�
•เรื่องการทำวันแมปแยบยลนัก
เน้นยึดหลักบูรณาการด้านแนวเขต
หวังที่ดินเคยวุ่นวายในประเทศ
ทุกประเภทเหลือมีแผนที่เดียว
•คสช.เห็นชอบมานโยบาย
จึงมอบหมายทุกหน่วยงานอันข้องเกี่ยว
สิ้นห้าเก้าตั้งเป้าหมายให้เสร็จเชียว
เร่งกันเทียวเคี่ยวเข็ญเน้นทำไป
•พร้อมปรับแก้กฎหมายใช้ที่ดิน
ให้หมดสิ้นปัญหาพาแก้ไข
เลิกทับซ้อนเหลื่อมกันสร้างมั่นใจ
มีมาตรฐานทันสมัยใช้เร็วพลัน
•ครั้นลงมือเต็มที่ปฏิบัติ
เกิดข้องขัดคาดผิดเกินคิดฝัน
ที่รัฐราษฎร์ทับกันพัลวัน
ต่างยืนยันว่าตนถูกทุกหน่วยงาน
•พวกเจ็บแสบเจ้าเล่ห์เพทุบาย
มีเป้าหมายเบือนบิดแอบคิดอ่าน
บุกรุกป่าชัดเจนเป็นมานาน
กลับเปลี่ยนด้านดันถูกทำทุกข์ใจ
•ที่โรงแรมรีสอร์ทสนามกอล์ฟ
ตั้งอยู่รอบชอบแอบบุกรุกที่ไว้
อาจพลิกผันกลายออกนอกป่าไป
ด้วยแก้ไขปรับแผนที่เคยมีมา
•บางหน่วยงานเจตนาอ้างสาเหตุ
เปลี่ยนแนวเขตที่ใหม่ให้ผวา
ป่าใกล้เมืองทำเลดีมีราคา
ถูกพ่อค้าอิทธิพลปล้นบรรลัย
•เรื่องวันแมปแอบห่วงจากดวงจิต
เกรงพวกคิดร้อยเล่ห์เที่ยวเฉไฉ
สมคบกันประพฤติชั่วมิกลัวใคร
ที่ป่าไม้คงย่อยยับยากกลับคืน
•ครูนิด วนศาสตร์ (ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforet.com
แรงดลใจ:
วันแมป (One
Map) เป็นนโยบายที่รัฐบาล คสช.ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับที่ดินของรัฐเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกและครอบครองที่ดินของรัฐ
ที่นับวันมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากความขัดแย้งเรื่องแนวเขตที่มีการพิพาทหรือการพิสูจน์สิทธิส่วนหนึ่งเกี่ยวเนื่องมาจากปัญหาการทับซ้อนกันของแนวเขตที่ดินของรัฐ
โดยเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน
1:4,000 (One Map) ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย อำนวยการ และกำกับดูแลการปรับปรุงแผนที่แนวเขตดังกล่าว
เพื่อให้ทุกส่วนราชการใช้ยึดถือในแนวทางเดียวกัน โดยตั้งเป้าหมายดำเนินการระหว่างเดือนพฤศจิกายน
2558 ถึง กันยายน 2559�
การดำเนินงานที่ผ่านมา
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ ซึ่งมีหน่วยงานระดับกระทรวง 8 หน่วยงาน ระดับกรม 19 หน่วยงาน และรัฐวิสาหกิจ 3
หน่วยงาน
ได้เร่งรัดดำเนินการเพื่อให้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลข้างต้นอย่างเร่งด่วนและโกลาหลเป็นอย่างมาก�
เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่ดินโดยตรงมีมากถึง 16 ฉบับ จำแนกเป็นที่ดินของรัฐ 11 ประเภท
คิดเป็นที่ดินก่อนทำการปรับปรุง มีพื้นที่ 458.50 ล้านไร่(ประเทศเรามีพื้นที่รวมประมาณ
321 ล้านไร่) ภายหลังทำการปรับปรุงเหลือพื้นที่ 207.16
ล้านไร่
เฉพาะพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้จำนวน 1,221 ป่า เดิมมีพื้นที่ 146.38 ล้านไร่ คงเหลือพื้นที่เพียง
62.80 ล้านไร่�
ทั้งนี้
ยังไม่รวมพื้นที่ดินประเภทอื่นซึ่งมีการซ้อนทับกันเองและบางส่วนซ้อนทับกับพื้นที่ป่าไม้
ทำให้เกิดความยุ่งยากในการปฏิบัติเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะที่ผ่านมาการกำหนดแผนที่แนวเขตที่ดินต่างใช้มาตราส่วนที่แตกต่างกัน
ซึ่งหากจะให้ลงตัวในทางปฏิบัติ
น่าจะต้องมีการสำรวจในพื้นที่จริงประกอบการดำเนินงาน ที่ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร
ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะแล้วเสร็จในปี 2559
ตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้� (จนถีงเดือนพฤษภาคม
2560 ก็ยังมีทีท่าว่าไม่แล้วเสร็จ)
เมื่อเร็วๆนี้ มี
"กลุ่มผู้เป็นห่วงสมบัติของแผ่นดิน"
ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยความเป็นห่วงต่อทรัพยากรป่าไม้ของชาติที่อาจต้องตัดเฉือนพื้นที่ป่าไม้ไปให้พวกพ้อง
ผู้มีอำนาจ นายทุน และผู้มีอิทธิพล โดยขอให้พิจารณาตรวจสอบเป็นพิเศษใน 3 ข้อหลัก ดังนี้
��������������� 1.ในภาพรวมแล้วการรับรองเขตในระดับจังหวัดไม่มีการเรียกหัวหน้าหน่วยงานสนามผู้ทำหน้าที่หัวหน้าป่าสงวนแห่งชาติ
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฯลฯ
เข้าร่วมชี้แนวเขตตามพื้นที่ที่หน่วยงานของตนเองรับผิดชอบและยึดถือเป็นแนวเขตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
อันเป็นที่ยอมรับกันทางพฤตินัยและนิตินัยแล้ว
แต่กลับใช้อำนาจโน้มน้าวให้มีการเปลี่ยนแปลงแนวเขตใหม่อย่างจงใจ
โดยเฉพาะในพื้นที่ดินที่มีราคาแพงหลายจุด เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มพวกพ้อง
ผู้มีอำนาจ และผู้มีอิทธิพล
��������������� 2.ในการจัดทำเส้นแนวเขตที่ดิน วันแมป
หลายจังหวัดที่ให้ข้าราชการในสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)
เป็นเลขานุการคณะทำงานมักพบว่าเป็นจังหวัดที่เมื่อกำหนดเส้นแนวเขตรวมแล้ว
มีแนวเขตล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าอนุรักษ์จนทำให้พื้นที่ป่าของชาติหายไปจำนวนมาก
��������������� 3.มีพฤติกรรมที่พบเป็นความจริงว่า มีความพยายามในการใช้พลังผ่านผู้มีอำนาจและอิทธิพลในการชี้เป็นชี้ตายเส้นแนวเขตให้เปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการ
ซึ่งก็แน่นอนว่าต้องมีการรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าไม้อีกตามเคย
��������������� ได้แต่ภาวนาว่าการจัดทำวันแมป
คงมิใช่เอาพื้นที่ป่าไม้เป็นที่รองรับที่ดินประเภทอื่นเพื่อคลี่คลายปัญหาให้หมดสิ้นไป
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง พื้นที่ป่าไม้ของเราคงมีแนวโน้มที่ต้องลดลงอีกจำนวนมากอย่างแน่นอนและเป็นการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไปอย่างไม่มีทางเอาคืนกลับมาได้อีก
เช่นเดียวกันกับ ส.ป.ก.และนิคมในรูปแบบต่างๆนั่นเอง

Last updated: 2017-05-04 07:51:56