ทำงานให้มองฟ้า เป็นอยู่ให้มองดิน
 
     
 
ซาโตยามา: คนอยู่กับป่าตามประสาญี่ปุ่น
ชาวบ้านได้ใช้ใบไม้ที่เพิ่งจะร่วงหล่นลงในป่ามาใช้เป็นปุ๋ยสำหรับนาข้าว ใช้ไม้สำหรับก่อสร้าง เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มและให้ความอบอุ่น
 

ในสภาวะปัจจุบัน ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และความหลากหลายทางชีวภาพได้ลดน้อยถอยลงด้วยน้ำมือมนุษย์ ซึ่งจะเห็นได้ทั่วไปตามข่าวหนังสือพิมพ์ว่า มีการส่งเสริมปลูกพืชพาณิชย์เชิงเดี่ยว มีการกว้านซื้อที่ดินป่าสงวนแห่งชาติมาทำรีสอร์ทส่วนตัว มีการสร้างสาธารณูปโภคถนนหนทาง อ่างเก็บน้ำ มีการลักลอบตัดไม้ ล่าสัตว์ป่า เก็บพรรณพืชหายากส่งออก ซึ่งล้วนแต่เป็นการตักตวงหาประโยชน์ส่วนตนกันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี ในมุมของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น การพัฒนาเศรษฐกิจมิได้เป็นอุปสรรคต่อความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติแต่อย่างใด โดยประชาชนทุกระดับมีวิถีชีวิตที่เข้ากันได้กับธรรมชาติ และเรียกวิถีชีวิตนั้นว่า "ซาโตยามา"

“Satoyama หรือ ซาโตยามา” เป็นคำภาษาญี่ปุ่นที่ใช้เรียกพื้นที่บริเวณขอบซึ่งอยู่ระหว่างชายเขาและพื้นที่เพาะปลูกที่เป็นที่ราบ โดยรากศัพท์แล้ว “Sato”แปลว่า พื้นที่เพาะปลูกอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งรวมถึงที่พักอาศัยด้วย และ “Yama”ก็แปลว่า ภูเขา หลายศตวรรษที่ผ่านมา คำว่า “Satoyama”ได้นำมาใช้กล่าวถึงการดำรงอยู่ร่วมกันระหว่างการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตรและป่าไม้ที่ยังคงความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยกิจกรรมของมนุษย์ที่มีการจัดการอย่างถูกต้อง 
แนวคิด ซาโตยามามีหลายคำจำกัดความ แรกเริ่มนั้นหมายถึง การจัดการป่าโดยชุมชนเกษตรดั้งเดิมตั้งแต่สมัยเอโดะ ชาวบ้านได้ใช้ใบไม้ที่เพิ่งจะร่วงหล่นลงในป่ามาใช้เป็นปุ๋ยสำหรับนาข้าว ใช้ไม้สำหรับก่อสร้าง เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มและให้ความอบอุ่น อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน แนวคิดซาโตยามาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ป่าเท่านั้นแต่ได้ขยายขอบเขตครอบคลุมไปถึงพื้นที่ภูมิทัศน์ที่ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรด้วย แนวคิดดังกล่าวได้รวมป่าผืนเล็กผืนน้อย นาข้าวที่ลุ่ม นาข้าวที่ดอน ทุ่งหญ้า ลำธาร บ่อน้ำ และอ่างเก็บน้ำเข้าไว้ด้วยกันในลักษณะแบบโมเสค(mosaic) ซึ่งเกษตรกรใช้ประโยชน์ทุ่งหญ้าเพื่อการเลี้ยงสัตว์ นำมาใช้ประโยชน์ลำห้วยลำธารเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและเลี้ยงปลาเป็นอาหาร




ชุมชนเก็บรักษาป่าไว้เป็นหย่อม ๆ โดยเฉพาะตอนบนของที่ดอน เพื่อให้ธาตุอาหารที่เกิดจากป่าไหลลงสู่ระบบนิเวศบ้างล่าง








แนวคิดซาโตยามา จะตรงกับแนวคิดวนเกษตรเชิงภูมิทัศน์ (landscape agroforestry) ซึ่งเป็นการผสมผสานอย่างกลมกลืนระหว่างการเกษตร ปศุสัตว์ และป่าไม้ในหน่วยที่ดินภูมิทัศน์เดียวกัน ซึ่งคล้ายคลึงกับ แนวคิด forest landscape ที่จำกัดความโดย IUCN



สนามกอล์ฟจัดเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ในแนวคิดซาโตยามา ที่ป่าจะต้องมีเป็นหย่อมและต่อเนื่องกัน











อย่างไรก็ดี ด้วยปัญหาภัยคุกคามด้านความหลากหลายทางชีวภาพและสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่พบทั่วไปในภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้กระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศญี่ปุ่นและ United Nations University Institute of Advanced Studies (UNU-IAS) ได้ร่วมกันวางแนวคิดซาโตยามา หรือเรียกว่า “Satoyama Initiative”เพื่อเผยแพร่แนวคิดออกสู่นานาชาติ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าวซึ่งรวมไปถึงหลักการ “Ecosystem approach” เพื่อส่งเสริมให้สังคมมนุษย์อยู่อาศัยร่วมกันธรรมชาติอย่างกลมกลืน และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน (positive human-nature relationships.)

ทิศทางดังกล่าวได้แก่


1.) รวบรวมปัญญาและองค์ความรู้ด้านการสร้างความมั่นคงด้านคุณค่าของระบบนิเวศเชิงบริการและเชิงมูลค่า

2.) ผสมผสานความรู้ท้องถิ่นด้านนิเวศวิทยาและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้าด้วยกัน

3.) สำรวจหารูปแบบใหม่ ๆ ในระบบการจัดการร่วมกัน (co-management system)







สำหรับกิจกรรมในแต่ละทิศทางจะประกอบไปด้วย

1.) การใช้ทรัพยากรภายใต้ขีดจำกัดในการรองรับของธรรมชาติซึ่งมีความยืดหยุ่น
2.) การใช้ประโยชน์ตามวัฏจักรของทรัพยากรธรรมชาติ
3.) รู้จักคุณค่าและความสำคัญของประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น
4.) การมีส่วนร่วมและการร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย
5.) กิจกรรมที่นำไปสู่การสร้างสังคมและเศรษฐกิจ

ประเทศไทยในวันนี้ ใช่ว่าจะไม่เคยพูดหรือรับรู้ในปรัชญาการอยู่กับป่าข้างต้น หากแต่ยังอยู่ในภาวะที่ "ยังเป็นตัวกู" อยู่ จึงมักจะค้านกันอยู่เสมอในเกือบทุกประเด็น เราต้องยอมรับว่าไม่มีเส้นทางใดเลยที่จะสวยหรูสมบูรณ์แบบ หากแต่เมื่อไม่ยอมเดินไปตามเส้นทางใด ๆ เลย แล้วจะไปสู่จุดหมายข้างหน้าได้อย่างไร

มาจับมือกันเถอะ แล้วยอมให้กันบ้าง เพื่อเดินไปสู่สังคมที่ยั่งยืน

(ข้อมูลจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Satoyama)


Last updated: 2012-03-18 07:22:09


@ ซาโตยามา: คนอยู่กับป่าตามประสาญี่ปุ่น
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ซาโตยามา: คนอยู่กับป่าตามประสาญี่ปุ่น
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
3,083

Your IP-Address: 3.133.124.161/ Users: 
3,082