�
•อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก
แต่ปลูกมากกันใหญ่ในตอนนี้
ด้วยโตเร็วตัดขายได้เงินดี
ซ้ำยังมีตลาดรับนับเนื่องมา
•หน่วยงานรัฐเร่งพาสนับสนุน
เหล่านายทุนส่งเสริมเพิ่มคุณค่า
หลายองค์กรทำวิจัยได้พัฒนา
คนจึงพาปลูกอ้อยค่อยเพิ่มไป
•เปลี่ยนพื้นที่ทำมาการเกษตร
หลายแดนเขตเคยมีที่ทำไร่
ทั้งพืชสวนนาข้าวร้าวรานใจ
ด้วยรายได้เพียงน้อยเทียบอ้อยตาล
•ซ้ำลามถึงที่ปลูกป่ามานานนัก
สวนไม้สักถูกเปลี่ยนไปหลายหย่อมย่าน
คนรักป่าเห็นครั้งใดให้ร้าวราน
นับวันผ่านสักยิ่งหมดรันทดจัง
•ด้วยว่าสักตามกฎหมายไม้หวงห้าม
ครั้นถึงยามตัดใช้ให้ความหวัง
ติดระเบียบขั้นตอนมากยากรุงรัง
อาจเสียตังค์เปลืองเวลาเซ็งอารมณ์
•ทั้งป่าสักมีคุณค่าชวนน่าคิด
เศรษฐกิจผลตอบแทนแสนเหมาะสม
ไม้ชั้นดีคู่คนไทยในสังคม
สิ่งแวดล้อมพร้อมอุดมสมบูรณ์ดี
•เคยเรียกร้องร่วมกันมานานหลาย
แก้กฎหมายพันธนาการกันเร็วรี่
ปลดโซ่ตรวนสวนป่าสักเสียซักที
ผลมากมีเลอเลิศเกิดแก่ไทย
•หากเพิกเฉยปล่อยไปไม่นานนัก
อ้อยกินสักมากแท้เกินแก้ไข
ถิ่นนิเวศย่อยยับรับโพยภัย
หมดป่าไม้จึ่งรู้ว่านรกมี
•ครูนิด วนศาสตร์ (ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
แรงดลใจ :
ชื่นชมพี่สุริยัน
มูลสาร(วนศาสตร์ 35)
เป็นอย่างมากที่มีประสบการณ์และคร่ำหวอดในการปลูกไม้สักมาอย่างยาวนานทั้งในและต่างประเทศ
กับยังได้พยายามเป็นอย่างยิ่งในการกระตุ้นให้เอกชนทำการปลูกสร้างสวนป่าไม้สักมาโดยตลอดเนื่องจากเห็นว่าไม้สักมีคุณค่าและเป็นที่ต้องการของตลาด
รวมทั้งให้ผลตอบแทนต่อการลงทุนอย่างน่าสนใจยิ่ง
เพียงแต่ไม้สักยังมีสภาพเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก ตามกฎหมายป่าไม้ ที่การตัดฟันต้องได้รับการอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ซึ่งบางแห่งมีการเรียกร้องผลประโยชน์จากเจ้าของสวนป่า� เป็นการทำลายบรรยากาศการปลูกสร้างสวนป่าของเอกชน
เนื่องจากขาดเสรีภาพในการใช้ประโยชน์ ต่างกับการปลูกพืชเกษตรโดยทั่วไป
พี่สุริยันฯ
ยังให้ข้อมูลเพิ่มว่าเจ้าของสวนป่าสักหลายแห่งได้ทำการรื้อไม้สักออกไปแล้วปลูกอ้อยน้ำตาลแทน
เพราะอ้อยมีราคาดี และมีเสรีภาพในการจัดการผลผลิตอย่างแท้จริง ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์และเพชรบูรณ์
เชื่อว่าอ้อยกินสวนป่าไม้สักไปแล้วนับหมื่นไร่
หากสภาพการณ์ยังคงเป็นไปในสภาพที่ผ่านมา
กล่าวคือการตัดฟันและแปรรูปไม้สักจากสวนป่าเอกชน
ยังคงมีความยุ่งยากตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และอ้อยมีราคามีแนวโน้มที่มีราคาสูงขึ้น
มีตลาดรองรับ มีการส่งเสริมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
รวมทั้งสถาบันการศึกษา จึงน่าทำให้พื้นที่อ้อยขยายขอบเขตไปทดแทนพื้นที่ที่เคยปลูกไม้สักและพืชเกษตรชนิดอื่นมากขึ้นตามลำดับ
หากหนทางสำคัญในการเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศ
ที่ในปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 32 เปอร์เซ็นต์ ให้ได้ถึง 40
เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ ที่มีความเป็นไปได้อย่างง่ายที่สุดก็คือ
การส่งเสริมการปลูกป่าภาคเอกชนทั้งไม้สักและไม้กระยาเลยชนิดอื่น ๆ
แต่นั่นหมายความว่าต้องมีการแก้กฎหมายป่าไม้ให้เอื้อต่อการดำเนินการ และการสร้างแรงจูงใจต่อการลงทุน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดหาตลาดรองรับและการประกันราคาผลผลิตจากสวนป่าที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ไม่ควรมุ่งเป้าหมายเพียงสวนป่าเอกชนรายใหญ่เท่านั้น
หากแต่ต้องให้ความสำคัญต่อรายย่อยควบคู่ไปด้วย
เพราะปัจจุบันและในอนาคตมีแนวโน้มว่าความนิยมในการทำการเกษตรของเรามีน้อยลงตามลำดับ
ผู้ที่ได้รับที่ดินมรดกจึงน่าหันมานิยมปลูกป่ากัน เพียงแต่บรรยากาศต้องเอื้อให้เท่านั้น

Last updated: 2017-07-13 11:03:23