ทำธุรกิจต้องคุ้มค่า ช่วยคนไม่ต้องคิดเรื่องคุ้ม
 
     
 
ฟาร์มไม้ป่าหนทางเพิ่มไม้เศรษฐกิจ.
ข้อคิดที่ได้จากการศึกษาดูงานด้านฟาร์มป่าไม้ครั้งนั้น หากจะมาปรับใช้กับบ้านเรา คงต้องมีการวางระบบการส่งเสริมกันใหม่ให้ชัดเจนก่อน แล้วจึงค่อยคิดถึงเนื้อหากฎหมายที่มาช่วยจัดการ
 

เมื่อปี 2549 ผู้เขียนได้ทำงานชิ้นหนึ่งให้แก่กรมป่าไม้ได้แก่ โครงการจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจระดับจังหวัด ซึ่งเป็นการศึกษาต่อยอดมาจากโครงการเดิมที่กรมป่าไม้ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยปลูกไม้เศรษฐกิจโดยสนับสนุนเงินทุนให้ไร่ละ 3,000 บาท มาตั้งแต่ปี 2537 ในขณะนั้นมีความหวังลึก ๆ ว่าจะเห็นฟาร์มไม้ป่าเกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของเมืองไทย เห็นการลงทุนส่งเสริมการปลูกไม้อย่างเป็นระบบมีเนื้อที่พอจะนำไปสู่ความยั่งยืน(15 ล้านไร่) ซึ่งส่งผลให้การปลูกไม้ป่าเป็นอาชีพที่มั่นคงยั่งยืน ช่วยลดแรงกดดันที่จะเข้าไปลักลอบตัดไม้ในป่าธรรมชาติ อีกทั้งลดการนำเข้าไม้จากต่างประเทศ เพิ่มโอกาสในการทำรายได้ให้แก่ประเทศ แต่ดูเหมือนว่าบรรยากาศและความพร้อมของประเทศไม่เอื้ออำนวยให้เกิดแนวทางใหม่ที่หลุดจากกรอบเดิม ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำงบประมาณมาลงทุนกับโครงการป่าไม้ขนาดใหญ่  ที่จะต้องใช้เวลารอคอยให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ เพราะหลังจากการมอบงานให้กรมป่าไม้ไปแล้ว ก็เกิดการปฏิวัติรัฐประหารขึ้น และก็ไม่มีใครในรัฐบาลสนใจนำประเด็นและแนวทางที่ได้เสนอแนะมาพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนกันอีก

 

ในยุคปัจจุบัน(2557-) เป็นช่วงเวลาที่วงการปลูกป่าตื่นตัวกันมาก มีการออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการป่าไม้ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการปรับปรุงกฏหมายไม้เศรษฐกิจ “พระราชบัญญัติสวนป่า 2535” เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมให้เกษตรกรซึ่งมีที่ดินมาก ๆ มาปลูกไม้เศรษฐกิจเป็นฟาร์ม แต่ดูเหมือนว่ากฏหมายป่าไม้ในปัจจุบัน ยังมุ่งประเด็นเชิงรับมากกว่าเชิงรุก ที่เน้นการป้องกันมิให้นำไม้ที่ผิดกฎหมาย จากการลักลอบตัดในป่าธรรมชาติมาสรวมกับไม้ที่ตัดจากฟาร์ม จึงทำให้กฏหมายออกมาในทำนองอนุญาติให้มีการขึ้นทะเบียนสวนป่า โดยปลูกชนิดไม้ที่มีในป่าธรรมชาติในฟาร์มที่ขึ้นทะเบียนเป็นสวนป่าแล้วตัดฟันออกมาได้ นำเคลื่อนที่ไปบนถนนหนทางได้โดยไม่ผิดกฏหมาย ซึ่งสมมติฐานของกฏหมายป่าไม้นั้นมุ่งประเด็นไปทางลบและไม่เป็นไปในเชิงรุก เกษตรกรปลูกไม้ป่ายังคงไม่ได้รับการส่งเสริม และเป็นการอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายป่าไม้ฉบับอื่น ๆ หากเป็นเช่นนี้ต่อไป คงมีแต่เกษตรกรที่มีความรักมีกำลังใจในการทำธุรกิจการปลูกไม้ป่านี้คงอยู่ หากจะหาผู้ปลูกรายใหม่ ๆ อาจหาได้ไม่ง่ายนัก

ผู้เขียนได้ไปดูงาน ณ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ.2550 ด้านฟาร์มไม้ป่า ที่รัฐทัสมาเนีย ซึ่งมีเนื้อที่ป่าร้อยละ 49 ของพื้นที่รัฐ เป็นป่าไม้ของรัฐร้อยละ 70 เนื้อที่รวม 3.3 ล้านเฮกแตร์ (20.625 ล้านไร่) เป็นป่าของเอกชนอยู่ประมาณร้อยละ 30 (คิดเป็นเนื้อที่ 6.2 ล้านไร่) ในจำนวนนี้ เป็นป่าธรรมชาติ 5.3 ล้านไร่ ป่าปลูก 0.9 ล้านไร่ ภายใต้การจัดการของเอกชน ซึ่งมีกฎหมาย 3 ฉบับวางกรอบการจัดการ ได้แก่ Forest Practices Code, Forestry Act และ Private Forest Act ซึ่งส่งเสริมให้รัฐและเอกชนร่วมกันจัดการป่า พื้นที่ป่าไม้จัดเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐภายใต้ Land Use Act ไม่ให้มีการนำที่ดินป่าไม้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น การเกษตร และอนุญาตให้เจ้าของที่ดินทำไม้เพื่อการค้าได้โดยต้องมีแผนการจัดการป่า (Forest Practice Plan) ซึ่งผ่านการรับรองจากนักวิชาการป่าไม้อาชีพ และสุ่มตรวจการมีแผนโดยหน่วยงานราชการป่าไม้ (Forest Practice Authority) สำหรับการส่งเสริมการปลูกในอดีตนั้น ได้มีการช่วยค่าใช้จ่ายในการปลูก การการันตีการซื้อขายไม้ โดยใช้การออกใบรับรอง(certification) อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันมีสิ่งจูงใจเพิ่มขึ้นด้านการซื้อขายคาร์บอนเพื่อสิ่งแวดล้อม และการเข้าไปช่วยทางวิชาการจากหน่วยงานรัฐ แม้ว่าเงินสนับสนุนในด้านการปลูกจะไม่มีให้แล้ว

ข้อคิดที่ได้จากการศึกษาดูงานด้านฟาร์มป่าไม้ครั้งนั้น หากจะมาปรับใช้กับบ้านเรา คงต้องมีการวางระบบการส่งเสริมกันใหม่ให้ชัดเจนก่อน แล้วจึงค่อยคิดถึงเนื้อหากฎหมายที่มาช่วยจัดการ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ พื้นที่ที่ส่งเสริมให้มีการปลูกไม้ป่าเศรษฐกิจ องค์กรส่งเสริมและสิ่งจูงใจ การมีส่วนร่วมและการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

พื้นที่ที่ควรส่งเสริมให้นำไม้เศรษฐกิจมาปลูก ควรเป็นพื้นที่ซึ่งรัฐมีนโยบายให้มีการใช้ประโยชน์ระยะยาวหรือคุ้มครองให้มีไม้ยืนต้นคงอยู่อย่างถาวร ซึ่งสามารถตัดฟันไม้มาใช้ประโยชน์ได้ตามหลักวิชาการ แล้วจึงปลูกทดแทนใหม่ในพื้นที่ ซึ่งการมีต้นไม้ขึ้นอยู่ในพื้นที่จะช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นน่าอยู่อาศัย มีผลผลิตดี มีความร่มรื่นสวยงาม พื้นที่ไม้เศรษฐกิจที่เป็นหย่อมขนาดเหมาะสมหรือติดต่อกันเป็นผืนจะช่วยธำรงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ  ดังนั้น การส่งเสริมให้กำหนดพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับการรักษาสิ่งแวดล้อมไว้เป็นนโยบายประเทศหรือท้องถิ่น จะเป็นการสร้างโอกาสให้มีการเพิ่มผลผลิตไม้เศรษฐกิจจากการส่งเสริมฟาร์มไม้ป่าในพื้นที่ดังกล่าว ปัจจุบัน ยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการป่าไม้หรืออื่น ๆ ใดที่คำนึงถึงประเด็นนี้

หากมีนโยบายนี้เกิดขึ้นมาเมื่อไร คงต้องพิจารณาให้มีมาตรการณ์จูงใจสำหรับการปลูกไม้เศรษฐกิจ เช่น เงินช่วยเหลือการปลูก การลดหรือยกเว้นภาษีการใช้ที่ดิน การให้เครดิตเพื่อเข้ารับการบริการด้านสาธารณะต่าง ๆ ทั้งนี้ สิ่งจูงใจนี้จะช่วยให้เจ้าของฟาร์มรักษาต้นไม้ไว้จนถึงรอบตัดฟัน จนต้นไม้เติบโตมีมูลค่าสูง ซึ่งไม่เป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจหากเกษตรกรตัดไม้ออกไปก่อนถึงกำหนดเวลาอันควร

สำหรับ กระบวนการส่งเสริมนั้น ควรพิจารณาให้มีองค์กรเฉพาะกิจ อาจเรียกว่า “องค์กรไม้เศรษฐกิจ” ทำหน้าที่ประสานงานและสร้างสิ่งจูงใจ ให้เกิดขึ้นแก่เจ้าของที่ดินในพื้นที่เขตส่งเสริมให้หันมาปลูกไม้เศรษฐกิจในที่ดินของตนเอง สนับสนุนให้เกิดหน่วยงานด้านวิชาการทำหน้าที่ในการส่งเสริม ซึ่งอาจเป็นหน่วยงานภายใต้องค์กรเฉพาะกิจ หรือเป็นภาคเอกชนที่เข้ามารับงานส่งเสริม(อาจเรียกว่า “บริษัทส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจ”) ซึ่งหากเป็นภาคเอกชนแล้วควรกำหนดให้มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมไม้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ ซึ่งจะทำให้การส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจมีเป้าหมายเชื่อมโยงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การจัดการตั้งแต่การส่งเสริมกล้าไม้ชนิดและคุณภาพที่ต้องการของตลาด “บริษัทส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ” จะทำหน้าที่ตั้งแต่เริ่มปลูก บำรุงรักษา ตัดขยายระยะในช่วงเวลาต่าง ๆ จนถึงเวลาตัดฟันครั้งสุดท้าย

 เกษตรกรในระบบฟาร์มป่าไม้ จะไม่ต้องประสบกับความยุ่งยากในการจัดการ จะมีบริษัทส่งเสริมฯ มาให้คำแนะนำต่าง ๆ ทั้งสิ่งจูงใจทางเศรษฐกิจ การช่วยเหลือด้านวิชาการ รวมทั้งการตัดฟันไม้มาใช้ประโยชน์ขนส่งสู่ตลาดที่วางแผนรองรับไว้ล่วงหน้า

ภาคอุตสาหกรรมเมื่อได้วัตถุดิบไม้จากฟาร์มป่าไม้ ในระยะเวลาที่แน่นอน ก็สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น อีกทั้งมีระบบการรับรองป่าไม้มาสนับสนุน ทำให้สามารถขายไม้ได้ราคาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดต่างประเทศ ย่อมมีผลกำไรมากขึ้น สามารถเจียดจ่ายไปเป็นกองทุนสนับสนุนการปลูกฟาร์มไม้ป่า ให้เกิดการจัดการไม้แบบรอบหมุนเวียน เป็นการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน

 

 


Last updated: 2015-02-28 17:02:58


@ ฟาร์มไม้ป่าหนทางเพิ่มไม้เศรษฐกิจ.
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ฟาร์มไม้ป่าหนทางเพิ่มไม้เศรษฐกิจ.
 
     
     
   
     
Untitled Document



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,827

Your IP-Address: 3.133.145.17/ Users: 
1,826