"ศรายุทธ ตันเถียร" เพียรหลายด้าน
สร้างสรรค์งานป่าไม้ไม่หวั่นท้อ
ปีห้าเก้าศิษย์เก่านี้ดีเด่นพอ
มสธ.แสนภูมิใจให้รางวัล
คนปักษ์ใต้พังงาพึ่งพาได้
เปี่ยมน้ำใจคบคนทุกชนชั้น
ชอบเปิดเผยตรงไปมากล้าดุดัน
ทั้งมุ่งมั่นเอาใจใส่ในเรื่องงาน
ทุ่มเทให้หาดนพรัตน์-เกาะพีพี
รวมภาคีเครือข่ายหมายประสาน
สร้างสิ่งดีมีคุณค่าอุทยานฯ
จนตระการเลื่องลือชื่อก้องไป
บริหารการท่องเที่ยวเทียวลัดเลาะ
ชมหมู่เกาะทะเลงามผืนน้ำใส
แลฝูงปลาปะการังช่างสุขใจ
มากเหลือล้นคนเทศไทยได้มาเยือน
เน้นคุ้มครองป้องรักษาธรรมชาติ
งามผุดผาดคงไว้หาใดเหมือน
สิ่งแวดล้อมพร้อมพรั่งดีมิแชเชือน
คอยย้ำเตือนทีมงานหมั่นใส่ใจ
เพิ่มประสิทธิภาพบริหารด้านการเงิน
เก็บได้เกินสุดโต่งด้วยโปร่งใส
ค่าธรรมเนียมเกินพันล้านลือลั่นไป
ยากหาใครยอดเยี่ยมมาเทียมทัน
แม้ย้ายมาอุทยานฯอ่าวพังงา
ยังตั้งหน้าทำไปด้วยใจมั่น
ก่อผลงานขึ้นมาสารพัน
คนโจษจันแซ่ซ้องปองศรัทธา
จงทำดีต่อไปอย่าได้หยุด
"ศรายุทธ ตันเถียร"
เพียรรักษา
สร้างชื่อเสียงเกียรติยศปรากฏมา
เกิดคุณค่าคู่ป่าไม้ไปนานวัน
สาขาวิชาเกษตรศาสตร์และสหกรณ์ มสธ.
(ครูนิด วนศาสตร์ ร้อยคำ)
แรงดลใจ:
อ้อม(ศรายุทธ
ตันเถียร) จบการศึกษาจากโรงเรียนป่าไม้แพร่ รุ่นที่ 32
รวมทั้งปริญญาตรี-โท จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ขณะเดียวกันได้สมัครเข้าเรียนปริญญาตรีด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมที่
มสธ. จนจบการศึกษาในปีการศึกษา 2558 เป็นผู้ที่ทุ่มเทการทำงานป่าไม้ ในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ
สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเป็นอย่างมาก ในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2558-มิถุนายน2560 ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา
หมู่เกาะพีพี ได้นำการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติโดยใช้รูปแบบ
พีพีโมเดล ทำให้อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา
หมู่เกาะพีพี สามารถจัดเก็บเงินรายได้
ได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ โดยเก็บได้มากกว่า 1,000
ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าในอดีตหลายเท่าตัว สร้างความลือลั่นให้คนทั้งในและนอกวงการป่าไม้รวมทั้งชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ยังเสนอกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขอปิดการท่องเที่ยวบริเวณเกาะยูง เพื่อสงวนแนวปะการังด้านทิศเหนือไว้เป็นแหล่งพ่อแม่พันธุ์ปะการัง
และเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศปะการังบริเวณด้านทิศตะวันออก ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ
สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีประกาศปิดเกาะยูงเพื่ออนุรักษ์ปะการังและทรัพยากรทางทะเล
ในการดำเนินการด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการัง ได้ติดทุ่นราวไข่ปลาและธงสัญลักษณ์ห้ามเข้าบริเวณเกาะยูง
พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการทราบถึงการปิดเกาะและวัตถุประสงค์ในการปิด ติดตามสถานภาพปะการังเป็นระยะ รวมทั้งติดเครื่องวัดอุณหภูมิใต้น้ำ พร้อมทั้งดำเนินการฟื้นฟูปะการังบริเวณด้านทิศตะวันออกของเกาะยูง
ทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอุดมสมบูรณ์ขึ้นเป็นอย่างมาก
จากผลงานที่โดดเด่นโดยการนำเอาความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจาก
มสธ.ไปประยุกต์ใช้ ทาง มสธ.จึงได้มอบรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น ปี พ.ศ.2559 ให้แก่อ้อม
โดยมอบให้ในวันสถาปนามหาวิทยาลัย
(5 กันยายน 2560)
Last updated: 2017-09-07 14:20:47