เมื่อต้นเดือนธันวาคม ๒๕๕๕ คนมักเลาะได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านของเรา ที่บ้านโพนสิม เมืองไกสอน พมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต ได้เดินเข้าไปในป่าบริเวณนั้น รู้สึกประทับใจในความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ของลาวเป็นอย่างมาก ที่ยังมีป่าดงดิบพื้นที่ราบต่ำอันอุดมสมบูรณ์ ต่างจากภาคอีสานของเมืองไทย ที่ป่าดิบในพื้นที่ราบต่ำหาดูได้ยากมาก ป่าดงดิบพื้นที่ราบต่ำที่เคยมีอยู่ ได้เปลี่ยนเป็น ไร่มันสำปะหลัง ไร่ยางพารา จนเกือบหมดแล้ว พี่น้องฟากแม่น้ำโขงฝั่งโน้นมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายอยู่กับธรรมชาติ รักและปกป้องดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ จนเหลือป่าที่อุดมสมบูรณ์ให้พวกเราคนไทยได้เห็น ยิ่งเดินลึกเข้าไป ป่ายิ่งอุดมสมบูรณ์ ไม้ยาง ไม้กระบาก ไม้ฮาว ขนาดใหญ่หลายคนโอบ ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไป ผ่านดงหมากแหน่ง (เร่ว) ที่มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ กระจายฟุ้งเต็มป่า คนนำทางผู้ใจดี พาเราไปดูแหล่งต้นน้ำของป่าแห่งนี้ มีลักษณะเป็นน้ำซับที่ไหลออกมาจากพื้นดิน ภาษาถิ่นของพี่น้องฟากโน้นเรียกว่า น้ำคำแดง ฟังแล้วสะดุดหูของคนมักเลาะยิ่งนัก ทีมที่ไปด้วยกันเอ่ยว่า ช่างพ้องกับชื่อพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดอุบลราชธานี พระอาจารย์คำแดง วัดคัมภีราวาส บ้านนาพิน อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ลูกศิษย์ของพระอาจารย์เสาร์ พระสายวัดป่ารูปสำคัญของอีสาน ตอนบ่ายได้เข้าไปในหมู่บ้าน เข้าไปคุยกับปราชญ์ชาวบ้านของบ้านโพนสิม พ่อใหญ่(ตา)สีมาย เสิมวงไชย พ่อใหญ่ มาย ได้อธิบายของคำว่า คำ ให้พวกเราที่เป็นลาวพอกะเทินได้เข้าใจแจ่มแจ้ง คำ เป็นภาษาลาว หมายถึง ทองคำ แต่ถ้ามี การต่อหน้าหรือเติมท้ายคำว่า คำ ความหมายของคำก็จะเปลี่ยนไป เราจึงถามถึงคำว่า คำแดง พ่อใหญ่มายได้อธิบายว่า หมายถึง น้ำซับที่ไหลออกมาจากพื้นดินที่เป็นหินลูกรัง น้ำที่ไหลออกมาจะละลายเอาตะกอนของเหล็กที่มีอยู่ในหินลูกรังออกมา ทำให้น้ำที่ไหลออกมามีสีแดง เมื่อเศษตะกอนของหินลูกรังไปตกตะกอนอยู่บริเวณพื้นดินใต้น้ำ ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นมีสีแดง พี่น้องชาวลาวจึงเรียกพื้นที่น้ำซับบริเวณนั้นว่าคำแดง และอธิบายต่อว่า พื้นที่บริเวณใดที่มีคำแดงไหลออกมา จะเป็นพื้นที่ไม่เหมาะกับการทำการเกษตร ถ้าจะปลูกพืชต้องมีการใส่ปุ๋ยบำรุงดินเป็นจำนวนมาก จึงจะได้ผลผลิต ต่างจาก คำขาว ถ้ามีคำขาวอยู่ที่ใดบริเวณนั้นคนโบราณกล่าวว่า เหมาะแก่การทำไร่ทำนา ปลูกพืชอะไรจะให้ผลผลิตดี โดยไม่ต้องปรับปรุงดิน คุยกันพอหอมปากหอมคอ พ่อใหญ่มาย ก็ชวนพวกเราไปดูคำขาว ที่อยู่ท้ายหมู่บ้านโพนสิมพวกเราจึงเดินตามพ่อใหญ่มายไปท้ายวัดโพนสิม จึงพบกับคำขาว คำขาวก็คือน้ำซับที่ไหลออกมาจากพื้นดินท้ายบ้าน มีลักษณะใสสะอาด น้ำสะอาดอย่างนี้แสดงว่า พื้นดินบริเวณที่น้ำซับไหลออกมา ไม่มีแร่ธาตุที่เป็นพิษต่อพืชและคน ปลูกอะไรก็งาม เพราะทั้งดินดี น้ำดี พึ่งเข้าใจทำไมคนสมัยโบราณที่อพยพมาสร้างบ้านแปงเมือง จึงเลือกเอาพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งหลักปักฐาน พวกเรากลับไปคุยกับพ่อใหญ่มายต่อ ที่บ้านพ่อใหญ่มายเล่าให้พวกเราฟังว่า ป่าดงดิบที่ราบต่ำที่เราเข้าไปชมเมื่อตอนเช้านั้น อยู่ในการดูแลของชาวบ้านโพนสิม ที่ช่วยกันดูแลรักษาแทนรัฐ จึงทำให้เหลือป่าให้พวกเราได้เข้าไปเที่ยวชมไม่ว่าบ้านไหนเมืองไหน มีผู้อาวุโสเป็นหลักบ้านหลักเมือง คอยแนะนำชี้แนะ คนรุ่นลูกรุ่นหลานไม่ให้หลงของเก่าเมาของใหม่ รู้จักเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง พาชุมชนก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง รู้จักดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ไว้ เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน บ้านนั้นเมืองนั้น ย่อมจะมีความผาสุกในระยะยาว ไม่ต้องทำลายล้างทรัพยากรที่มีอยู่ เพียงเพื่อประโยชน์ชั่วคราว ในรูปตัวเงินที่ใช้แล้วก็หมดไป