การหนีปัญหาเป็นสิ่งที่ดี แต่การเผชิญหน้ากับมันย่อมดีกว่า
 
     
 
วัด(รักษ์)ป่า
วัดป่าในประเทศไทย หลายแห่งได้ให้ความสำคัญกับป่าไม้ ที่พบเห็นทั่วไปก็คือการรักษาสภาพป่ารอบวัดมิให้ถูกบุกรุกทำลายจนมีความร่มรื่นเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง
 

 

•นมัสการวัดป่ามาหลายแห่ง

ใจเกิดแรงศรัทธาพาเลื่อมใส

เน้นสั่งสอนเลิศล้ำธรรมวินัย

ทั้งพัฒนาป่าไม้ให้งามตา

•แบ่งพื้นที่ภูมิทัศน์ชัดเจนนัก

ด้วยตระหนักหลักการอันล้ำค่า

ร่วมชุมชนคนรอบข้างต่างปรีดา

จิตอาสาอุปถัมภ์คอยค้ำชู

•ปลูกอาคารกุฏิมีระเบียบ

สงัดเงียบเรียบง่ายไม่งามหรู

สิ่งก่อสร้างสมฐานะล้วนน่าดู

รายรอบอยู่ด้วยหมู่ไม้ให้รื่นรมย์

•มุ่งย้ำเตือนติดป้ายให้ข้อคิด

กล่อมเกลาจิตคลายทุกข์นำสุขสม

ลดละเลิกตัณหาพาตรอมตรม

ชวนนิยมปกปักรักษ์พงไพร

•พื้นที่รอบร่มรื่นด้วยผืนป่า

มวลพฤกษางามสะพรั่งทั้งน้อยใหญ่

ดอกผลใบสีสันเสริมกันไป

เหล่าสัตว์ป่าอาศัยได้แอบอิง

•อันหลวงพ่อพระเณรเน้นน้อมนำ

กิจกรรมทำกันไปมากหลายสิ่ง

ทั้งเพาะชำปลูกต้นไม้หมายพึ่งพิง

เกิดค่ายิ่งล้นเหลือเมื่อนานไป

•ป่าให้คุณเกิดค่าสารพัด

เอื้อทั้งวัดชุมชนคนไกลใกล้

สิ่งแวดล้อมรอบด้านสำราญใจ

อีกของป่าสมุนไพรใช้อยู่กิน

•หวั่นวัตถุนิยมสังคมแย่

คนมุ่งแต่หาเงินใช้ไปเสียสิ้น

ขอพระปกป้องวัดป่าอย่าราคิน

รักษาถิ่นทั้งป่าไม้ไว้คู่ธรรม

•ครูนิด วนศาสตร์ (ชมรมสีเสียดแก่น)

 www.lookforest.com

แรงดลใจ : 

พระพุทธเจ้ามีความสัมพันธ์กับป่าไม้ในหลายเหตุการณ์ นับตั้งแต่ได้ทรงประสูติ ณ ลุมพินี     วนอุทยาน  ที่มีแมกไม้ที่ร่มรื่นสวยงามเป็นอย่างมาก พระราชมารดาซึ่งก็คือพระนางสิริมหามายาเทวี  ได้ประชวรพระครรภ์ ประสูติพระองค์ท่านใต้ต้นสาละ ต่อมาหลังจากที่ได้ทรงหันเหชีวิตจากพระราชวังในตำแหน่งเจ้าชายสิทธัตถะ เพื่อมุ่งแสวงหาสัจธรรมชีวิตจนได้ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา  อีกทั้งในบั้นปลายของชีวิตท่านได้ทรงเลือกใต้ต้นสาละ ณ สาลวโนทยาน  เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ  เป็นสถานที่ในการดับขันธ์ปรินิพพาน  นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหลายเหตุการณ์ถูกบันทึกไว้ที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของพระพุทธเจ้ากับต้นไม้หลายชนิดพันธุ์ ได้แก่ ต้นทองหลาง ต้นไทร ต้นจิก ต้นเกต ฯลฯ

                ช่วงระยะเวลา 45 ปี ระหว่างการตรัสรู้จนถึงปรินิพพาน พระพุทธเจ้าได้ทรงเลือกเสด็จจำพรรษา ณ ที่ป่าหรืออารามป่า ถึงเกือบครึ่งหนึ่งของเวลาทั้งหมด แม้ในบางช่วงเวลาที่ทรงจำพรรษาในเมือง แต่ก็มักมีสภาพเป็นป่าหลายแห่งเช่นป่าไผ่ ป่ามะม่วง โดยที่พระองค์ท่านได้ทรงให้ความสำคัญกับป่าไม้เป็นอย่างมาก เช่นมีบทบัญญัติที่ทรงห้ามพระภิกษุตัดต้นไม้ทำลายป่า ห้ามฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ให้มีเมตตากรุณา บนพื้นฐานหลักธรรมเพื่ออนุรักษ์ต่อธรรมชาติ กับทั้งยังทรงได้สอนให้คนมีความกตัญญูกตเวทีต่อธรรมชาติแวดล้อมและป่าไม้ซึ่งเป็นสิ่งที่มีบุญคุณต่อมนุษย์โดยเน้นห้ามการหักรานและทำลายเมล็ด ดอก ใบ กิ่งของต้นไม้ที่ให้ร่มเงา  ทั้งยังได้ทรงแนะนำว่าการปลูกป่าและการรักษาต้นน้ำลำธารเป็นบุญกุศล

                วัดป่าในประเทศไทย (ทั้งวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา สำนักสงฆ์ และที่พักสงฆ์) หลายแห่งได้ให้ความสำคัญกับป่าไม้ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ โดยมีการทำกิจกรรมในหลายด้าน ที่พบเห็นทั่วไปก็คือการรักษาสภาพป่ารอบวัดมิให้ถูกบุกรุกทำลายจนมีความร่มรื่นเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง บางวัดได้มีกิจกรรมที่ร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมป่าไม้ ในการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าเป็นอย่างดี สมควรได้รับการชมเชยเป็นอย่างยิ่ง  ซึ่งหากบางวัดที่ละเลยการให้ความสำคัญกับป่าไม้หันกลับมาใช้เป็นตัวอย่างและประยุกต์บางกิจกรรมเพื่อดำเนินการบ้างแล้ว ก็น่าจะมีส่วนช่วยทำให้สภาพป่าไม้ของประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นไม่มากก็น้อย กับทั้งยังเป็นการสนองเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้าอีกทางหนึ่งด้วย

               


Last updated: 2017-01-08 16:46:34


@ วัด(รักษ์)ป่า
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ วัด(รักษ์)ป่า
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,163

Your IP-Address: 54.198.45.0/ Users: 
1,162