�
๏ไป"เมืองแปะ"แวะมาป่าชุมชน
ถิ่นตำบลเจริญสุขถูกใจยิ่ง
ผู้คนร่วมรักษาป่าดีจริง
มีหลายสิ่งปลาบปลื้มยากลืมเลือน
๏พื้นที่กว่าสามพันไร่ได้ช่วยกัน
คนมุ่งมั่นกายใจในหมู่เพื่อน
�ป้องกันป่ามั่นไว้ไม่แชเชือน
กาลคล้อยเคลื่อนนานลิบสามสิบปี
๏ควบคุมไฟเคยลามลุกคุกคามป่า
ร่วมฟันฝ่าจนหายลับกับพื้นที่
สิ้นปัญหาซ้ำซากจากอัคคี
ก่อเกิดมีคุณค่าล้นผลนำพา
๏ป่าค่อยงามอุดมสมบูรณ์ดี
หลากพืชมีสมุนไพรได้ของป่า
หลายพันธุ์สัตว์หายไปได้กลับมา
ชุบชีวาขับขานสีสันไพร
๏เอื้อประโยชน์มากมายให้เหลือล้น
คนทั้งในนอกชุมชนผลยิ่งใหญ่
ช่วยครอบครัวลดรายจ่ายผ่อนคลายไป
ทั้งช่วยเสริมเพิ่มรายได้ไม่อับจน
๏คนรวมกลุ่มลาดตระเวนเน้นตรวจตรา
พระบวชป่าเสริมความเชื่อเพื่อหวังผล
ครูสอนศิษย์หวังเอื้อเกื้อผู้คน
เยาวชนจิตตระหนักรักษ์พงไพร
๏กิจกรรมเชื่อมโยงกันการท่องเที่ยว
พาลดเลี้ยวเทียวไปทั้งไกลใกล้
ชมผืนป่าเบิกบานสำราญใจ
ผลพลอยให้ไหลหลั่งทั้งรวยจน
๏หากชาวบ้านร่วมรักษ์ป่าพาเกิดผล
เช่นตำบลเจริญสุขทุกแห่งหน
"บุรีรัมย์"คงร่มรื่นชื่นกมล
เอื้อผู้คนสุขสดใสไปทั่วเมือง
๏ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
แรงดลใจ :
��������������� ไปจังหวัดบุรีรัมย์
(เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย�
รวยวัฒนธรรม) มาหลายครั้ง
ประทับใจในหลายสิ่งหลายอย่าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดเด่นทั้งสี่ด้านตามคำขวัญของจังหวัดที่กล่าวมา
แต่เพิ่งรู้ว่ามีชื่อจังหวัดที่คนท้องถิ่นรู้จักกันดีว่า "เมืองแปะ"
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจึงทราบว่าต้นแปะ Vitex quinata (Lour.) F.N.
Williams วงศ์ VERBENACEAE เป็นพันธุ์ไม้เนื้อแข็ง
ไม่ผลัดใบ ลำต้นตั้งตรง เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีขาวนวล โคนต้นเป็นพูพอน
สูงประมาณ 5-10 เมตร กิ่งอ่อนมีหนาม ใบประกอบแบบมีใบย่อย 3ใบโดยใบที่อยู่ตรงกลางมักมีขนาดใหญ่กว่าอีก 2 ใบที่ขนาบอยู่ทั้งสองข้าง
ใบย่อยทั้งสาม มีลักษณะคล้ายใบหอก ขอบใบหยัก ๆ คล้ายฟันเลื่อย
มีดอกและผลกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร
เมื่อสุกมีสีเหลืองอมเขียว �จากการสอบถามคนในจังหวัดบุรีรัมย์บางส่วนแล้วยังไม่ค่อยรู้จักพันธุ์ไม้ชนิดนี้มากนักกับทั้งยังมีความประสงค์ขอรับกล้าไม้เพื่อนำไปปลูกให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้นในจังหวัด
แต่การเพาะพันธุ์กล้าไม้ในการแจกจ่ายยังมีปริมาณที่จำกัด
ดังนั้นหน่วยงานทางราชการที่เกี่ยวข้องน่าจะได้มีการเร่งรัดขยายการเพาะชำกล้าไม้ชนิดนี้
เพื่อตอบสนองความต้องการที่มีให้เพียงพอ
��������������� ที่ประทับใจในการไปบุรีรัมย์ครั้งนี้เป็นอย่างมากก็คือ
ได้มีโอกาสเยี่ยมชมป่าชุมชน ตำบลเจริญสุข ในท้องที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
ซึ่งดำเนินการป่าชุมชนมาช้านานแล้ว�
เพียงแต่เพิ่งได้รับการอนุญาตอย่างเป็นทางการจากกรมป่าไม้เมื่อปี พ.ศ. 2554 มีพื้นที่ดำเนินการถึงเกือบสามพันห้าร้อยไร่
โดยอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาอังคาร
ลักษณะภูมิประเทศเป็นเนินสูงและค่อนข้างชัน ลักษณะดินเป็นดินภูเขาไฟ
สภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณ ไม้เด่นที่พบเป็นจำพวกไม้เต็ง ไม้รัง และไม้มะค่าโมง
รวมทั้งมีพืชสมุนไพรและของป่ามากมายหลายชนิดที่อุดมสมบูรณ์มาก
จากเดิมที่เคยมีสภาพป่าที่เสื่อมโทรม
เพราะถูกบุรุกทำลายจนมีสภาพแห้งแล้งและเกิดไฟป่าเป็นประจำทุกปี
จนชาวบ้านรวมตัวกันแก้ปัญหา โดยการกำหนดพื้นที่เป็นป่าชุมชนและป้องกันไฟป่า
ออกกฎกติกามิให้มีการบุกรุกทำลายป่าเพิ่มเติม
กับทั้งได้ร่วมกันปลูกพันธุ์ไม้เสริมหลายชนิด
ทำให้มีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ดังเช่นในปัจจุบัน
ซึ่งชาวบ้านทั้งในและนอกท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์ในหลายด้าน
โดยเฉพาะการเก็บเห็ดป่าหลายชนิด จนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
��������������� ชุมชนได้มีการวางแผนการในการดำเนินกิจกรรมอีกหลายด้าน
เพื่อให้ป่าชุมชนได้เอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น �โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติให้แก่เยาวชนและผู้สนใจทั่วไป
จุดเด่นที่ทำให้ป่าชุมชนแห่งนี้ประสบความสำเร็จก็คือ
การที่คณะกรรมการป่าชุมชนมีความเข้มแข็ง
โดยมาจากตัวแทนของชุมชนที่มีการกำหนดรูปแบบการบริหารองค์กรที่ชัดเจน
มีการจัดตั้งกลุ่มราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ในการป้องกันรักษาป่าชุมชน
มีการกำหนดกฎกติกาและข้อบังคับในการจัดการป่าชุมชนที่ชัดเจน
มีการจัดตั้งกองทุนป่าชุมชนโดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง
มีการให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ในการจัดการป่าชุมชน
ให้แก่ชาวบ้านและนักเรียนทำให้ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมืออย่างแข็งขันในการดำเนินกิจกรรมการจัดการป่าชุมชน
อย่างไรก็ตาม หากชุมชนได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจัดการป่าชุมชนในด้านต่างๆ
จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
เพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญก็คือการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและเก็บผลผลิตจากป่าชุมชน
จากชุมชนต่างถิ่นก็จะทำให้การจัดการป่าชุมชนตำบลเจริญสุขแห่งนี้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
���������������

Last updated: 2016-11-07 16:38:23