เรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่นจะได้ไม่ต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง
 
     
 
คุณค่าของป่าไม้
จนในสมัยหนึ่งเมื่อประมาณห้าสิบปีมาแล้ว ฯพณฯ จอมพล สฤษณ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า “ผู้ใดทำลายป่า ผู้นั้นเป็นศัตรูบ่อนทำลายชาติ”
 

 

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่อำนวยผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างยั่งยืนอันมหาศาลแก่สังคม มีบทบาทอันสำคัญยิ่งทั้งต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ การพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนและประเทศในภาพรวม และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของสังคม การที่มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ปกคลุมพื้นผิวดินไว้นั้น จะช่วยลดการกัดกร่อนผิวหน้าดิน ป้องกันการสูญเสียดินชั้นบนซึ่งเป็นแหล่งสะสมธาตุอาหารพืชและจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชพรรณต่างๆ ช่วยปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นผ่านกระบวนการผลิตและการย่อยสลายของเศษซากพืช ช่วยควบคุมอากาศใกล้ผิวดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืออุณหภูมิและความชื้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตอื่นทั้งพืชและสัตว์ รวมทั้งช่วยในการอนุรักษ์น้ำผ่านทางการควบคุมการคายระเหย การควบคุมระดับน้ำใต้ดิน และการไหลบ่าของน้ำหน้าดิน ซึ่งต่างก็ช่วยส่งเสริมให้น้ำได้ซึมซับลงในดินได้ดียิ่งขึ้น

ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ก็เป็นที่ทราบกันมาช้านานแล้วเช่นกันว่าป่าไม้เป็นแหล่งปัจจัยสี่ที่สำคัญ  เพราะป่าไม้ให้ทั้งที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคแก่มวลมนุษย์ ข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติเมื่อ 10 ปีที่แล้ว  ระบุว่าในปี พ.ศ. 2547 ประชากรทั้งโลกมีการใช้ไม้ทุกชนิดประมาณ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับประเทศไทยใช้ไม้ทุกชนิดประมาณปีละ 66 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 40 ล้านตัน เป็นไม้ยางพารา 8.0 ล้านตัน ไม้ยูคาลิปตัส 7.5 ล้านตัน ไม้สักและไม้อื่นๆ (นำเข้า) 4.5 ล้านตัน และเป็นไม้พลังงาน 20.0 ล้านตัน ทำให้มูลค่าการนำเข้าไม้ท่อนและไม้แปรรูปในปี พ.ศ. 2549 มีมูลค่าสูงถึง 18,861.227 ล้านบาท ในขณะที่การส่งออกมีเพียง 13,086.898 ล้านบาท เท่านั้น ทำให้ตัวเลขการนำเข้าสูงกว่าการส่งออกถึง 5,774.329 ล้านบาท นั่นคือ ในปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยขาดดุลด้านไม้ท่อนและไม้แปรรูปเฉลี่ยคนละ 94.66 บาท และจากการคาดการณ์แนวโน้มการใช้ไม้ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2560 ปรากฏว่าจะสูงถึง 100.26 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนทางด้านการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตนั้น แทบทุกสังคมในทุกวันนี้ต่างก็พูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของอากาศและปัญหาโลกร้อน โลกร้อนเพราะประชาชนปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกผ่านทางกลไกต่างๆ ให้แก่โลกมากขึ้นกว่าในอดีต แต่คาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซที่จำเป็นสำหรับขบวนการสังเคราะห์แสงของพืช โดยการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปแล้วปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมา นั่นคือ ต้นไม้ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ด้วยการช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ดังนั้น ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงก่อให้เกิดความพยายามในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ด้วยการเพิ่มพื้นที่แหล่งดูดซับ ซึ่งพิธีสารเกียวโตได้สร้างกลไกที่ยืดหยุ่นให้กับประเทศพัฒนาในการลดก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกันขึ้น และคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากการปลูกป่าก็เป็นหนึ่งในรูปแบบที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย และนับวันจะทวีความสำคัญมากขึ้นทุกที

 จากประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมนานาประการดังกล่าวแล้ว จึงเห็นได้ว่า ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติอันสำคัญยิ่งของชาติ จนในสมัยหนึ่งเมื่อประมาณหกสิบปีมาแล้ว ฯพณฯ จอมพล สฤษณ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า “ผู้ใดทำลายป่า ผู้นั้นเป็นศัตรูบ่อนทำลายชาติ” ทว่า ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยก็ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

 

 


Last updated: 2015-01-02 10:01:22


@ คุณค่าของป่าไม้
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ คุณค่าของป่าไม้
 
     
     
   
     
Untitled Document



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,636

Your IP-Address: 18.217.207.112/ Users: 
1,634