"กัมมุนา วัตตติโลโก"
เจอมากโขความจริงสิ่งตอกย้ำ
สัตว์ทั้งหลายหมายเป็นไปตามกรรม
ขอฝากคำคนป่าไม้ให้สังวร
อันชั่วดีที่ทำกรรมแตกต่าง
มีตัวอย่างย้ำมาอุทาหรณ์
จงตรองตรึกศึกษาเพื่ออาวรณ์
จึงพบพรไพบูลย์หนุนชีวา
คนทำดีมีทรัพย์สินพอกินใช้
ถึงไม่ใหญ่ก็ได้ดีมียศถา
แต่กินอิ่มหลับสบายในวิญญาณ์
สุขอุราเรียบง่ายในครอบครัว
คนทำชั่วมีเงินทองต้องคอยใช้
ทนหมองคล้ำตำแหน่งใหญ่วิ่งไปทั่ว
ยามกินนอนทุกข์ใจให้หมองมัว
ต้องหวาดกลัวผลกรรมย้อนทำเอา
อันป่าไม้เอื้อผลคนมากมาย
ปัจจัยสี่มีหลากหลายให้ทุกเหล่า
ใครสร้างกรรมเกิดเสียหายป่าไม้เรา
ต้องอับเฉาร้าวรวดเจ็บปวดนัก
ยิ่งพวกเหลิงบ้าอำนาจราชการ
ชอบทำพาลโลภโกรธหลงจงคิดหนัก
ช่วยพวกตนไม่สนใจใครทายทัก
สุดท้ายจักเจอกรรมที่ทำไป
อันว่ากรรมเดี๋ยวนี้ขี่จรวด
จึงเร็วรวดล้วนมาสนองให้
สุขหรือทุกข์ย้อนกลับจึงฉับไว
ไม่รอไว้ชาติหน้าเคยว่ากัน
"นามโคตตัง นชีรติ"
ชั่วดีสิชาวป่าไม้ตรองให้มั่น
ชื่อเสียงคนถูกกล่าวขานตราบนานวัน
จงเลือกสรรทางเดินไปที่ใฝ่ปอง
ครูนิด วนศาสตร์ (ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
แรงดลใจ:
ที่ผ่านมามักมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การป่าไม้ของประเทศ
ที่ต่างมุ่งหวังให้มีพื้นที่ป่าไม้อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ
โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนหลายรูปแบบ ที่สำคัญก็คือ
การป้องกันรักษาพื้นที่ป่าไม้ให้ยังคงมีสภาพที่อุดมสมบูรณ์ต่อไป การปลูกฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่ที่ถูกบุกรุกทำลายจนเสื่อมโทรม
การวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมในการนำมาพัฒนาการป่าไม้ ฯลฯ ที่สำคัญในยุคปัจจุบันได้แก่
การทวงคืนผืนป่าที่ถูกครอบครองอย่างผิดกฎหมาย เพื่อดำเนินกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ
ทั้งการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ไปปลูกพืชเกษตร การทำรีสอร์ทหรือสถานที่ท่องเที่ยว
และอื่นๆ อีกมากมาย
สิ่งหนึ่งที่มักถูกละเลยทั้งที่มีความสำคัญที่สุดต่อการขับเคลื่อนทุกยุทธศาสตร์การป่าไม้
ก็คือการบริหารงานบุคคลอย่างมีธรรมาภิบาล
เท่าที่ผ่านมาจากประสบการณ์ตั้งแต่รับราชการในกรมป่าไม้เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2524 ซึ่งสอดคล้องกับเพื่อน
พี่ และน้องชาวป่าไม้หลายคน
พอสรุปได้ว่าทิศทางของการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในตำแหน่งต่างๆ
เป็นไปในทางที่ติดลบมากกว่าในอดีตเป็นอย่างยิ่ง
โดยพบว่าการเข้าสู่ตำแหน่งในทุกระดับ มักต้องอาศัยการวิ่งเต้นในรูปแบบต่างๆ
จนถึงยุคปัจจุบัน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการป่าไม้ก็คือ
คนดีและมีความสามารถไม่มีโอกาสได้แสดงฝีมือในการทำงาน
บางรายเกิดการเบื่อหน่ายจนถึงขั้นลาออกจากราชการก็มี ขณะเดียวกัน
นักวิ่งเต้นบางคนที่ไร้ฝีมือก็มิได้สร้างผลงานที่โดดเด่นแต่ประการใด
กับทั้งยังฉกฉวยโอกาสสร้างความเสียหายต่อวงการป่าไม้ที่ไม่ขอกล่าวถึง
ซึ่งคนในวงการต่างรู้กันดีว่าคืออะไร
จึงสมควรอย่างยิ่งที่ต้องมีการวางยุทธศาสตร์การบริหารงานป่าไม้ให้มีธรรมาภิบาลและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง
โดยเร่งด่วน อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นคิดว่าหากบุคคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับป่าไม้ฃในทุกระดับ
ตั้งแต่ระดับเล็กจนถึงผู้บริหารสูงสุด ยึดพุทธสุภาษิตสองบทที่ว่า "กัมมุนา
วัตตติโลโก"
(สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม)
กล่าวคือใครก่อกรรมดีก็ต้องได้ดี ใครก่อกรรมชั่วก็ต้องได้ชั่ว และอีกบทหนึ่งว่า
"นามโคตตัง นชีรติ" (ชื่อเสียงเกียรติยศของคนไม่เสื่อมสลายไป)
ที่มักใช้ตามกับบทพุทธสุภาษิตที่ว่า รูปัง ชีรติ มัจจานัง
(ร่างกายของคนย่อมเสื่อมสลายแตกดับไปได้) กล่าวคือ
การกระทำของตนต้องถูกจารึกหรือวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกษียณอายุราชการหรือหมดอำนาจวาสนา ในการปกครองคน
ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นกันอยู่อย่างมากมาย
เชื่อว่า
พวกเราคงเคยได้ยินและได้รับรู้เกี่ยวกับพุทธสุภาษิตของทั้งสองบทข้างต้นอยู่แล้วไม่มากก็น้อย
แต่หากใครยังไม่เข้าใจต่อความหมายที่แท้จริงอย่างลึกซึ้งก็ขอแนะนำให้ศึกษาดูอีกสักทีพร้อมทั้งพยายามทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมาของตนเองและบุคคลรอบข้าง
เพื่ออาจเกิดความคิดในการนำมาประยุกต์ใช้ทำงานเพื่อจรรโลงป่าไม้ให้ถูกที่ถูกทางในชีวิตราชการที่เหลืออยู่
อย่าไปรอจนถึงวันถอดหัวโขนโดยเกษียณอายุราชการเสียก่อน
เพราะโอกาสในการช่วยงานป่าไม้มันเหลือน้อยเต็มที
รวมทั้งหมดสิ้นแล้วซึ่งอำนาจวาสนาของการปฏิบัติงานราชการ
Last updated: 2016-10-01 09:02:29