กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
อย่ากลัวที่จะก้าวไปช้าๆ จงกลัวที่จะหยุดอยู่กับที่
 
     
 
ไม้เครือ (3)
เขา มีความหมายว่า “ใหญ่” คำว่า กาด ภาษาอีสานหมายถึง “พาด ขวาง” ถ้ารวมทั้งสามคำเข้าด้วยกัน เครือเขากาดหมายถึง เถาวัลย์ขนาดใหญ่ที่พาดไปมาในป่า
 

อันว่า

เครือเขาเกี้ยว 

พาเครือเขากาด

 

เลยเล่าเกี้ยว

กันขึ้นฮอดแถน

 

ก็เพราะเครือเขานั้น

เป็นดินฝังฮาก

 

เครือใหญ่เกี้ยว

กันขึ้นโยชน์ยาว

 

 

โคลงที่ยกมากล่าวนี้  เป็นวรรณกรรมล้านช้างที่เรียกว่า  โคลงสาร  มีข้อบังคับทำนองเดียวกับ  โคลงวิชชุมาลีของไทย  อยู่ในเรื่องพญาคันคาก  ปริวรรต  เรียบเรียงโดยท่านอาจารย์นิพล  สายศรี  สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนาธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  มีข้อความที่กล่าวถึง  เครือเขาเกี้ยว  และ  เครือเขากาด

                จากบทความไม้เครือ (1) (2)  ได้อธิบายลักษณะของไม้เครือ  ออกเป็น  2  ประเภท  อันได้แก่  เครือพันและเครือพาด  ตามลักษณะการพาดพันของไม้เครือตามที่สังเกตได้  คำว่าเครือพัน  เครือพาด  นายมักเลาะ  เขียนเป็นภาษาของคนภาคกลาง  สำหรับคนภาคอีสานแล้ว  เครือพัน  คนอีสานเรียกว่า  “เครือเกี้ยว”  เครือพาด  คนอีสานเรียกว่า  “เครือพาด” เช่นกันเครือไม้ชนิดเดียวกันเป็นได้ทั้งเครือพันและเครือพาด  แต่จะเรียกอย่างไรขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของเรือนยอดหรือประเภทของป่าที่ไม้เครือพันขึ้นอยู่  ดังรายละเอียดที่เขียนไว้ในไม้เครือ (2)

 

                ถ้าท่านใดสนใจ  ในประวัติศาสตร์ชาวไทยและลาว  ที่มีความเกี่ยวเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณ  มีความเชื่ออย่างหนึ่ง  ที่ยังคงเป็นที่ยึดถือของคนไทยในภาคอีสาน  และคนลาว  ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ซึ่งต่อไป  นายมักเลาะ  จะเรียกว่า  คนฝั่งขวาแม่น้ำโขง  และคนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง  คือ  ความเชื่อถือพระยาแถน  ถ้าเปรียบพระยาแถนกับเทวดา  ที่คนภาคกลางของไทยนับถือ  พระยาแถน  ก็คือ  พระอินทร์ที่คอยสอดส่องดูแลความเป็นอยู่ทุกข์สุขของมวลมนุษย์  ภาคอีสานมีประเพณีจุดบั้งไฟ  เพื่อส่งสัญญาณไปให้พระยาแถนรู้ว่า  พอถึงฤดูกาลของการปลูกข้าว  พระยาแถนช่วยกรุณา  ส่งฝนลงมาให้ชาวนาได้ทำนาได้แล้ว  มีการเชิญผีแถนลงมาเข้าร่างทรง  เพื่อรักษาลูกหลานที่เจ็บป่วย  ของคนชาติพันธุ์กูยในแถบอีสานใต้  และเมื่อกล่าวเรื่องพระยาแถน  มีไม้เครือชนิดหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องนี้  ได้แก่  ไม้เครือเขากาด  ตามนิทานโบราณที่เล่ากันมาหลายตำนาน  มีตำนานหนึ่งว่า  โบราณ  มนุษย์กับพระยาแถนที่อยู่บนฟ้า  ติดต่อไปมาหาสู่กันเป็นประจำ  โดยมีไม้เครือเขากาด  เป็นสิ่งที่เชื่อมโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ของพระยาแถน  ต่อมาเมื่อมนุษย์มีนิสัยชอบรบราฆ่าฟัน  ไม่ประพฤติตัวอยู่ในศีลธรรมที่ดี  พระยาแถนโกรธ  เลยตัดเครือเขากาดที่เป็นเส้นทางมนุษย์  ปีนขึ้นไปบนสวรรค์ได้  ทำให้มนุษย์ไม่สามารถที่จะขึ้นไปบนสวรรค์ได้ดั่งที่เคย  ความสัมพันธ์ระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ก็สิ้นสุดลงหรืออีกตำนานหนึ่ง  ไม้เครือกาดที่เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่าง  โลกมนุษย์กับสวรรค์  ได้ปกคลุมปิดบังท้องฟ้ามืดมิด  จนไม่เห็นแสงอาทิตย์  แต่การตัดไม้เครือกาดออก  ผู้ตัดจะต้องตาย  จึงไม่มีใครกล้าที่จะตัดไม้เครือกาดออก  เพราะถ้าใครตัดเครือเขากาดออกจะต้องตาย  จนมี  ปู่เยอ  ย่าเยอ  บรรพบุรุษของคนชาติพันธุ์ไท – ลาว  เสียสละเข้าไปตัดเครือเขากาดออก  มนุษย์จึงเห็นท้องฟ้าที่ใสกระจ่าง  อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน  ท้ายที่สุด  ปู่เยอ  ย่าเยอ  โดนเครือของไม้เขากาดทับเสียชีวิต  ความเคารพในปู่เยอ  ย่าเยอ  ยังคงตกทอดมาถึงปัจจุบัน  บทสู่ขวัญในพิธีกรรมเรียกขวัญ  ทุกบทยังมีคำว่า  มาเยอขวัญเยอปรากฏอยู่

                คราวนี้  เรามาวิเคราะห์เครือเขากาด  ในเชิงความรู้เดิมผนวกกับสมัยใหม่บ้าง  เครือ  หมายถึง  ต้นไม้ที่มีลักษณะที่เรียกว่า “เถาวัลย์”  เขา  ถ้าเป็นภาษาอีสาน  ท่านอาจารย์  ผศ.สมชาย  นิลอาธิ  ผู้เชี่ยวชาญในภาษาและวัฒนธรรมอีสาน  ท่านได้ให้ความหมายว่า  เขา  มีความหมายว่า  “ใหญ่”  คำว่า  กาดภาษาอีสานหมายถึง  “พาด  ขวาง”  ถ้ารวมทั้งสามคำเข้าด้วยกัน  เครือเขากาดหมายถึง  เถาวัลย์ขนาดใหญ่ที่พาดไปมาในป่า  นายมักเลาะ  เปิดหาชื่อไม้เครือเขากาดในชื่อพรรณไม้ของประเทศไทย  ของท่านอาจารย์ดร.เต็ม  สมิตินันทน์  ตำราหลักชนิดพรรณไม้ในเมืองไทย  ไม่ปรากฏชื่อ  ไม้เครือเขากาดอยู่  มีแต่เครือเขาแกบ  ในฐานะที่มีอาชีพที่จะต้องเดินเข้าไปในป่าเป็นประจำ  วินิจฉัยด้วยตนเองผู้อ่านใช้วิจารณญาณเอาเองก็แล้วกัน  เครือเขากาด  น่าจะเป็นชื่อรวมของเครือไม้ขนาดใหญ่อยู่ในป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest)บริเวณตอนเหนือของประเทศลาว เป็นพื้นที่ดั้งเดิมของคนชาติไท– ลาว  บรรพบุรุษของคนฝั่งขวาและฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงในปัจจุบัน  พื้นที่อยู่ไม่ห่างจากทะเลจีนใต้  ฝนตกชุก  มีสภาพเป็นป่าดิบแล้งที่รกทึบ  เครือไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่หนาแน่น  มองไม่เห็นดวงอาทิตย์  เรื่องการเดินป่าจนมองไม่เห็นดวงอาทิตย์นี้กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ท่านเคยเสด็จเยี่ยมหัวเมืองในภาคอีสาน  เมื่อปี  พ.ศ.2449  ท่านได้เขียนสภาพป่าของอีสานไว้ใน  หนังสือนิทานโบราณคดี  เรื่อง  เดินดง  เมื่อท่านเดินทางผ่านดงบังอี่  บริเวณจังหวัดมุกดาหารในปัจจุบัน  ไปยังจังหวัดยโสธร  ว่า  “พอถึงปากดง ก็แลเห็นต้นยูง  ยาง  สูงใหญ่  สะพรั่งไปทุกด้าน  ริมต้นไม้ใหญ่  ก็มีต้นไม้เล็ก  และมีกอหนามขึ้นรกชัฏ  มีหนทางเป็นช่องกว้างสัก  8  ศอก  เดินเข้าไปในดง  พอเข้าไปรู้สึกเยือกเย็น  เห็นแสงสว่างในทางเดิน  เพียงสักเท่าเดือนหงาย  เพราะร่มไม้ใหญ่บังแสงแดด  ส่องลงมาไม่ถึงพื้น.....”สิ่งที่ท่านกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ได้เขียนไว้  คงจะคล้ายกับป่าที่มีไม้เครือเขากาดขึ้นอยู่  ตามที่ตำนานโบราณได้กล่าวไว้นั่นเองปัจจุบัน  การค้นหาสภาพป่าในอีสานที่มีความสมบูรณ์ดังที่ท่านกรมพระยาดำรงได้เขียนไว้  หรือตามตำนานพญาแถนคงยาก  นอกจากผู้ที่มีอาชีพจะต้องเดินป่าเป็นประจำ

 

                นอกจากคำว่า  เครือเขากาดแล้ว  ยังมีไม้เครืออีกชนิดหนึ่ง  ที่มีชื่อคล้ายกันนั้นคือ  เครือเขาแกลบ  ถ้าเขียนในสำเนียงอีสาน  จะเขียนว่า  เครือเขาแกบ  เครือเขาแกลบ  ภาษากลาง  เรียกว่า  เครือรางแดง  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Ventila godenticulata   รายละเอียด  ท่านผู้สนใจคงจะต้องติดตามในเรื่องเครือรางแดงต่อไป

 


Last updated: 2013-08-31 08:40:34


@ ไม้เครือ (3)
 


 
     
ร รรร รอร         [1/17148]...xxx.205.245.4 2023-01-03 20:40:11
    เครือเขากาดเป็นชื่อตำนานการเกิดของมนุษย์อีก1ตำนานครับมีรูปแบบเป็นกลอนลำ

ร รรร รอร         [2/17147]...xxx.205.245.4 2023-01-03 20:40:05
    เครือเขากาดเป็นชื่อตำนานการเกิดของมนุษย์อีก1ตำนานครับมีรูปแบบเป็นกลอนลำ

ร รรร รอร         [3/17146]...xxx.205.245.4 2023-01-03 20:39:59
    เครือเขากาดเป็นชื่อตำนานการเกิดของมนุษย์อีก1ตำนานครับมีรูปแบบเป็นกลอนลำ

ร รรร รอร         [4/17145]...xxx.205.245.4 2023-01-03 20:39:53
    เครือเขากาดเป็นชื่อตำนานการเกิดของมนุษย์อีก1ตำนานครับมีรูปแบบเป็นกลอนลำ

 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
2,507

Your IP-Address: 3.147.51.75/ Users: 
2,506