ทำมากก็ผิดมาก ทำน้อยก็ผิดน้อย ไม่ทำก็ไม่ผิด
 
     
 
ร่วมรักษา "ป่าชายเลน"
ภูมิใจที่ได้ทำกิจกรรมกับกรม ทช.ในการ ...ร่วมรักษา "ป่าชายเลน"... เมื่อ 25-26 มี.ค. 68 ที่จังหวัดสมุทรสงคราม อันเป็นถิ่นกำเนิดของตัวเองอีกด้วย...
 

ร่วมรักษาป่าชายเลน

 

.ขอบพระคุณขอชื่นชมกรม ทช.”*
สร้างคุณต่อป่าชายเลนเห็นประจักษ์
ต้นไม้เคยถูกทำลายมากมายนัก
มาชะงักด้วยสรรค์สร้างทางที่ดี

 

.ราชการนั้นทำไปในทางผิด
พื้นที่ดินกรรมสิทธิ์คิดภาษี
ชาวบ้านรักษ์ป่าชายเลนเห็นมากมี
กลับถูกตีที่รกร้างว่างเปล่าไป

 

.เรียกเก็บจ่ายในอัตราค่าที่ดิน
บางท้องถิ่นแพงยิ่งนักยากรับได้
ป่าชายเลนจึงถูกถางช่างช้ำใจ
ปลูกมะพร้าวพืชผลไม้ไม่เข้าที

 

.“กรม ทช.เกรงป่าหมดสุดอดไหว
สั่งการให้บรรดาเจ้าหน้าที่
รวมคุณค่าป่าชายเลนเน้นสิ่งมี
ปวงสิ่งดีเร่งชี้แจงแถลงไป

 

.จนคณะรัฐมนตรีมีมติ
ให้ตรองตริเรื่องภาษีที่ดินใหม่
ด้วยเข้าเกณฑ์เป็นพื้นที่สีเขียวได้
หากต้นไม้ในจำนวนสมควรมี

 

.ป่าชายเลนเว้นภาษีมีต้นไม้
สามสิบต้นต่อไร่ในพื้นที่
เมตรสามสิบต้องสูงถึงจึงเหมาะดี
ในทุกปีให้สำรวจตรวจสอบไป

 

.หวังท้องถิ่นทั้งหลายได้ร่วมจิต
ทั้งทำคิดช่วยรักษาผืนป่าไม้
อีกยืนยงส่งเสริมเพิ่มพงไพร
หากมีคนก่นทำลายอย่าได้ยอม

 

.ป่าชายเลนมีคุณให้ในหลายทิศ
เศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม
หากสูญไปให้ระทมคนตรมตรอม
ร่วมถนอมรักษาไว้ให้ยั่งยืน

 

.ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)

www.lookforest.com 27 มี.ค. 68

หมายเหตุ * กรม ทช.” คือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

แรงดลใจ: เมื่อวันที่ 25-26 มีนาคม 2568 ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการปฏิบัติงาน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่ดินที่มีลักษณะเป็นป่าชายเลน ตามกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2567” ณ บ้านทะเลสีครีมรีสอร์ท ต.บางจะเกร็ง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ซึ่งกรม ทช. (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) ได้จัดขึ้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดที่เกี่ยวข้องกว่า 50 คน ได้มีความรู้และความเข้าใจที่ตรงกัน เกี่ยวกับประกาศของกรมซึ่งออกเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 ในการรับรองที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ของประชาชนที่มีลักษณะเป็นป่าชายเลน เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการได้รับยกเว้นการเสียภาษีที่ดินประจำปี

ทั้งนี้สืบเนื่องจากที่ผ่านมา หลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เรียกเก็บภาษีในที่ดินป่าชายเลนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของประชาชนซึ่งมีต้นไม้ขึ้นอยู่ในอัตราที่สูงมาก โดยประเมินจากมูลค่าที่ดิน ทำให้เจ้าของที่ดินหลายรายในหลายจังหวัดชายฝั่งได้ดำเนินการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีที่ดินดังกล่าว จึงมีการถางป่าชายเลนที่เป็นป่าแสม ป่าโกงกาง ป่าจากฯลฯ ไปทำการปลูกมะพร้าวและพืชเกษตรบางชนิด รวมทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งนอกจากไม่ค่อยประสบผลสำเร็จในทางปฏิบัติแล้ว ยังสร้างผลเสียหายอย่างย่อยยับต่อการสูญเสียคุณค่าของระบบป่าชายเลนที่เคยเอื้ออำนวยให้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และการตรึงคาร์บอนที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนที่กล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

ทางกรม ทช. จึงได้เสนอเรื่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างเข้มข้นและจริงจัง จนกระทั่งทางคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ได้มีมติยกเว้นภาษีให้แก่พื้นที่ป่าชายเลนที่มีลักษณะเป็นพื้นที่สีเขียว โดยมีเงื่อนไขให้ที่ดินที่จะได้รับยกเว้นภาษีจะต้องเป็นที่ดินซึ่งปกคลุมด้วยพืชพรรณป่าชายเลนเป็นองค์ประกอบหลัก และมีประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศเพื่อให้การดำรงชีวิต หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่กรม ทช.กำหนด จึงได้มีการออกประกาศมารองรับตามที่กล่าวข้างต้น โดยมีสาระสำคัญ คือ ที่ดินต้องมีชนิดพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่กำหนดไว้ 48 ชนิด โดยมีความสูงตั้งแต่ 1.30 เมตร ขึ้นไป และมีจำนวนต้นไม่น้อยกว่า 30 ต้นต่อไร่ ทั้งนี้หากองค์กรปกครองท้องถิ่นมีเหตุสงสัย ให้ประสานงานกับหน่วยงานของกรม ทช.ในพื้นที่ เพื่อออกทำการตรวจสอบและรับรองให้ต่อไป


Last updated: 2025-03-29 02:53:46


@ ร่วมรักษา "ป่าชายเลน"
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ร่วมรักษา "ป่าชายเลน"
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
37

Your IP-Address: 3.145.33.123/ Users: 
36