รู้จักให้...ในสิ่งที่คนอื่นอยากได้
 
     
 
พลัง “ครูป่าไม้”
'ครูป่าไม้' ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคสนามอย่างใกล้ชิดกับราษฎรกลุ่มเป้าหมาย ต้องสร้างความเข้าใจที่ตรงกันและดำเนินกิจกรรมให้เป็นไปตามที่แผนงานกำหนด
 

 

•“ครูป่าไม้” ก้าวย่างอย่างภูมิใจ

มุ่งสร้างป่าสร้างรายได้ให้เกิดผล

เน้นแลกเปลี่ยนความรู้คู่ชุมชน

ด้วยอดทนตามหลักการอันสำคัญ

•นำส่งเสริมสิ่งดีที่เหมาะสม

เพื่อสังคมสู่ช่องทางที่สร้างสรรค์

เศรษฐกิจพอเพียงเคียงชีวัน

ช่วยผลักดันถึงเป้าหมายไม่ช้านาน

•เน้นมีความเข้าใจในชุมชน

ได้จากผลศึกษามารอบด้าน

สรุปหาองค์ความรู้บูรณาการ

โดยเปิดใจให้ชาวบ้านนั้นร่วมทำ

•ต้องวิเคราะห์วินิจฉัยให้ชำนาญ

เกิดแผนงานอันจำเพาะเหมาะเลิศล้ำ

เพื่อชุมชนร่วมใช้ใฝ่น้อมนำ

กิจกรรมอาจปรับทำตามเวลา

•วิทยากรกระบวนการสื่อสารกัน

ใช้หลายขั้นหลากวิธีมีคุณค่า

หมั่นสังเกตรู้จักฟังสร้างปัญญา

สนทนาพาเข้าใจได้งานดี

•มุ่งสร้างกลุ่มเครือข่ายให้ตรองตรึก

จิตสำนึกสร้างไว้ให้เต็มที่

ทรัพยากรข่าวสารอันมากมี

เอื้ออารีแลกเปลี่ยนใช้ไปนานวัน

•การเรียนรู้ของผู้ใหญ่จะได้ผล

ต้องคิดค้นหาวิธีที่คัดสรร

เลือกหาสื่อผสมผสานงานคู่กัน

พาแข็งขันก่อรายได้คลายอับจน

•องค์สมเด็จพระเทพฯ ธ ทรงหวัง

“ครูป่าไม้” หมายพลังอันสร้างผล

ป่าดินน้ำสมบูรณ์อยู่คู่ชุมชน

ค่าเลิศล้นก่อเกื้อเพื่อเมืองไทย

 

•ครูนิด วนศาสตร์ (ชมรมสีเสียดแก่น)

www.lookforest.com

ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน (20 มค.60)

แรงดลใจ:

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยราษฎร ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำหรือพื้นที่สูง ที่มีการบุกรุกทำลายป่า ซึ่งได้รับผลกระทบ ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดไฟป่า การเกิดน้ำป่าไหลหลาก  การเกิดดินถล่ม ตลอดจนการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง จึงทรงพระราชทานพระราชดำริ ให้ดำเนินการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ที่เหลืออยู่ให้คงไว้ ฟื้นฟูส่วนที่เสื่อมโทรมให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม อันเป็นที่มาของโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ โดยเน้นให้ราษฎรในพื้นที่มีส่วนร่วมในการปลูกป่าเพื่อการอนุรักษ์ และปลูกไม้เกษตรสำหรับไว้บริโภคภายในครัวเรือน กับทั้งยังสามารถเก็บผลผลิตจากป่าและการเกษตรเพื่อขายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง  โดยหน่วยงานภาคราชการที่เกี่ยวข้องทำการประสานกับหน่วยงานภาคเอกชน ร่วมวางแผนให้การสนับสนุนด้านการตลาดหรือการแปลรูปผลผลิตในเชิงการค้า ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เฉพาะที่สำคัญ 4 ประการคือ

1. เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร

2. เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมาย

3. เพื่อสร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาป่า

4. เพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง

ในส่วนของกรมป่าไม้ ได้มอบหมายให้สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ รับผิดชอบการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เท่าที่ผ่านมาได้เน้นการดำเนินงานในพื้นที่ 5 จังหวัดคือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ น่าน ตาก และเลย โดยมีกิจกรรมต่างๆ หลายประการ ทั้งนี้บุคลากรในส่วนที่สำคัญกลุ่มหนึ่งก็คือ "ครูป่าไม้" ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคสนามอย่างใกล้ชิดกับราษฎรกลุ่มเป้าหมาย โดยต้องสร้างความเข้าใจที่ตรงกันและดำเนินกิจกรรมให้เป็นไปตามที่แผนงานกำหนดอย่างแท้จริง ถึงแม้เป็นงานที่ เหน็ดเหนื่อยและต้องทุ่มเทความรู้ความสามารถอย่างมากมายแต่บรรดา "ครูป่าไม้" เหล่านี้ก็ได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อสนองพระราชดำริที่ได้ทรงตั้งไว้

อย่างไรก็ตามนอกจากความรู้ทางวิชาการป่าไม้ การเกษตร และการพัฒนาชุมชนที่กำหนดไว้ในโครงการแล้ว ความรู้และทักษะในการทำงานร่วมกับราษฎรในพื้นที่ยังเป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่ง ทางมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยการนำของ รศ.บำเพ็ญ เขียวหวาน ผศ.ศิริลักษณ์ นามวงศ์ อ.สุธิดา มณีอเนกคุณ และผู้เขียน ได้ร่วมเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมให้แก่ "ครูป่าไม้"ส่วนหนึ่ง ระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม 2560 ณ ศูนย์ภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ซึ่งได้เน้นความรู้และทักษะเบื้องต้นใน 6 ด้าน คือ หลักการส่งเสริม  การทำความเข้าใจกับชุมชน การวิเคราะห์และวินิจฉัยแผนชุมชน  การเป็นวิทยากรกระบวนการ การสร้างกลุ่มและเครือข่าย และการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ซึ่งก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเป็นการช่วยสร้างพลังส่วนหนึ่งให้ "ครูป่าไม้" สามารถนำไปประยุกต์ใช้ประกอบการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป

 


Last updated: 2017-02-04 11:55:05


@ พลัง “ครูป่าไม้”
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ พลัง “ครูป่าไม้”
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,518

Your IP-Address: 3.129.211.116/ Users: 
1,484