�
•อยากเดือดร้อนทุกข์ร้ายภัยมหันต์
ต้องช่วยกันตัดไม้ทำลายป่า
ไม่รักตัวกลัวลูกหลานพาลทรมา
อย่ารอท่าผลาญกันให้บรรลัย
•ป่าต้นน้ำมากมายถางไปโลด
ปลูกข้าวโพดข้าวฟ่างทั้งข้าวไร่
ฝิ่นกัญชาถั่วกะหล่ำทำเข้าไป
น้ำแล้งบ้างท่วมก็ได้วัดใจกัน
•อุทยานฯใหญ่โตมโหฬาร
ปล่อยชาวบ้านอยู่อาศัยได้ไหมนั่น
เก็บของป่าทำลายล้างช่างหัวมัน
รอคอยวันดินน้ำฟ้าจะเกิดภัย
•อันสวนป่าปลูกไปไม่เข้าที
หลายสิบปีโตช้ากว่าตัดใช้
ปลูกพืชผักแทนเข้าหลวงเอาใจ
มีมากไปก็ประท้วงทวงราคา
•ป่าสมบูรณ์งามล้นจนเยี่ยมยอด
ทำรีสอร์ทภูมิทัศน์จัดหรูหรา
หวังคนพักมากมายได้เงินตรา
พวกหน้าหนาพาบุกรุกเอาไป
•ป่าชายเลนเลิกดีกว่าทำนากุ้ง
ยามเฟื่องฟุ้งเงินดีหาที่ไหน
แจกน้องหนูเนื้อนิ่มอิ่มเอมใจ
กุ้งเกิดภัยโรคระบาดต้องวัดดวง
•อีกสัตว์ป่าคุณค่าดีมีหลายด้าน
ทำอาหารของกินใช้อย่าไปหวง
ทั้งไล่ล่าสนุกล้ำชื่นฉ่ำทรวง
เลิกเป็นห่วงว่าต้องรับบาปที่ทำ
•จงช่วยกันผลาญไปทำลายป่า
ไม่นานช้าสิ้นสุขทุกข์กลืนกล้ำ
ถูกแช่งด่าบรรพชนคนระยำ
สร้างเวรกรรมลูกหลานทั่วบ้านเมือง
•ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
แรงดลใจ:
เท่าที่ศึกษาประวัติศาสตร์มาพอสรุปได้ว่า รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
มีเจตนารมณ์ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้มากที่สุด โดยได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า
"ผู้ใดทำลายป่า�
ผู้นั้นคือศัตรูบ่อนทำลายประเทศชาติ"
กับทั้งยังได้มีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ขึ้นเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2505 โดยมีพื้นที่ถึง� 1,355,468.75 ไร่ นับว่ามีพื้นที่กว้างขวางมากที่ครอบคลุม
4 จังหวัดคือ นครราชสีมา สระบุรี ปราจีนบุรี และนครนายก�
ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์อีกทั้งมีความสวยงามเป็นอย่างมาก จนต่อมาในปี
พ.ศ.2548 องค์การยูเนสโก
ได้ประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติภายใต้ชื่อกลุ่ม "ดงพญาเย็น-เขาใหญ่" ทั้งนี้ได้ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติอีก 3 แห่งคือ ทับลาน ปางสีดา และตาพระยา �รวมทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่
รัฐบาลในยุคต่อๆ มาดูเหมือนว่าให้ความสำคัญต่อทรัพยากรป่าไม้น้อยลง
อาจเป็นเพราะว่าได้เริ่มมีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ในช่วงปี พ.ศ.2504-2509 ที่ได้เน้นการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก
โดยเฉพาะการผลิตพืชเกษตรเพื่อส่งออกที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ไปเพาะปลูกจำนวนมาก
แม้ต่อมาได้มีการปรับเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 2
เป็นต้นมาก็ยังคงเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักอยู่นั่นเอง
กับทั้งดูเหมือนว่าบรรดาผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศมักมีผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรป่าไม้จำนวนมาก
ทั้งในรูปแบบการทำสัมปทานป่าไม้ การใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าไม้ฯลฯ
จนทำให้พื้นที่ป่าไม้ค่อยลดน้อยถอยลงตามลำดับ ก่อให้เกิดวิกฤติภัยในรูปแบบต่างๆ
ซึ่งก็ได้มีความพยายามในการประชาสัมพันธ์ให้เห็นความสำคัญของป่าไม้
แต่ขณะเดียวกันคนไทยในทุกอาชีพและทุกระดับก็ได้มีความพยายามหาผลประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ทั้งสิ้น
แม้กระทั่งในปัจจุบันนี้
หนทางในการอนุรักษ์ป่าไม้ให้คงอยู่หรือมีพื้นที่เพิ่มมากขึ้นนั้น
เป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของทั้ง 3 กรม
คือกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต้องรับผิดชอบโดยลำพัง
เพราะเท่าที่ผ่านมาผลงานชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายจนลดน้อยถอยลงตามลำดับ �เนื่องจากไม่สามารถทัดทานกระแสความเห็นแก่ตัวจากผลประโยชน์ป่าไม้ของคนรอบข้างได้
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทั้งหมดที่ต้องช่วยกันดำเนินการในรูปแบบต่างๆ
เพื่อรักษาและเพิ่มพื้นที่ป่าไม้อย่างจริงจัง มิใช่ดำเนินการในรูปแบบการสร้างภาพเหมือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การสร้างจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่เท่านั้น
ที่น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน โดยหากไม่มีการแก้ไขโดยเร่งด่วนแล้ว� คนไทยก็ต้องเตรียมพร้อมรับวิกฤตภัยในรูปแบบต่างๆที่รุนแรงมากขึ้นทุกวันต่อไป
�

Last updated: 2017-04-26 08:01:39