ป่ารอยต่อ:ขอเทิดทูน
.จันทบุรี-ระยอง-ชลบุรี-
ฉะเชิงเทรา-สระแก้วมีพื้นที่ป่า
เชื่อมรอยต่อใกล้ชิดติดกันมา
เกือบล้านห้าแสนไร่กว้างใหญ่นัก
.เอื้อประโยชน์เนิ่นนานมาสารพัด
จากพงชัฏ-สัตว์ป่าแจ้งประจักษ์
เพียงบางส่วนคนทำลายไร้ตระหนัก
ชวนปกปักพิทักษ์ไพรให้ยั่งยืน
.เกิดโครงการ-มูลนิธิที่ก่อตั้ง
ด้วยมุ่งหวังป้องป่าไม้ไว้ทั้งผืน
ใครบุกรุกครอบครองต้องทวงคืน
ปลูกพลิกฟื้นบำรุงป่าพาสมบูรณ์
.จัดพื้นที่ทำหมู่บ้านฐานชุมชน
เอื้อผู้คนได้อาศัยไม่สิ้นสูญ
เน้นให้อยู่คู่กับป่าพาเกื้อกูล
ช่วยเพิ่มพูนคุณภาพกับชีวี
.อีกสำรวจตรวจป่าออกประกาศ
อุทยานแห่งชาติจัดพื้นที่
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนาลี
รักษ์อากาศ-ดิน-น้ำดีมีคุณค่า
.เน้นทุกฝ่ายใฝ่รวมร่วมมือกัน
เพื่องานดีที่มุ่งมั่นทุ่มฟันฝ่า
เหนื่อยยากจังยังอำนวยช่วยกันมา
มวลปัญหาพาทยอยค่อยหมดไป
.นานเกือบสี่สิบปีเริ่มดีพร้อม
สิ่งแวดล้อมเศรษฐสังคมสมฝันใฝ่
ก่อประโยชน์มากล้นคนใกล้ไกล
พาพงไพรสัตว์ป่าค่าประจักษ์
.กราบสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง
ธ ทรงห่วงชาวไทยทั้งหลายนัก
สิ่งแนะนำล้ำคุณค่าพาใจภักดิ์
อนุรักษ์ป่ารอยต่อขอเทิดทูน
.ครูนิด
วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com ม.ค. 67
หมายเหตุ:
ขอขอบพระคุณข้อมูลที่ใช้ประกอบการเรียบเรียง จากวารสาร"มณีบูรพา"
ของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด
แรงดลใจ: เคยได้ยินคำว่า"ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด" มานานพอควร กับทั้งเคยไปสัมผัสและพักแรมระยะสั้นๆ
ในพื้นที่จริงที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนย
และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-แม่วง ให้รู้สึกประทับใจอยู่พอสมควร
เพราะสภาพป่าไม้เท่าที่พบเห็นมีความอุดทสมบูรณ์ดี กับทั้งทราบว่ามีสัตว์ป่าชุกชุมหลายชนิด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งช้างป่าที่ทีจำนวนมากเป็นพิเศษ
ที่ต้องมีมาตรการพิเศษในการจัดการเพื่อลดกระทบที่เกิดกับชุนข้างเคียงอยู่เสมอ
นอกจากนี้ยังเคยไปศึกษาดูงานบางโครงการในพื้นที่ของจังหวัดสระแก้ว
จันทบุรีและฉะเชิงเทรา ที่พยายามสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อให้คนอยู่คู่กับป่าได้
เพียงแต่ระยะแรกยังมีความรู้อยู่ในวงจำกัด
หลังจากได้ทำการศึกษาข้อมูลบางด้านเพิ่มเติม
ทำให้ยิ่งรู้สึกประทับใจมากยิ่งขึ้น เมื่อทราบว่าป่าผืนนี้มีขนาดกว้างขวางมากเกือบ
1,500,000 ไร่ ที่เป็นเขตเชื่อมต่อระหว่าง 5 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี
จันทบุรี ระยอง และสระแก้ว
ซึ่งในอดีตพื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมากแห่งหนึ่งของประเทศ
เป็นแหล่งของพรรณไม้ป่ามีค่าและสัตว์ป่านานาชนิด
ซึ่งได้เอื้ออำนวยประโยชน์ทางตรงในด้านปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิตมนุษย์ ทั้งอาหาร
ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค รวมทั้งประโยชน์ทางอ้อม
อันได้แก่การรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ อากาศ
ดินและน้ำที่ดีให้แก่ชุมชนที่อยู่ข้างเคียง
ตลอดทั้งสังคมและประเทศชาติเป็นการต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ป่าไม้ใขเขตรอยต่อ 5 จังหวัดนี้
เริ่มมีปัญหาการถูกบุกรุกทำลายในรูปแบบต่างๆจากราษฎรและนายทุนอยู่บ้าง
แม้ว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ไขแล้ว
แต่ยังขาดประสิทธิภาพและประสิทธผลที่น่าพอใจ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2536 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง
ในปัจจุบัน)
ได้ทรงตระหนักถึงความสำคัญกับทั้งมีพระราชดำริให้มีการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้
และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้รวมถึงสัตว์ป่า
ให้มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมเช่นในอดีตที่ผ่านมา
ทั้งนี้ได้เน้นควบคู่ไปกับการพัฒนาความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของชุมชนที่เกี่ยวข้องด้วย
ทางราชการจึงได้เริ่มดำเนินงาน"โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่รอยต่อ
5 จังหวัด ภาคตะวันออก อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ"
ที่มีผลงานเด่นในหลายด้าน และต่อมาในปี พ.ศ. 2548 กองทัพบกได้จัดตั้ง"มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ
5 จังหวัด"
เพื่อให้ความร่วมมือและสนับสนุนโครงการในด้านต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้และสัตว์ป่า
การปลูกป่าเสริมป่าให้มีสภาพที่ดีขึ้น
การพัฒนาอาชีพและรายได้เพ่ือยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้ราษฎร
ตลอดจนการแก้ไขปัญหาป่าไม้จากผู้มีอิทธิพลและนายทุน
โดยที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด
ทำให้มีผลงานที่ประสบผลสำเร็จมากขึ้นอย่างน่าพึงพอใจจนถึงปัจจุบันนี้
Last updated: 2024-04-08 15:14:47