อย่าพูดว่าทำไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ทำ
 
     
 
"คนขนอมพร้อมรักษ์โลก"
จากผลงานการมีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์อันประจักษ์ว่า..."คนขนอมพร้อมรักษ์โลก"... หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งรีบให้มีมาตรการการสร้างแรงจูงใจ เพื่อส่งเสริมชุมชนให้มีการจัดการป่าชายเลนอย่างยั่งยืนต่อไป
 

."คนขนอม"พร้อมรักษาป่าชายเลน
หวังเพื่อลูกหลานเหลนโหลนเป็นสุข
ช่วยให้ลดโลกร้อนผ่อนคลายทุกข์
ควรประยุกต์มาตรการด้านจูงใจ

.ด้านระเบียบกติกาการตกลง
ต้องเสริมส่งให้ชุมชนปลูกต้นไม้
หนุนคาร์บอนเครดิตคิดกลไก
เก็บหาได้ใช้ของป่าพึ่งพากัน

 

.ด้านการเงินต้องมุ่งหวังตั้งกองทุน
เพื่ออุดหนุนกิจการอันรังสรรค์
สร้างอาชีพพัฒนาผลิตภัณฑ์
เร่งผลักดันลดภาษีที่ช่วยป่า
 

.ด้านสังคมก่อตระหนักรักถิ่นที่
ชวนสตรีเยาวชนผลเสริมค่า
จัดตั้งกลุ่มเครือข่ายหมายพึ่งพา
มอบรางวัลการรักษาวนาพน 

  

.ด้านการหนุนให้เข้มแข็งแรงจูงใจ
จัดเตรียมไว้ฐานข้อมูลสมบูรณ์ผล
การวิจัยบริการสานชุมชน
พลังล้นทุกหน่วยงานร่วมกันทำ

 

.ทั้งสี่ด้านต้องทำตามเหมาะสม
เพื่อระดมชาวบ้านช่วยหมั่นย้ำ
จัดการป่ายั่งยืนได้ใฝ่น้อมนำ
ก่อสุขล้ำเสริมสังคมรื่นรมย์ไป

 

.หวังต้นแบบ"คนขนอม"พร้อมขยาย
ให้มากมายการปกปักรักษ์ป่าไม้
ลดโลกร้อนที่นับวันมหันตภัย
ต้องเน้นยิ่งสิ่งจูงใจให้ชุมชน

 

.ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
 

แรงดลใจ: ช่วง 26-28 กรกฎาคม 2563 ได้มีโอกาสไปชื่นชมผลงานการอนุรักษ์ป่าชายเลนดึกดำบรรพ์ ของพี่น้องชาวบ้านในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราชอีกครั้ง เพื่อคืนข้อมูลที่ได้เคยมารวบรวมไว้แล้วทำการวิเคราะห์จนแล้วเสร็จให้แก่ชุมชนในด้าน เรดด์พลัส(REDD Plus หรือ REDD+) ที่ย่อมาจาก Reducing Emission from Deforestation and Degradation,the role of conservation, sustainable management of forests and enhancement of forest carbon stocks อันหมายถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเนื่องจากการทําลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า และการดําเนินการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน รวมทั้งการเพิ่มพูนคาร์บอนสต็อคในพื้นที่ป่า

โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ได้คัดเลือกป่าชายเลนที่ขนอมเป็นแห่งแรกที่ศึกษาด้านREDD+นี้ ด้วยพบว่าป่ามีสภาพอุดมสมบูรณ์มาก อันสืบเนื่องจากการที่ชาวบ้านได้ร่วมมือกันอนุรักษ์เอาไว้ โดยส่วนหนึ่งมีสภาพเป็นป่าดึกดำบรรพ์ ด้วยยังไม่เคยมีการทำไม้จากการให้สัมปทานมาก่อน จึงก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างมากมายแก่ชุมชนใกล้เคียงและสังคมวงกว้างอย่างเป็นการต่อเนื่อง ทั้งนี้ได้มอบหมายให้คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชทำการวิจัยในการหารูปแบบและแรงจูงใจในการจัดการป่าชายเลนอย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งโดยสรุปแล้วควรใช้มาตรการสร้างแรงจูงใจใน 4 ด้าน คือ ด้านกฎระเบียบและข้อตกลง ด้านการเงิน ด้านสังคม และด้านสนับสนุนการสร้างแรงจูงใจ ที่มีมาตรการย่อยในแต่ละด้านหลายประการ

นอกจากนี้แล้ว ทางกรม ทช.ยังมีแผนงานในการขยายการดำเนินงาน REDD+ ไปสู่ชุมชนอื่นที่มีผลงานการอนุรักษ์ป่าชายเลนเป็นอย่างดี โดยมุ่งหวังในการนำผลการศึกษาจากที่ขนอมไปประยุกต์ใช้ เนื่องจากได้ตระหนักดีว่าแม้ชุมชนได้ประโยชน์ในบางด้านจากป่าอยู่แล้ว แต่เทียบมูลค่าแล้วยังมีค่าน้อยนิดกับประโยชน์ที่สังคมได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยผ่อนคลายปัญหาโลกร้อน ดังนั้นจึงควรสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านได้ประโยชน์หรือสนับสนุนการดำเนินงานของชาวบ้านมากยิ่งขึ้น ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ราบรื่นเป็นอย่างดี โดยได้รับความร่วมมือจากพี่น้องชุมชนจาก 6 หมู่บ้านในอำเภอขนอม ได้แก่ หมู่1บ้านท่าม่วง หมู่2บ้านแขวงเภา หมู่3บ้านท้องโหนด หมู่4บ้านท่าจันทน์ และหมู่7บ้านท่าบ่อโก ในตำบลท้องเนียน และหมู่1บ้านสระใน ตำบลขนอม รวมทั้งเจ้าหน้าที่จาก กรม ทช. และวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช จึงขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย


Last updated: 2020-10-29 19:38:38


@ "คนขนอมพร้อมรักษ์โลก"
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ "คนขนอมพร้อมรักษ์โลก"
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
468

Your IP-Address: 18.118.184.237/ Users: 
467