ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
แรงดลใจ:
เมื่อ
13 ตุลาคม 2561
ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย
อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง อีกครั้ง หลังจากเคยมาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2531 โดยในขณะนั้นยังมีสภาพเป็น สวนรุกขชาติทุ่งค่าย ในสังกัดกรมป่าไม้
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อมาในปี พ.ศ.2536 ได้พัฒนาขึ้นเป็นสวนพฤกษศาสตร์
ตามนโยบายของอดีตนายกชวน หลีก โดยมี ศ.ดร.เต็ม สมิตินันท์
ผู้เชี่ยวชาญพฤกษศาสตร์ป่าไม้ เป็นประธาน จากนั้นในปี พ.ศ. 2546 มีการปรับปรุงระบบราชการ สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย
จึงย้ายมาสังกัดสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ทุ่งค่าย
สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ เป็นต้นน้ำของลำห้วยเล็กๆ
เป็นพื้นที่ป่าไม้ที่แวดล้อมด้วยชุมชมโดยรอบ
กับทั้งยังอยู่ห่างจากตัวเมืองตรังเพียงประมาณ 10 กิโลเมตร
จึงได้รับการประกาศให้เป็นป่าในเมือง
ที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในยุค คสช.อีกสถานะหนึ่ง สภาพป่าในปัจจุบันมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก แตกต่างไปจากสภาพเดิมเมื่อ 30 ปีที่แล้วโดยสิ้นเชิง ลักษณะป่าเกือบทั้งหมดประกอบด้วยป่า 2 ชนิดดังนี้
1. ป่าดิบชื้น (Moist
evergreen forest) ปกคลุมบริเวณตอนกลางของพื้นที่
มีพื้นที่ปกคลุมร้อยละ 61.5 ของพื้นที่ทั้งหมด
ลักษณะโครงสร้างตามแนวดิ่งของป่าแบ่งได้เป็น 3
ชั้นเรือนยอด ไม้ชั้นบนที่เป็นชั้นเรือนยอดเด่นมีความสูง 21 - 30 เมตร เช่น เคี่ยม
กระบาก ยางมันหมู ยางยูง กะออก เป็นต้น ไม้ชั้นกลางมีความสูงประมาณ 15 - 20
เมตร ชนิดที่สำคัญ เช่น เฉียงพร้านางแอ หว้า สะท้อนรอก ส้าน
มะตาด แซะ ก่อตลับตับปูน ตีนเป็ด ส่วนไม้ชั้นล่างมีความสูงประมาณ 7 - 14 เมตร ชนิดที่สำคัญ เช่น พลับพลา ขันทองพยาบาท กันเกรา มะไฟ
และไม้พื้นล่างประกอบด้วยพืชจำพวก ข่า หวาย ระกำ
และเฟินอีกหลายชนิด
2. ป่าพรุ (Peat
swamp forest) พบบริเวณรอบนอกของพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณทางทิศใต้ของพื้นที่ มีพื้นที่ปกคลุมร้อยละ 7.6 ของพื้นที่ทั้งหมด สภาพทั่วไปมีน้ำจืดท่วมขัง
ลักษณะโครงสร้างแบ่งออกได้เป็น 3 ชั้นเรือนยอด
ชั้นบนสุดเป็นไม้ขนาดใหญ่ เช่น ชุมแสง กะออก ขี้หนอนพรุ ตังหน หว้าพรุ เป็นต้น ชั้นรองลงมาเป็นพรรณไม้ขนาดกลาง
เช่น ตะเคียนราก ละไมพรุ และยาร่วงพรุ ชั้นต่ำลงมาเป็นไม้ขนาดเล็ก เช่น เสม็ด
สังเครียด ส้านน้ำ ไม้พื้นล่างประกอบด้วยจำพวกคลุ้ม ลิ้นทิง
หม้อข้าวหม้อแกงลิง หวายลิง กะพ้อ และหลุมพี
ทั้งนี้
ได้จัดการให้บริการผู้สนใจศึกษาระบบนิเวศป่าไม้
การนันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจไว้หลายด้าน
โดยเฉพาะการจัดให้มีเส้นทางเพื่อเดินศึกษาธรรมชาติบริเวณโดยรอบ
และมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่สำคัญ คือ
เส้นทางสะพานศึกษาเรือนยอดไม้ แห่งแรกของประเทศไทย โดยสะพานมีความยาว 175 เมตร ความสูง 3 ระดับ ตั้งแต่ 10 18 เมตร ประกอบด้วย 5
ช่วงสะพาน และ 6 หอคอย
เส้นทางนี้สามารถมองเห็นป่าไม้ในระยะใกล้ชิดอีกมุมมองหนึ่ง และได้สัมผัสกับธรรมชาติของสังคมพืชระดับเรือนยอดไม้ ของต้นไม้สูง ๆ
ได้อย่างชัดเจนในระดับสายตา ไม่ว่าจะเป็น ใบ ดอก และผล รวมถึงเห็นสัตว์ป่าจำพวกนก
กระรอก กระแต ลิง ค่างเป็นต้น
ขอบคุณคุณประพจน์
สัตถาภรณ์ อดีตหัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย(ปัจจุบันประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช) ที่อำนวยความสะดวกและให้ความรู้
ตลอดจนรายละเอียดต่างๆอย่างดียิ่ง สุดท้ายยังได้ฝากข้อคิดเห็นก่อนจากกันที่น่าสนใจดังนี้
"ที่นี่เคยเจริญรุ่งเรืองมากเพราะท่านนายกชวน หลีกภัยเป็นผู้ริเริ่มและให้ความสำคัญ จึงมีหลายหน่วยงานให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี น่าจะได้มีการใช้ประโยชน์ให้เต็มศักยภาพ เพียงแต่ขาดทรัพยากรบุคคลทางด้านนักวิชาการป่าไม้ มารับผิดชอบโดยตรง
สมัยผมเป็นหัวหน้าก็ได้พยายามขอเพิ่มเติม แต่ไม่ได้รับการพิจารณา ต้องใช้ลูกจ้างทำหน้าที่แทน
ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง น่าจะได้มีการทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง
รวมทั้งสวนพฤกษ์อื่นๆทั้งหมดด้วยครับ"