าไม้ขนาดใหญ่  ที่มีการจัดการโดยรัฐเพียงส่วนเดียว  และการจัดการร่วมระหว่างรัฐกับชุมชน  ถ้าทันกับยุคสมัย  ปัญหาการแก้ไขโลกร้อนด้วยการเพิ่มต้นไม้บนพื้นดินของบ้านเราให้มากขึ้น  ทั้งพื้นที่ของรัฐและเอกชน ได้  ผู้เขียนขอแบ่งพื้นที่ป่าของภาคอีสาน  ตามแนวคิดของคนพื้นถิ่นอีสานออกเป็น  ป่าทาม  ป่าโคก  และป่าดง  ต้นไม้ที่เหลืออยู่ในไร่นาของชาวบ้าน จะแตกต่างกันออกไปตามถิ่นนิเวศของพื้นที่ทั้ง  3  ประเภท  ที่มีความแตกต่างกัน

ป่าทาม  เป็นป่าที่พบอยู่บริเวณริมลำน้ำทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ที่สภาพพื้นที่เป็นที่ราบที่มีน้ำท่วมนาน  2 – 3  เดือน  ในช่วงปลายฤดูฝน  มีชื่อภาษาอังกฤษว่า  Riparian Forest  หรือ บางคำเราว่า Seasonal Flooded Forest  แล้วแต่ใครจะใช้อย่างไร  ป่าทามหลายพื้นที่ได้ถูกเปลี่ยนเป็นนาข้าว  แต่ยังคงมีไม้ดั่งเดิมของป่าทามเหลือไว้อยู่ในนาเป็นจำนวนมาก  ไม้ที่พบในพื้นที่นาในทาม  ได้แก่  ไม้กราด  หว้าขี้นก  บงมั่ง  หรือภาคกลางเรียกว่า  ไม้เฉียงพร้านางแอ  ไม้กันเกราที่มีกลิ่นหอมอบอวนในช่วงสงกรานต์  ไม้จาน  หรือที่เรียกกันว่า  ไม้ทองกวาว  ที่ออกดอกสีแดงสดใสในช่วงฤดูร้อน  จุดเด่นของพื้นที่นาในป่าทาม  คือบริเวณคันนา  จะมีไม้เสียวใหญ่ขึ้นอยู่เป็นแถวเป็นแนว  ไม้เสียวที่ขึ้นอยู่  ชาวบ้านไม่ได้ปลูก  แต่เมล็ดจะไหลลอยตามน้ำแล้วจะมางอกบริเวณบนคันนา  ไม้เสียวนอกจากลำต้นเป็นฟืนได้ดีแล้ว  ระบบรากยังช่วยป้องกันคันนาพัง  ในช่วงน้ำหลากได้เป็นอย่างดี

                ป่าโคก  เป็นพื้นที่ป่าสูงขึ้นมาจากพื้นที่ป่าทาม  เป็นป่าที่อยู่ตามโนนที่ไม่สูงจนเป็นภูเขา  น้ำไม่ท่วมในช่วงฤดูฝน  ป่าโคก  ก็คือ  พื้นที่ป่าไม้เดิมที่มีอยู่ในภาคอีสานนั่นเอง  ในทางวิชาการป่าไม้  ป่าโคก  ประกอบไปด้วยป่าสองประเภท  พื้นที่ที่ดินไม่อุดมสมบูรณ์จะเป็นป่าเต็งรัง  (Dry Dipterocarp Forest)  ถ้าพื้นที่เป็นดินดีไม่มีหินโผล่  ไฟไม่ไหม้ก็จะเป็นป่าเบญจพรรณ  (Mixed Deciduous Forest)  ป่าโคกถูกเปลี่ยนเป็น    นา  ไร่  สวนต่างๆ  แต่ยังคงมีไม้ดั่งเดิมเหลืออยู่  โดยเฉพาะในนา  ไม้ที่พบอยู่ในพื้นที่นาในภาคอีสาน  ได้แก่  กราด  พลวง  กระบก  เป็นต้น  นอกจากนี้ส่วนที่เป็นคันนา  จะมีต้นไม้ตามกระแสเศรษฐกิจปลูกอยู่เต็มไปหมด  ต้นไม้เศรษฐกิจที่พบตามคันนาของภาคอีสาน  ได้แก่  ยูคาลิปตัส  กระถินณรงค์  มะม่วงหิมพานต์  ตะกู  ที่ราคากล้าไม้ต้นละหลายสิบบาท

                ป่าดง  เป็นพื้นที่ป่าที่อยู่สลับกับป่าโคก  ในพื้นที่ที่มีดินดี  ริมลำห้วย  น้ำอุดมสมบูรณ์หรือบริเวณที่เป็นภูเขามีดินลึก  ป่าดิบจัดเป็นป่าดิบแล้ง  (Dry Evergreen Forest)  ปัจจุบันป่าดงถูกเปลี่ยนเป็นสวนพืชเศรษฐกิจต่างๆ  เช่น  สวนผลไม้  สวนยางพารา  ไร่มันสำประหลัง  ไร่อ้อย  สภาพดินของป่าดงจะอุดมสมบูรณ์กว่าพื้นที่ป่าประเภทอื่น  ไม้ที่พบมักจะมีขนาดใหญ่  เช่น  ยางนา  กระบาก  ไม้นอกเขตป่าที่พบในป่าดงจะไม่กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่  แต่จะเหลือเป็นกลุ่มๆ แต่มีพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก  ป่าที่เหลือมักจะเหลือ  เนื่องจากความเชื่อ  เป็นป่าดอนปู่ตา  ป่าช้า  ที่เรียกกันว่า  ป่าวัฒนธรรม

                นอกจากจะแยกไม้นอกเขตป่าตามลักษณะของป่าดั้งเดิมแล้ว  เรายังแยกลักษณะไม้นอกเขตป่าตามลักษณะการใช้ประโยชน์ของชาวบ้าน  เราจะแยกไม้นอกเขตป่าได้เป็นไม้ในนา  ไม้บนคันนา  ไม้บนโพน    ไม้รอบเถียงนา  ไม้รอบสระน้ำ  และไม้บริเวณป่าครอบครัว

                ไม้ในนา  เป็นไม้ที่ชาวบ้านเหลือไว้ในนา  เพื่อไว้เป็นร่มเงาในช่วงการทำนา  เป็นไม้ที่มีใบเขียวสดแม้ในฤดูแล้ง  เช่น  กระบก เพื่อริดกิ่งใช้เป็นฟืน  ไม้ที่มีค่าจะเหลือไว้เพื่อใช้ก่อสร้างบ้านเรือน  เช่น  ไม้พลวง  ประดู่  กราด  ยาง  เพื่อความสวยงาม  เช่น  ต้นจานหรือทองกวาว  หรือไม้ที่มีกลิ่นหอม  เช่น  ต้นมันปลาหรือกันเกรา

                ไม้บริเวณคันนา  แบ่งเป็น  2  ประเภท  คือ  ไม้ธรรมชาติดั้งเดิม  เช่น  ต้นเสียวใหญ่  ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ  หรือไม้ใหม่ที่นำมาปลูกเป็นไม้เศรษฐกิจ  เช่น  ยูคาลิปตัส  มะม่วงหิมพานต์  พบอยู่ไปทั่ว  ทั้งภาคอีสาน

                ไม้บริเวณดินโพน  ดินโพน  หมายถึง  ดินจอมปลวกที่มีปลวกมาสร้างรังอยู่  จะเป็นเนินดินสูงกว่าบริเวณอื่น  น้ำไม่ท่วมในช่วงฤดูฝน  มีความชุ่มชื้นในฤดูแล้ง  ชาวบ้านจะรักษาต้นไม้บริเวณดินโพนเหล่านี้เอาไว้  เนื่องจากดินโพนจะมีแร่ธาตุและความอุดมสมบูรณ์สูง  ชาวบ้านจะนำดินจากโพนไปผสมกับดินธรรมดา  แล้วปลูกพืชสวนครัวจำพวก  พริก  หอม  กระเทียม  โหระพา  บริเวณโพนจะมีต้นไม้ดั้งเดิมขึ้นอยู่เห็นกระจายอยู่ทั่วไป

                ไม้รอบเถียงนา  คนอีสานจะปลูกบ้านรวมกันเป็นหมู่บ้าน  นาจะอยู่ห่างจากหมู่บ้าน  ในช่วงฤดูทำนาจะมาปลูกบ้านชั่วคราวขนาดเล็ก  เรียกว่า  เถียงนา  กินนอนอยู่ในเถียงนาช่วงฤดูทำนา  เป็นเวลาหลายเดือน  เมื่อต้องอาศัยเถียงนาเป็นเวลานาน  จึงปลูกไม้กินได้รอบๆ เถียงนา  นอกจากจะมีของกินแล้วไม้รอบเถียงนายังเป็นไม้กันลม  กันแดด  ให้ความร่มเย็น  ไม้ที่ปลูกจะเป็นไม้กินได้  เช่น  มะม่วง  สะเดา  ขี้เหล็ก  มะพร้าว  มะขาม  แค  เพกา  รวมทั้งพืชสวนครัว

                ไม้รอบสระน้ำ  เนื่องจากอีสานเป็นพื้นที่แห้งแล้งในฤดูร้อนและฝนตกหนักในช่วงฤดูฝน  ในนาของชาวบ้านขุดสระน้ำไว้  เพื่อกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง  รอบๆ สระน้ำชาวบ้านจะไม่ปล่อยให้ว่าง   แต่จะปลูกต้นไม้ไว้รอบๆ ต้นไม้ที่ปลูกจะเป็นต้นไม้ที่ใช้บริโภค  เช่นเดียวกับไม้รอบๆ เถียงนา

                ท่านที่เดินทางผ่านทุ่งนาในภาคอีสาน  ลองสังเกตดูจะเห็นต้นไม้มากมายที่ยังคงเหลืออยู่  หลายท่านอาจจะคิดว่า  อีกไม่นานไม้นอกเขตป่าเหล่านี้จะหายไป  แต่ผู้เขียนอยู่ภาคอีสานมานาน  พบว่าไม้ในนาของอีสานยังคงอยู่  บางอย่างเพิ่มมากขึ้นตามกระแสเศรษฐกิจ  ไม้ในนาของคนอีสานยังคงมีให้เห็นอยู่  และสนองประโยชน์ให้แก่เจ้าของ  และช่วยลดความร้อนของอากาศ  ไม่ต่างจากเครื่องปรับอากาศของคนในเมืองแต่อย่างใด


Last updated: 2013-08-05 22:31:21


@ ไม้นอกเขตป่า
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ไม้นอกเขตป่า
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
2,654

Your IP-Address: 52.14.85.76/ Users: 
2,653