พระเมตตาเอื้อป่าไพร
.ดอยขุนแตะแต่ครั้งเก่าน่าเศร้าใจ
คนผลาญไพรเขาหัวโล้นโกร๋นพื้นที่
ทั้งปลูกฝิ่นไร่หมุนเวียนเตียนสิ้นดี
นานหลายปีกลียุคจากทุกข์ภัย
.ได้เมตตา"พระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ"
กระตุ้นจิตคนตระหนักรักษ์ป่าไม้
หลากหน่วยงานพัฒนาอาชีพไป
พาก่อคุณหนุนค่าให้หลายประการ
.เศรษฐกิจชาวบ้านดีมีรายได้
วนเกษตรเขตพงไพรในหลากด้าน
ปศุสัตว์-เกษตร-ป่าพาชื่นบาน
เอื้อรากฐานอันกินใช้ให้ประชา
.สังคมคนชุมนุมร่วมกลุ่มกัน
ได้แบ่งปันแลกสุขทุกข์ฟันฝ่า
มีน้ำใจให้แผ่เผื่อเอื้อกันมา
ช่วยนำพาอบอุ่นใจให้ชุมชน
.สิ่งแวดล้อมพร้อมพรักจากป่าไม้
หมู่สัตว์ไพรเพิ่มมาค่ามากล้น
อากาศดีที่ดินน้ำฉ่ำกมล
ส่งต่อผลคนอยู่กินแม้ถิ่นไกล
.มากคนเยือนแดนไกลได้เที่ยวท่อง
เห็นคุณค่าประโยชน์ผองของป่าไม้
เหล่าสัตว์ป่าชะนีกู่คู่พงไพร
พาดลใจอนุรักษ์ประจักษ์จิต
.คราวป่าน้อยพลอยทีท่าอากาศร้อน
คนพาย้อนกลับไปได้ถูกทิศ
ป่าสมบูรณ์กูลเกื้อเอื้อชีวิต
เลิกหลงผิดคิดทำลายไพรพนา
.ดอยขุนแตะแท้สดใสในวันนี้
ชุมชนดีที่ชวนให้ใฝ่ครวญหา
"สมเด็จแม่"คุณสูงส่งทรงเมตตา
ต้องรักษาผืนป่าไพรให้สมบูรณ์
.ครูนิด
วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com 14 ส.ค. 66
หมายเหตุ:ขอขอบพระคุณ คุณชาติชาย
นาคทิพวรรณ(หัวหน้าคนแรก) คุณสมเกียรติ คณะแก้ว(หัวหน้าคนปัจจุบัน) คุณพลชัย
ดวงใจไพรวัลย์
และบุคลากรของโครงการพัฒนาป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริสวนป่าสิริกิติ์ที่ 11(ฟาร์มขุนแตะ)
จ.เชียงใหม่ที่ให้ความอนุเคราะห์ข้อมูลและอำนวยความสะดวกในการเยี่ยมชมพื้นที่
แรงดลใจ: ได้มีโอกาสร่วมกับอาจารย์ชาวญี่ปุ่น
ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการวิจัยทางด้านการจัดการป่าไม้กับวิถีของชุนชน
ในพื้นที่ดอยขุนแตะ ต.ดอยแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 10-14 ส.ค. 66 โดยการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ป่าไม้
ผู้นำชุมชนและราษฎรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งสามารถสรุปได้ว่าระยะเวลา 26 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยสภาพป่าในพื้นที่เขาสูงชันซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร
กลับมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นเป็นอย่างมากกว่าอดีต ซึ่งเคยมีสภาพป่าที่เสื่อมโทรม
จากการถูกบุกรุกทำลายไปปลูกฝิ่นและทำไร่หมุนเวียน
กับทั้งเกิดไฟป่าไหม้อย่างซ้ำซากทุกปี
จุดเริ่มต้นของการดำเนินงานในพื้นที่นี้
มาจากการที่"สมเด็จแม่:สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ"
ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรและนักเรียน เมื่อ 23 ก.พ. 40 เมื่อทรงทราบปัญหาที่ชุมชนประสบอยู่
จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งฟาร์มตัวอย่างขึ้น
โดยการร่วมมือและประสานงานกันของหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งได้มีวัตถุประสงค์สำคัญดังนี้
1.
ส่งเสริมราษฎรในพื้นที่โครงการฯ
ให้มีรายได้เสริมจากการดำเนินการฟาร์มตัวอย่าง
2.
เป็นแหล่งอาหารให้ราษฎรในพื้นที่โครงการฯ
3.
เป็นแหล่งข้อมูลในการสาธิตและถ่ายทอดกรรมวิธีของกิจกรรมที่ดำเนินการในฟาร์มของหน่วยงาน
4.
เป็นแหล่งศึกษาข้อมูลกรรมวิธีดำเนินการที่ได้ผล
ที่เน้นให้ราษฎรสามารถดำเนินการเองได้
โดยใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้มากที่สุด
5.
อนุรักษ์สภาพป่าไม้ในพื้นที่ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ตลอดไป
ผลการดำเนินงานเกี่ยวกับฟาร์มตัวอย่างที่ผ่านมา
นับว่าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรในพื้นที่เป็นอย่างมาก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ
สังคมและสิ่งแวดล้อม หากคำนวณออกมาในทางเศรษฐศาสตร์
เชื่อว่าเป็นการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นอย่างยิ่ง
โดยเกิดคุณค่าต่อสังคมและประเทศชาติในภาพรวมเป็นการต่อเนื่อง
ทั้งนี้เพราะการที่สภาพป่าในพื้นที่ต้นน้ำลำธารกลับมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นนั้น
ย่อมส่งผลกระทบในการมีคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมอย่างมากมายมหาศาลนั่นเอง
คุณค่าที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้นับว่ามาจากความเมตตาต่อราษฎรของ"สมเด็จแม่"อย่างแท้จริง
Last updated: 2023-08-15 22:33:28