ณ สองพันสี่ร้อยเจ็ดสิบเก้า
วนกรรุ่นเก่าหัวก้าวหน้า
ตั้งโรงเรียนป่าไม้แพร่แผ่วิชา
ทั้งออกมาวารสารคู่กันไป
แรกเริ่มชื่อหนังสือพิมพ์ "วนสาร"
หมายสร้างสรรค์ส่งเสริมงานการป่าไม้
มีพระยาพนานุจรนำพรชัย
หวังเกรียงไกรก้าวหน้ากิจการ
หลากเนื้อหาวิชาการด้านป่าไม้
คละเคล้าไปการเกษตรผสมผสาน
ทั้งบันเทิงความเป็นไปในหน่วยงาน
บริหารปกิณกะปะปนไว้
ก่อประโยชน์มากมายให้ผู้อ่าน
ช่วยสื่อสารเชื่อมกมลคนป่าไม้
อยู่ภูธรส่วนกลางทั้งใกล้ไกล
หนแห่งไหนไหวทันเหตุการณ์ดี
คนภายนอกนั้นสนใจมีไม่น้อย
บ้างยังพลอยแลกข่าวสารกันอึงมี่
ช่วยเข้าใจเรื่องถ้วนหน้าป่าไม้มี
เกิดภาคีเครือข่ายหมายเจาะจง
ลุสองพันห้าร้อยสี่สิบสอง
พาขุ่นข้องหมองจิตพิศวง
"วนสาร"กลียุคถูกปิดลง
ต่างงุนงงสงสัยในความจริง
จึงขาดแหล่งวิชาการงานป่าไม้
สูญคุณค่าประยุกต์ใช้อันใหญ่ยิ่ง
การเผยแพร่งานวิจัยไร้พึ่งพิง
ไยเลิกทิ้งถวิลหาด้วยอาลัย
หากติดขัดทรัพยากรบริหาร
หาวิธีที่จัดการกันเสียใหม่
ดึงเจ้าภาพจับมือกันรังสรรค์ไป
วารสารผ่านออนไลน์ใคร่เว้าวอน
ยี่สิบปีผ่านไปให้โหยหา
"วนสาร"หันคืนมาเช่นคราก่อน
เป็นศูนย์กลางเพิ่มวิชา"วนกร"
ได้พบพรเพื่อนำพา"วนกรรม"
ครูนิด วนศาสตร์ (ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
แรงดลใจ
:
สมัยเมื่อเรียนปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ ระหว่างปี พ.ศ.2520-2524
ได้อาศัยวารสาร "วนสาร"
ซึ่งดำเนินการโดยกรมป่าไม้ในการค้นคว้าวิชาการบางด้าน
ทำให้มีความเข้าใจลักษณะงานป่าไม้ที่ออกในเชิงปฏิบัติของกรมป่าไม้มากยิ่งขึ้นกว่าเชิงทฤษฎีที่บรรยายโดยคณาจารย์
กับทั้งทำให้เข้าใจงานบางด้านโดยเฉพาะงานเชิงบริหารการป่าไม้อย่างเป็นรูปธรรมพอสมควร
เนื่องจากเนื้อหาที่บรรจุในวารสารนี้มีอยู่หลากหลายด้าน
จนเมื่อสำเร็จการศึกษาและได้บรรจุเข้ารับราชการในสังกัดกรมป่าไม้ ได้มีโอกาสเขียนหลายบทกลอนสะท้อนอารมณ์ป่าไม้วัยหนุ่มและเหตุการณ์บางด้านที่ผ่านมาในชีวิต
ซึ่งทางบรรณาธิการก็ได้ตีพิมพ์ให้ทุกครั้ง เพราะมีคอลัมน์ทางด้านบันเทิงและปกิณกะรวมอยู่ด้วย
ได้เคยค้นคว้าพบว่ากรมป่าไม้มีการออกวารสาร"วนสาร"
โดยเริ่มตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2479 อันเป็นปีที่เริ่มก่อตั้งโรงเรียนป่าไม้จังหวัดแพร่
(ซึ่งต่อมาได้พัฒนาการมาเป็นคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ซึ่งใช้ชื่อในขณะนั้นว่า
"หนังสือพิมพ์วนสาร" มีกำหนดออกรายสี่เดือน
โดยเน้นวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่เนื้อหาด้านการป่าไม้ การกสิกรรม ตลาดไม้
การท่องเที่ยวและเบ็ดเตล็ด มีพระยาพนานุจรเป็นเจ้าของ กับทั้งมีพระยาอนุวัฒน์วนรักษ์
และนายเทียม คมกฤส เป็นบรรณาธิการ ทั้งนี้มีการปรับปรุงเนื้อหาและแนวทางการนำเสนอมาเป็นระยะๆ
โดยในภายหลังได้เน้นเนื้อหาทางด้านวิชาการป่าไม้มากขึ้น
นับได้ว่าบรรพวนกรมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลเป็นอย่างมากในการออกวารสารทางด้านป่าไม้ ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกับสถาบันการศึกษาทางด้านป่าไม้ในต่างประเทศที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตามวารสาร "วนสาร"
ได้ถูกปิดลงใน พ.ศ.2542
โดยเป็นปีที่ 57 ฉบับเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2542 เป็นฉบับสุดท้ายสร้างความสงสัยและเสียดายให้กับผู้ที่ติดตามวารสารนี้มาโดยตลอด
เนื่องจากในประเทศไทยเรามีวารสารทางด้านการป่าไม้โดยตรงอยู่เพียงไม่กี่ฉบับ เช่นThai
Forest Bulletin ของกรมป่าไม้ ที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ
วารสารวนศาสตร์ วารสารสัตว์ป่าเมืองไทย
และวารสารการจัดการป่าไม้ ของหน่วยงานในคณะวนศาสตร์ วารสารสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์
ของสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ นอกจากนี้ยังเคยมีอนุสารไม้อัดไทยบางนา
ของบริษัทไม้อัดไทย จำกัดและวารสารสักทองขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
ซึ่งต่างก็ได้ถูกหยุดพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.2539 และ 2544 ตามลำดับ
ทำให้ขาดแหล่งวิชาการทางด้านป่าไม้ให้กับทั้งผู้ต้องการนำเสนอผลงานวิจัยและวิชาการป่าไม้
รวมถึงผู้ต้องการศึกษาและค้นคว้างานทางด้านป่าไม้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงและผู้สนใจทั่วไปอีกด้วย
มีเสียงเรียกร้องอย่างมากมายจากคนในวงการป่าไม้ให้มีการทบทวนการออกวารสาร
"วนสาร" เป็นการสืบเนื่องต่อไป โดยน่าเป็นการร่วมมือกันระหว่างกรมป่าไม้
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป่าไม้ของประเทศไทยอื่นๆ
ตามความเหมาะสม เช่นคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
สมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ ฯลฯ อันจะเป็นการยกระดับมาตรฐานและคุณค่าของวารสาร
"วนสาร"ให้มากยิ่งขึ้นไปอีก
ทั้งนี้อาจพิจารณาออกในรูปแบบของวารสารออนไลน์
เพื่อเป็นการประหยัดทรัพยากรและสอดคล้องกับความต้องการของคนในรุ่นปัจจุบันได้มากยิ่งขึ้น
Last updated: 2018-02-28 12:22:03