เราห้ามคนคิดไม่ดีกับเราไม่ได้ แต่เราทำให้เขาคิดกับเราดีขึ้นได้
 
     
 
เยือน"สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย"
โชคดีที่ไปตรังคราวนี้ ได้มีโอกาส...เยือนสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย... ที่ได้ทั้งความรู้ ความเพลิดเพลินและความสุขใจ ขอขอบคุณคุณประพจน์ สัตถาภรณ์ ที่อำนวยความสะดวกและให้ความรู้อย่างดียิ่ง
 

•"สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย"ในถิ่นตรัง
ชื่อโด่งดังคนเมืองใต้ได้ใฝ่หา
นายกชวน หลีกภัยหมายนำมา
ใหัจัดตั้งหวังเป็นป่าพาวิไล

•จากพื้นที่เคยทิ้งไว้แทบไร้ค่า
สู่ผืนป่าสองพันหกร้อยไร่
ทั้งป่าพรุป่าดิบชื้นร่มรื่นไป
คนใกล้ไกลได้คุณค่ามานานวัน


•แหล่งรวบรวมหลากหลายของไม้ป่า
ใช้ศึกษาพาจำแนกความแผกผัน
เรียนต่อยอดหลายเรื่องสืบเนื่องกัน
บางสายพันธุ์พืชพบใหม่ในโลกนี้

•งามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
ซอกซอยพาดหว่างพืชงามตามวิถี
บ้างยกลอยเทียมเรือนยอดทอดพงพี
หายากที่มีสร้างไว้ในเมืองไทย


•บรรยากาศพิลาสนักน่าพักผ่อน
คลายเร่าร้อนผ่อนโกรธลดเครียดได้
เดินชมนกปั่นจักรยานเบิกบานใจ
ลำธารใสไหลเย็นฉ่ำสำราญนัก

•เปรียบเช่นป่าในเมืองเมลืองค่า
แหล่งนำพาออกซิเจนให้เป็นหลัก
ตรึงคาร์บอนสะสมไว้ได้เก็บกัก
แจ้งประจักษ์โลกร้อนช่วยผ่อนคลา


•จัดบ้านพักสิ่งก่อสร้างทั้งอาคาร
มัคคุเทศก์บริการอันหลากหลาย
รับครอบครัวหมู่คณะมามากมาย
อีกเข้าค่ายการศึกษาเยาวชน

•ต้องอำลาแสนอาลัยไกล"ทุ่งค่าย"
เพียงมุ่งหมายวันหน้ามาอีกหน
เที่ยวท่องไพรได้สิ่งดีที่น่ายล
คลายกมลพ้นวุ่นวายจากในเมือง


•ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com

แรงดลใจ:

เมื่อ 13 ตุลาคม 2561 ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง อีกครั้ง หลังจากเคยมาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2531 โดยในขณะนั้นยังมีสภาพเป็น สวนรุกขชาติทุ่งค่าย ในสังกัดกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อมาในปี พ.ศ.2536 ได้พัฒนาขึ้นเป็นสวนพฤกษศาสตร์ ตามนโยบายของอดีตนายกชวน หลีก โดยมี ศ.ดร.เต็ม สมิตินันท์ ผู้เชี่ยวชาญพฤกษศาสตร์ป่าไม้ เป็นประธาน จากนั้นในปี พ.ศ. 2546 มีการปรับปรุงระบบราชการ สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย จึงย้ายมาสังกัดสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ทุ่งค่าย สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ เป็นต้นน้ำของลำห้วยเล็กๆ เป็นพื้นที่ป่าไม้ที่แวดล้อมด้วยชุมชมโดยรอบ กับทั้งยังอยู่ห่างจากตัวเมืองตรังเพียงประมาณ 10 กิโลเมตร จึงได้รับการประกาศให้เป็นป่าในเมือง ที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในยุค คสช.อีกสถานะหนึ่ง สภาพป่าในปัจจุบันมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก แตกต่างไปจากสภาพเดิมเมื่อ 30 ปีที่แล้วโดยสิ้นเชิง ลักษณะป่าเกือบทั้งหมดประกอบด้วยป่า 2 ชนิดดังนี้

1. ป่าดิบชื้น (Moist evergreen forest) ปกคลุมบริเวณตอนกลางของพื้นที่ มีพื้นที่ปกคลุมร้อยละ 61.5 ของพื้นที่ทั้งหมด ลักษณะโครงสร้างตามแนวดิ่งของป่าแบ่งได้เป็น 3 ชั้นเรือนยอด ไม้ชั้นบนที่เป็นชั้นเรือนยอดเด่นมีความสูง 21 - 30 เมตร เช่น เคี่ยม กระบาก ยางมันหมู ยางยูง กะออก เป็นต้น ไม้ชั้นกลางมีความสูงประมาณ 15 - 20 เมตร ชนิดที่สำคัญ เช่น เฉียงพร้านางแอ หว้า สะท้อนรอก ส้าน มะตาด แซะ ก่อตลับตับปูน ตีนเป็ด ส่วนไม้ชั้นล่างมีความสูงประมาณ 7 - 14 เมตร ชนิดที่สำคัญ เช่น พลับพลา ขันทองพยาบาท กันเกรา มะไฟ และไม้พื้นล่างประกอบด้วยพืชจำพวก ข่า หวาย ระกำ และเฟินอีกหลายชนิด 

2. ป่าพรุ (Peat swamp forest) พบบริเวณรอบนอกของพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณทางทิศใต้ของพื้นที่ มีพื้นที่ปกคลุมร้อยละ 7.6 ของพื้นที่ทั้งหมด สภาพทั่วไปมีน้ำจืดท่วมขัง ลักษณะโครงสร้างแบ่งออกได้เป็น 3 ชั้นเรือนยอด ชั้นบนสุดเป็นไม้ขนาดใหญ่ เช่น ชุมแสง กะออก ขี้หนอนพรุ ตังหน หว้าพรุ เป็นต้น ชั้นรองลงมาเป็นพรรณไม้ขนาดกลาง เช่น ตะเคียนราก ละไมพรุ และยาร่วงพรุ ชั้นต่ำลงมาเป็นไม้ขนาดเล็ก เช่น เสม็ด สังเครียด ส้านน้ำ ไม้พื้นล่างประกอบด้วยจำพวกคลุ้ม ลิ้นทิง หม้อข้าวหม้อแกงลิง หวายลิง กะพ้อ และหลุมพี

ทั้งนี้ ได้จัดการให้บริการผู้สนใจศึกษาระบบนิเวศป่าไม้ การนันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจไว้หลายด้าน โดยเฉพาะการจัดให้มีเส้นทางเพื่อเดินศึกษาธรรมชาติบริเวณโดยรอบ และมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่สำคัญ คือ เส้นทางสะพานศึกษาเรือนยอดไม้ แห่งแรกของประเทศไทย โดยสะพานมีความยาว 175 เมตร ความสูง 3 ระดับ ตั้งแต่ 10 – 18 เมตร ประกอบด้วย 5 ช่วงสะพาน และ 6 หอคอย   เส้นทางนี้สามารถมองเห็นป่าไม้ในระยะใกล้ชิดอีกมุมมองหนึ่ง และได้สัมผัสกับธรรมชาติของสังคมพืชระดับเรือนยอดไม้ ของต้นไม้สูง ๆ ได้อย่างชัดเจนในระดับสายตา ไม่ว่าจะเป็น ใบ ดอก และผล รวมถึงเห็นสัตว์ป่าจำพวกนก กระรอก กระแต ลิง ค่างเป็นต้น

ขอบคุณคุณประพจน์ สัตถาภรณ์ อดีตหัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย(ปัจจุบันประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช) ที่อำนวยความสะดวกและให้ความรู้ ตลอดจนรายละเอียดต่างๆอย่างดียิ่ง สุดท้ายยังได้ฝากข้อคิดเห็นก่อนจากกันที่น่าสนใจดังนี้

 

"ที่นี่เคยเจริญรุ่งเรืองมากเพราะท่านนายกชวน หลีกภัยเป็นผู้ริเริ่มและให้ความสำคัญ จึงมีหลายหน่วยงานให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี น่าจะได้มีการใช้ประโยชน์ให้เต็มศักยภาพ เพียงแต่ขาดทรัพยากรบุคคลทางด้านนักวิชาการป่าไม้ มารับผิดชอบโดยตรง สมัยผมเป็นหัวหน้าก็ได้พยายามขอเพิ่มเติม แต่ไม่ได้รับการพิจารณา ต้องใช้ลูกจ้างทำหน้าที่แทน ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง น่าจะได้มีการทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมทั้งสวนพฤกษ์อื่นๆทั้งหมดด้วยครับ"



Last updated: 2018-11-06 17:06:35


@ เยือน"สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย"
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ เยือน"สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย"
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,050

Your IP-Address: 44.210.107.64/ Users: 
1,009