ผู้ที่ตำหนิเราคือผู้ที่รักเรา จงยินดีและไม่ปฏิเสธ
 
     
 
ห้าทศวรรษ วนวัฒนวิทยา
ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าระดับปริญญาตรีรุ่นแรก และระดับปริญญาโทในโอกาสต่อมา ที่มีความรู้สึกผูกพันกับภาควิชาเป็นอย่างมาก จึงขอร่วมแสดงความยินดีและร่วมดำเนินกิจกรรมที่ภาควิชาได้กำหนดให้มีการจัดงานรำลึกขึ้นในวันที่ 22 ธันวาคม 2560
 

 

(โคลง)

·ครบทศวรรษที่ห้า

วนวัฒน์ฯ

 

หมายมุ่งผลพวงพัฒน์

ป่าไม้

 

เกิดคุณค่าประชารัฐ

ผืนป่า  มากมาย

 

ครูร่วมปวงศิษย์ให้

คู่หล้า   ฟ้าใส

(กาพย์)

·สองพันห้าร้อยสิบ

คือปีทิพย์การป่าไม้

 

บัณฑิตศึกษาไทย

เริ่มก้าวใหม่ให้วิชา

 

·กว้างไกลวิสัยทัศน์

วนวัฒนวิทยา

 

วิจัยหมายพัฒนา

คืนผืนป่าสู่แผ่นดิน

 

·เพียบพร้อมคณาจารย์

วิชาการเชี่ยวชาญสิ้น

 

คุณธรรมล้ำเลิศจินต์

ทุ่มชีวินทำเพื่องาน

 

·เปรียบต้นค่อยเติบใหญ่

สวยสดใสใบกิ่งก้าน

 

รากหยั่งเหยียดประสาน

แสนเบิกบานตระการใจ

 

·ผลิดอกทั้งออกผล

งามเหลือล้นทั่วเล็กใหญ่

 

ช่วยกันแพร่พันธุ์ไป

อยู่ใกล้ไกลได้เกื้อกูล

 

· เหล่าศิษย์แสนภูมิใจ

ช่วยป่าไม้ไม่เสื่อมสูญ

 

ที่โทรมกลับสมบูรณ์

ค่าเพิ่มพูนค้ำจุนไป

 

·ปัญหาพร้อมฝ่าฟัน

ด้วยมุ่งมั่นสู่ฝันใฝ่

 

ไม่ท้อย่นย่อใจ

หนักแค่ไหนไม่รอรา

 

·ผ่านมาห้าสิบปี

หลายสิ่งดีสร้างสรรค์มา

 

วนวัฒนวิทยา

พร้อมเดินหน้าเพื่อป่าไทย

(โคลง)

·เหลียวหลังแลสู่หน้า

รวมใจ

 

ผืนป่าพาสดใส

ใหญ่น้อย

 

วนกรมุ่งทำไป

เหน็ดเหนื่อย ไม่ถอย

 

หวังยิ่งผลงามพร้อย

ป่าไม้   ยั่งยืน

 

ครูนิด วนศาสตร์ (ชมรมสีเสียดแก่น)

www.lookforest.com

 

แรงดลใจ :

วนวัฒนวิทยา (Silviculture) เป็นภาควิชาสังกัดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีหน้าที่ในการจัดการ และดำเนินการให้มีการเรียนการสอนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกิด การเติบโต  ผลผลิต องค์ประกอบ และคุณภาพของหมู่ไม้ในป่าธรรมชาติ ป่าปลูก และระบบวนเกษตร โดยเน้นทฤษฎี หลักการ และเทคโนโลยีในการปลูกและบำรุง การปรับปรุงพันธุ์ การจัดการดินป่าไม้ ธาตุอาหาร ไฟป่า รวมทั้งการอารักขาป่าไม้ เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการป่าธรรมชาติ สวนป่า และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองให้ได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืนและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านวนวัฒนวิทยา ทั้งนี้ประกอบด้วยกลุ่มวิชาที่เกี่ยวข้องโดยตรง 4 กลุ่มคือ กลุ่มวิชาวนวัฒนวิทยา กลุ่มวิชาการปรับปรุงพันธุ์ไม้ป่า กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ไฟป่า และกลุ่มวิชาปฐพีวิทยาป่าไม้

คณะวนศาสตร์ ได้เริ่มเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2510 โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาคนแรกคือ ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ต่อมา คณะวนศาสตร์ได้เน้นการเรียนการสอนเฉพาะทางในระดับปริญญาตรีมากยิ่งขึ้น จึงได้เปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีหลักสูตรวนวัฒนวิทยา ในปี พ.ศ. 2522  โดยมีนิสิตวนศาสตร์รุ่น 43 เรียนเป็นรุ่นแรก จากนั้นในปี พ.ศ. 2535 ได้เริ่มเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาเอก ซึ่งได้ดำเนินการทั้ง 3 ระดับเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีปณิธานคือ พัฒนาวิชาการและผลิตบุคลากรที่มีความเป็นเลิศทางด้านวนวัฒนวิทยา เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อให้บริการทางวิชาการ ศึกษาและชี้แนะแนวทางการแก้ไขปัญหาการป่าไม้แก่สังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสวนป่า ฟื้นฟูป่าไม้ และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เป็นรากฐานของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศ

ในโอกาสที่ภาควิชาวนวัฒนวิทยา ครบรอบ 50 ปี  ของการเปิดการเรียนการสอนที่ได้ผลิตบัณฑิตทุกระดับ ทั้งชาวไทยและต่างชาติไปแล้ว มากกว่า 1,000 คน ซึ่งได้สร้างคุณูปการให้วงการป่าไม้อย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการวิจัยและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการปลูก บำรุง และพัฒนาป่าไม้  ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าระดับปริญญาตรีรุ่นแรก และระดับปริญญาโทในโอกาสต่อมา  ที่มีความรู้สึกผูกพันกับภาควิชาเป็นอย่างมาก จึงขอร่วมแสดงความยินดีและร่วมดำเนินกิจกรรมที่ภาควิชาได้กำหนดให้มีการจัดงานรำลึกขึ้นในวันที่ 22 ธันวาคม 2560  ซึ่งนอกจากมีกิจกรรมการประชุมสัมมนาในภาคกลางวันแล้ว ยังได้มีงานสังสรรค์ระหว่างศิษย์เก่าวนวัฒนวิทยาและผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคกลางคืน ทั้งนี้กำลังอยู่ในระหว่างการกำหนดรายละเอียดของกิจกรรมทั้งหมด  ซึ่งคงได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการในโอกาสอันใกล้นี้


Last updated: 2017-08-21 15:15:10


@ ห้าทศวรรษ วนวัฒนวิทยา
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ห้าทศวรรษ วนวัฒนวิทยา
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,283

Your IP-Address: 3.21.247.78/ Users: 
1,282