อย่าพูดว่าทำไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ทำ
 
     
 
มองไม้คะลำ
รูปลักษณ์ของต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่ามีมากมายตามลักษณะของพื้นที่ที่ขึ้นอยู่กับสภาพดิน หิน ภูมิประเทศ โรคแมลงที่ต้นไม้ต้องประสบในขณะเจริญเติบโต จากลูกไม้ขนาดเล็กจนเป็นไม้ขนาดใหญ่ ทำให้ไม้แต่ละต้นมีลักษณะที่แตกต่างกัน
 

จากตอนแรกที่อธิบายถึงไม้คะลำ ตามชื่อที่เรียกกันตอนนี้จะเป็นไม้คะลำตามลักษณะหรือรูปลักษณ์ของต้นไม้ที่ปรากฏเห็นอยู่ การมองลักษณะไม้เช่นเดียวกับการมองรูปลักษณ์ของมนุษย์ด้วยกันว่ามีทั้งหน้าตาสะสวย รูปร่างสวยงาม หน้าตาอัปลักษณ์ รูปร่างขี้ริ้วขี้เหร่ รูปลักษณ์ของต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่ามีมากมายตามลักษณะของพื้นที่ที่ขึ้นอยู่กับสภาพดิน หิน ภูมิประเทศ โรคแมลงที่ต้นไม้ต้องประสบในขณะเจริญเติบโตจากลูกไม้ขนาดเล็กจนเป็นไม้ขนาดใหญ่ทำให้ไม้แต่ละต้นมีลักษณะที่แตกต่างกัน ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนลานหิน หรือหินลูกรัง คงจะไม่มีขนาดต้นที่สมบูรณ์ และสวยงามเหมือนไม้ที่ขึ้นอยู่บนผืนดินที่อุดมสมบูรณ์และชุ่มเย็น มีคำกล่าวของผู้เฒ่าอีสานที่มีประสบการณ์ในการคัดเลือกพื้นที่ป่าเพื่อทำนาไว้ว่า

ปะ บาป่าเอ็นอ้า

อย่าช้าฮีบหนี

โคกป่าจิกป่าฮัง

ฟังก่อนอย่าฟ้าวเอา

พ้อทาม ป่าเชือก

บ่ ต้องเลือก เอาโลด

ความหมายของผญาบทนี้ แสดงถึง วิธีเลือกพื้นที่ทำนาของคนอีสาน สภาพป่าที่เหมาะสมในการทำนาที่แตกต่างกัน พื้นที่ที่มีต้นเอ็นอ้าขึ้นอยู่เป็นดินตื้นหรือดินเค็มไม่เหมาะกับการทำนา พื้นที่ป่าเต็งรังดินสมบูรณ์น้อย เก็บไว้เป็นทางเลือกสุดท้าย

แต่ถ้าเป็นพื้นที่ทามริมน้ำ หรือพื้นที่ที่มีไม้รกฟ้าขึ้นอยู่ แสดงว่าดินดี ให้เลือกเป็นพื้นที่ทำนาได้เลย ต้นไม้ก็เช่นกัน การเลือกไม้เพื่อทำเสาเรือนมีข้อห้ามไว้หลายประการ

ไม้สองนางหมายถึงไม้ที่มีลำต้น 2 ลำต้นติดกัน โคนต้นส่วนที่หาอาหารในดินเพียงลำต้นเดียว ไม้ประเภทนี้ถ้ามีลักษณะของลำต้นสวยงามสามารถตัดมาทำเสาเรือนได้ทั้งสองต้น คนโบราณจะสอนลูกหลานให้ตัดมาทำเสาเรือนเพียงต้นเดียว อีกลำต้นให้เหลือไว้เพื่อเป็นแม่ไม้โปรยเมล็ดให้เกิดต้นไม้เล็ก ๆ ขึ้นมาทดแทนลำต้นที่ถูกตัดไป


ไม้เถาวัลย์รัด
ไม้ลักษณะนี้ไม่ขึ้นอยู่กับชนิดไม้ ถ้าแม้ว่าจะเป็นไม้ที่มีค่า แข็งแรงทนทาน แต่ถ้ามีเถาวัลย์ขนาดใหญ่รัดลำต้นขึ้นไปหาแสงด้านบนชาวบ้านจะไม่ตัดไม้ลักษณะนี้มาทำเสาเรือน เพราะมีความเชื่อว่า ถ้านำไม้ลักษณะนี้มาทำเสาเรือนงูจะขึ้นบ้านทำให้อยู่ไม่เป็นสุข


สำหรับเหตุผลในทางวิทยาศาสตร์ ไม้ที่มีเถาวัลย์รัดจะมีลำต้นบิดเป็นเกลียว ตามลักษณะของขนาดเถาวัลย์ที่รัดอยู่ ถ้าเถาวัลย์มีขนาดใหญ่มากจะรัดลำต้นไม้เข้าไปในเนื้อไม้มาก เมื่อจะต้องบากเสาเพื่อวางคานรับน้ำหนักพื้นบ้านร่องบากของเสาไม่เสมอกับไม้คาน ทำให้ได้เรือนที่ไม่แข็งแรงจึงเป็นข้อคะลำของคนโบราณ ไม้เถาว์ที่รัดลำต้นไม้จนคอดกิ่วมักจะเป็นไม้เถาว์ที่ลำต้นใหญ่แข็งแรง เช่น เถาว์สะบ้า เถาว์เครือจาน เป็นต้น



ไม้ที่มีลำต้นเป็นโพรงหรือไม้โกน
ปรกติไม้ที่เป็นโพรงชาวบ้านมักจะไม่นำมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากบริเวณโพรงจะไม่มีเนื้อไม้ ไม้โพรงบางต้นที่มีลำต้นสูงยาว สามารถตัดทอนนำเอาส่วนที่ไม่เป็นโพรงไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ไม้ประเภทนี้เป็นไม้คะลำที่ผู้เฒ่าสอนลูกหลานไม่ตัดมาใช้ประโยชน์ ให้ปล่อยไว้ในป่า โดยมีความเชื่อเกี่ยวกับไม้โพรงหรือภาษาอีสานว่าไม้โกน จนเป็นผญาหรืสุภาษิตในความหมายของคนอีสานว่า “โกนกก นกอยู่ โกนกลางนางอยู่ โกนปลายพรายอยู่”


โกนกก
หมายถึง ไม้ที่เป็นโพรงบริเวณโคนต้น เป็นที่อาศัยของนก ถ้าตัดไม้ที่เป็นโพรงในลักษณะเช่นนี้ไปใช้ประโยชน์ บ้านที่สร้างจะร้างไม่มีคนอยู่ มีแต่นกเข้ามาอาศัยนอน


โกนกลาง นางอยู่
หมายถึง ไม้ที่เป็นโพรงบริเวณกลางลำต้น บริเวณนี้จะเป็นที่อยู่อาศัยของผีผู้หญิง ถ้านำไม้ไปใช้ทำบ้านเรือนสามีจะตายก่อน หรือไม่ก็หนีไปอยู่ที่อื่น บ้านจะมีแต่ผู้เป็นภรรยาอยู่บ้านเพียงผู้เดียว

โกนปลาย พรายอยู่ หมายถึง ไม้ที่เป็นโพรงบริเวณของปลาย หากตัดไปทำเสาบ้าน จะเห็นบริเวณที่เป็นโพรงอยู่เหนือระดับพื้นบ้าน ประมาณเท่าระดับสายตาของเจ้าของบ้าน คนโบราณกล่าวห้ามไว้ว่า ถ้านำไม้ลักษณะเช่นนี้มาทำบ้าน ภรรยาจะตายก่อนหรือไม่ก็จะหลบหนีไปอยู่ที่อื่น บ้านจะเหลือแต่ผู้ชาย สอดคล้องกับคำว่า โกนปลายชาย (พราย)อยู่


ที่กล่าวมาเป็นเหตุผลของความเชื่อในการห้ามตัดไม้โพรงหรือไม้โกนมาใช้ประโยชน์ แต่เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่คนโบราณห้ามตัดลักษณะเช่นนี้ ก็คือ ไม้โพรงมีเนื้อไม้ไม่มากที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ หรือมีตำหนิที่ทำให้ไม้ไม่แข็งแรง และเหตุผลในด้านการอนุรักษ์คือ ไม้โกน จะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด เช่น หอยเดื่อ หอยหอม ที่อาศัยโกนไม้อยู่เพื่อหลบหลีกไฟป่าในฤดูแล้ง บ่างได้อาศัยโพรงบริเวณตอนกลางของลำต้นเป็นถิ่นอาศัย นกได้อาศัยโพรงไม้ด้านบนเป็นรังสำหรับเลี้ยงลูกอ่อน เห็นได้ว่าไม้โพรงมีคุณค่าต่อระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งที่มีชีวิตมากกว่าไม้ที่มีลำต้นปรกติเสียอีก



ไม้ติดเทียน
หมายถึงไม้ที่มีลำต้นเป็นปรกติแต่มีกิ่งตายติดอยู่บริเวณลำต้นหรือแก่นอย่างถาวรไม่หลุดร่วงลงมา มองคล้ายกับมีต้นเทียนติดอยู่กับด้านข้างของลำต้นอย่างถาวร ไม้ลักษณะเช่นนี้เป็นคะลำ จะไม่นำมาทำเสาบ้าน มีความเชื่อว่าถ้าเป็นไม้ลักษณะเช่นนี้ไปทำเสาบ้าน คนที่อยู่อาศัยอยู่ในบ้านจะป่วยไข้อยู่ตลอดเวลาไม่ว่างเว้น ความหมายของการติดเทียนคือบ้านที่มีไม้เช่นนี้จะต้องสว่างไสวด้วยแสงไฟเพื่อเฝ้าไข้ของคนที่อยู่ในบ้านตลอดเวลา



ไม้ติดเทียนอีกประเภทหนึ่ง คือ ไม้ที่ล้มลงราบกับพื้น แต่ไม่ตาย ไม้ลักษณะเช่นนี้จะแตกกิ่งใหม่อยู่ด้านบนของลำต้น รับแสงแดดเพื่อปรุงอาหาร กิ่งที่แตกขึ้นมาใหม่ คล้ายต้นเทียนที่ติดอยู่บนราวเทียน ด้านหน้าพระพุทธรูป ไม้ในลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นไม้คะลำ ไม่ตัดมาทำเสาเรือน



เหตุผลของทางวิทยาศาสตร์ ก็คือ ไม้ที่มีกิ่งแห้งติดอยู่อย่างถาวรไม่หลุดออกมา เมื่อถากเปลือกออกมาแล้วจะมีตาขนาดใหญ่อยู่ในบริเวณของท่อนเสาทำให้เสาไม่แข็งแรงรับน้ำหนักไม่ได้



ไม้ตาหมูสี
หมายถึง ไม้ที่มีตาอยู่บริเวณเหนือพื้นดินราวครึ่งเมตร ถ้าหมูป่าเดินผ่านสามารถใช้ลำตัวถูไถกับตาไม้นี้ได้ ไม้ประเภทนี้ถ้าตาลึก หมายถึงตาที่อยู่เลยเข้าไปถึงบริเวณตอนกลางของลำต้น (ใจไม้) จะไม่นำไปใช้ทำเสาเรือน หากมีตาตื้นอยู่แต่บริเวณผิวนอกสามารถนำไปใช้ประโยชน์


สำหรับเหตุผลของการคะลำหรือข้อห้ามในการนำไม้ตาหมูสีมาใช้ประโยชน์ก็คือ ถ้าตัดมาทำเสาเรือนบริเวณที่เป็นตาจะอยู่ใกล้เคียงกับระดับพื้นดิน เสาบริเวณนี้อยู่สัมผัสกับความชื้นและอากาศอยู่ตลอดเวลาทำให้บริเวณตาไม้ผุได้ง่ายเสาที่ได้จึงไม่แข็งแรง



ขอขอบคุณพ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว จังหวัดสกลนคร ที่ให้คำผญาอีสาน


Last updated: 2012-09-27 21:09:18


@ มองไม้คะลำ
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ มองไม้คะลำ
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
2,667

Your IP-Address: 18.191.112.81/ Users: 
2,666