"เป็นลางสังหรณ์ เมื่อตอนวันลอยกระทง
สายน้ำไหลเชี่ยวไหลส่ง
กระทงสองเราแยกทาง..."*
ฟังไชยา มิตรชัยให้คิดถึง
อดีตซึ้งสาวอยู่คู่เคียงข้าง
คืนวันเพ็ญเดือนจ้าฟ้ากระจ่าง
หอมกลิ่นนางลมหนาวเราชิดกัน
เที่ยวงานรอบริมสระเกษตรศาสตร์
ที่หมายมาดมุ่งนิสิตให้คิดฝัน
ลอยกระทงประเพณีที่สำคัญ
สืบสานไปสายสัมพันธ์บรรพชน
กระทงเราลอยเคียงมาชลาศัย
ลมวูบใส่พลัดกันพลันสับสน
กระทงงามแทรกมาเคียงหน้ามน
น้ำไหลวนวกเวียนเทียนจ้าดี
อีกกระทงหมุนคว้างกลับข้างสระ
ลอยเปะปะเดียวดายกลายผิดที่
สู่มุมมืดลมกระโชกโบกนที
เทียนริบหรี่แสงโรยลับแทบดับไป
ไม่เคยคิดคือลางบ่งสังหรณ์
กลับยอกย้อนย้ำลิขิตชีวิตให้
สองเราคงเคียงข้างสร้างสายใย
จวบจบได้ปริญญาป่าไม้กัน
เธอโชติช่วงชัชวาลงานสดใส
แววก้าวไกลได้เรียนต่อก่อความฝัน
ส่วนหนุ่มน้อยหนาวใจกลางไพรวัน
ชะตาผันเป็นป่าไม้ไร้ทิศทาง
วันเพ็ญเยือนเดือนสิบสองหม่นหมองหนัก
เธอตัดรักมีหนุ่มหล่อพะนอข้าง
ถึงล้มป่วยแทบม้วยดับให้อับปาง
ทุกข์อ้างว้างหดหู่อยู่กลางไพร
ลอยกระทงอธิษฐานผ่านพ้นโศก
อำนวยโชควาสนาหนุ่มป่าไม้
ภาพนวลน้องผลุดกลางหว่างห้วงใจ
น้ำตาไหลสมน้ำหน้าเกิดมาจน
"...กระทงอ้างว้าง ล่องไปกับสายน้ำวน
เปรียบความรักพี่มืดมน
หาคนร่วมทางไม่มี"*
ครูนิด วนศาสตร์ (ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
หมายเหตุ: *เนื้อร้องท่อนแรกและท่อนจบของเพลงกระทงหลงทาง
ประพันธ์โดยครูสลา คุณวุฒิ ซึ่งมอบให้ไชยา มิตรชัย ขับร้องในการอัดเสียงครั้งแรกเมื่อปี
พ.ศ.2543
แรงดลใจ:
เพลง"กระทงหลงทาง"
นับว่าได้สร้างชื่อเสียงให้ทั้งผู้แต่งคือครูสลา คุณวุฒิ และผู้ขับร้องคือไชยา
มิตรชัย เป็นอย่างมาก ช่วยให้ผู้คนได้รู้จักศิลปินทั้งสองท่านมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากเพลงนี้มีทำนองที่ไพเราะเพราะพริ้ง ส่วนเนื้อร้องมีความหมายที่ทิ่มแทงจิตใจของคนที่มีอดีตในทำนองเดียวกันกับบทเพลงอย่างเหลือเกิน
หากใครไม่เคยฟังก็ขอแนะนำให้ลองเปิดฟังดูสักครั้ง
อาจมีนักร้องหลายคนนำมาร้อง แต่ขอแนะนำให้ฟังจากต้นตำรับคือไชยา มิตรชัย
ที่มีสุ้มเสียงเสียดแทงอารมณ์ได้อย่างลุ่มลึก ส่วนเพลงแก้ที่กินใจมากน่าจะเป็นอรวี
สัจจานนท์ แต่ทั้งนี้คงไม่ใช่บทสรุปที่แท้จริง
เพราะบางท่านอาจชอบนักร้องคนอื่นก็ได้ ทั้งนี้เนื่องจากรสนิยมของมนุษย์ย่อมมีความแตกต่างกันไปได้
ได้ฟังเพลงนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2543 ให้รู้สึกสะดุดหูและประทับใจอย่างทันที จนต้องพยายามหาฟังใหม่ซ้ำอยู่หลาย ๆ ครั้ง
กับทั้งต้องซื้อเทปเสียงมาเปิดฟังอย่างเอาจริงเอาจัง(สมัยนั้นยังไม่มีสื่อสังคมออนไลน์ที่หาฟังและชมได้ง่ายดายเหมือนปัจจุบัน) เพราะเพลงนี้ทำให้หวนคิดถึงอดีตสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในช่วงปี
2520-2524 โดยมีการจัดงานลอยกระทงบริเวณริมสระน้ำหน้ามหาวิทยาลัยในบางปี
เนื่องจากต้องการสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย ตามภารกิจที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งบรรดาเหล่านิสิตชื่นชอบกันเป็นอย่างมาก เพราะไม่ค่อยได้มีโอกาสสัมผัสกับบรรยากาศสีแสงอะไรกับเขานัก
ด้วยเป็นสังคมค่อนข้างบ้านนอกที่ทุ่งบางเขน
อยู่ห่างจากแหล่งบันเทิงใจที่อยู่ตามในเมืองเท่านั้น
รู้สึกมีความสุขมากๆกับงานลอยกระทงก็เฉพาะตอนสมัยเรียนเท่านั้น
ด้วยได้มีโอกาสเที่ยวงานกับคนรู้ใจอีกด้วย แต่พอหลังจากเรียนจบแล้วก็ไม่ค่อยสนุกอะไรนักหนา
อาจเป็นเพราะพ่ายแพ้ชะตาชีวิตในด้านความรัก
กับทั้งพอเริ่มทำงานป่าไม้ทำให้ต้องรับผิดชอบภารกิจที่ได้รับมอบหมายหลายด้าน
ที่ไม่สามารถหลบหลีกและต้องระวังข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น
ยิ่งภายหลังจากเปลี่ยนหน้าที่การงานและมีครอบครัว
ทำให้ต้องมีความรับผิดชอบต่อชีวิตมากขึ้น จนบางครั้งแทบไม่มีเวลาว่าง
ทำให้บางปีลืมงานลอยกระทงโดยสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตามพอได้ยินเพลงกระทงหลงทางครั้งใด
ก็อดทำให้คิดถึงบรรยากาศงานลอยกระทงที่ทุ่งบางเขนไม่ได้ แม้เวลาได้ผ่านเนิ่นนานมากว่า
30 ปีแล้วก็ตาม
Last updated: 2016-12-09 21:35:36