กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
If you can dream it, you can do it = ถ้าคุณฝันได้ คุณก็ทำได้
 
     
 
คนพิทักษ์ป่า
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรจะมีฝ่ายกฎหมาย ที่คอยช่วยเหลือดูแลคนทำงานด้านคดีความ เช่นคดีวิสามัญ ปะทะกับทีมล่าช้าง ฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิต และเจ้าหน้าที่โดยข้อหาพยายามฆ่า
 

 

•น่าอนาถแค่ไหนใครรู้บ้าง

กับลูกจ้างทำหน้าที่พิทักษ์ป่า

ด้วยทำงานพร้อมพลีแลกชีวา

แต่ด้อยค่าต้อยต่ำช้ำเหลือเกิน

•ต้องรอนแรมอ้างว้างอยู่กลางไพร

ทั้งจากไกลบ้านช่องต้องห่างเหิน

แสนทุกข์ใจหมองหม่นทนเผชิญ

ด้วยนานเนิ่นพลัดพรากจากครอบครัว

•ตระเวนป่าบุกไปต้องไม่บ่น

หาญผจญผองภัยมีไปทั่ว

ใครบุกรุกทำลายป่ามาพันพัว

ไม่คิดกลัวหวาดเกรงเร่งจับกุม

•อันอาวุธยุทโธปกรณ์น้อย

อีกต่ำต้อยเทียบคนร้ายอยู่หลายขุม

คอยปลุกใจอาราธนาพระชุมนุม

ผีป่าคุ้มเจ้าเขาครองพ้นผองภัย

•เสี่ยงหมีเสือสัตว์ร้ายทั้งไข้ป่า

ต้องรู้ท่าเท่าทันป้องกันไว้

หากผิดคาดพลาดพลั้งในครั้งใด

อาจเจ็บไข้ด่าวดิ้นสิ้นชีวี

•เรื่องเงินเดือนน้อยค่าน่าสงสาร

สวัสดิการกระจ้อยร่อยด้อยเหลือที่

ค่าเบี้ยเลี้ยงแล้วแต่นายเขาใยดี

ค่าเสี่ยงภัยไม่เคยมีแม้สักคราว

•หันมามองยศถาบรรดาศักดิ์

ต่ำต้อยนักแค่ "นาย" "นาง"หรือ "นางสาว"

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันแพรวพราว

ต้องอื้อฉาวเข้าเสี่ยงภัยแล้วตายไป


•ก็ได้แต่ภาคภูมิใจในหน้าที่

ทำความดีด้วยใจจริงที่ยิ่งใหญ่

มุ่งคอยป้องปกปักพิทักษ์ไพร

เพื่อคนไทยถ้วนหน้าสถาพร

•ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)

www.lookforest.com

แรงดลใจ :

 31 กรกฎาคม  เป็นวันผู้พิทักษ์ป่าโลก (World Ranger day) ซึ่งเป็นวันที่ระลึกถึงพนักงานพิทักษ์ป่า ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันรักษาทรัพยากรป่าไม้  โดยมีการจัดตั้งมาตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2550 ซึ่งในประเทศไทยได้มีการให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน ขอนำกรณีในวันที่ 23 กันยายน 2554 ได้มีการเสวนาเรื่อง "เขาพิทักษ์ป่า...ใครพิทักษ์เขา" ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กรุงเทพฯซึ่งมีข้อเสนอจากที่ประชุมที่น่าสนใจดังนี้                                                                                                   

                1. ควรจัดหาแหล่งเงินกองทุนช่วยเหลือดูแลพนักงานพิทักษ์ป่า โดยขอการสนับสนุนจากภาคเอกชน บรรษัทภิบาลต่างๆ  หรือกลไกอื่นๆ ให้เป็นรูปธรรมชัดเจน ต่อเนื่อง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ทั้งนี้สวัสดิการที่มีควรดูแลให้ครบทุกขั้นตอน ตั้งแต่ชุดทำงาน สนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำงานลาดตระเวน เช่นเต็นท์ เป้ หากเสียชีวิตมีการช่วยเหลืออย่างไร ครอบครัวที่อยู่เบื้องหลังมีการช่วยเหลืออย่างไรต่อไป ยกตัวอย่างมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้มีการทำประกันชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่ที่มีรายได้น้อยกว่า 5,000 บาทต่อเดือน ในแต่ละปีก็ได้ช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียได้บ้าง หากมีการกระจายแนวคิดในการทำงานแบบนี้ไปให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยให้องค์กรเอกชน บริษัทที่มี CSR ร่วมกันสนับสนุนดูแล น่าจะเป็นประโยชน์ได้มาก

                2. ในส่วนของการทำประกันชีวิตให้กับพนักงานพิทักษ์ป่า บางหน่วยงานได้พยายามนำเงินรายได้มาเพื่อทำประกันชีวิตหมู่ แต่ก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากติดขัดในระเบียบ นอกจากนี้หากแจ้งเหตุในการเสียชีวิตเนื่องจากการปะทะกับฝ่ายตรงข้ามนั้น ทางบริษัทประกันชีวิตจะไม่จ่ายเงินประกัน ต้องแจ้งเป็นการเสียชีวิตแบบอื่น ถึงจะได้รับเงินทดแทน ควรติดต่อกับบริษัทประกันชีวิตที่มีแนวทางธุรกิจ CSR ที่ยินดีให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ เพื่อให้เป็นสวัสดิการเรื่องประกันชีวิต

                3. ควรมีการหารือ ทำข้อตกลงกับกรมบัญชีกลาง เพื่อจัดงบประมาณเพื่อให้สามารถจัดซื้อ จัดหา วัสดุอุปกรณ์จำเป็น ที่สำคัญในการทำงานของพนักงานพิทักษ์ป่า ในกฎเกณฑ์เดียวกันกับทางทหาร ตำรวจ เนื่องจากการปฏิบัติงานก็เป็นการทำงานเพื่อปกป้องดูแลทรัพยากรของประเทศชาติ ทำงานหนัก จึงควรมีการดูแล ให้สวัสดิการ ทั้งการช่วยเหลือเรื่องอุปกรณ์การทำงาน การดูแลให้ครอบครัวเมื่อเสียชีวิต รวมไปถึงการรับทายาท (คู่สมรส และลูก) บรรจุเข้าทำงานในหน่วยงาน เป็นต้น

                4. กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรจะมีฝ่ายกฎหมาย ที่คอยช่วยเหลือดูแลคนทำงานด้านคดีความ เช่นคดีวิสามัญ ปะทะกับทีมล่าช้าง ฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิต และเจ้าหน้าที่โดยข้อหาพยายามฆ่า ซึ่งก็ต้องดำเนินการต่อสู้ในชั้นศาลกันต่อไป หรือมีศาลของกระทรวง เพื่อให้พิจารณาคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ ให้มีการลงโทษที่ชัดเจนและใช้เวลาในการดำเนินคดีไม่นานมาก

                5. จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าบางพื้นที่นั้น สัดส่วนของเจ้าหน้าที่หนึ่งคนต่อพื้นที่ที่ต้องดูแล อยู่ที่ 1 คนต่อ 20,000 กว่าไร่ ซึ่งเกินกำลังการทำงาน เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สัดส่วนที่เหมาะสมควรเป็น 1 : 3,000 ไร่ กรณีมีข้อจำกัดเรื่องกำลังคน เจ้าหน้าที่มีน้อย ควรมีการพิจารณาคัดคนต้องใช้กระบวนการคัดเลือก ให้มีความสามารถในการทำงานอย่างเต็มที่เหมาะกับงาน ทั้งงานลาดตระเวนและงานบริการนักท่องเที่ยว ทั้งนี้         ควรมีหน่วยงานที่คอยติดตามดูแล ให้กำลังใจ รวมถึงการป้องกันการกระทำผิด ป้องปรามไปในตัวด้วย          

              6.ปัจจุบันการเบิกเบี้ยเลี้ยงให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ยังมีข้อจำกัด โดยกรมบัญชีกลางมีระเบียบว่า หากเจ้าหน้าที่มีที่พักในพื้นที่ เมื่อทำงานลาดตระเวนในพื้นที่ ก็ไม่สามารถเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงเป็นการเดินป่า ลาดตระเวน เป็นการทำงานที่หนัก แต่เบิกเบี้ยเลี้ยงไม่ได้  และยังต้องออกเงินค่าอาหาร ที่ต้องนำไปรับประทานอีกด้วย จึงควรมีทบทวนการเบิกจ่ายให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน

                ข้อเสนอข้างต้น ไม่ทราบว่าได้มีการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด เพื่อช่วยเหลือให้พนักงานพิทักษ์ป่าที่มีภาระงานอันยิ่งใหญ่และสำคัญต่อทรัพยากรป่าไม้เป็นอย่างยิ่ง ได้มีขวัญและกำลังใจต่อการปฏิบัติงานมากขึ้น กับทั้งควรมีการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของพนักงานพิทักษ์ป่าเพิ่มเติมอีกด้วย โดยเฉพาะการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงการทำงานที่มีเงื่อนงำในบางหน่วยงาน

               


Last updated: 2017-07-20 08:19:20


@ คนพิทักษ์ป่า
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ คนพิทักษ์ป่า
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,297

Your IP-Address: 3.19.31.73/ Users: 
1,295