ใครทำดีให้ตนต้องจำ ทำดีให้คนอื่นต้องลืม
 
     
 
ผาแต้มเมื่อยามแล้ง มีความงดงาม
ถ้ามาเมื่อยามหนาวจะเป็นเช่นไรหนอ จินตนาการเพริดแพร้ว หมอกคงลงตรึม หรือไม่ก็บรรยากาศชวนฝันแน่ๆ
 

 

ผาแต้มเมื่อยามแล้ง มีความงดงาม

โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

             เมื่อสองปีก่อน ผมเคยไปอุทยานแห่งชาติผาแต้มเมื่อฝนพรำ ได้ภาพความงดงามของดอกไม้ป่าเมื่อหน้าฝนและป่าดงพงไพรที่แตกต่าง คิดในใจ หากมายามแล้งจะได้ภาพอย่างไรหรือ แล้วก็คิดต่อไปอีกว่า ถ้ามาเมื่อยามหนาวจะเป็นเช่นไรหนอ จินตนาการเพริดแพร้ว   หมอกคงลงตรึม หรือไม่ก็บรรยากาศชวนฝันแน่ๆ คราวนี้สมใจ เมื่อได้มีโอกาสมาเยือนผาแต้มเมื่อยามแล้ง แต่ก็ยังไม่แห้งแหง๋แก๋ ด้วยว่ามาเมื่อปลายฝนต้นหนาว กึ่งๆกันอยู่ระหว่างความชุ่มฉ่ำจากหยาดฝนกับเมื่อลมหนาวเริ่มโรยตัวลงมาทีละนิดๆ

 

            ผมเดินดิ่งไปที่ผลาญหินหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ถ่ายไว้รูปเดียว เหลียวมองไปรอบๆ ไม่เห็นสาระดีๆอะไรเลย แล้วก็ตัดใจเดินขึ้นไปชมนิทรรศการบนศูนย์บริการ เห็นภาพที่ขยายมาอวดความสวยงาม เห็นสถิตินักท่องเที่ยวที่เข้ามาแต่ละเดือน เห็นเจ้าหน้าที่ขะหมีขะหมันขยันเล่าเรื่องแล้วก็รู้สึกดีใจ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจต้องอิงลักษณะเช่นนี้ "มีหัวใจบริการ" และก็อยากจะเห็นทุกอุทยานเป็นเหมือนเช่นนี้ 

ช่อดอกรักใหญ่ยังอ่อนๆ

 

             ผมเลี่ยงไปทำธุระส่วนตัว แล้วก็เลยลงไปนั่งมองทิวทัศน์จากขอบกั้นเขต มิให้เกิดการพลัดตก ผมเดินไปจนถึงต้นไม้ต้นหนึ่งกำลังแตกดอกออกช่อในขณะที่ใบกำลังเปลี่ยนสี จากเขียวขจีเป็นสีแดงสด เหลือบไปเห็นป้ายสื่อความหมายระบุว่าเป็นต้นรักใหญ่ หรือเรียกกันว่า น้ำเกลี้ยง มะเรียะ รัก ฮักหลวง ซู ซู้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gluta usitata(Wall) Ding Hou อยู่ในวงศ์ ANACARDIACEAE พบทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลาง 300-1,000 เมตร 

 

ใบต้นรักใหญ่กำลังเปลี่ยนสี

             คุณสมบัติพิเศษที่ต้องจำคือ อย่าไปลูบไล้ต้นรักใหญ่เล่น มันคันขะเยอเชียว แม้แต่ใบก็ไม่ควรสัมผัส แต่น้ำยางต้นรักมีคุณอนันต์ ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนไทย เขาใช้น้ำยาวต้นรักทากระดาษกันน้ำได้ ทาภาชนะเช่นเครื่องเขิน พระพุทธรูป แล้วปิดทองหรือทาสีจะได้กลายเป็นเนื้อเดียวกัน ที่เรียกกันว่า ลงรักปิดทอง หรือเพื่อลงลายต่างๆ นี่แหละคือน้ำยางต้นรักใหญ่ ส่วนด้านสมุนไพรก้ได้ประโยชน์หลายๆเช่น เปลือกต้นบำรุงกำลัง แก้ท้องเสีย แก่นเป็นยาถ่ายอย่างแรง รากแก้ไอ ขับพยาธิ รักษาโรคตับ แต่ชะช้า ว่ากันว่าจะตกหลุมรักกันก็ที่ผาแต้มนี่แหละนะ 

             รักใหญ่ต้นนี้ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ กลีบดอกสีขาวเล็กๆ เมื่อติดเป็นฝักปีกฝักสีแดงสด ทำให้ดูสวยงามมาก ปลูกเป็นไม้ประดับก็ได้แปลกตาดี 

 

    

ใบอ่อนก็มีสีสันแตกต่างได้        

 

             เดินไปอีกนิดก็ได้เห็นใบไม้เปลี่ยนสีแปลก ใบเป็นสีแดงอมม่วงแล้วก็ค่อยๆกลายเป็นสีขาว จากนั้นเปลี่ยนสีไปเป็นสีเขียวขจี สดใส ได้แก่ต้นรัง ซึ่งออกดอกสีเหลืองเป็นพวงระย้า มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ต้นที่ตรงเปราก็มี ต้นที่คดงอดด้วยว่าดินตื้น ดินดาน หรือดินมีอินทรีย์วัตถุต่ำก็มี เปลือกแตกเป็นร่องตื้นๆ แต่ใบเมื่อแก่ก่อนร่วงจะสีเหลือง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Shorea obtusa  Wall. ex Bloom อยู่ในวงศ์ DIPTEROCARPACEAE  

 

             ต้นถัดไปใบใหญ่กว่า รูปใบกว้างๆ โคนใบเว้ารูปหัวใจ กำลังเปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีเหลือง และในที่สุดจะเป็นสีส้มอมแดง ซึ่งก็ช่วยให้ป่ามีสีสันสดใสมากขึ้น เปลือกลำต้นแตกเป็นร่องตามยาวขนาดใหญ่ๆ มียางสีเหลืองเหมือนกับต้นเต็ง เนื้อไม้ทั้งต้นเต็งและต้นรังแข็งมาก นิยมใช้ทำเสาเรือน ปลวกมอดไม่กัดกิน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Shorea siamensis MiQ. อยู่ในวงศ์เดียวกับต้นเต็ง เนื้อไม้แข็งมากเช่นเดียวกันต้นเต็ง ปลวกมอดไม่กินเช่นกัน ต้นนี้เรียกว่าต้นรัง จำง่ายๆว่าโคนใบเต็มเต่งคือต้นเต็ง โคนใบเว้ารูปหัวใจคือต้นรัง

 

นี่ก็ต้นรัง

             ผมเดินเก็บภาพไปอีกเป็นไผ่โจดมีลักษณะกลุ่มใบไต่ไปตามต้นไผ่แปลกๆ ต้นไผ่โนดนี้เรียงเล็กคล้ายไผ่ไร่หรือไผ่รวก แต่ว่ามีกลุ่มใบแตกออกจากแต่ละข้อไม่เหมือนไผ่เหล่านั้น ดูไปแล้วก็น่าจะหยิบจับไผ่ชนิดนี้ไปขยายพันธุ์เพื่อการตบแต่งสวนหย่อมได้ เช่นเดียวที่ดร.ระพี สาคริกเคยเก็บต้นพันธุ์ช้างแดงจากผืนป่าไปผสมพันธุ์เชิงพาณิชย์ โด่งดังไปทั่วโลก ทำเงินเข้าประเทศมหาศาล แต่วันนี้ต้นฃ้างแดงในป่าพันธุ์แท้ บริสุทธิ์เกือบหาไม่พบ น่าจะมีการคืนกล้วยไม้ช้างแดงสู่ป่า แม้ว่าจะแล้งเริ่มแล้ว แต่ไผ่โจดก็ยังมีใบเขียวสดใส

 

ใบต้นรังให้สีเหลืองจนถึงสีส้มอมแดง

            สุดขอบเขตหน้าผาซึ่งเบื้องล่างเป็นภาพเขียนสีโบราณ ผมเห็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่เดินกันอยู่ แบบว่าดูนั่นดูนี่ ถ่ายรูปกันบ้าง มีวงต้นไม้ใหญ่เป็นโฟกราวน์ ผมก็เลยกดเอาไว้ เผื่อๆ 

 

             หันหลังกลับมาอีกที อ้าว เห็นแต่หินที่นักท่องเที่ยวหยิบมากองๆตั้งไว้ แปลกตาอยู่  แล้วก็นั่งแปะลงกับพื้น วางกล้องเพื่อถ่ายภาพมุมช้อนขึ้น เป็นต้นตะแบกเลือดขนาดเล็กๆบนลานหินแทบไม่มีเนื้อดิน หญ้าแห้งๆเพิ่มสีสันให้ ตัดกับพื้นท้องฟ้าสีครามสดใส ได้ภาพแปลกตาออกไปอย่างที่เห็น จะว่าสวยหรือก็งั้นๆ แต่ก็งดงามพอได้อยู่ บนผลาญหินหน้าผาแต้ม มีภาพลักษณะนี้ให้ทดสอบการเลือกมุมกล้องและมุมแปลกได้ทั่วไป อยู่ที่อยากจะล้อความแห้งแล้งว่า ยังมีความงดงามอยู่เหมือนกัน

 

            ผมเดินกลับมาอีกที เพื่อนสื่อคนหนึ่งกำลังจ้ำก้าวช้าๆผ่านต้นไม้ต้นหนึ่ง ผมลองกดภาพออกมาอย่างตาเห็น ก็ได้ความสวยงาม แม้ไม่โดดเด่นเป็นอลังการ แต่ก็นำมาประกอบเรื่องราวได้ ภาพนี้บอกว่า ทุกเวลานาทีอาจมีจังหวะถ่ายภาพได้  

             ผมเดินกลับไปที่ร่มเงาแมกไม้ปากทางลงไปยังหน้าผาแต้มที่มีภาพเขียนสี ยืนอยู่พักหนึ่งจึงนึกขึ้นได้ โอ ต้นไม้ที่เห็นมีรูปทรงสวยงาม แปลกตา โดยเฉพาะมีโต๊ะและเก้าอี้สนาม(ปูน)ตั้งอยู่ นักท่องเที่ยวสามคน เป็นชายหนึ่งหญิงสองเดินมาพอดี ผมออกปากตะโกนร้องขอให้เดินมานั่งเป็นองค์ประกอบภาพหน่อย ได้ผล ได้รับความร่วมมือ ผมกดชัตเตอร์ ได้ภาพที่เห็นนี่แหละ

 

ภาพเด็ดที่ได้มุมกล้องเหมาะเหม็ง

            ถ่ายเสร็จก็เอาให้ดูว่ารูปนี้เป็นอย่างไร ได้ความเพิ่มเติมว่า หนีน้ำมาจากถนนรามอินทรา กรุงเทพมหานคร ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม บ้านก็ท่วม ทำเลการค้าก็ท่วม ขนของที่ขายอันได้แก่เครื่องประดับแปลกตา ล้วนสวยงาม ใส่ท้ายรถมาด้วย กลัวหาย

            การเลือกมุมกล้องเพื่อถ่ายทอดความสวยงามของธรรมชาติมีหลากหลายรูปแบบ บนความแห้งแล้งก็อาจจะมีเรื่องเล่า เช่นที่ผลาญหินกว้างขวางหน้าผาแต้ม

 

สุดขอบผาแต้มมีวิวแม่น้ำโขง

             ข้อมูลจำเพาะเรื่อง ใบไม้เปลี่ยนสีได้อย่างไร 

             ในใบพืชทั่วไปมีสารคลอโรฟิลล์ ซึ่งมีอยู่ถึง 4 ชนิดคือ ถ้าเป็นคลอโรฟิลล์A จะให้ใบสีเขียว ถ้าเป็นคลอโรฟิลล์B ถ้าเป็นคลอโรฟิลล์C จะให้สีส้ม และถ้าเป็นคลอโรฟิลล์D จะให้สีน้ำตาล ดังนั้นแม้ใบไม้แม้ไม่มีสีเขียวก็มีคลอโรฟิลล์สามารถสังเคราะห์แสงได้

             ในใบพืชยังมีสารประกอบอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า แคโรทีนอยด์(Carotenoid)ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ ประเภทไขมัน เจ้าแคโรทีนอยด์นี้ก็มีอยู่ 2 ชนิดคือ แคโรทีน(Carotene) ซึ่งเป็นสารสีแดงหรือสีส้ม และ แซนโทฟิลล์ZXantrophyll)ซึ่งเป็นสารสีเหลืองหรือสารสีน้ำตาล 

 

แซนโทฟิลล์ให้สีเหลือง

             เมื่อเกิดการสังเคราะห์แสงจากช่วงเวลากลางวันและกลางคืน สั้นหรือยาว ก็เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสีของแคโรทีนอยด์

             นี่คือกระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนสีของใบไม้ พอจะเข้าใจไหมนี่ ถ้าไม่เข้าใจก็ค้นคว้าเพิ่มเติมบ้างก็แล้วกันนะ เพราะว่าได้พยายามที่จะจำแนกให้เห็นภาพง่ายๆว่า ใบไม้เปลี่ยนสีด้วยเหตุใด

ป้าหนีน้ำท่วมมาเที่ยวที่ผาแต้ม


Last updated: 2011-11-30 08:09:39


@ ผาแต้มเมื่อยามแล้ง มีความงดงาม
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ผาแต้มเมื่อยามแล้ง มีความงดงาม
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,917

Your IP-Address: 3.141.100.120/ Users: 
1,913